เอลนีโญส่ออาละวาด!! กรมชลประทานเร่งรับมือ หวั่นภัยแล้งในหลายพื้นที่

กรมชบประทานเตรียมความพร้อมรับมือปรากฏการณ์ “เอลนีโญ” ที่คาดว่าจะทำให้ฝนตกน้อยและเกิดภัยแล้งในหลายพื้นที่ 

นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงได้สั่งการให้กรมชลประทานเดินหน้าบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องกับสถานการณ์ บรรเทาความเดือดร้อนให้ประชาชนให้ได้มากที่สุด สำหรับการบริหารจัดการน้ำฤดูแล้งในช่วงที่ผ่านมา ภาพรวมการจัดสรรน้ำถือว่าเป็นไปตามแผนที่กรมชลประทานกำหนดไว้ ส่งผลให้กิจกรรมการใช้น้ำ 4 กิจกรรมหลัก ได้แก่ อุปโภคบริโภค รักษาระบบนิเวศ การเกษตร และอุตสาหกรรม ไม่ได้รับผลกระทบแต่อย่างใด โดยได้รับความร่วมมือจากเกษตรกรและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเป็นอย่างดี และยืนยันว่า กรมชลประทานจะมีน้ำสำรองไว้ใช้ในช่วง 3 เดือน คือ เดือนพฤษภาคม-กรกฎาคมนี้

นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน

ด้านสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั้งประเทศ (ข้อมูล ณ วันที่ 2 พ.ค. 66) มีปริมาณน้ำรวมกัน 43,870 ล้านลูกบาศก์เมตร (ล้าน ลบ.ม.) หรือ 57% ของความจุอ่างฯ รวมกัน เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2565 ปีนี้มีน้ำมากกว่าประมาณ 200 ล้าน ลบ.ม. เฉพาะ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกัน 13,185 ล้าน ลบ.ม. หรือ 53% ของความจุอ่างฯ รวมกัน ซึ่งมากกว่าปีที่แล้วอยู่ประมาณ 3,000 ล้าน ลบ.ม.

กรมอุตุนิยมวิทยา ได้คาดการณ์ว่า ปรากฎการณ์เอลนีโญ ในช่วงเดือนมิถุนายน-กันยายนนี้ จะส่งผลให้ทั้งประเทศไทยเกิดฝนตกน้อยกว่าปกติ กรมชลประทาน จึงได้เตรียมแผนรับมือตั้งแต่ช่วงฤดูฝนปี 2566 นี้เป็นต้นไป เพื่อลดผลกระทบต่อสถานการณ์ภัยแล้งที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต โดยได้กำชับให้โครงการชลประทานทั่วประเทศ เฝ้าระวัง ติดตาม และประเมินสถานการณ์อย่างรอบคอบ เพื่อนำข้อมูลมาวิเคราะห์และปรับแผนบริหารจัดการน้ำให้เหมาะสมสอดคล้องกับสถานการณ์ในแต่ละพื้นที่ ที่สำคัญให้เร่งเก็บกักน้ำให้ได้มากที่สุด ส่วนพื้นที่ลุ่มต่ำที่กรมชลประทานได้ปรับปฏิทินเพาะปลูกให้เกษตรกรได้เพาะปลูกและเก็บเกี่ยวผลผลิตก่อนฤดูน้ำหลากจะมาถึง ปัจจุบันกรมชลประทานได้ส่งน้ำเข้าระบบชลประทาน เพื่อให้เกษตรกรได้เพาะปลูกแล้ว และจะเร่งเก็บเกี่ยวผลผลิตให้ทันก่อนน้ำหลากในช่วงกลางเดือนกันยายน เพื่อลดความเสี่ยงที่จะเกิดความเสียหายจากอุทกภัย นอกจากนี้ ได้กำชับให้โครงการชลประทานทุกแห่งปฏิบัติตามมาตรการบริหารจัดการน้ำฤดูฝนปี 2566 ที่กรมชลประทานกำหนด ควบคู่ไปกับการปฏิบัติตามมาตรการรองรับฤดูฝนปี 2566 ที่กองอำนวยการน้ำแห่งชาติกำหนด อย่างเคร่งครัด เพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับประชาชนให้มากที่สุด

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *