กลายเป็นอีกพรรคการเมืองหนึ่งที่ได้รับความสนใจ โดยเฉพาะ “อนาคต” กับการก้าวไปข้างหน้าและผู้นำหัวหน้าพรรคว่าจะเป็นใคร? สำหรับพรรคประชาธิปัตย์ พรรคการเมืองที่เก่าแก่แห่งหนึ่งของไทย และมีประวัติความโชกโชน เป็นสีสัน บนเส้นทางการเมืองไทยมาอย่างยาวนาน
แต่กลับเข้าสู่ยุคตกต่ำอย่างน่าใจหายจากผลการเลือกตั้งและเก้าอี้ส.ส.ในการเลือกตั้งหลายครั้งที่ผ่านมา พรรคประชาธิปัตย์จากพรรคขนาดใหญ่กลายเป็นพรรคขนาดกลาง ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่หลายคนให้ความสนใจ โดยเฉพาะ เรื่องวุ่นๆ ภายในพรรค ที่หลายคนเปรียบเทียบถึงการเป็น “เรือไร้หางเสือ แถมไม่มีนายท้าย” ท่ามกลางกระแสน้ำแห่งการเมืองไทยที่เชี่ยวกราก
ล่าสุด ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจขอประชาชน เรื่อง “เรื่องวุ่น ๆ ของพรรคประชาธิปัตย์” ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 9-10 สิงหาคม 2566 จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป กระจายทุกภูมิภาค ระดับการศึกษา อาชีพ และรายได้ ทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้น จำนวน 1,310 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับเรื่องวุ่น ๆ ของพรรคประชาธิปัตย์ การสำรวจอาศัยการสุ่มตัวอย่าง
โดยใช้ความน่าจะเป็นจากบัญชีรายชื่อฐานข้อมูลตัวอย่างหลัก (Master Sample) ของ “นิด้าโพล” สุ่มตัวอย่างด้วยวิธีแบบง่าย (Simple Random Sampling) เก็บข้อมูลด้วยวิธีการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ โดยกำหนดค่าความเชื่อมั่น ร้อยละ 97.0
ผลจากการจากการสำรวจ สอบถามมีความน่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง จากเมื่อถามคำถามประชาชนถึงการเลือกพรรคประชาธิปัตย์ตั้งแต่มีสิทธิเลือกตั้ง พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 58.63 ระบุว่า ไม่เคยเลือกพรรคประชาธิปัตย์ รองลงมา ร้อยละ 31.91 ระบุว่า เคยเลือก แต่ไม่ได้เลือกในการเลือกตั้งเมื่อ 14 พ.ค. 2566 ร้อยละ 9.31 ระบุว่า เคยเลือก รวมถึงในการเลือกตั้งเมื่อ 14 พ.ค. 2566 และร้อยละ 0.15 ระบุว่า ยังไม่เคยไปเลือกตั้งเลย
เฉพาะจากผลสำรวจในหัวข้อนี้ ประชาชนในกลุ่มตัวอย่างเกือบ 60 เปอร์เซ็นต์ ไม่เคยเลือกพรรคประชาธิปัตย์เลย ซึ่งเมือย้อนกลับไปในการเลือกตั้งครั้งผ่านๆ มา ก็จะเห็นผลที่สะท้อนออกมาจากภาพนี้ได้อย่างชัดเจน ในปี 2562 และการเลือกตั้งครั้งล่าสุด เก้าอี้ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ หายไปจากกรุงเทพฯ พื้นที่เมืองหลวงอย่างถาวร สิ้นสุดการเป็นพรรคที่เคยยิ่งใหญ่ครองในคนเมืองหลวงในอดีต
นอกจากนี้ในภูมิภาคต่างๆ การเลือกตั้งครั้งล่าสุด นอกเหนือจากภาคใต้แล้ว พรรคประชาธิปัตย์ ไม่ประสบความสำเร็จจากภาคอื่น สำหรับส.ส.ในพื้นที่ หรือ แม้แต่ความนิยมในตัวบุคคลของพรรค อย่าง ส.ส.บัญชีรายชื่อ ที่เหลือเพียง 3 คน
และจากหัวข้อการสำรวจนี้ อาจเป็นผลสะท้อนจุดตกต่ำอย่างที่สุดของพรรคประชาธิปัตย์ ที่สะท้อนภาพตรงกันในส่วนของผลสำรวจที่เกิดขึ้น และ ภาพจากการเลือกตั้งจริงเมื่อ พฤษภาคม 2566 ที่ผ่านมา!!
ขณะที่ ความคิดเห็นของประชาชนต่อบุคคลที่เหมาะสมจะเป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์คนต่อไป พบว่า อันดับ 1 ร้อยละ 37.48 ระบุว่าเป็น นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อันดับ 2 ร้อยละ 24.43 ระบุว่าเป็น นายชวน หลีกภัย อันดับ 3 ร้อยละ 9.85 ระบุว่าเป็น ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ (ดร.เอ้) อันดับ 4 ร้อยละ 4.27 ระบุว่าเป็น น.ส.วทันยา บุนนาค (มาดามเดียร์) อันดับ 5 ร้อยละ 3.05 ระบุว่าเป็น นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ อันดับ 6 ร้อยละ 2.90 ระบุว่าเป็น ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช อันดับ 7 ร้อยละ 2.67 ระบุว่าเป็น นายอลงกรณ์ พลบุตร อันดับ 8 ร้อยละ 1.76 ระบุว่าเป็น นายบัญญัติ บรรทัดฐาน อันดับ 9 ร้อยละ 1.60 ระบุว่าเป็น นายนราพัฒน์ แก้วทอง ร้อยละ 1.46 ระบุอื่น ๆ ได้แก่ นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน นายเดชอิศม์ ขาวทอง นางมัลลิกา บุญมีตระกูล มหาสุข และนายสาธิต ปิตุเตชะ และร้อยละ 10.53 ระบุว่า ไม่ทราบ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ
และคำถามสุดท้าย กับความคิดเห็นของประชาชนหากพรรคประชาธิปัตย์จะเข้าร่วมรัฐบาลพรรคเพื่อไทย พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ44.96 ระบุว่า ไม่เห็นด้วยเลย รองลงมา ร้อยละ 19.54 ระบุว่า เห็นด้วยมาก ร้อยละ 18.70 ระบุว่า ค่อนข้างเห็นด้วย ร้อยละ 16.18 ระบุว่า ไม่ค่อยเห็นด้วย และร้อยละ 0.62 ระบุว่า ไม่ทราบ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ
บทสรุปของเรื่องวุ่นๆ ในพรรคประชาธิปัตย์ ดูเหมือนจะยังไม่มีจุดที่แสดงความชัดเจน เกี่ยวกับอนาคตทางการเมือง หรือแม้แต่ตัวผู้นำของพรรค ซึ่งสำหรับการเลือกตั้งที่เพิ่งผ่านมา และการจัดตั้งรัฐบาลที่กำลังเกิดขึ้นอยู่นี้ อาจมีโอกาสสูงที่พรรคประชาธิปัตย์ จะกลับลงไปเป็นฝ่ายค้าน โดยเฉพาะเมื่อการจัดตั้งรัฐบาลในครั้งนี้สิทธิขาดไปอยู่ในมือของพรรคเพื่อไทย คู่แค้นจากอดีตกาล ที่เมื่อมองจากผลโพล เกือบ 45 เปอร์เซ็นต์ ไม่เห็นด้วยกับการที่พรรคประชาธิปัตย์จะร่วมรัฐบาลกับพรรคเพื่อไทย
ซึ่งหากมองจากผลโพลทั้งสองสิ่งถ้าเกิดขึ้น คือการกลับมาเป็นหัวหน้าพรรคของ นายอภิสิทธิ์ และการกลับไปเป็นฝ่ายค้าของพรรคประชาธิปัตย์ บวกกับการสร้างฐานของพรรคด้วยคนรุ่นใหม่ และสร้างการประชาสัมพันธ์อย่างจริงจังของพรรค ลดความเป็นพรรคภูมิภาคนิยม แบบพวกพ้องลงไป
บางทีคอการเมืองไทย อาจได้เห็นความไฉไลและยุคใหม่ของพรรคประชาธิปัตย์ ที่จะหวนกลับมาโลดแล่นบนเวทีการเมืองไทยอย่างยิ่งใหญ่อีกครั้งก็เป็นได้ โพลจาก “นิด้าโพล” กำลังสะท้อนภาพที่ชัดเจนอยู่ที่ว่า แกนนำและผู้ใหญ่ในพรรคประชาธิปัตย์จะให้ความสนใจที่จะ “เปลี่ยนแปลง ปรับปรุง พัฒนา” หรือไม่เพียงใด? ก็เท่านั้น