‘ค่าไฟมหาโหด’ ผลงานส่งท้าย 8 ปีลุงตู่ คนไทยจนเอกชนรวย จับตาเลือกตั้ง 2566 ชี้ชะตาพลังงานไทย!

ร้อนกว่าอากาศเดือนเมษา ก็ค่าไฟนี่แหละ …ขึ้นมาขนาดนี้ไหวมั้ย? คนไทยถามใจกันดู ใจสู้หรือเปล่า? 

“ที่ร้อนกว่าอากาศก็คงเป็นค่าไฟนี่แหละ”… เสียงโอดครวญ ก่นด่า ปนอาฆาตจากประชาชนที่เดือดร้อน มาพร้อมๆ กระแสโชว์บิลค่าไฟที่ขยับปรับตัวขึ้นหลายเท่าจนเกินกว่าคำว่าตกใจ …ติดเทรนด์ทวิตเตอร์ #ค่าไฟแพง มาแรงแซงขึ้นอันดับในสื่อโซเชียล ซึ่งจริงๆ เรื่องราวของค่าไฟที่ปรับขึ้น แม้จะรับรู้กันมาก่อนหน้านี้หลายเดือน จากข่าวนโยบายที่ออกมาอ้างสารพัดเหตุผลโดยมีปัจจัยหลักมาจากต้นทุนคือ “ราคาพลังงานที่สูงขึ้น” และ “ภาวะสงครามรัสเซีย-ยูเครน”

แต่แม้จะรับรู้มาก่อนหน้าแล้วเมื่อเข้าสู่ฤดูร้อน ในเดือนเมษายน-พฤษภาคมของประเทศไทย ซึ่งเป็นช่วงพีคสุดของการใช้ไฟฟ้า กับอากาศร้อนแบบลุ้นทำลายสถิติวันต่อวัน บวกกับสถานการณ์ฝุ่น PM2.5 บีบบังคับให้ผู้คนต้องอยู่กับบ้านอยู่ในอาคารบ้านเรือนไปในตัว ยิ่งทำให้ “ค่าไฟ” กลายเป็นความร้อนจากปรอทองศาที่แรงแซงอุณหภูมิช่วงพีคของฤดูร้อนไปแล้วในขณะนี้

ถ้านับจากจุดเริ่มต้นค่าไฟแพง ย้อนกลับไปที่ใกล้ที่สุด ก็น่าจะอยู่ในช่วงเดือนกันยายนเมื่อปีที่แล้ว (2565) ที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ประกาศปรับขึ้นค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ หรือ เอฟที (Ft) เดือน ก.ย.-ธ.ค. 65 จำนวน 68.66 สตางค์ต่อหน่วย เมื่อรวมกับค่าไฟไทยทำให้ค่าไฟเฉลี่ยต้องจ่ายอยู่ที่ 4.72 บาทต่อหน่วย โดยข้ออ้างเหตุผลการปรับของกกพ.ก็เป็นไปตามที่คาดไว้ คือ ปริมาณก๊าซธรรมชาติทั้งในและนอกประเทศที่ลดลง และผลจากสงคราม ทำให้ราคาก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) แพงขึ้น จึงส่งผลมายังบิลค่าไฟของครัวเรือนไทย

จริงๆ เมื่อฟังจากเหตุผลแล้วถือว่าเป็น “ปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้” เพราะไม่ได้เกิดจากปัจจัยภายในประเทศ ฟังดูเหตุผลของ กกพ.อาจจะพอเคลิ้มๆ คิดตามไปได้ ว่าค่าไฟมันต้องแพงเพราะเหตุนี้

แต่พอพิจารณาดีๆ ลงลึกไปยังเบื้องหลัง กลับกลายเป็นเรื่องที่รับไม่ค่อยได้ เมื่อบริษัทเอกชน ที่อยู่ในคลัสเตอร์ไฟฟ้า ขายไฟฟ้า ผลิตไฟฟ้า หรือ รัฐวิสาหกิจที่เกี่ยวกับพลังงาน เกี่ยวกับการผลิตไฟฟ้า ต่างพากันมีกำไรพุ่งเป็นเท่าตัว สิ่งนี้จึงเหมือนเป็นเหตุผลที่สวนทางกันกับภาระที่ประชาชนต้อง “รับกรรม” เอาไว้อย่างน่าเจ็บใจ

คนไทยต้องจ่ายค่าไฟแพงเพราะการปรับขึ้นราคาของภาครัฐ ที่อ้างถึงราคาพลังงาน แต่บริษัทเอกชนที่เกี่ยวข้องกับพลังงานกลับมีกำไรอู้ฟู่!!

เมื่อเกิดคำถามเกี่ยวกับค่าไฟแพงทุกสายตาย่อมจับจ้องไปที่ต้นทางอย่าง การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กับที่มาของ “ต้นทุนค่าไฟฟ้ามหาโหดที่เกิดขึ้น” ไล่เรียงลงไปถึง บริษัทเอกชนรายใหญ่ที่ผลิตไฟฟ้าขายให้กับ กฟผ.ป้อนเอามาเป็นไฟฟ้าให้กับ การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) จ่ายไฟลงมาถึงผู้บริโภคอีกที

อ้างอิงข้อมูลจากเว็ป BBC ไทย ระบุว่า “สัดส่วนของโรงไฟฟ้าเอกชนขนาดใหญ่ (IPP) ที่ กฟผ. รับซื้อ 13 แห่ง ในจำนวนนี้ 6 แห่ง เป็นโรงไฟฟ้าของกลุ่มบริษัทกัลฟ์ (GULF) ที่มี สารัชถ์ รัตนาวะดี เป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหาร แชมป์เศรษฐีหุ้นไทยปี 2564 ตามการจัดอันดับของนิตยสารการเงินธนาคาร

ปัจจุบัน กัลฟ์มีโรงไฟฟ้าซึ่งใช้ก๊าซธรรมชาติ ทั้งขนาดใหญ่ (IPP) และเล็ก (SPP) จากรายงานประจำปี 2554 ของบริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จีดีวอลลอปเมนท์ จำกัด ระบุว่าบริษัทมีโรงไฟฟ้า IPP อยู่ทั้งสิ้น 6 โครงการ เป็นโรงไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติที่ผลิตและจำหน่วยไฟฟ้าให้แก่ กฟผ. ตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะยาว 25 ปี ซึ่งนับว่าเป็นครึ่งหนึ่งของเอกชนที่ขายไฟให้ กฟผ.

ส่วนโรงไฟฟ้าประเภทผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนขนาดเล็ก (SPP) จากก๊าซธรรมชาติ มีทั้งสิ้น 19 โครงการในไทย กำลังผลิตติดตั้งรวม 2,474 เมกะวัตต์ ผลิตและจำหน่ายไฟฟ้า 70-80% ให้กับ กฟผ. ตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้าเป็นระยะเวลา 25 ปี ซึ่งส่งต่อไฟฟ้าไปยังการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคและนครหลวง ขณะที่ไฟฟ้าส่วนที่เหลือ ขายให้กับกลุ่มลูกค้าอุตสาหกรรม

ที่น่าสนใจ คือ การเติบโตของโรงไฟฟ้า SPP ของกัลฟ์ เมื่อดูจากรายงานประจำปีพบว่า 7 แห่ง เปิดดำเนินการในปี 2556 ขณะที่อีก 12 แห่ง เปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ในช่วงระหว่างปี 2560-2562 หรือช่วงหลังรัฐประหารปี 2557

และที่สำคัญ BBC ยังระบุด้วยว่า กัลฟ์ได้รายงานผลประกอบการไตรมาส 2/2565 รับรู้กำไรจากการดำเนินงาน 3,081 ล้านบาท จากรายได้รวม 24,553 ล้านบาท โดยระบุว่ามาจากการเปิดดำเนินการโรงไฟฟ้า GSRC หน่วยที่ 1-3 ประกอบกับรายได้ที่เพิ่มขึ้นจากโครงการโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ SPP 12 โครงการ อันเนื่องมาจากราคาขายไฟฟ้าที่สูงขึ้นตามราคาก๊าซธรรมชาติ และจากปริมาณการขายไฟฟ้าให้แก่กลุ่มลูกค้าอุตสาหกรรม และส่วนแบ่งกำไรจาก INTUCH จากข้อมูลนี้ชี้ว่า เอกชนยังทำกำไรจากการผลิตและขายไฟฟ้าได้ ขณะที่ค่าไฟรอบบิลเดือน พ.ค. และรอบบิลเดือน ก.ย. 2565 ที่ผ่านมา ทยอยปรับขึ้น (เครดิตข้อมูล เว็ป BBC ไทย)

ค่าไฟมหาโหดที่เกิดขึ้นถ้าจะแพงจากต้นทุนที่แท้จริง สำหรับคนไทยแล้วแม้จะกล้ำกลืนฝืนทนทุบกระปุกลูกมาจ่ายยังไงก็ยังพอทำให้กลืนเลือดกันไปได้ แต่ทำไมเอกชนผู้ผลิตไฟฟ้าถึงรวยสวนทางกับความจนของประชาชนชาวไทย อันนี้ก็อาจเป็นเรื่องยากจะทำใจ!!!

เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ เคยกลายเป็นประเด็นการเมืองอภิปรายในสภากัน จนกลายเป็นเหตุฟ้องร้องกันมาแล้ว วันที่ 1 สิงหาคม 2565 ที่ผ่านมา ศาลอาญากรุงเทพใต้ มีคำสั่งประทับรับฟ้องคดีที่ บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง “นายรังสิมันต์ โรม” ส.ส. พรรคก้าวไกล 3 คดีด้วยกัน คือ

  1. ฟ้องพรรคก้าวไกลในฐานะผู้เผยแพร่การอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งนั้น ในข้อหาหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา
  2. ฟ้องนายรังสิมันต์ในฐานะผู้อภิปรายและนำสิ่งที่อภิปรายมาเผยแพร่ต่อ ในข้อหาหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา
  3. ฟ้องละเมิดเป็นคดีแพ่ง เรียกค่าเสียหายมูลค่า 100 ล้านบาท

ในการฟ้องครั้งนี้ ไม่เพียงแต่นายรังสิมันต์ แต่ก่อนหน้านี้ บริษัท กัลฟ์ ก็เคยฟ้อง นางสาวเบญจา แสงจันทร์ ส.ส.จากพรรคก้าวไกล จากกรณีการอภิปรายไม่ไว้วางใจเรื่องนโยบายพลังงานและการให้สัมปทานของรัฐบาลมาแล้ว

จากจุดเริ่มต้น จนถึงบทสรุป ปัญหาค่าไฟแพงมหาโหด จนกลายเป็นโจทย์ประจำช่วงเวลาพีคสุดของฤดูร้อนในครั้งนี้ แน่นอนว่า นอกจากจะมานั่งส่องเฟสเพื่อนพี่น้องชาวไทยที่กำลังจะจนลง ต่างโชว์บิลค่าไฟประชันกันว่าใครจะโดนรีดเลือดเยอะกว่ากัน และยังส่องไปที่เอกชนผู้ผลิตไฟฟ้าของไทย ว่าทำไมถึงรวยสวนทางกับกระแสความจนของคนไทยส่วนใหญ่ในประเทศนี้ สิ่งสำคัญยังต้องส่องไปที่รัฐบาลเก่าที่กำลังจะจากไป และรัฐบาลใหม่ที่กำลังจะมาถึง ว่าคิดอย่างไร และจะแก้ไขปัญหานี้อย่างไร

โดยเฉพาะรัฐบาล 8 ปีที่พี่ให้ กับการบริหารงานของ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรี ที่เคยถูกพาดพิงการให้สัมปทานกับบริษัทพลังงานเอกชน ที่แม้จะครบวาระแล้ว เตรียมผันตัวมาลงเลือกตั้ง ผ่านสโลแกน “ทำแล้ว-ทำอยู่-ทำต่อ”

ผ่าลงไปกับแนวทางแก้ไขปัญหาของแพงทั้งแผ่นดิน สมัยพล.อ.ประยุทธ์ เป็นรัฐบาล (ที่ยังไม่รักษาการ) กับวาทะกรรมอันลือลั่น “แก้ไขปัญหาค่าไฟแพงด้วยธรรมะ” กล่าวไว้เมื่อ 16 สิงหาคม 2565  ระบุความตอนหนึ่งว่า “มันขึ้นก็ต้องขึ้น แต่ขึ้นจากอะไรต้องไปดูสาเหตุแห่งปัญหา ไปศึกษาธรรมะเสียบ้าง ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค เรียนเสียบ้าง ทุกข์เกิดจากอะไรแล้วจะแก้ปัญหาอย่างไร ดูวิธีการแก้ปัญหาโน่น”

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ

สะท้อนภาพที่พึ่งของประชาชนในห้วงเวลาทุกข์หนักกับภาระค่าไฟฟ้ามหาโหดที่เกิดขึ้น เหมือนจะจับต้องตัวช่วยใดๆไม่ได้เลย แม้แต่ภาครัฐเอง

กระแสโซเชียลคงอาจเป็นเพียงทางออกเดียวที่จะปลอบประโลมช่วยระบายความร้อนใจร้อนกายของชาวบ้านตาดำๆ ต่อปัญหาค่าไฟมหาโหดได้ ที่สุดแล้ว ‘ผลสะท้อน’ ก็จะลงเอยในคูหาว่าจะหา ‘คนเก่งจริง’ มาแก้ไขปัญหานี้ได้อย่างไรในการเลือกตั้ง 14 พ.ค.66 ที่กำลังจะมาถึง

“ค่าไฟฟ้ามหาโหด” ไฟแพงคนไทยจน เอกชนรวย ผลงานส่งท้าย 8 ปีรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ เป็นบาดแผลฉกรรจ์บาดลึกลงไปในหัวใจคนไทย ที่ต้องกล้ำกลืนใช้ธรรมะแบบตู่ๆ ควักเงินที่พยายามประหยัดรัดเข็มขัดกันทุกทางอยู่แล้ว มาจ่ายค่าไฟแพงๆ ส่งท้ายรัฐบาลเก่า ก่อนเข้าคูหา…ต้องลุ้นกันว่า 14 พ.ค.66 นี้ ปากกาจะสยบดราม่าค่าไฟแพงเอกชนรวยได้หรือไม่? คนไทยต้องร่วมใจกันออกไปใช้สิทธิ์ แสดงอิทธิฤทธิ์ของประชาชนกันเสียที!

 

กองบรรณาธิการข่าวมหาชน รายงาน 

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *