อาลัย “เพชร โอสถานุเคราะห์” เจ้าของเพลงรักในตำนาน “เพียงชายคนนี้(ไม่ใช่ผู้วิเศษ)” เสียชีวิตแล้ว

วันที่ 15 ส.ค. มีรายงานว่า “เพชร โอสถานุเคราะห์” ศิลปิน-นักร้อง-นักดนตรีชื่อดังแห่งยุค 80-90 ,อดีตผู้บริหาร บริษัท โอสถสภา จำกัด (มหาชน) ผู้เป็นเจ้าของเพลงรักในตำนานที่โด่งดังที่สุดยุคนั้นอย่างเพลง “เพียงชายคนนี้ (ไม่ใช่ผู้วิเศษ)” ได้เสียชีวิตแล้วอย่างสงบ เมื่อคืนวันที่ 14 ส.ค.ที่ผ่านมา

โดยรายงานเบื้องต้นระบุว่าสาเหตุเกิดจากอาการหัวใจวายเฉียบพลัน ซึ่งทางญาติกำลังเตรียมนำร่างของ เพชร โอสถานุเคราะห์ ไปบำเพ็ญกุศล ณ ศาลาโอสถานุเคราะห์ วัดธาตุทอง กรุงเทพฯ

ประวัติ เพชร โอสถานุเคราะห์

เพชร โอสถานุเคราะห์ เกิดเมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2497 อายุ 69 ปี เป็นบุตรชายของ สุรัตน์ โอสถานุเคราะห์ ผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยกรุงเทพ และ ปองทิพย์ โอสถานุเคราะห์ จบการศึกษาระดับปริญญาตรี ด้านการตลาดจาก Southern Illinois University สหรัฐอเมริกา สมรสกับ อ.นฤมล โอสถานุเคราะห์ มีบุตรชาย 2 คน คือ ภูรี และ ภูรัตน์ โอสถานุเคราะห์

คุณเพชร เป็นพหูสูตรที่บุกเบิกมิติใหม่ๆ ให้กับหลายวงการ เขาเคยดำรงตำแหน่งประธานกรรมการบริหาร บริษัท โอสถสภา จำกัด (มหาชน) โดยเป็นผู้นำทัพปรับโฉมองค์กรและนำโอสถสภาเข้าตลาดหลักทรัพย์ และปัจจุบันดำรงตำแหน่งรองประธานคณะกรรมการ และกรรมการผู้มีอำนาจลงนาม ของบริษัท โอสถสภา จำกัด (มหาชน) และดำรงตำแหน่ง ประธานกรรมการ บริษัท ชิเซโด้ (ไทยแลนด์) จำกัด รวมถึงเป็น “อธิการบดี” ของมหาวิทยาลัยกรุงเทพ (ที่ก่อตั้งโดยครอบครัวของเขามาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2505) อีกด้วย

ในวงการโฆษณา เขาคือผู้ก่อตั้งเอเจนซี่โฆษณาชื่อดังอย่าง Spa Advertising (ปัจจุบันคือ บริษัท สปา – ฮาคูโฮโด จำกัด) และยังได้ก่อตั้งนิตยสารผู้หญิงรวมถึงรายการโทรทัศน์ ‘ผู้หญิงวันนี้’ ที่โด่งดังมากในยุค 80-90

นอกจากการเป็นผู้บริหาร และเป็นทายาทโอสถสภาแล้ว เพชร โอสถานุเคราะห์ ยังเคยสร้างสรรค์ผลงานเพลงสุดก้าวหน้าในปี 2530 บทเพลงในแนวของเขาเป็นที่กล่าวถึงด้วยเสียงชื่นชมจากนักวิจารณ์เพลง และโด่งดังมากจนกลายเป็น “เพลงรักในตำนาน” จวบจนปัจจุบันนี้ นั่นคือเพลง “เพียงชายคนนี้ (ไม่ใช่ผู้วิเศษ)” ซึ่งอยู่ในอัลบั้มแรกชื่อ “ธรรมดา… มันเป็นเรื่องธรรมดา” รวมทั้งเคยแต่งเพลง “หมื่นฟาเรนไฮต์” ให้กับวงไมโครอีกด้วย

และด้วยความที่มีจิตวิญญาณเป็น “ศิลปิน” ในตัว เขาจึงมุ่งสนับสนุนวงการศิลปะเมืองไทย ด้วยความรักในงานศิลป์ โดยเฉพาะงานศิลปะร่วมสมัย (Contemporary Art) ซึ่งเขาเป็นผู้ผลักดันและริเริ่มโครงการด้านศิลปะวัฒนธรรมและการศึกษาที่ชื่อว่า “โครงการ Dib Bangkok” หรือ Dib Bangkok Museum of Contemporary Art ที่มีเป้าหมายเพื่อวางรากฐานวงการศิลปะ วัฒนธรรม และการศึกษาของเมืองไทยต่อไป

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *