เสียงวิพากษ์วิจารณ์ที่ตามมาหลังการแถลงข่าวโดยพรรคเพื่อไทย รวมถึงความเคลื่อนไหวจากม็อบที่เกิดขึ้นโดยแทบจะทันที ไม่เพียงจะเป็นสัญญาณเตือนที่พ้องกับหลายๆ ฝ่าย ทั้งนักวิชาการ นักการเมือง นักเคลื่อนไหว หรือแม้เสียงจากคนในฟากฝั่งแกนนำคนเสื้อแดง ที่เป็นมวลชนสนับสนุนพรรค หรือแม้แต่เสียงจากคนในพรรคซีกประชาธิปไตยเข้มข้นเอง ดังสนั่นทั้งโซเชียล และตามท้องถนนทั่วประเทศ
ซึ่งหากย้อนดูเหตุผลจากคำแถลงของ น.พ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย นายภูมิธรรม เวชยชัย รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย นายประเสริฐ จันทรรวงทอง เลขาธิการพรรคเพื่อไทย แถลงผลการหารือร่วมกับพรรคก้าวไกลและ 8 พรรคการเมือง ที่ ระบุข้อความส่วนหนึ่งว่า “แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีจากพรรคก้าวไกล (พิธา ลิ้มเจริญรัตน์) ไม่สามารถรวบรวมเสียงสนับสนุนจากรัฐสภาได้ โดยมีเพียง 324 เสียงจากที่ต้องการถึง 376 เสียง ซึ่งพรรคเพื่อไทยได้สนับสนุนพรรคก้าวไกลอย่างเต็มความสามารถทั้งการอภิปราย และยกมือสนับสนุน 141 เสียง แต่เนื่องจากปรากฏเงื่อนไขของพรรคการเมืองอื่นๆ และสมาชิกวุฒิสภา ไม่ยอมรับนโยบายแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ของพรรคก้าวไกล
โดยพรรคก้าวไกลรับทราบท่าทีเหล่านี้ แต่ยืนยันไม่ปรับเปลี่ยนนโยบาย จึงเป็นการแน่ชัดว่า แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีจากพรรคก้าวไกล จะไม่สามารถผ่านการลงมติเห็นชอบจากรัฐสภาให้ดำรงตำแหน่งได้ ในสถานการณ์เช่นนี้ พรรคเพื่อไทย ได้ปรึกษาหารือกับพรรคก้าวไกลขอถอนตัวจากการร่วมมือกันและ เดินหน้าจัดตั้งรัฐบาลพรรคร่วมใหม่ เสนอชื่อ “นายเศรษฐา ทวีสิน” แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรค ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี”
จากถ้อยแถลงประเภท “ถีบหัวส่ง” ให้พรรคก้าวไกลไปเป็นฝ่ายค้าน นั่นอาจไม่ใช่ประเด็นเดียวที่เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ไปถึงก่นด่า ว่านี่เป็นการ “ปิดสวิตช์ก้าวไกลไม่ใช่สว.” แต่ประเด็นการจับขั้วทางการเมืองที่กำลังจะเกิดขึ้นใหม่เป็นโมเดล “ผสมข้ามสายพันธุ์” แม้พรรคเพื่อไทยจะยืนยัน ไม่มีสองลุง และเป็นการนำเสนอแคนดิเดตนายกฯ จากพรรคเพื่อไทยแล้วก็ตาม
แต่คงต้องยอมรับว่า นี่เป็นประเด็นที่สร้างความขุ่นเคืองโกรธแค้นให้กับ “ด้อมส้ม” หรือ แม้แต่เสื้อแดงหลายกลุ่ม ที่ผิดหวังกับความเป็นพรรคประชาธิปไตยอย่างพรรคเพื่อไทยเป็นอันมาก ที่ไม่เพียงฝืนมติมหาชน ทิ้งเพื่อนร่วมอุดมการณ์อย่าง “ก้าวไกล” แต่ยังเดินหน้าไปจับมือกับ มหาศัตรู ขั้วตรงกันข้าม อย่างหลังนี่น่าจะเป็นเรื่องที่เกินรับได้ นอกจากนี้ยังมีความเจ็บช้ำจากกรณีของ การเลือกประธานสภา ที่ “ก้าวไกล” เป็นฝ่ายถอยให้ตั้งคนกลางอย่าง นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา จากพรรคประชาชาติ แทนที่จะเป็นคนจากพรรคก้าวไกลอย่าง นายปดิพัทธ์ สันติภาดา หรือ หมออ๋อง ส.ส.จากก้าวไกล ที่เป็นรองประธานสภาคนที่ 1 นั่นเป็นความเจ็บปวดที่พรรคก้าวไกลได้รับ จากการกระทำของพรรคเพื่อไทยแบบเต็มๆ
ท่ามกลางคำถามที่ว่า “ทำไมไม่จับมือกันไว้ให้เนียวแน่น และทำไมไม่รอตามข้อเสนอ 10 เดือน และที่สำคัญ ทำไมจึงต้องเร่งเร้าเร่งรัดให้เกิดการจัดตั้งรัฐบาลให้ได้” คำถามเหล่านี้ไม่เพียงแต่ด้อมส้ม เสื้อแดงซีกประชาธิปไตยเข้มข้นที่กำลังเกรี้ยวกราด แต่หลายๆ ฝ่ายก็ยังคงสงสัยในประเด็นนี้ด้วยเช่นกัน
ในคำถามนี้ถูกแบ่งความเห็นที่น่าฟังออกมาหลายมุมหลายมิติ หนึ่งในมิตินั้น คือความเชื่อในเรื่องของการ “ร่วมกันเดินแยกกันตี” ชี้เป้าไปที่การแก้รัฐธรรมนูญ ที่ก็มีความน่าสนใจไม่น้อย แม้ความเห็นในซีกนี้จะถูกมองเป็นเพียง “ข้อแก้ตัว”ให้กับ “เพื่อไทย” แต่ถ้าสำรวจลึกลงไปในความเป็นจริงแล้ว ก็มีเหตุผลที่น่าพิจารณาไม่น้อย
นายยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้จัดการ iLaw หรือ โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กแสดงความคิดเห็นถึงกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 โดยมีเนื้อหาดังนี้ “เราจะรู้ไปทำไมว่า กระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 นั้นมีเงื่อนไขยากที่สุดในประวัติศาสตร์รัฐธรรมนูญ 20 ฉบับของไทย นอกจาก จะต้องได้เสียงเกินครึ่งหนึ่งของสองสภาทั้ง ส.ส. และส.ว.แล้ว ยังต้องอาศัยเสียงส.ว. อย่างน้อย 1 ใน 3 และต้องได้เสียง “ฝ่ายค้าน” 20% ร่วมกันด้วย กล่าวคือ อะไรที่เป็นประโยชน์ต่อรัฐบาลฝ่ายเดียว มันก็จะไม่ผ่าน และอะไรที่เสียประโยชน์ต่อรัฐบาลฝ่ายเดียว มันก็จะไม่ผ่านเช่นกัน
ดังนั้น โอกาสเดียวที่จะเปิดทางสู่การเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ได้ คือ ต้อง “แบ่ง” เอาคนที่พร้อมจะโหวตจำนวนหนึ่งไปเป็นฝ่ายค้าน (หมออ๋องต้องลาออก) และให้อยู่ในฝ่ายรัฐบาลจำนวนมากพอ สุดท้ายถึงจะได้เสียงโหวตจากทั้งสองฝ่ายรวมแล้วเพียงพอ และเราก็กำลังจะเดินหน้าไปตามทางโอกาสเดียว โอกาสนั้น เรายังไม่กลับสู่ระบบการเมืองที่ปกติได้ง่ายๆ ยังไงในช่วงสองปีข้างหน้า ไม่มีทางอื่นให้เลือกเดินครับ ต้องเดินทางนี้ทางตรงและต้องเดินร่วมกัน”
นี่เป็นหนึ่งเสียงที่มองมิติเรื่องของการแก้ไขรัฐธรรมนูญกับเกมหักดิบก้าวไกลของเพื่อไทยที่เกิดขึ้น และตรงกับการแถลงของพรรคเพื่อไทย เกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่ระบุว่า จะมีการผลักดันการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน โดยกำหนดเป็นวาระแห่งชาติ โดยเริ่มจากมติ ครม. ในการประชุมครั้งแรกให้มีการทำประชามติ และจัดตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) เมื่อดำเนินการแล้วเสร็จ รัฐบาลจะคืนอำนาจให้ประชาชนได้เลือกตั้งใหม่ภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ซึ่งก็คงเป็นเรื่องที่จะนำมาพิจารณาว่านี่คือเหตุผลการหักดิบเพื่อน ที่เกิดขึ้นโดยเพื่อไทยจริงหรือไม่?
ส่วนในปีกที่เห็นต่าง มองว่าปรากฏการณ์ทางการเมืองที่เกิดขึ้นนั้นเป็นเรื่องของการ “แย่งชิงอำนาจ” และเพื่อไทย ต้องการได้อำนาจมา โดยไม่สนใจในสัญญาประชาคม
นายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ อดีตนักการเมืองและอดีตสื่อมวลชนชื่อดัง โพสต์ไว้ในเฟสบุ๊คส่วนตัว “ชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์” ระบุว่า “เปิดยุทธการ “งูเห่าซ้อนงูเห่า” วันนี้ชัดเจนแล้วว่า เพื่อไทยทิ้งก้าวไกล ถีบหัวเรือส่งให้ลอยทะเล เอาตัวเองขึ้นฝั่ง แล้วโยนความผิดให้กับคนบนเรือ ฉีก MOU ทิ้งด้วยเกม “คนแก่หลอกเด็ก” ว่า ทำให้ทุกอย่างแล้วแต่ไม่ยอมถอย รั้นจะเอาให้ได้ แกล้งทำสัญญาณ “รักกันตลอดไป” รูปหัวใจให้คนเชื่อ ทั้งที่รู้อยู่เต็มอกว่าจะต้องมีวันนี้ แผนลวง “ปิดสวิตซ์ ส.ว.” กลับกลายเป็น “เอาใจ ส.ว.” แทน พรุ่งนี้ “ดีลลับ” ฟันธงได้อีกว่า เพื่อไทยจะแถลงหรูดูเท่ห์ ไม่เอา “พรรค 2 ลุง” มาร่วมจับขั้ว แต่จับตาดูวันโหวตนายกฯ ใครโหวตให้ก็ได้ร่วมรัฐบาล เพราะวันที่ 4 สิงหาคม เป็นการโหวตเลือกนายกฯ ไม่ได้โหวตพรรคร่วมรัฐบาล เข้าตำรา “มา ไม่มา ไม่มา มา” พรรคที่ว่าไม่มา จะมาเอาทีหลังยุทธการ “งูเห่าซ้อนงูเห่า” ดึงมาร่วมเพิ่มจาก พรรค 2 ลุง ส.ว. รับทราบสัญญาณชัด ไฟเขียวทะลุด่าน ส.ว. 200 อย่างต่ำ ลุงๆ กระพริบไฟให้สัญญาน ไปก่อนแล้วตามไปทีหลัง พรุ่งนี้แถลงพรรคเพื่อไทย “อย่าเชื่อในสิ่งที่เห็น อย่าฟังในสิ่งที่ได้ยิน” ให้ดูวันโหวตนายกฯ ใครเป็นใคร? งูเห่าจะชูคอสลอน แต่นายกฯ ที่ได้จะประจักษ์ชัดในใจประชาชน ด้วยข้อมูล “เพื่อชาติ” ส่งท้ายให้สังคมได้เห็นจากผม หลอกกันจนเพลิน ทำสัญลักษณ์รูปหัวใจ หลอกกันไปได้ อย่าเกลียดผมนะครับ ที่รู้ทัน”
นอกจากนี้ยังมีนักวิชาการส่วนหนึ่งที่เห็นพ้องตรงกันว่า การถีบหัวส่งก้าวไกลของเพื่อไทยในครั้งนี้ เป็นการปูทางเพื่อการกลับบ้านของ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งถูกมองว่ามีความสำคัญกับพรรคเพื่อไทย แม้ว่ากำหนดการเดิมในวันที่ 10 ส.ค.66 นี้ จะถูกแฉว่ามีการเลื่อน และมีการออกมาปฏิเสธโดย นางสาวแพทองธาร ชินวัตร แคนดิเดตนายกฯ จากพรรคเพื่อไทย บุตรสาว แต่หลายภาคส่วนเห็นตรงกันว่ามีความเป็นไปได้ ที่ นายทักษิณ จะไม่ได้กลับมาในวันดังกล่าว และเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อการตัดสินใจของพรรคเพื่อไทย
ส่วนสูตรการจัดตั้งรัฐบาลที่หลายฝ่ายเชื่อกันว่าจะเกิดขึ้นในอนาคต จากการพลิกขั้วข้ามพันธุ์ของพรรคเพื่อไทยในครั้งนี้ หลายฝ่ายมองสูตรที่ใกล้เคียงที่สุดคือ 10 พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ ประกอบด้วย พรรคเพื่อไทย (141 ที่นั่ง), พรรคประชาชาติ (9 ที่นั่ง), พรรคไทยสร้างไทย (6 ที่นั่ง), พรรคเพื่อไทรวมพลัง (2 ที่นั่ง), พรรคเสรีรวมไทย (1 ที่นั่ง), พรรคพลังสังคมใหม่ (1 ที่นั่ง) ร่วมด้วยพรรคภูมิใจไทย (71 ที่นั่ง), พรรคประชาธิปัตย์ (25 ที่นั่ง), พรรคชาติไทยพัฒนา (10 ที่นั่ง) และพรรคชาติพัฒนากล้า (2 ที่นั่ง)
ขณะที่ความเคลื่อนไหวจากพรรคก้าวไกล นายชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล (ก.ก.) เปิดแถลงข่าว เพื่อ “ขอโทษประชาชน” ที่ไม่สามารถผลักดันให้เกิดการจัดตั้งรัฐบาลที่เคารพเจตจำนงค์ของประชาชนผ่านการเลือกตั้งได้สำเร็จ และยังไม่มีมติพรรคชัดเจนว่าจะโหวตสนับสนุนแคนดิเดตนายกฯ จากพรรค พท. หรือไม่ พร้อมเปิดเผยสาระสำคัญในการพูดคุยกับแกนนำพรรค พท. เอาไว้ ดังนี้
พรรค พท. แจ้งว่า ขอออกจากบันทึกความเข้าใจร่วมกัน (เอ็มโอยู )ที่ได้ทำร่วมกันทั้ง 2 ฉบับ ทั้งเอ็มโอยูในการจัดตั้งรัฐบาล 8 พรรค เมื่อ 22 พ.ค. และเอ็มโอยูระหว่างเพื่อไทย-ก้าวไกล ตอนเลือกประธานสภาผู้แทนราษฎร เมื่อ 3 ก.ค.
พรรค พท. ไม่ได้ขอให้พรรค ก.ก. พิจารณาถอยเรื่องการเสนอเรื่องมาตรา 112 และตลอดเวลาที่ผ่านมา ก็ไม่เคยมีการเจรจาเรื่องนี้ โดยพรรค พท. ให้เหตุผลว่า พรรคการเมืองเกือบทั้งหมดที่ไปคุยกัน “ไม่ต้องการให้พรรคก้าวไกลเข้าร่วมรัฐบาล ไม่ว่าจะมีเรื่อง 112 หรือไม่ก็ตาม”
พรรค พท. ไม่ได้ขอให้พรรค ก.ก. โหวตให้แคนดิเดตนายกฯ ของเพื่อไทยในวันที่ 4 ส.ค. เพราะถือเป็นเอกสิทธิ์ของแต่ละพรรค และ “แกนนำพรรคเพื่อไทย บางท่านยังได้แสดงความกังวลใจด้วยซ้ำว่าหากพรรคก้าวไกลจะโหวตให้กับแคนดิเดตนายกฯ จากพรรคเพื่อไทย อาจจะทำให้ สว. ไว้วางใจพรรคเพื่อไทยได้ เพราะกังวลว่าหากก้าวไกลไปโหวตให้ หลังเลือกนายกฯ เสร็จแล้ว เพื่อไทยจะดึงก้าวไกลมาร่วมรัฐบาลอีก”
เลขาธิการพรรค ก.ก. ยืนยันว่า ไม่ว่าจะอยู่ในสถานะไหน พรรค ก.ก. จะทำงานในฐานะผู้แทนราษฎรอย่างเต็มที่ เและสิ่งที่เกิดขึ้นทั้งหมด (เกี่ยวกับกรณีพรรคเพื่อไทย) แสดงให้เห็นถึงความบิดเบี้ยวของการเมืองไทย
“ปัญหาของการเมืองไทยคืออำนาจสูงสุดไม่ได้เป็นของประชาชน นี่คือปัญหาใหญ่ ก็คงเป็นภารกิจของพวกเราที่จะผลักดันเปลี่ยนแปลงอย่างสุดความสามารถ เพื่อให้การเมืองกลับมาสู่ระบบปกติที่เสียงและอำนาจของประชาชนสำคัญที่สุดและเรื่องทั้งหมด ได้มีการแจ้งให้นายพิธาทราบแล้ว ซึ่งขณะนี้นายพิธาพักรักษาตัวอยู่ใน รพ. ด้วยอาการไข้หวัดใหญ่ โดยมี “กำลังใจดี แต่เสียงไม่มีเลย เข้าใจว่าเป็นเพราะไข้หวัดใหญ่” และเมื่อพรรค พท. ตัดสินใจแบบนี้แล้ว เราก็คงไปเรียกร้องไม่ได้”
นอกจากนี้ยังมีความเห็นจากผู้คนในฟากที่ยืนอยู่ฝั่งพรรคก้าวไกล อย่าง นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า โพสต์เฟซบุ๊ก Piyabutr Saengkanokkul – ปิยบุตร แสงกนกกุล ยืนยัน ไม่มีอะไรที่ พิธา-ชัยธวัช-ก้าวไกล เสียใจ เสียหน้า-สิ้นหวัง จากนี้ ไม่ใช่สงครามสีเสื้อ ไม่ใช่การต่อสู้ระหว่างพรรค แต่คือ การต่อสู้ระหว่าง อดีต vs อนาคต การเมืองไทยเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง สู้ จนกว่าอำนาจสูงสุดเป็นของประชาชน ไม่มีอะไรที่ พิธา ชัยธวัช และพรรคก้าวไกลต้องเสียใจ ไม่มีอะไรที่ พิธา ชัยธวัช และพรรคก้าวไกล ต้องเสียหน้า ไม่มีอะไรที่ พิธา ชัยธวัช และพรรคก้าวไกล ต้องท้อแท้ สิ้นหวัง และไม่มีอะไรที่ พิธา ชัยธวัช และพรรคก้าวไกล ต้องคลางแคลงสงสัยว่าตนคิดผิดพวกเขาต่างหากที่ต้องเสียใจที่มองสถานการณ์ระยะสั้น พวกเขาต่างหากที่ต้องเสียหน้า ตอบใครไม่ได้แม้กระทั่งตอบใจตนเอง ต้องแก้ปัญหาในสิ่งที่พูดไปแบบ “วัวพันหลัก”พวกเขาต่างหากที่ต้องท้อแท้ สิ้นหวัง ไม่รู้ว่าในอนาคตจะชนะก้าวไกลได้ด้วยวิธีไหน จะยุบ จะตัดสิทธิ อย่างไร ก็ฆ่า “ความคิด” ไม่ตาย
สังคมเปลี่ยนความคิดจิตใจคนเปลี่ยนนักการเมืองและพรรคการเมืองต้องขยับตาม ถ้าไม่นำมวลชน อย่างน้อยก็ต้องเคียงข้างกับความคิดที่เปลี่ยนแปลงไปหนทางพิสูจน์ม้า และเวลาพิสูจน์คนใครถอยและใครทน พิสูจน์ได้เมื่อภัยมา
ดีเสียอีก… ที่การเมืองไทยได้ขีดเส้นใหม่แบ่งใหม่ชัดเจนต่อไปไม่ใช่สงครามสีเสื้อไม่ใช่การต่อสู้ระหว่างพรรคแต่คือ การต่อสู้ระหว่าง อดีต vs อนาคตอดีตแบบทศวรรษ 2520 ขยับทีละคืบไปสู่ทศวรรษ 40 กับอนาคตแบบใหม่ที่ประชาชนผู้ทรงอำนาจสูงสุดของประเทศร่วมกันกำหนดเข็มนาฬิกาเดินหน้า ต่อให้ใครหยุดเข็มนาฬิกาไม่ให้เดิน อย่างไรมันก็จะเดินต่อไปขอจงยืนตรงอย่างทระนงองอาจ เดินหน้าสู้ต่อภัยทั้งปวงต่อสู้ตามแนวทางของตน”
และนี่คือสถานการณ์การเมืองร้อนๆ กับการตัดสินใจของ พรรคเพื่อไทย ที่กำลังตกเป็นกระแสอยู่ในขณะนี้ทั้งในดลกแห่งความเป็นจริงและโลกโซเชียลที่มีความเคลื่อนไหวมากมาย โดยส่วนใหญ่เป็นการแสดงความไม่พอใจกับปรากฏการณ์ทางการเมืองที่เกิดขึ้นโดยพรรคเพื่อไทย แต่เรื่องทั้งหมดนี้จะจบลงอย่างไรคำตอบคงจะอยู่ในสองสถานการณ์สำคัญที่มีการคาดการณ์กันคือ การโหวตนายกฯ รอบ 3 โดยสภา และการกลับมาของ นายทักษิณ ที่แต่เดิมระบุไว้วันที่ 10 ส.ค.66 ทั้งสองเหตุการณ์ทีก่ำลังจะเกิดขึ้นจะเป็นตัวกำหนดวัดความเป็นไปในอนาคตของการเมืองไทย ที่พลิกผันล้ำลึกแบบไม่คาดคิด และจะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของการเมืองไทย และพรรคการเมืองไทย ที่ชี้วัดความเป็นสองขั้วแบบชัดเจนไปอีกนานแสนนาน …