กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ “ดีพร้อม” เผยผลสำเร็จการดำเนินโครงการส่งเสริมสุขภาวะองค์กรในวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SHAP) ประจำปี 2565 (SHAP ระยะ 3) สามารถเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต(Productivity) ให้ SMEs 223 แห่ง และคิดเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจได้กว่า420 ล้านบาท พร้อมเดินหน้าพัฒนาบุคลากรให้เป็นมืออาชีพ (SHAP Agents) จำนวน 130 คน เพื่อเป็นหน่วยส่งเสริมสุขภาวะองค์กรให้ SMEs โดยมีคนเป็นศูนย์กลาง เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตควบคู่กับการสร้างความสุขให้กับบุคลากรในสถานประกอบการ
นายใบน้อย สุวรรณชาตรี อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวว่า ปัจจุบัน SMEs ในประเทศไทยมีจำนวนมากถึงร้อยละ 99.57 ของวิสาหกิจทั้งประเทศ จึงเป็นรากฐานสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในทุกมิติ ซึ่งความยั่งยืนของ SMEs จำเป็นต้องพัฒนาผลิตภาพและผลิตผลอย่างต่อเนื่อง โดยที่คุณภาพชีวิตและความสุขของบุคลากรในองค์กรเป็นปัจจัยสำคัญในการดำเนินธุรกิจเช่นกัน ดังนั้น การสร้างกลไกที่จะส่งเสริม สนับสนุนให้คนทำงานมีความสุข มีคุณภาพชีวิตที่ดี อันจะส่งผลดีโดยรวมต่อการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตในองค์กร (Productivity) ทั้งในด้านคุณภาพสินค้า การบริการ การลดความสูญเสียต่าง ๆ และยังทำให้ต้นทุนลดลง รวมถึงสร้างความปลอดภัยในการทำงานได้มากยิ่งขึ้น ลดปัญหาการขาดแคลนแรงงาน ลดจำนวนการลาออก และรักษาพนักงานคุณภาพ เกิดเป็นองค์กรสุขภาวะ (Happy Workplace) ซึ่งจะสามารถส่งผลให้องค์กรเกิดการดำเนินงานที่มีประสิทธิภาพและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง
กระทรวงอุตสาหกรรม ภายใต้การบริหารงานของ ดร.ณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เห็นความสำคัญดังกล่าว จึงได้มอบหมายหมายให้ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือดีพร้อม เร่งสร้างมาตรฐานในการทำงานให้มีความสุข อันจะนำไปสู่การสร้างสรรค์นวัตกรรม โดยใช้ภูมิปัญญา วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี นำมาพัฒนาผลิตภัณฑ์และเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน รวมทั้งการสรรค์สร้างสิ่งใหม่ ๆ ในธุรกิจ ดังนั้นดีพร้อม จึงได้ดำเนินงานโครงการส่งเสริมสุขภาวะองค์กรในวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs Happy and Productive Workplace) หรือโครงการ SHAP และได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ซึ่งมีการดำเนินงานมาแล้วอย่างต่อเนื่อง 3 ระยะ ตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2559 ถึงเดือนกรกฎาคม 2566 เพื่อสร้างความตระหนักให้ผู้ประกอบการ SMEs ได้เห็นถึงความสำคัญของการเพิ่มประสิทธิภาพที่มีคนเป็นศูนย์กลาง สร้างรูปแบบการดำเนินงานสำหรับการส่งเสริมองค์กรสุขภาวะที่เหมาะสมในการเพิ่มประสิทธิภาพควบคู่ไปกับการสร้างความสุขให้กับบุคลากรในสถานประกอบการ อันจะส่งผลให้องค์กรมีความสามารถในการแข่งขันมากยิ่งขึ้น
นายใบน้อย กล่าวต่อว่า การสร้างสุขภาวะองค์กร (Happy Workplace) เป็นกระบวนการพัฒนาคนในองค์กรอย่างมีเป้าหมายและยุทธศาสตร์ที่สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ขององค์กร เพื่อให้องค์กรมีความสามารถและเตรียมพร้อมต่อการเปลี่ยนแปลง นำพาองค์กรไปสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน เพราะจะทำให้เกิดการพัฒนาองค์กรอย่างต่อเนื่อง อาทิ การพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนทำงาน ปรับเปลี่ยนระบบการบริหารจัดการ การพัฒนากระบวนการทำงาน การพัฒนาให้พนักงานร่วมคิดค้นนวัตกรรม ซึ่งการดำเนินโครงการฯ ที่ผ่านมาถือว่าประสบผลสำเร็จเป็นที่น่าพอใจ โดยระยะ 3 มี SMEs เข้าร่วมจำนวน 223 แห่ง หลังจากการดำเนินงานมีค่าเฉลี่ยความสุข HAPPINOMETER เพิ่มขึ้นทุกมิติ จากร้อยละ 60.11 เป็นร้อยละ 66.42 และพบว่าพนักงานมีขวัญกำลังใจและมีส่วนร่วมในการพัฒนาองค์กรมากขึ้นมีบรรยากาศในการทำงานที่ดีขึ้น พนักงานในองค์กรทุ่มเทในการทำงานมากขึ้น มีการขาดงาน การลาป่วย การลากิจ และการลาออกลดน้อยลง ส่งผลต่อการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต (Productivity) และมีมูลค่าผลตอบแทนที่สามารถคิดเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจได้กว่า 420 ล้านบาท
ขณะเดียวกัน ยังส่งผลให้เกิดวัฒนธรรมการออมของพนังกงานภายในองค์กรได้กว่า จำนวน 21.1 ล้านบาท นอกจากนั้น ยังมีการพัฒนาเจ้าหน้าที่ดีพร้อมเป็น SHAP Agents จำนวน 130 ราย เพื่อทำหน้าที่จัดฝึกอบรมสร้างองค์ความรู้แก่ผู้ประกอบการผ่านโครงการ/กิจกรรมต่าง ๆ ของดีพร้อม เพื่อพัฒนา SMEs ให้เป็นองค์กรแห่งความสุข รวมทั้งพัฒนารูปแบบและเครื่องมือการพัฒนาผลิตภาพควบคู่กับการสร้างสุขภาวะองค์กรอีกด้วย ทั้งนี้ โครงการ SHAP ยังได้จัดการประกวดคัดเลือกวิสาหกิจ เพื่อเป็นองค์กรต้นแบบด้านการสร้างสุขภาวะองค์กร พัฒนาผลิตภาพ และส่งเสริมให้ SMEs นำหลักการสร้างสุขภาวะองค์กรไปประยุกต์ใช้ให้แพร่หลายมากขึ้น โดยพิจารณาคัดเลือกจากวิสาหกิจ 130 กิจการ และได้วิสาหกิจต้นแบบจำนวน 57 กิจการ แบ่งเป็น วิสาหกิจต้นแบบระดับเพชร 3 รางวัล ระดับแพลทินัม 12 รางวัล ระดับทอง 20 รางวัล วิสาหกิจชุมชนต้นแบบดีเด่น 2 รางวัล และรางวัลวิสาหกิจต้นแบบสุขสร้างสรรค์ 20 รางวัล
“ดีพร้อม ยังคงได้รับการสนับสนุนจาก สสส. ดำเนินงานโครงการ SHAP ระยะที่ 4 เป็นระยะเวลาอีก 3 ปี ตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2566 ถึงเดือนกรกฎาคม 2569 เพื่อผลักดันให้การส่งเสริมคุณภาพชีวิตวัยทำงานในสถานประกอบการเป็นกลไกปกติของการพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการ ด้วยการสร้างและพัฒนาให้เกิดองค์กรสุขภาวะ โดยส่งเสริมให้สถานประกอบการนำแนวคิด Happy Workplace เป็นแนวทางพัฒนาศักยภาพองค์กรควบคู่กับการส่งเสริมคุณภาพชีวิตบุคลากรในองค์กร ส่งเสริมสถานประกอบการตามแนวทางมาตรฐานองค์กรแห่งความสุข (มอส.) การรับรองมาตรฐานองค์กรแห่งความสุขให้สถานประกอบการ สร้างและพัฒนา Happy Workplace Center จำนวน 5 แห่ง ให้เป็นศูนย์ส่งเสริมและสนับสนุนการสร้างสุขภาวะองค์กรในสถานประกอบการ โดยให้บริการด้านวิชาการ ให้คำปรึกษาแนะนำการสร้างองค์กรแห่งความสุข และการจัดอบรมให้ความรู้สุขภาวะองค์กรแก่วิสาหกิจทั่วประเทศเพื่อให้เติบโตอย่างยั่งยืนต่อไป” นายใบน้อย กล่าวทิ้งท้าย