แผ่นดินไหวในเมียนมาร์ ขนาด 6.0 ริกเตอร์ สะเทือนถึงกทม. คนบนตึกสูงใน เมืองหลวง -ปริมณฑลแห่หนี หวั่นเกิดผลกระทบ ขณะที่กรมอุตุเตือน ไทยเสี่ยงน้อยแต่ไม่ได้หมายความว่าจะปลอดภัยจากแผ่นดินไหว
จากเหตุแผ่นดินไหว ขนาด 6.0 ริกเตอร์ ความลึก 10 กม. บริเวณนอกชายฝั่งทางตอนใต้ของประเทศเมียนมาร์ ซึ่งส่งผลสะเทือนออกมาไกลกว่า 500 กิโลเมตร โดยคนบนอาคารสูงใน กทม. และ จังหวัดนนทบุรี รับรู้ได้ถึงแรงสั่นสะเทือน กรมอุตุนิยมวิทยา โดยกองเฝ้าระวังแผ่นดินไหว ได้รายงานถึงสถานการณ์ล่าสุดผ่าน earthquake.tmd.go.th ระบุว่า “แผ่นดินไหวในครั้งนี้เกิดจากรอยเลื่อนสะกาย ในบริเวณประเทศเมียนมาร์ ที่มีลักษณะการเลื่อนตัวตามแนวระนาบ โดยภัยแผ่นดินไหวยังคงเป็นภัยธรรมชาติที่ยังไม่สามารถพยากรณ์ได้ การป้องกันและบรรเทาภัยแผ่นดินไหวที่มีประสิทธิภาพด้วยเทคโนโลยีและความรู้ในปัจจุบัน จำเป็นต้องการข้อมูลความสั่นสะเทือนของพื้นดินที่ถูกต้องจากระบบตรวจวัดที่มีมาตรฐาน สำหรับงานด้านแผ่นดินไหวและวิศวกรรมแผ่นดินไหว
ปัจจุบันหน่วยงานที่มีระบบเครือข่ายตรวจความสั่นสะเทือนในระดับชาติและเป็นมาตรฐานสากล ได้แก่ กองเฝ้าระวังแผ่นดินไหว กรมอุตุนิยมวิทยา ทำหน้าที่ในการตรวจและวิเคราะห์แผ่นดินไหวทั้งภายในและต่างประเทศ โดยมีเครือข่ายสถานีตรวจแผ่นดินไหวแบบอัตโนมัติ สถานีตรวจวัดอัตราเร่งของพื้นดิน สถานีวัดการเคลื่อนตัวของเปลือกโลก และสถานีวัดระดับน้ำทะเล ติดตั้งอยู่ทั่วประเทศไทย เพื่อตรวจวัด เฝ้าระวัง และให้บริการข้อมูลต่างๆ ที่เกี่ยวกับเรื่องภัยแผ่นดินไหวในประเทศอย่างต่อเนื่อง 24 ชั่วโมง ตลอดจนแจ้งเตือนภัยให้กับพื้นที่เสียงภัยกรณีเกิดแผ่นดินไหวใหญ่ในทะเล
การเตรียมการล่วงหน้าเพื่องานป้องกันภัยแผ่นดินไหว เกี่ยวข้องกับหลายหน่วยงาน ทั้งภาครัฐและเอกชน ซึ่งจำเป็นต้องเตรียมพร้อมก่อนล่วงหน้าเหตุการณ์ ขณะเกิดเหตุการณ์ และหลังเหตุการณ์ จำเป็นต้องมีการวางแผน ทั้งทางด้านนโยบาย ด้านปฏิบัติการ ด้านวิชาการ วิเคราะห์วิจัย และด้านมวลชนเพื่อให้ประชาชนมีความรู้ในการปฏิบัติตนอย่างไรเมื่อเกิดภัย เว็บไซต์นี้เป็นส่วนหนึ่งที่จะบรรลุถึง วัตถุประสงค์ และภารกิจ ข้างต้น แม้ว่าจากสถิติในอดีตประเทศไทยจัดว่าอยู่ในบริเวณที่มีความเสี่ยงภัยแผ่นดินไหวน้อยกว่าบริเวณอื่นๆ ของโลก แต่มิได้หมายความว่า ประเทศไทยปลอดภัยจากภัยแผ่นดินไหว”