กนง.ขึ้นดอกเบี้ย เอกชนแห่ปรับลดตัวเลขเศรษฐกิจไทย เอลนีโญ ปัจจัยลบกระทบหนัก!

นายปิติ ดิษยทัต เลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) แถลงผลการประชุม กนง. ในวันที่ 27 กันยายน 2566 ที่ผ่านมา โดยคณะกรรมการฯ มีมติเป็นเอกฉันท์ให้ขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% ต่อปี จาก 2.25% เป็น 2.50% ต่อปี โดยให้มีผลทันที

ทั้งนี้ มีการประเมินเศรษฐกิจไทยในภาพรวมอยู่ในทิศทางฟื้นตัว แม้จะขยายตัวชะลอลงในปีนี้จากอุปสงค์ต่างประเทศ โดยอัตราการขยายตัวในปี 2567 จะเพิ่มสูงขึ้นจากทั้งอุปสงค์ในประเทศและต่างประเทศ ด้านอัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มสูงขึ้นในปี 2567 ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจกอปรกับแรงกดดันด้านอุปทานจากปรากฏการณ์เอลนีโญ

นายปิติ ดิษยทัต เลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.)

โดยต้องติดตามแรงส่งเพิ่มเติมจากนโยบายภาครัฐต่อเศรษฐกิจและเงินเฟ้อ คณะกรรมการฯ ประเมินว่า ในบริบทที่เศรษฐกิจกำลังฟื้นตัวกลับเข้าสู่ระดับศักยภาพ นโยบายการเงินควรดูแลให้เงินเฟ้ออยู่ในกรอบเป้าหมายอย่างยั่งยืน และช่วยเสริมเสถียรภาพเศรษฐกิจการเงินในระยะยาว รวมทั้งรักษาขีดความสามารถของนโยบายการเงินในการรองรับความไม่แน่นอนในระยะข้างหน้า จึงเห็นควรให้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% ต่อปี ในการประชุมครั้งนี้

เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัว 2.8% และ 4.4% ในปี 2566 และ 2567 ตามลำดับ จากเดิมคาด 3.6 % และ 3.8% ในปี 2566 และ 2567 ตามลำดับ โดยมีแรงส่งสำคัญจากการบริโภคภาคเอกชน สำหรับปีนี้ การขยายตัวของเศรษฐกิจชะลอลงจากภาคการส่งออกสินค้าและภาคการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวช้ากว่าที่คาด ส่วนหนึ่งจากเศรษฐกิจจีนและวัฏจักรอิเล็กทรอนิกส์โลกที่ฟื้นตัวช้า อย่างไรก็ดี อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยจะเร่งสูงขึ้นในปี 2567 จากอุปสงค์ในประเทศ ภายใต้บริบทที่ภาคการท่องเที่ยวฟื้นตัวต่อเนื่องและภาคการส่งออกสินค้ากลับมาขยายตัว อีกทั้งจะได้รับแรงส่งเพิ่มเติมจากนโยบายภาครัฐ

ภาพประกอบข่าว

ขณะที่ความเห็นจากภาคเอกชน นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ ได้ประมาณการเศรษฐกิจ ปี 2566 และทัศนะต่อนโยบายลดค่าครองชีพในปัจจุบัน ว่า ได้คาดการณ์เศรษฐกิจปี 2566 โดยปรับประมาณการเศรษฐกิจ (จีดีพี) ลดลงที่ 3.0% จากเดิมคาดการณ์ที่ 3.6%

ซึ่งการเปลี่ยนแปลงแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือปัจจัยบวกมาจาก 1.จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศเพิ่มขึ้น 2.การบริโภคภาคเอกชนปรับตัวเพิ่มขึ้น 3.การนำเข้าสินค้าปรับตัวลดลง และ 4.นโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลเศรษฐา 1 ขณะที่ปัจจัยลบ 1.ตัวเลขจีดีพีไตรมาส 2/2566 ชะลอตัวลงกว่าที่คาดการณ์ 2.การส่งออกสินค้าปรับตัวลดลงต่ำกว่าที่คาด 3. ปัญหาภัยแล้งและฝนทิ้งช่วง (ปรากฏการณ์เอลนีโญ) และ 4.ความล่าช้าในการจัดทำงบประมาณปี 2567

นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ

“ปัจจัยบวกและลบ ได้นำตัวเลขเฉลี่ยผลกระทบต่อเศรษฐกิจ โดยปัจจัยบวกมีมูลค่าที่ 1.18 ล้านบาท คิดเป็น 6.98% ต่อจีดีพี และปัจจัยลบมีมูลค่า 1.28 ล้านบาท คิดเป็นติดลบ 7.57% ต่อจีดีพี เมื่อปัจจัยลบมีผลมากกว่าทำให้จีดีพีปี 2566 ลดลงจาก 3.6% มาเหลือที่ 3%”

ด้านศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้ปรับลดประมาณการเติบโตของเศรษฐกิจไทยปี 66 ลงมาอยู่ที่ 3.0% จาก 3.7% จากการที่เศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะเศรษฐกิจจีนยังชะลอตัวต่อเนื่อง ส่งผลกระทบกับจำนวนนักท่องเที่ยวที่มองว่าจะเข้ามาเพียง 27.6 ล้านคนในปี 2566 และการส่งออกสินค้าที่จะหดตัว 2.5% มากกว่าที่เคยประเมินไว้ที่ -1%

สำหรับนโยบายที่รัฐบาลประกาศไปและจะดำเนินการเพิ่มเติม จะเน้นการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น ผ่านการลดค่าครองชีพ การพักหนี้ และเงินดิจิทัล 10,000 บาท ซึ่งจะมีผลกระตุ้นเศรษฐกิจได้จำกัดในปี 2566 แต่คาดว่าจะเห็นผลบวกชัดขึ้นในช่วงต้นปี 2567

 

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *