กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) ร่วมกับ หน่วยบริหารจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) จัดโครงการ Smart Value Creation 2023 ผสานองค์ความรู้เชิงลึก ผนึกกำลังผ่านการต่อยอดงานวิจัยด้วยนวัตกรรม สู่การสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า พัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการ และยกระดับธุรกิจให้เติบโตในตลาดโลก
นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) กล่าวว่า โครงการส่งเสริมและต่อยอดนวัตกรรมสู่การค้าระหว่างประเทศ ปี 2566 หรือ Smart Value Creation 2023 จัดขึ้นภายใต้แนวคิด “นำวัสดุชีวภาพจากธรรมชาติ เสริมศักยภาพด้วยนวัตกรรม BCG” เป็นหนึ่งในโครงการที่กรมฯ ให้ความสำคัญในการขับเคลื่อนนโยบายการส่งเสริมการใช้วัสดุชีวภาพจากธรรมชาติ เพื่อเสริมสร้างเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy: BCG) ตามนโยบายของกระทรวงพาณิชย์ โดยได้รับความร่วมมืออย่างดียิ่งจาก หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ หรือ บพข. ร่วมกันพัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบการไทย โดยการเป็นสะพานเชื่อมโยงให้พบกับนักวิจัยโดยตรง ในการให้คำปรึกษา เจรจาจับคู่ และพัฒนาโครงการร่วมกัน เพื่อยกระดับคุณภาพและมาตรฐานสินค้าไทยด้วยนวัตกรรม
นางสาวประอรนุช ประนุช ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมนวัตกรรมและสร้างมูลค่าเพิ่มเพื่อการค้า กล่าวว่า โครงการ Smart Value Creation จัดขึ้นต่อเนื่องเป็นครั้งที่ 3 และในปีนี้ได้ร่วมกับ บพข. ในการสนับสนุนทุนวิจัยสำหรับโครงการที่มีศักยภาพและความเป็นไปได้ทางการตลาดที่ชัดเจน โดยกิจกรรมในวันนี้ ประกอบไปด้วย 2 ส่วนหลัก ได้แก่ กิจกรรมสัมมนาเสริมสร้างองค์ความรู้ด้านนวัตกรรม BCG และ กิจกรรมเจรจาจับคู่ให้คำปรึกษาในการพัฒนาสินค้า/ผลิตภัณฑ์ ระหว่างผู้ประกอบการกับนักวิจัย ซึ่งกิจกรรมสัมมนา (ช่วงเช้า) กรมฯ ได้รับเกียรติจากผู้บริหารองค์กรหน่วยงานพันธมิตร บพข. ศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านกลยุทธ์ธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม คณะสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (Vgreen) สมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย และ องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (อบก.) ที่มาร่วมบรรยายให้ความรู้และคำแนะนำแนวทางในการพัฒนาธุรกิจเพื่อตอบโจทย์ BCG Economy
ส่วนกิจกรรมในช่วงบ่ายนั้น เป็นกิจกรรมให้คำปรึกษาในการพัฒนาสินค้า/ผลิตภัณฑ์ โดยกรมฯ ได้เปิดรับสมัครผู้ประกอบการใน 6 กลุ่มสินค้า ได้แก่ (1) กลุ่มบรรจุภัณฑ์ (2) กลุ่มการพิมพ์และสิ่งพิมพ์ (3) กลุ่มสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม (4) กลุ่มเฟอร์นิเจอร์และของตกแต่งบ้าน (5) กลุ่มยางพาราและผลิตภัณฑ์ยางพารา และ (6) ผลิตภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งมีผู้ประกอบการสมัครเข้าร่วมเจรจาจับคู่กับนักวิจัย ทั้งหมด 33 บริษัท 43 คู่
นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมให้คำปรึกษาในรูปแบบคลินิก สำหรับผู้ประกอบการที่ไม่ได้ลงทะเบียนมา สามารถเข้ารับคำปรึกษาเบื้องต้นจาก นักวิจัย บพข. ได้
ทางด้าน ศาสตราจารย์ ดร.อาภาณี เหลืองนฤมิตชัย ประธานคณะอนุกรรมการแผนงานกลุ่มพลังงาน เคมีและวัสดุชีวภาพ หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ได้กล่าวเพิ่มเติมถึงการมีส่วนร่วมของ บพข. ที่มีต่อกิจกรรมนี้ว่า บพข. ได้มีส่วนร่วมทั้งในเรื่องของการให้ความรู้แก่ผู้ประกอบการในหัวข้อ “นวัตกรรมไทยสู่สังคม BCG กับเส้นทางต่อยอดจาก บพข.” อีกทั้งยังจัดหานักวิจัยผู้ทรงคุณวุฒิมาร่วมให้คำปรึกษาในการพัฒนาสินค้า/ผลิตภัณฑ์ และบูรณาการการทำงานร่วมกับผู้ประกอบการ ใน 6 กลุ่มสินค้า ผ่านการเชื่อมโยงเครือข่ายผู้ประกอบการของสำนักส่งเสริมนวัตกรรมและสร้างมูลค่าเพิ่มเพื่อการค้า กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กับเครือข่ายภาคีวิจัยของ บพข. ให้มีการจับคู่พัฒนานวัตกรรมไปพร้อมกับการเข้าสู่ตลาด และการขอสนับสนุนทุนวิจัยจาก บพข. ซึ่งงานวิจัยจะช่วยทำให้เพิ่มจำนวนสินค้าไทยที่มีนวัตกรรม มีคุณภาพและมาตรฐานระดับสากล โดยเฉพาะอย่างยิ่งการส่งเสริมนวัตกรรมวัสดุชีวภาพจากธรรมชาติ นำนวัตกรรมมาใช้ต่อยอดในการพัฒนาขีดความสามารถทางการแข่งขันของประเทศ
ผู้ประกอบการที่เคยเข้าร่วมโครงการ Smart Value Creation คุณมัธยม อ่อนจันทร์ ผู้จัดการห้างหุ้นส่วน ชาญชัย ไลนิ่ง อินเตอร์พลาส ผู้ผลิตและออกแบบเสื้อผ้า แบรนด์ Mathtara กล่าวว่า กาลเวลาเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ทำให้ตลาด และผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงไปตามสมัยนิยม และปัญหาของบริษัท ต้นทุนวัตถุดิบสูงขึ้น ค่าแรงสูงขึ้น จึงต้องพึ่งนักวิจัยที่จะต้องเข้ามาช่วยเหลือลดต้นทุนในการผลิต และเมื่อผู้ประกอบการ ได้พบนักวิจัย จะทำให้งานหรือสินค้าพัฒนาได้ก้าวกระโดดอย่างรวดเร็ว
ส่วนคุณทรงวุฒิ ทองทั่ว Creative Director บริษัท บางกอกแอพพาเรล จำกัด แบรนด์แฟชั่นและสินค้าไลฟ์สไตล์ที่ยั่งยืน กล่าวว่า แบรนด์สนใจเรื่องความยั่งยืน และเล็งเห็นถึงประโยชน์งานวิจัยของอาจารย์จากมหาวิทยาลัยต่างๆ ที่ได้ทำการทดลองนวัตกรรมต่างๆ จนสำเร็จแล้ว มาต่อยอดกับเศษวัสดุของทางบริษัทเพื่อให้สามารถนำไปพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ สู่ท้องตลาด สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้จากนวัตกรรม
ทางด้านคุณเด่นดวง เกตุปัญญา Creative Design Director บริษัท ธงริ้ว จำกัด แบรนด์พัสตราสานน์ ผลิตและจำหน่ายกระเป๋าผ้าไทยทอมือ กล่าวว่า บริษัทสนใจนำวิทยาศาสตร์และงานวิจัยของนักวิจัยไทยเข้ามาช่วยปรับปรุงด้านวัตถุดิบสินค้าที่นำไปใช้แล้วไม่เกิดความคงทนแข็งแรง ซึ่งผลที่ได้คุณภาพสินค้าถูกยกระดับขึ้น เกิดความเชื่อมั่นทั้งผู้ประกอบการและต่อลูกค้า และช่วยขยาย Segment ใหม่ๆ ของตลาดให้กว้างขึ้น และสิ่งสำคัญงานวิจัยที่ปรังปรุงมีมาตรฐานสากลที่เป็นที่ยอมรับ
โครงการ Smart Value Creation 2023 ยังมีกิจกรรมสำคัญต่อเนื่องอีกในวันพุธที่ 3 พฤษภาคม 2566 ได้แก่กิจกรรมอบรมบ่มเพาะพัฒนาข้อเสนอโครงการ ด้านแนวทางการพัฒนาข้อเสนอโครงการ และโมเดลในการทำธุรกิจจากเทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อใช้สำหรับขอสนับสนุนทุนวิจัยจาก บพข. ต่อไป ซึ่งเป็นกิจกรรมที่จัดเพิ่มเติมให้สำหรับผู้ประกอบการและนักวิจัยที่จับคู่สำเร็จ
ในปีนี้ กรมฯ มีแผนต่อยอดผู้ประกอบการที่สนใจและมีการดำเนินการภายใต้แนวคิด BCG Economy Model เข้าร่วมเป็นฮีโร่ BCG (BCG Heroes) สำหรับผู้สนใจสามารถติดตามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สำนักส่งเสริมนวัตกรรมและสร้างมูลค่าเพิ่มเพื่อการค้า กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) กระทรวงพาณิชย์ www.ditp.go.th สายตรงการค้าระหว่างประเทศ โทร. 1169 และสนใจทุนวิจัยและสร้างนวัตกรรม ติดต่อสำนักประสานงานแผนงานกลุ่มพลังงาน เคมีและวัสดุชีวภาพ หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) www.pmuc.or.th หรือ Line @energypmuc
สำหรับผู้สนใจสามารถติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) กระทรวงพาณิชย์ www.ditp.go.th หรือสายตรงการค้าระหว่างประเทศ โทร 1169