จากวิกฤติ “ขยะอาหาร” ทั่วโลก ถึงอาหารสภาเหลือทิ้งของส.ส. กับมื้อ 22 บ.ของเด็กไทย!!

ขณะที่ทั่วโลกต่างรณรงค์กันอย่างจริงจังเรื่อง Food Waste (ขยะอาหาร) ตัวการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ท่ามกลางผู้คนที่ขาดแคลนอาหารในสังคมหลายประเทศ แต่สภาไทยกลับเป็นอีกแหล่งผลิต “ขยะอาหาร” ที่ฟุ่มเฟือยเหลือทิ้งที่มีไว้ให้เหล่าส.ส. กินทิ้งกินขว้าง ไม่เท่านั้น ส.ส.พรรครัฐบาลบางคนยังขาดการตระหนักรู้เรื่องนี้ จนนำไปสู่การล้อเลียนเสียดสี ส.ส.หญิงที่นำอาหารเหลือของสภากลับบ้านด้วยความเสียดาย!

เรื่องราวเหลือเชื่อที่ไม่น่าเกิดกับผู้แทนราษฎรไทย จากกรณีที่มี ส.ส.ชายคนหนึ่งจากพรรคภูมิใจไทย ไปแอบถ่ายภาพ น.ส.สิริลภัส กองตระการ หรือ หมิว ส.ส.กทม.พรรคก้าวไกล แล้วโพสต์ลงโซเชียลโดยใช้ถ้อยคำไม่เหมาะสมว่า “ลักลอบนำอาหารสภากลับบ้าน” จนกลายเป็นประเด็นถูกวิพากษ์วิจารณ์ในสังคม ทั้งเรื่องไม่เป็นสุภาพบุรุษของ ส.ส.ชาย และการแอบถ่ายผู้อื่นโดยเจ้าตัวไม่ยินยอม ทำให้เกิดความเสียหายเป็นความผิดตามกฏหมาย จนถึงกล่าวโจมตีส.ส.หญิงก็มี กระทั่งนายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาคนที่สอง ที่เป็นประธานการประชุมสภาในวันที่ 7 ก.ย.ได้ชี้แจงว่า “ไม่ผิดที่หลังจากเลิกประชุมแล้วสส.จะเอาหารกลับบ้าน และตอนนี้เรามีห้องส่วนตัวของสส. อาจจะมีผู้ติดตาม ผู้ช่วยสส.มาช่วยทำงาน ถ้าจะเอาอาหารไปที่ห้องให้สส.ก็สามารถนำไปได้ และถ้าปิดประชุมก่อน หรือกรณีปิดประชุมกะทันหัน อาหารเหลือเยอะ ปกติจะเอาไปบริจาคตามหน่วยงานต่างๆ แต่บริจาคเท่าไหร่ก็เหลือเน่า เพราะรับประทานไม่ทัน ไม่มีที่เก็บ จึงคิดว่าไม่มีกฎหมายห้ามรับประทานในสภาหรือเอากลับบ้าน”

หมอทศพร สส.เพื่อไทย นำอาหารสภาเหลือๆ ไปแจกคนไร้บ้าน

เรื่องนี้สะท้อนให้เห็นว่า ยังมีคนไทยอีกไม่น้อยโดยเฉพาะในโลกโซเชี่ยลที่สามารถหาข้อมูลความรู้ได้ไม่ยาก แต่กลับขาดความเข้าใจ ไร้การตระหนักรู้หรือใส่ใจต่อปัญหาขยะอาหารที่กำลังอยู่ในขั้นวิกฤติทั่วโลก โดยในประเทศไทย มีการสร้างขยะมูลฝอยเฉลี่ยคนละ 1.3 กิโลกรัมต่อวัน ซึ่งร้อยละ 64 ของขยะทั้งหมดเป็น “ขยะอาหาร” ปัญหาใหญ่คือการขาดประสิทธิภาพในการจัดการกับขยะเหล่านี้อย่างเหมาะสม ทำให้ขยะอาหารราว 20 ล้านตันต่อปีของไทย กลายเป็นขยะตกค้างที่ถูกนำไปฝังกลบอย่างมักง่าย ซึ่งเป็นเรื่องที่คนทิ้งขยะอาหารอาจไม่เคยใส่ใจรับรู้ด้วยซ้ำ

ข้อมูลจาก National Geographic ระบุว่า แม้ในความเป็นจริงโลกของเราจะมีทรัพยากรเพียงพอที่จะผลิตอาหารให้แก่มนุษย์ทุกคน แต่ในปัจจุบันนี้มีอาหารมากถึง 1 ใน 3 ส่วนของอาหารที่ผลิตได้ทั้งหมดถูกทิ้งให้กลายเป็น “ขยะอาหาร” โดยคิดเป็นน้ำหนักกว่า 1.3 พันล้านตันทั่วโลกทุกปี ขยะเหล่านี้มาจากอาหารที่เหลือทิ้ง แทนที่จะถูกนำไปเลี้ยงดูผู้คนที่ขาดแคลนในประเทศต่างๆ

ส่วนสาเหตุหลักของการเกิดขยะอาหารทั่วโลก คือ การจัดการที่ขาดประสิทธิภาพของร้านค้าปลีก และพฤติกรรมฟุ่มเฟือยของผู้บริโภค ซึ่งเกี่ยวโยงถึงการวางแผนจัดเตรียมอาหารและสินค้าที่ไม่เหมาะสม การทิ้งอาหารที่ยังรับประทานได้ และการซื้ออาหารเกินความจำเป็น รวมถึงการขาดความเข้าใจหรือสับสนต่อวันหมดอายุบนฉลากสินค้า

ในขณะที่บางคนเมินเฉยต่อปัญหานี้อย่างไม่แยแส แต่โลกก็ยังมีคนที่ตระหนักในเรื่องของ Food Waste เป็นคนที่รู้สึกเสียดายเมื่อต้องทิ้งอาหารที่กินไม่หมด ความจริงที่น่าเจ็บปวดก็คือ โลกนี้ยังมีผู้คนอีกกว่า 690 ล้านคนที่ขาดแคลนอาหาร นี่เป็นเพียงตัวเลขในปี 2561 ทว่าจากข้อมูลขององค์การอนามัยโลก(WHO) พบว่าหลายปีที่ผ่านมาตัวเลขของประชากรที่ขาดแคลนอาหารเพิ่มขึ้นเกือบ 60 ล้านคน โดยการขาดแคลนอาหารเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่ซุกซ่อนอยู่หลังภาพความหิวโหยของประชากรเหล่านี้

Photo by Prakash SINGH / AFP and UNICEF

สำหรับประเทศไทย มีข้อมูลสถิติจากเว็บไซต์ “Penguin Homeless – เรื่องเล่า ข่าวคราว ของคนไร้บ้าน” เปิดผลการแจงนับคนไร้บ้านทั่วประเทศในปี 2566 พบผลการแจงนับคนไร้บ้านทั้งประเทศไทย จากความร่วมมือของ สสส. กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย มูลนิธิกระจกเงา และมูลนิธิอิสรชน พบคนไร้บ้านทั้งในพื้นที่สาธารณะ และในศูนย์พักพิง จำนวนรวม 2,499 คน โดยคนไร้บ้านเหล่านี้ก็คือ คนที่ไม่เคยกินอาหารครบ 3 มื้อ ส่วนใหญ่อดอาหารอยู่หลายวัน โดยเฉพาะในช่วงการระบาดของโควิด-19 จำนวนคนไร้บ้านเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 30

ที่แย่กว่านั้นมีข้อมูลจาก ‘สมาคมโภชนาการแห่งประเทศไทย’ พบว่า ปัจจุบันเด็กไทย ซึ่งเป็นอนาคตของชาติยังได้รับอาหารไม่เพียงพอ ปัญหาเหล่านี้ดูจะสวนทางกับการพัฒนาประเทศไทยให้เป็นครัวของโลก หรือแค่เป็นครัวของระดับอาเซียนก็คงยาก เนื่องจากพบข้อมูลว่า เด็กก่อนวัยเรียนมีปัญหาขาดสารอาหารถึงร้อยละ 25 ขณะที่เด็กในวัยเรียนมีปัญหาขาดสารอาหารร้อยละ 20 นอกจากนี้ยังพบว่า มีการบริโภคอาหารที่ไม่เหมาะสม ไม่ถูกหลักโภชนาการด้วย

ชะตากรรมอาหารกลางวันของเด็กไทย มูลค่า 22 บ.
“อาหารสภา” มื้ออลังการของ ส.ส. ที่กลายเป็น Food Waste ในที่สุด

เมื่อปลายปีก่อน ครม.ของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มีมติเพิ่มค่าอาหารกลางวันของนักเรียนชั้นเด็กเล็ก-ป.6 ทั่วประเทศ จาก 21 บาท เป็น 22 บาท ขณะที่งบอาหารของ ส.ส.ผู้ทรงเกียรติ เฉลี่ยตกวันละ 1,000 บาท กินกันแบบเหลือเฟือ ทิ้งๆ ขว้างๆ จนกลายเป็นขยะอาหารจำนวนมหาศาลในแต่ละเดือน 

ขยะอาหารเหล่านี้นอกจากจะสร้างปัญหากลายเป็นขยะตกค้างที่สร้างมลพิษแล้ว องค์การอาหารโลกยังเปรียบเทียบว่าหากขยะอาหารเป็น 1 ประเทศ ประเทศนี้จะปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุดเป็นอันดับ 3 ของโลก การลดปริมาณขยะอาหารจึงเริ่มได้จากที่บ้านทุกคน ไปจนถึงที่ทำงาน และควรเริ่มที่สภาไทยกับรัฐบาลไทยด้วย ว่าจะเอาจริงเอาจังเช่นที่ทั่วโลกกำลังรณรงค์เรื่องนี้กันอย่างแข็งขันหรือไม่

ฝรั่งเศส คือประเทศแรกในโลกที่เป็นต้นแบบในการใช้ “กฎหมายต่อต้านขยะอาหาร”

ดูตัวอย่างได้จาก ฝรั่งเศส ที่เป็น “ประเทศต้นแบบ” ของการจัดการกับขยะอาหารที่มีประสิทธิภาพ จากกฎหมายว่าด้วยการต่อต้านขยะอาหาร ที่มีการกำหนดให้ร้านค้าปลีกที่มีพื้นที่ตั้งแต่ 400 ตารางเมตรขึ้นไป ต้องบริจาคสินค้าอาหารที่ยังรับประทานได้ แก่มูลนิธิรับบริจาคอาหารต่างๆ ซึ่งหากร้านค้าเหล่านี้ไม่ดำเนินการตามมาตรการดังกล่าว จะมีโทษปรับเป็นจำนวนเงินสูงถึง 125,000 บาท ขณะเดียวกันผู้บริจาคจะได้รับเครดิตภาษีสูงถึงร้อยละ 60 ของมูลค่าอาหารที่บริจาคอีกด้วย ทำให้ในประเทศมีการบริจาคอาหารเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 30 ในปี 2017 เป็นต้นมา ทำให้มีองค์กรกลางเข้ามาบริหารจัดการกับอาหารส่วนเกินเหล่านี้ อีกกว่า 5,000 องค์กร

ทุกวันนี้อาหารจากการผลิตมากกว่า 30% ที่ถูกทิ้งทั่วโลกในแต่ละปี ชี้ให้เห็นว่าเรามีอาหารเพียงพอต่อคนทั้งโลก แต่อาหารเหล่านี้กลับไม่สามารถแจกจ่ายให้คนทั้งโลกที่ต้องการได้ ทั้งยังถูกทิ้งอย่างไร้ค่า แน่นอนว่าไม่ใช่แค่อาหารแต่เป็นต้นทุนทุกอย่างตั้งแต่การผลิต ผืนป่าที่ถูกถางเพื่ออุตสาหกรรมอาหาร ผู้คนที่ต้องอพยพเนื่องจากขาดแคลนน้ำเพื่อบริโภค อันมาจากความต้องการใช้น้ำมหาศาลของอุตสาหกรรมอาหาร ดินที่ปนเปื้อน อากาศที่เต็มไปด้วยมลพิษจากการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชและยาฆ่าแมลง และสุดท้ายคือ การปล่อยก๊าซเรือนกระจกในปริมาณมหาศาลของอุตสาหกรรมเหล่านี้

“ขยะอาหาร” ในอุตสาหกรรมอาหาร

นักวิทยาศาสตร์คาดการณ์ว่าภายในปี 2050 โลกจะมีประชากรทั้งหมดราว 9,800 ล้านคน เพิ่มขึ้นมาอีกมากกว่า 1,900 ล้านคนในอีก 29 ปีข้างหน้า ภัยจากภาวะการขาดแคลนอาหารอาจทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น รวมไปถึงการแย่งชิงทรัพยากรทางธรรมชาติต่างๆ ซึ่งการเพาะปลูกเพื่ออุตสาหกรรมอาหารขนาดใหญ่ ก็ต้องแลกมาซึ่งการสูญเสียป่าไม้ สูญเสียน้ำจืดในปริมาณมหาศาล รวมถึงผลกระทบจากการปล่อยสารเคมีและมลพิษต่างๆ สู่สิ่งแวดล้อม

อย่างไรก็ตาม ในระบบห่วงโซ่อาหารทุกวันนี้กลับขาดความใส่ใจที่จะคำนึงถึงเรื่อง ‘ขยะอาหารและการสูญเสียอาหาร’ แค่ดูจากกรณีแอบถ่ายส.ส.ที่นำอาหารเหลือของสภากลับบ้านมาเป็นประเด็น ก็พอจะเห็นแล้วว่า ยังมีคนไทยอีกจำนวนไม่น้อยที่ขาดทั้งข้อมูลความรู้และการตระหนักรู้ถึงปัญหาที่กำลังคุกคามโลกของเราอยู่ในขณะนี้!

 

เรียบเรียง: ฮัลวา ตาญี

อ้างอิงข้อมูล: National Geographic , Greenpeace, UNICEF, มูลนิธิกระจกเงา

 

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *