ผลสำรวจที่ได้รับการเปิดเผยหลังการตั้งรัฐบาล “เศรษฐา 1” สดๆ ร้อนๆ จากความร่วมมือระหว่าง ม.ศรีปทุม (SPU) กับ ดีโหวต ระบุชัด “เพื่อไทย” คะแนนนิยมลดฮวบเกินกว่าครึ่ง ส่วนก้าวไกลพุ่งสวนทางอย่างมีนัยยะ
ผลสำรวจเกี่ยวกับผลการวัดคะแนนนิยมหลังจากการเลือกตั้ง เพื่อประเมินความพึงพอใจและการตอบสนองความคาดหวังของประชาชนจากแต่ละพรรคการเมืองภายหลังได้รับเสียงเลือกจากประชาชาชนไปแล้ว ในประเด็นที่ว่า “หากมีการเลือกตั้งใหม่อีกครั้งในวันนี้ คุณจะเลือกพรรคใด” ซึ่งทางมหาวิทยาลัยศรีปทุม (SPU) ร่วมกับดีโหวต (D-vote) ร่วมกันทำการสำรวจและเปิดเผยผลการสำรวจ
โดยสำรวจระหว่างวันที่ 21-24 ส.ค. จากประชาชนอายุ 18 ปีขึ้นไป กระจายทุกช่วงอายุ ภูมิภาค ระดับการศึกษา และอาชีพทั่วประเทศ จำนวน 1,253 ตัวอย่าง ค่าความเชื่อมั่นที่ร้อยละ 95.0 พบว่าพรรคที่ชนะการเลือกตั้งสูงสุด 6 อันดับแรก มีอัตราการเปลี่ยนแปลงของคะแนนนิยมเฉลี่ย (เฉลี่ยจากผลการเลือกตั้ง 2566 ของแต่ละพรรค ทั้งบัตรเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อและแบ่งเขตเมื่อนำมาคำนวนเป็นร้อยละ) จากเพิ่มขึ้นไปน้อยลงตามลำดับดังนี้
พรรคก้าวไกล คะแนนนิยมเพิ่มขึ้น ร้อยละ 62.39 พรรคภูมิใจไทย คะแนนนิยมเพิ่มขึ้น ร้อยละ 3.50 พรรครวมไทยสร้างชาติ คะแนนนิยมลดลง ร้อยละ 0.84 พรรคพลังประชารัฐ คะแนนนิยมลดลง ร้อยละ 6.02 พรรคประชาธิปัตย์ คะแนนนิยมลดลง ร้อยละ 9.96 พรรคเพื่อไทย คะแนนนิยมลดลง ร้อยละ 62.24
การที่ พรรคก้าวไกล และ พรรคเพื่อไทย มีอัตราการเปลี่ยนแปลงของคะแนนนิยมเฉลี่ยมากที่สุดนั้น เกิดจากการที่ได้มีโอกาสสลับกันเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล และเป็นที่สนใจของประชาชนจำนวนมาก โดยคะแนนนิยมที่ลดลงของพรรคเพื่อไทยร้อยละ 51.32 ได้ไหลไปหาพรรคก้าวไกล ในขณะที่ร้อยละ 10.92 ได้ไหลไปหาพรรคอื่น ๆ
ส่วนในหัวข้อคำถามที่ว่า หากมีการเลือกตั้งใหม่วันนี้ จะเลือกพรรคใด โดย พบว่า ก้าวไกล ร้อยละ 49.05 เพื่อไทย ร้อยละ 10.65 ภูมิใจไทยร้อยละ 14.69 พลังประชารัฐร้อยละ 7.52 รวมไทยสร้างชาติร้อยละ 7.14 และประชาธิปัตย์ร้อยละ 4.50
ข้อมูลและภาพจาก https://www.spu.ac.th/