ความคืบหน้ากรณี กรณี บัณฑิต พุมทิพย์ (ผู้ร้อง) ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 ว่า การกระทำของ วันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา (ผู้ถูกร้อง) ทำหน้าที่เป็นประธานการประชุมร่วมกันของรัฐสภามีคำสั่งให้ลงมติในการพิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลเพื่อแต่งตั้ง พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นนายกรัฐมนตรี อีกครั้ง โดยที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภามีมติว่าไม่สามารถเสนอชื่อซ้ำได้ตามข้อบังคับการประชุมรัฐสภา พ.ศ. 2563 ข้อ 41 เป็นการจงใจให้พรรคพวกของตนได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศ โดยวิธีการที่มิได้เป็นไปตามวิถีทางประชาธิปไตยตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ การกระทำดังกล่าวมีลักษณะเป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคหนึ่ง หรือไม่
โดยศาลรัฐธรรมนูญ พิจารณาข้อเท็จจริงตามคำร้องและเอกสารประกอบคำร้องแล้วเห็นว่า ข้อเท็จจริงตามคำร้องและเอกสารประกอบคำร้องไม่ปรากฏข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานเพียงพอที่แสดงให้เห็นได้ว่าผู้ถูกร้องมีความมุ่งหมายและความประสงค์หรือกระทำการใดๆ ที่น่าจะทำให้เกิดผลเป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคหนึ่ง ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเป็นเอกฉันท์มีคำสั่งไม่รับคำร้องนี้ไว้พิจารณาวินิจฉัย
ส่วนกรณีนายณฐพร โตประยูร (ผู้ร้อง) ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 (เรื่องพิจารณาที่ 24/2566) นายณฐพร โตประยูร (ผู้ร้อง) ยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตาม รัฐธรรมนูญ มาตรา 49 ว่า การกระทำของพรรคก้าวไกล (ผู้ถูกร้องที่ 1) พรรคประชาชาติ (ผู้ถูกร้องที่ 2) และพรรคเป็นธรรม (ผู้ถูกร้องที่ 3) ที่มีความพยายามในการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะ ในหมวด 1 และหมวด 2
และมีส่วนร่วมในกิจกรรมของบุคคลและกลุ่มบุคคลที่มีอุดมการณ์หรือแนวคิด ในการเปลี่ยนแปลงรูปแบบของรัฐโดยสนับสนุนให้ดินแดนอันเป็นเขตอธิปไตยของราชอาณาจักรมีสิทธิปกครองตัวเอง หรือแยกตัวเป็นเอกราชในลักษณะของการแบ่งแยกดินแดน เป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพ เพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคหนึ่ง หรือไม่
ผลการพิจารณา ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาแล้วเห็นว่า การดำเนินการของผู้ถูกร้องทั้งสามเพื่อแก้ไขเพิ่มเติม รัฐธรรมนูญตามที่ปรากฏในคำร้อง หากเป็นการกระทำโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว เป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพที่ ไม่ต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 อีกทั้งข้อกล่าวอ้างเรื่องการแบ่งแยกดินแดน ข้อเท็จจริงตามคำร้อง และเอกสารคำร้องไม่ปรากฏข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานอื่นใดที่แสดงให้เห็นได้ว่าผู้ถูกร้องทั้งสาม มีพฤติการณ์หรือกระทำการเกี่ยวข้องเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็น ประมุขตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคหนึ่ง ศาลรัฐธรรมนูญจึงมีคำสั่งไม่รับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัย