จากกรณีที่กระทรวงมหาดไทยออกระเบียบวิธีการจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ โดยกำหนดว่า “เป็นผู้ไม่มีรายได้หรือมีรายได้ไม่เพียงพอแก่การยังชีพตามที่คณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ ตามกฎหมายว่าด้วยผู้สูงอายุกำหนด” ซึ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษาและมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 12 สิงหาคม 2566 ลงนามโดย พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ที่รักษาการในตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย
โดยรมว.มหาดไทย ออกมาชี้แจงถึงหลักเกณฑ์ใหม่เกี่ยวกับจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ที่จะมีการคิดตามหลักเกณฑ์ของรายได้ จนกลายเป็นที่วิตกกังวลของผู้สูงอายุที่รับเบี้ยยังชีพ และป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ของประชาชนทั่วไปอย่างกว้างขวาง โดยรมว.มหาดไทย ชี้แจงว่า เรื่องเงินดูแลผู้สูงอายุเป็นเรื่องของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ แต่งบประมาณส่วนนี้ นำมาให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือ อปท.เป็นผู้จ่าย
กระทรวงมหาดไทยก็ต้องออกระเบียบเพื่อให้ อปท.สามารถจ่ายเงินให้กับผู้สูงอายุตามหลักเกณฑ์ได้ แต่จะจ่ายได้ ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติเป็นผู้กำหนด เมื่อกำหนดแล้ว อปท.จึงจะจ่ายได้ กระทรวงมหาดไทยก็ต้องไปออกระเบียบให้สอดคล้องกับที่คณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติกำหนด
ทั้งนี้ ระหว่างรอระเบียบจากคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติออกมา หน่วยงานท้องถิ่นจะดำเนินการอย่างไรนั้น พล.อ.อนุพงษ์ ระบุว่า ถ้าถึงวันนั้นแล้วยังไม่มีระเบียบออกมา ต้องหารือกัน เนื่องจากถ้าจ่ายไปแล้วไปเรียกคืนก็จะค่อนข้างวุ่นอีก รวมถึงยังมีกรณีบุคคลที่ไม่ควรจะได้ด้วย
ด้านนายธนกร วังบุญคงชนะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะรองหัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ กล่าวถึงกรณีการปรับหลักเกณฑ์จ่ายเบี้ยผู้สูงอายุ ว่า เราต้องอยู่กับโลกความเป็นจริง ซึ่งเมื่อวานพล.อ.อนุพงษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ให้สัมภาษณ์ว่า มีคณะกรรมการอีกชุดหนึ่งในการพิจารณา ซึ่งการปรับในครั้งนี้เป็นการแก้ปัญหาแบบ ‘พุ่งเป้า’ ตามที่นายกรัฐมนตรีเคยให้ไว้ “บางทีอย่าเอาเรื่องนี้เป็นเรื่องการเมือง ทำไมเราไม่นึกถึงหัวอกคนที่ลำบาก บางทีเค้าอาจจะเจียดส่วนนี้ไปช่วยได้มากกว่าเดิมก็ได้” นายธนกรกล่าว
ส่วนที่ ส.ส.พรรคเพื่อไทยระบุว่า เป็นการวางยารัฐบาลใหม่ นายธนกร กล่าวว่า ไม่ใช่การวางยาแต่เป็นการพูดบิดเบือน และให้ร้ายรัฐบาลรักษาการ แต่ตนเชื่อว่าประชาชนจะเข้าใจเพราะเป็นระเบียบที่วางไว้ และเชื่อว่าเป็นสิ่งที่ดีสำหรับประชาชน เพราะงบประมาณปีละ 8-9 หมื่นล้าน เป็นงบประมาณจำนวนมาก ซึ่งหากมองในโลกของความเป็นจริง พรรคก้าวไกลก็มีนโยบายให้ผู้สูงอายุ 3,000 บาท ซึ่งถ้าเป็นรัฐบาล ถือว่าเราได้ทำให้ท่านด้วยซ้ำไป และเป็นการประหยัดงบประมาณ เพื่อไปช่วยผู้ที่เดือดร้อนจริงๆ
ทั้งนี้ผู้สูงอายุ 11 ล้านคน ตนเชื่อว่ายังมีอีกเป็นล้านที่ไม่ต้องการ และอยากช่วยผู้ที่มีรายได้น้อย ฉะนั้นสิ่งที่รัฐบาลคิดแบบนี้ถูกต้องแล้ว และเชื่อว่าจะเป็นการวางสิ่งดีๆ ให้รัฐบาลถัดไป ไม่ใช่อยู่ๆ มาถล่มรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งหากไม่ทำตอนนี้ จะทำตอนไหน และระเบียบที่ออกมาจะทำให้กรมการปกครองส่วนท้องถิ่นทำงานได้ง่ายขึ้น
ขณะที่เสียงคัดค้าน ที่เกิดขึ้น เกี่ยวกับเกณฑ์ใหม่เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุที่ รัฐบาลกำลังจะดำเนินการในครั้งนี้ คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ หัวหน้าพรรคไทยสร้างไทย โพสต์ผ่านเพจ คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ Sudarat Keyuraphan โดยระบุว่า “ขอคัดค้านกรณีที่กระทรวงมหาดไทยออกระเบียบวิธีการจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ โดยกำหนดว่า “เป็นผู้ไม่มีรายได้หรือมีรายได้ไม่เพียงพอแก่การยังชีพตามที่คณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ ตามกฎหมายว่าด้วยผู้สูงอายุกำหนด” ซึ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษาและมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 12 สิงหาคม 2566 ลงนามโดย พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ที่รักษาการในตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย
[ทำลายหลักการ รัฐสวัสดิการแบบถ้วนหน้า]
การเพิ่มคุณสมบัติของผู้มีสิทธิได้รับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุดังกล่าวนี้จะทำลายหลักการรัฐสวัสดิการแบบถ้วนหน้า แต่จะตอกย้ำระบบรัฐสงเคราะห์ที่เลือกให้เฉพาะคนจน หรือคนอนาถา ซึ่งเป็นการกระทำที่ขัดเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ และหลักสากล แต่เป็นระบบที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ถนัดนั่นคือการเลือกปฏิบัติ และสร้างบุญคุณในฐานะการช่วยเหลือ เช่น บัตรคนจน หรือเงินอุดหนุนบุตร เป็นต้น ทั้งที่จริงมันคือสวัสดิการที่รัฐพึงจัดหาให้แก่ประชาชนผู้เสียภาษีทุกคนอยู่แล้ว
[ลดทอนคุณค่ามนุษย์]
แนวคิดเช่นนี้นอกจากจะสะท้อนปัญหาว่ารัฐบาลหาเงินไม่ได้ ใช้เงินไม่เป็นจนต้องมาตัดจำนวนผู้ได้รับลดเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุไปอีกกว่า 6 ล้านคนด้วยการเพิ่มเงื่อนไขการรับเงินแล้ว ยังลดทอนคุณค่าความเป็นมนุษย์ของพลเมืองไทย ถ้าอยากได้เงินเพียงเดือนละ 600-1,000 บาทก็ต้องไปยืนยันตัวตนว่าเป็นคนจนทั้งที่เป็นสิทธิที่ทุกคนควรได้รับการดูแลจากรัฐ
“รัฐบาลต้องเลิกทำให้คนไทยกลายเป็นคนอนาถา หยุดรัฐสงเคราะห์ แต่ต้องเริ่มวางรากฐานรัฐสวัสดิการถ้วนหน้า เพิ่มศักดิ์ศรีความเป็นคน ด้วยการตระหนักถึงหน้าที่ของรัฐที่ต้องดูแลพลเมืองอย่างทั่วถึงเสมอหน้า ไม่เอางบประมาณของรัฐมาสร้างบุญคุณหรือมาแบ่งคนจนคนรวย” คุณหญิงสุดารัตน์ กล่าว
[เครือข่ายบำนาญประชาชน 3.2 ล้านคน จะขอคัดค้านระเบียบนี้อย่างเต็มที่]
พรรคไทยสร้างไทยพร้อมด้วยเครือข่ายบำนาญประชาชนกว่า 3.2 ล้านคนจะคัดค้านระเบียบกระทรวงนี้อย่างเต็มที่ และจะสนับสนุนให้เกิดบำนาญประชาชนที่มอบเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุถ้วนหน้าเดือนละ 3,000 บาทให้กับคนไทยตามที่ได้หาเสียงเลือกตั้งไว้อย่างสุดความสามารถ เพื่อเป็นการตอบแทนดูแลผู้สูงวัยที่ทุ่มเททำงานให้กับประเทศชาติและลูกหลานในสังคมมาทั้งชีวิต และเพื่อเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจให้แข็งแรงจากฐานราก ซึ่งตอนนี้ร่างกฎหมายบำนาญประชาชนถูกยื่นไปยังรัฐสภาเรียบร้อยแล้วก่อนการเลือกตั้ง และรอบรรจุเข้าสู่วาระการพิจารณาต่อไป
เช่นเดียวกับ นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส.พรรคก้าวไกล ที่โพสต์ในเพจส่วนตัว Wiroj Lakkhanaadisorn – วิโรจน์ ลักขณาอดิศร ระบุข้อความส่วนหนึ่งว่า “ก็ต้องตั้งคำถามว่า ทำไมไม่ไปตัดงบซื้อเรือดำน้ำ ซื้อเครื่องบินรบ F-35 รวมทั้ง อาวุธยุทโธปกรณ์ต่างๆ ที่อธิบายไม่ได้ว่ามันทำให้คุณภาพชีวิตของประชาชนดีขึ้นได้อย่างไร ทุกปีมีแต่จะสอดไส้ ขอซื้ออาวุธเอาเงินทอนไม่รู้จักหยุดจักหย่อน แต่กลับสวัสดิการเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ที่เป็นความจำเป็นในการดูแลชีวิตประชาชนที่เขาทำงานเสียภาษีมาทั้งชีวิต กลับจ้องที่จะตัดอยู่นั่น ก่อนจะตัดเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ผมว่าไปบอกให้ พล.อ.ประยุทธ์ ออกจากบ้านพักหลวง ก่อนไม่ดีกว่าหรือครับ ทั้ง 2 เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นสะท้อนได้ชัดว่า ฝ่ายศักดินาอนุรักษ์นิยม จ้องแต่จะกดประชาชนให้จน และพยายามที่จะตัดเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุมาโดยตลอก คนจำพวกนี้ไม่ต้องการเห็นประชาชนมีชีวิตมั่นคง เพราะเขารู้ว่าถ้าประชาชนมีความมั่นคงในชีวิตเพิ่มขึ้น ประชาชนจะมีความตื่นรู้ทางการเมือง และจะไม่ยอมให้ทุนผูกขาด อำนาจศักดินา และเครือข่ายอุปถัมภ์กดขี่อีกต่อไป
สิ่งที่ฝ่ายศักดินาอำนาจนิยมต้องการเห็นก็คือ ระบบสงเคราะห์ ที่คนจนคนยากต้องมากราบกรานขอความเมตตา เพื่อขอให้พวกเขาโยนเศษเงินบริจาคมาให้ แล้วคนพวกนี้ก็จะเอาการบริจาคมาใช้ยกตัวเองให้เป็นคนดีย์ และยืนค้ำหัวทวงบุญคุณประชาชนได้จนชั่วลูกชั่วหลาน อย่างที่กลอนบทหนึ่งเคยว่าเอาไว้ บีบให้จน แล้วแจก กดให้โง่ แล้วปกครอง ปล่อยให้ป่วย แล้วรักษา ใช้ภาษีที่รีดมา สร้างบุญคุณ ผม และพรรคก้าวไกล ในฐานะลูกหลาน จะคอยติดตามรายละเอียดในเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด และจะไม่มีวันยอมให้พวกมันมาแตะต้องผลประโยชน์อันพึงได้ของคุณตาคุณยายแน่ๆ ครับ
อย่างไรก็ตาม หลายฝ่ายมองถึงหากมีการนำระเบียบดังกล่าวมาใช้จริงๆ จะมีประชาชนผู้สูงอายุ ได้รับผลกระทบเป็นจำนวนมาก เนื่องจากหลักเกณฑ์ดังกล่าว จะทำให้การตรวจสอบเป็นไปได้ยาก และเป็นการแบ่งแยกเลือกปฏิบัติ ซึ่งแต่เดิมตามเกณฑ์ของผู้ได้รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุต่อเดือน จะเริ่มต้นตั้งแต่ อายุ 60 และจะได้รับเงิน 600 บาท อายุ 70 ขึ้นไปจะได้รับเงิน 700 บาท อายุขึ้นไปจะได้รับเงิน 800 บาท และอายุ 90 ขึ้นไปจะได้รับเงิน 1,000 บาท โดยตามเกณฑ์ดังกล่าว ครอบคลุม ผู้สูงอายุกว่า 11.3 ล้านคน งบประมาณที่ใช้ ราว 87,580 ล้านบาท