“วันหัวใจโลก” ตรงกับวันที่ 29 กันยายนของทุกปี มีขึ้นเพื่อให้คนทั้งโลกตระหนักถึงความสำคัญของโรคหัวใจ พบในไทยเป็นสาเหตุอันดับ 1 ที่คร่าชีวิตคนไทย!
ในประเทศไทยมีผู้เสียชีวิตจากโรคหัวใจและหลอดเลือด ปีละ 7 หมื่นราย เฉลี่ยชั่วโมงละ 8 คน และมีอัตราเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในทุกช่วงวัย อีกทั้งในปัจจุบันคนไทยมีพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่เสี่ยงมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น การสูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์ ไม่ออกกำลังกาย เเละการละเลยที่จะดูเเลสุขภาพหัวใจให้เเข็งเเรง จึงทำให้การตรวจคัดกรองความเสี่ยงโรคหัวใจเป็นสิ่งสำคัญที่ไม่ควรมองข้าม
สาเหตุและปัจจัยเสี่ยง
สาเหตุของโรคหัวใจเกิดจากหลอดเลือดไปเลี้ยงที่หัวใจตีบตัน ขาดความยืดหยุ่น เนื่องจากการสะสมของไขมัน โปรตีน ที่บริเวณผนังด้านในของหลอดเลือด ส่วน ปัจจัยเสี่ยงสำคัญ ที่มีความสัมพันธ์กับการเกิด โรคหัวใจ และหลอดเลือดหัวใจ คือ อายุ เพศ ประวัติครอบครัว ระดับความดันโลหิต ระดับน้ำตาลในเลือด ระดับไขมันในเลือด ภาวะอ้วน โดยโรคนี้มักเป็นโรคแทรกซ้อนในผู้ป่วยโรคเบาหวานและโรคความดันโลหิตสูง ความเสี่ยงจะเพิ่มมากขึ้นเมื่อผู้ป่วยมีความเครียดหรือไม่สามารถควบคุมระดับน้ำตาล
กลุ่มโรคหัวใจ
โดยทั่วไปจำแนกเป็น3 กลุ่มใหญ่ ได้แก่
– กลุ่มที่มีความผิดปกติของโครงสร้างหัวใจ เช่น โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด ลิ้นหัวใจตีบหรือรั่ว
– กลุ่ม โรคหัวใจ และหลอดเลือด เช่น หลอดเลือดไปเลี้ยงหัวใจตีบตัน
– กลุ่มที่มีการนำไฟฟ้าหัวใจผิดปกติ เช่น โรคหัวใจเต้นพลิ้ว เป็นต้น
อาการที่เสี่ยงเป็น “โรคหัวใจ”
- อาการเจ็บหน้าอก ลักษณะอาการเจ็บหน้าอกที่ชวนสงสัยว่าอาจเกิดจากโรคหัวใจขาดเลือด ได้แก่ เจ็บแน่นคล้ายถูกของหนักทับ มักเป็นบริเวณกลางอก ไม่สามารถระบุจุดที่ปวดมากที่สุดชัดเจนได้ อาจมีร้าวไปที่ไหล่ สะบัก ขากรรไกร แขนซ้ายด้านใน หรือแขนทั้งสองข้างได้ อาการเหนื่อย ใจสั่น ผู้ป่วยจะหายใจเร็วและตื้น ทำกิจกรรมได้อย่างจำกัด
- อาการเขียว เกิดจากออกซิเจนในเม็ดเลือดแดงลดลง อาจมีภาวะเขียวให้เห็นได้ทั้งที่ริมฝีปาก ใบหน้า หรือ ปลายมือปลายเท้า
- อาการวูบ หน้ามืด หรือหมดสติ
ดูแลหัวใจต้องทำอย่างไรบ้าง
1. ควรออกกำลังกาย อย่างน้อย 30 นาทีต่อครั้ง / 5 วันต่อสัปดาห์ หรือ 150 นาทีต่อสัปดาห์
2. ควบคุมน้ำหนัก
3. งดสูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์
4. เลือกรับประทานอาหารที่ดีต่อหัวใจ ได้แก่ พวกธัญพืช ถั่ว ผัก ผลไม้ ปลา ลดการบริโภคเนื้อแดง เลือกทานแต่ไขมันดี
5. จัดการกับความเครียด ทำจิตใจให้สงบ และนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ
ที่มา: กรมควบคุมโรค