คำว่า “ฆาตกรต่อเนื่อง” หรือ Serial Killer กลับมาเป็นที่สนใจของสังคมไทยอีกครั้ง เมื่อหญิงคนหนึ่งตกเป็นผู้ต้องสงสัยในเหตุฆาตกรรมถึง 13 ราย และพยายามฆ่าอีก 1 ราย โดยใช้สารพิษ ‘ไซยาไนต์” เป็นอาวุธสังหาร
ชื่อของ “แอม ไซยาไนต์” หรือ นางสรารัตน์ รังสิวุฒาภรณ์ หรือ แอม อดีตภรรยาของนายตำรวจระดับรองผู้กำกับการในพื้นที่ จ.ราชบุรี ปรากฎในทุกสื่อ หลังการเสียชีวิตของ ‘ก้อย’ หรือ น.ส. ศิริพร ขันวงษ์ ชาว จ.กาญจนบุรี ที่หมดสติระหว่างไปปล่อยปลากับแอม เมื่อ 14 เม.ย. ก่อนจะเสียชีวิตในเวลาต่อมา ซึ่งผลการชันสูตรพบร่องรอยสารไซยาไนด์ และเมื่อตำรวจบุกค้นบ้านของแอม ก็พบหลักฐานเป็นสารไซยาไนด์ภายในบ้าน จากการสอบสวนของเจ้าหน้าที่ ยังพบเหยื่อเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จาก 12 เป็น 13 ราย รอดชีวิต 1 ราย และมีโอกาสที่อาจจะพบเหยื่อเพิ่มขึ้นอีก!
จากพฤติการณ์นี้ จึงกล่าวได้ว่าเข้าลักษณะ ‘ฆาตกรต่อเนื่อง’ ที่หมายถึง บุคคลที่ก่อคดีฆาตกรรมขึ้นโดยมีเหยื่อผู้เคราะห์ร้ายตั้งแต่ 3 คนขึ้นไป หรือก่อเหตุมาแล้วอย่างน้อย 3 ครั้ง
ลองมาย้อนดูเป็นกรณีศึกษากันว่าในประวัติศาสตร์โลกมี ‘ฆาตกรต่อเนื่องหญิง’ ที่ใช้สารพิษในการสังหารเหยื่ออย่างไร และพบจุดจบแบบไหน ซึ่งทั้ง 8 รายนี้ล้วนแล้วแต่มีพฤติการณ์โหดเหี้ยมไม่ต่างกับกรณีของ แอม ไซยาไนต์ เลย
1. เบลล์ กันเนส (Belle Gunness) ฉายา “เบลล์แห่งนรก” ฆาตกรต่อเนื่องวัย 40 ปีชาวนอร์เวย์ที่ฆาตกรรมผู้เกี่ยวข้องกับเธอในพื้นที่รัฐอิลลินอยล์และอินเดียน่า สหรัฐอเมริกา ระหว่างปี ค.ศ.1900-1908 คร่าชีวิตผู้คนไปทั้งหมดราว 42 คน(ซึ่งคาดว่าจำนวนจริงอาจมากกว่านี้) รวมทั้งสามีและลูกๆ ของเธอด้วย เบลล์ได้ชื่อว่าเป็นหนึ่งในฆาตกรโฉดที่สุดในประวัติศาสตร์อเมริกา
เบลล์ เป็นผู้อพยพชาวนอร์เวย์ที่มาตั้งถิ่นฐานตั้งแต่ปี 1881 เพื่อแสวงหาความมั่งคั่ง ต่อมาในปี 1884 เธอแต่งงานกับสามีคนแรก และเขาเสียชีวิตอย่างรวดเร็วด้วยอาการหัวใจล้มเหลว สันนิษฐานกันว่ามาจากการได้รับสารพิษ
เบลล์ เป็นผู้หญิงที่มีรูปร่างสูงใหญ่ เธอใช้ร่างกายอันใหญ่โตนี้ฆาตกรรมสามีทั้ง 3 คนด้วยสารพิษและวิธีการอื่นๆ รวมถึงผู้ชายแปลกหน้าที่หลงเข้ามาเป็นเหยื่อของเธออีกหลายคนและได้ขโมยทรัพย์สินจากเหยื่อเหล่านี้ด้วย และยังฆ่าลูกแท้ๆ ของตัวเองด้วยการใช้ยาพิษ เพียงเพราะต้องการเงินประกัน แต่ก่อนที่จะถูกจับลงโทษ เธอได้ก่อเหตุเผาตัวเองในคฤหาสถ์พร้อมลูกๆ ที่เหลือ เหตุไฟไหม้ในคฤหาสถ์ครั้งนี้ (จากการได้เงินประกันมาหลายครั้งจนร่ำรวยถึงขั้นซื้อคฤหาสถ์ได้) เจ้าหน้าที่จึงได้เข้าตรวจค้น และพบศพถูกฝังไว้เป็นจำนวนมากทั่วบริเวณบ้าน ทว่าการเผาตัวเองครั้งนี้กลายเป็นแผนการหลบหนีของเธอที่วางไว้อย่างซับซ้อน จากการชันสูตรศพไร้หัวที่ไหม้เกรียมนั้น พบว่าไม่ใช่ศพของเบลล์ กันเนส เพราะศพมีรูปร่างเล็กกว่าเบลล์หลายฟุต สรุปว่าเบลล์หนีหายไปได้อย่างลึกลับและไม่เคยมีใครได้พบเห็นเธออีกเลย เธอรอดจากเงื้อมมือกฏหมายไปใช้ชีวิตอยู่กับกองเงินก้อนโตที่ไหนสักแห่งในโลกนี้จนสิ้นอายุขัยโดยไม่เคยได้รับโทษที่ก่อแต่อย่างใด
2. ชิซาโกะ คาเคฮิ (Chisako Kakehi) วัย 76 ปี ฆาตกรต่อเนื่อง ฉายา “แม่ม่ายดำ” ผู้ใช้ยาพิษไซยาไนด์วางยาฆ่าอดีตคนรักและสามี 3 คน ตำรวจยังพบว่าเธอพยายามฆ่าผู้ชายอีกคนด้วย
ฆาตกรรายนี้ก่อเหตุระหว่างปีพ.ศ. 2550-2556 เหยื่อทุกรายมีอายุระหว่าง 70-80 ปี โดยผู้เสียชีวิตที่เป็นสามีนั้น เสียชีวิตหลังแต่งงานกันได้เพียง 1 เดือน จึงนำมาสู่ฉายา “แม่ม่ายดำ” ที่สื่อญี่ปุ่นตั้งให้ ตามชื่อของแมงมุมพันธุ์หนึ่งที่มักสังหารคู่ตัวเองหลังผสมพันธุ์เสร็จ
การฆาตกรรมสามี ทำให้นางคาเคฮิได้รับเงินมรดกและเงินประกันรวมมูลค่ากว่า 1,000 ล้านเยน แต่ท้ายสุดเธอนำไปเล่นหุ้นจนเป็นหนี้ ต่อมาถูกจับกุมเมื่อปี 2557 ซึ่งเธอปฏิเสธข้อกล่าวหา โดยอ้างว่า บุคคลทั้ง 3 รวมถึงสามีของเธอตายตามโชคชะตาตัวเอง ต่อมาหลังการดำเนินคดีอันยาวนานถึงชั้นอุทธรณ์ นางคาเคฮิจึงยอมรับสารภาพต่อศาล พร้อมระบุว่า ได้สารไซยาไนด์จากเพื่อนทางธุรกิจ แต่ตำรวจตรวจสอบไม่พบแหล่งที่มาแน่ชัด เมื่อกลางปี 2564 ศาลสูงสุดของญี่ปุ่นปฏิเสธการยื่นอุทธรณ์โทษประหารชีวิตครั้งสุดท้ายของนางคาเคฮิ ทำให้ตอนนี้เธอกำลังรอการประหารชีวิตอยู่
3. เจน ท็อปแพน (Jane Toppan) หรือ “จอลลี่ เจน” พยาบาลสาวโรคจิตที่คร่าชีวิตผู้ป่วยไปหลายสิบรายนับตั้งแต่ปีค.ศ.1885 เธอสารภาพถึงการฆาตกรรม 31 ครั้ง หลังจากถูกจับกุมในปี ค.ศ.1901 โดยฆ่าเหยื่อด้วยยาและสารเคมีหลายชนิด จากการหลอกให้ยาแก่ผู้ป่วยโดยบอกว่าเป็นยารักษาโรค ทั้งที่ความจริงเป็นยาพิษ เธอใช้วิธีให้ยาเหยื่อทีละน้อยๆ ทำให้ตายอย่างช้าๆ ด้วยเหตุนี้เลยไม่ถูกจับ ไม่มีใครสงสัยในตัวพยาบาลสาวผู้อ่อนหวานแสนดีคนนี้ที่ซ่อนปีศาจไว้ภายใน เธอจึงถูกขนานนามในยุคนั้นว่า “นางฟ้าแห่งความตาย” จากรายงานของหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นระบุว่าผู้ตกเป็นเหยื่อส่วนมากเป็นคนรวยที่เลือกเธอมาเป็นพยาบาลพิเศษเพื่อดูแลรักษา ด้วยความน่าเชื่อถือและมีความรู้เรื่องการแพทย์ที่หาได้ยากในเวลานั้น
แต่ที่ทำให้เรื่องราวของเจนกลายเป็นตำนานสยอง มาจากคำสารภาพถึงแรงจูงใจในการฆ่าเหยื่อของเธอว่า ‘เกิดจากความตื่นเต้นทางเพศขณะผู้ป่วยใกล้ตาย’ นั่นเป็นเหตุให้เจนไม่ได้ถูกนำตัวขึ้นศาลเนื่องจากถูกตัดสินว่าวิกลจริต จึงถูกส่งตัวไปโรงพยาบาลบ้า ‘Taunton Insane’ ตลอดชีวิต และเสียชีวิตด้วยโรคชราในปี 1938 รวมอายุ 84 ปี
4. เกสเช กอตต์ฟรีด (Gesche Gottfried) ฆาตกรต่อเนื่องหญิงชาวเยอรมัน นักโทษประหารคนสุดท้ายที่ถูกประหารชีวิตโดยการตัดหัวต่อหน้าสาธารณชนในเมืองเบรเมิน ประเทศเยอรมัน เธอฆ่าคนไปถึง 15 คนโดยการใช้สารหนู ก่อเหตุระหว่างปี พ.ศ.2356 ถึง พ.ศ. 2370 วิธีการคือ ผสมสารหนูในอาหารของเหยื่อขณะที่เธอดูแลพวกเขาในฐานะพยาบาล เริ่มจากฆ่าพ่อแม่ ตามด้วยสามีอีกสองคน คู่หมั้น และลูกของเธอ ส่วนเหตุผลที่อยู่เบื้องหลังอาชญากรรมของเกสเช ยังไม่ชัดเจนและเป็นที่ถกเถียงกันอย่างกว้างขวาง แต่มีการวิเคราะห์ทางจิตเวชว่า มาจากผลกระทบที่เธอได้รับในช่วงวัยเด็กที่นำไปสู่ความทุกข์ทรมานจากอาการป่วยในกลุ่มโรค Munchausen syndrome by proxy (MSBP) เป็นพฤติกรรมที่บุคคลหนึ่งสร้างเรื่องราว กล่าวเกินจริง หรือ ทำให้เกิดปัญหาทางกายหรือสุขภาพแก่ผู้ที่อยู่ในการดูแลโดยเฉพาะเด็ก เพื่อเรียกร้องความสนใจ MSBP เป็นอาการที่พบบ่อยมากในหมู่ฆาตกรต่อเนื่องหญิง
5. คริสเตน กิลเบิร์ต (Kristen Gilbert) ฆาตกรต่อเนื่องหญิงชื่อดังอดีตนางพยาบาลโรงพยาบาลเวอร์จิเนีย ในสหรัฐฯ กิลเบิร์ตเป็นพยาบาลที่ถูกตัดสินว่ามีความผิดในคดีฆาตกรรม 4 คดีและพยายามฆ่า 2 คดี ซึ่งที่จริงคาดกันว่าเหยื่อฆาตกรรมของคริสเตนน่าจะมีนับร้อยๆ ราย แต่ด้วยวิธีการก่อเหตุทำให้เธอรอดพ้นมาทำการฆาตกรรมต่อเนื่องได้อีกนานนับสิบปี โดยเหยื่อทั้งหมดเป็นผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาที่ศูนย์การแพทย์ในรัฐแมสซาชูเซตส์ โดยเธอทำการฉีดอะดรีนาลีนในปริมาณโอเวอร์โดส จนทำให้ผู้ป่วยหัวใจหยุดเต้น ส่วนแรงจูงใจนั้นไม่พบว่าเธอต้องการอะไรจากเหยื่อเลย ซึ่งจิตแพทย์วิเคราะห์ว่า มาจากพฤติกรรมต้องการเรียกร้องความสนใจหรือต้องการแสดงความสามารถอันท้าทายในฐานะพยาบาล ที่คร่าชีวิตผู้ป่วยอย่างแนบเนียนโดยรอดจากการถูกจับได้มาตลอด
อย่างไรก็ตาม ในที่สุดคริสเตนก็ถูกตัดสินว่ามีความผิดในปี พ.ศ. 2541 ปัจจุบันเธอถูกจำคุกตลอดชีวิตอยู่ที่เรือนจำกลาง ในเมืองฟอร์ตเวิร์ธ รัฐเท็กซัส
6. แนนนี่ ดอส (Nannie Doss) ฆาตกรต่อเนื่องที่คร่าชีวิตคนไป 11 คน ระหว่างปี 1920 ถึง 1954 เหยื่อทั้งหมดล้วนเป็นคนในครอบครัว วิธีการสังหารหลักของเธอคือ การใช้ยาเบื่อหนู เหตุจูงใจเดียวมาจากความหลงใหลตั้งแต่ยังเด็กว่าจะต้องหา “สามีที่สมบูรณ์แบบ” ให้ได้ นั่นจึงเป็นเหตุให้เธอฆาตกรรมสามีของเธอถึง 4 คน
ลูกในไส้ 2 คน น้องสาวของตัวเองอีก 1 คน หลานสาว 2 คน และแม่สามีอีก 2 คน รวมทั้งหมด 11 ราย แต่ก็ยังไม่สามารถหาสามีและชีวิตครอบครัวที่สมบูรณ์แบบได้ แนนนี่แต่งงานตั้งแต่อายุ 16 ปี กับ ชาร์ลี แบรกส์ หลังจากคบกันได้เพียง 4 เดือน ทั้งคู่มีลูกสาวด้วยกันถึง 4 คน คุณแม่ยังสาวต้องเลี้ยงทั้งลูกๆ และแม่ของสามี ดังนั้นเธอจึงเครียดและเริ่มดื่มอย่างหนัก จนกระทั่งวันหนึ่งลูกของเธอ 2 คนก็เสียชีวิตจากอาหารเป็นพิษ จากนั้นก็ตามมาอีกหลายศพในครอบครัวตลอดช่วงเวลา 30 กว่าปี จนในที่สุดแพทย์ได้ตรวจพบร่องรอยของสารหนูในร่างกายของเหยื่อ ตำรวจเริ่มสอบสวนเกี่ยวกับผู้คนที่เสียชีวิตรอบตัวเธอ และสุดท้ายแนนนี่ก็รับสารภาพว่า เป็นคนฆาตกรรมพวกเขาทั้งหมด เธอเข้าไปชดใช้กรรมในคุกได้ไม่ถึง 10 ปี ก็เสียชีวิตด้วยโรคลูคีเมีย
7. โดโรเธีย ปวนเต (Dorothea Puente) เจ้าของบ้านพักในซาคราเมนโต แคลิฟอร์เนีย วัย 53 ปีในขณะนั้น เธอคือฆาตกรต่อเนื่องที่สังหารผู้สูงอายุและผู้พิการที่อาศัยอยู่ในบ้านพักให้เช่าของเธอ จำนวน 7 ศพ ซึ่งพบว่าถูกฝังอยู่ใต้ลานดินบริเวณหอพัก
โดโรเธียลงมือสังหารเหยื่อทั้งหมดด้วยการใช้ยาโคเดอีนและอะเซตามิโนเฟน จากนั้นเธอจะนำเช็คประกันสังคมของผู้ตายไปขึ้นเงิน ความโหดเหี้ยมนี้ สื่อจึงเรียกเธอว่า “เจ้าของบ้านมรณะ” ต่อมาเธอถูกตั้งข้อหาฆาตกรรม และถูกตัดสินจำคุกตลอดชีวิต และเสียชีวิตในปี พ.ศ.2554 ในคุก Chowchilla ด้วยวัย 82 ปี ซึ่งตลอดเวลาที่ถูกจองจำเธอยังคงยืนกรานว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ และบอกว่าผู้เช่าทั้งหมดเสียชีวิตตามธรรมชาติ
8. เคมปามมะ (Kempamma) หรือที่รู้จักกันในชื่อ ‘Cyanide Mallika’ -ไซยาไนด์ มัลลิกา เธอเป็นฆาตกรต่อเนื่องหญิงคนแรกของอินเดียที่ถูกตัดสินว่ามีความผิด ในช่วงปี 1998 และ 2007 โดยถูกสงสัยว่ามีส่วนทำให้ผู้หญิง 6 คนในรัฐกรณาฏกะ (Karnataka) เสียชีวิต
เคมปามมะ เกิดในปี 1970 อาศัยอยู่ย่านชานเมืองบังกาลอร์ มีฐานะครอบครัวยากจนมากทำให้เธอพยายามหาหนทางสู่ความมั่งคั่ง โดยเลือกทางลัดที่เธอคิดว่าง่ายที่สุดคือ การหลอกลวง เคมปามมะจะเดินทางไปที่วัดทุกวัน และคอยเฝ้าสังเกตคนที่ดูเหมือนจะมีความทุกข์ จากนั้นเธอจะรับบทนางจิตใจดีและเข้าหาพวกเธอ รับฟังปัญหา และคอยเวลาที่เหมาะสม และเสนอทางแก้ด้วยพิธีกรรม ซึ่งเหยื่อที่กำลังเป็นทุกข์หรือมีปัญหาชีวิตอยู่แล้วก็มักจะเคลิ้ม จากนั้นเธอจะเริ่มแผนการร้ายด้วยการนัดให้เหยื่อสวมเสื้อผ้าเครื่องประดับราคาแพงแบบจัดเต็มเท่าที่เหยื่อมี แล้วพาไปวัดชานเมืองซึ่งไม่ค่อยมีใครรู้จัก จากนั้นก็จะให้เหยื่อหลับตาและอธิษฐาน โดยที่เหยื่อเองก็ไม่รู้ตัวเลยว่านี่จะเป็นคำอธิษฐานครั้งสุดท้าย หลังจากนั้นเคมปามมะจะเอาน้ำที่ผสมกับไซยาไนด์ให้เหยื่อดื่ม ซึ่งเธอบอกว่านี่คือ “น้ำศักดิ์สิทธิ์”
ชื่อที่ทุกคนเรียก “ไซยาไนด์ มัลลิกา” มีที่มาจากเหยื่อคนสุดท้ายที่เธอแนะนำตัวกับเหยื่อว่าชื่อ ‘มัลลิกา’ ท้ายที่สุดเคมปามมะก็ถูกจับกุม และถูกตัดสินประหารชีวิตในปี 2012 แต่ได้รับการลดโทษเป็นจำคุกตลอดชีวิตในเรือนจำ และเธอเป็นนักโทษคนแรกในรัฐกรณาฏกะที่ถูกตัดสินประหารชีวิต