งานเข้า! แถลงการณ์ 99 นักวิชาการ-นักเศรษฐศาสตร์ ค้านแจกเงินดิจิทัล 10,000 บ. “ได้ไม่คุ้มเสีย”!!

แถลงการณ์นักวิชาการ นักเศรษฐศาสตร์ อดีตผู้ว่าแบงก์ชาติ 99 คน คัดค้านนโยบายแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท แจง 8 เหตุผล นโยบาย “ได้ไม่คุ้มเสีย” 

มีรายงานว่า บรรดานักวิชาการ นักเศรษฐศาสตร์ รวมถึงนายกรณ์ จาติกวณิช อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้ออกมาแสดงความคิดเห็นทั้งเตือนและคัดค้านนโยบายแจกเงินผ่านดิจิทัลวอลเลต 10,000 บาทให้กับประชาชนอายุ 16 ปีขึ้นไปทุกคน ซึ่งต้องใช้วงเงินสูงถึง 5.6 แสนล้านบาท

โดยเอกสารแถลงการณ์ที่ออกมา ระบุว่าเป็นความเห็นของ 99 นักวิชาการและนักเศรษฐศาสตร์ ประกอบด้วยอาจารย์คณะเศรษศาสตร์ของมหาวิทยาลัยต่าง ๆ รวมถึง ดร.วิรไท สันติประภพ และนางธาริษา วัฒนเกส สองอดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย พร้อมด้วยนางอัจนา ไวความดี และนายบัณฑิต นิจถาวร รองผู้ว่าการ ธปท.รวมทั้งนายนิพนธ์ พัวพงศกร สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศ (ทีดีอาร์ไอ) นายวรากรณ์ สามโกเศศ นายพรายพล คุ้มทรัพย์ เป็นต้น ที่ออกมาแสดงความเห็นให้ “ยกเลิก” นโยบายการแจกเงินดิจิทัลวอลเลต 10,000 บาท ที่มองนโยบาย “ได้ไม่คุ้มเสีย” ด้วย 8 เหตุผล ดังนี้

1) เศรษฐกิจไทยกําลังค่อย ๆ ฟื้นตัวตามศักยภาพจากวิกฤตโรคระบาด และเงินเฟ้อในช่วงปี 2562-2565 โดยธนาคารแห่งประเทศไทยได้คาดการณ์ว่าจะขยายตัวประมาณร้อยละ 2.8 ในปีนี้ และร้อยละ 4.4 ในปีหน้า จึงไม่มีความจําเป็นที่รัฐจะต้องใช้จ่ายเงินจํานวนมากเพื่อกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศ เพราะที่ผ่านมาการบริโภคภายในประเทศยังคงขยายตัวได้ดีเมื่อเทียบกับการส่งออก

นอกจากนี้การกระตุ้นการใช้จ่ายภายในประเทศยังอาจจะเป็นปัจจัยให้เกิดเงินเฟ้อสูงขึ้นมาอีก หลังจากที่เงินเฟ้อได้ลดลงจากร้อยละ 6.1 มาอยู่ที่ประมาณร้อยละ 2.9 ในปีนี้ ท่ามกลางราคาพลังงานที่มีแนวโน้มสูงขึ้น ในระยะหลังการกระตุ้นการบริโภคในช่วงเวลานี้จะทำใหเงินเฟ้อคาดการณ์ (inflation expectation) สูงขึ้น และอาจนําไปสู่สภาวะที่ต้องขึ้นดอกเบี้ยในที่สุด

เงินเฟ้อหรือสภาวะที่ข้าวของราคาแพงทั่วไปอันจะเกิดจากนโยบายนี้ จะทำให้เงินรายได้และเงินในกระเป๋าของประชาชนทุกคนมีค่าลดลง หากรวมมูลค่าที่ลดลงของประชาชนทุกคนอาจจะมีมูลค่าสูงกว่า 560,000
ล้านบาทก็ได้

2) เงินงบประมาณของรัฐที่มีจำกัดย่อมมีค่าเสียโอกาสเสมอ เงินจำนวนมากถึงประมาณนี้ 560,000 ล้านบาทนี้ ทำให้รัฐเสียโอกาสที่จะลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน ในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ในการสร้าง digital
infrastructure หรือในการบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน เป็นต้น ซึ่งล้วนแต่จะสร้างศักยภาพในการเจริญเติบโตในระยะยาวแทนการใช้เงินเพื่อการกระตุ้นการบริโภคระยะสั้น ๆ ซึ่งไม่สมเหตุสมผลต่อการสร้างภาระหนี้สาธารณะให้เป็นภาระแก่คนรุ่นต่อไป

3) การกระตุ้นเศรษฐกิจให้รายได้ประชาชาติ (GDP) ขยายตัวโดยรัฐแจกเงินจำนวน 560,000 ล้านบาท เข้าไปในระบบเป็นการคาดหวังที่เกินจริง เพราะปัจจุบันมีข้อมูลเชิงประจักษ์จากงานวิจัยที่ทําให้นักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่เชื่อว่าตัวทวีคูณทางการคลัง (fiscal multiplier) ที่เกิดจากการใช้จ่ายของรัฐในลักษณะเงินโอนหรือการแจกเงินมีค่าน้อยกว่า 1 ซึ่งต่ำมากเมื่อเทียบกับตัวทวีคูณของการใช้จ่ายของรัฐโดยตรง การที่ผู้กําหนดนโยบายหวังว่านโยบายนี้จะกระตุ้นเศรษฐกิจจึงเป็นสิ่งที่เลื่อนลอย

4) เราอยู่ในวัฏจักรดอกเบี้ยขาขึ้นมาตั้งแต่ปี 2565 เพราะเงินเฟ้อสูงขึ้นมาก การก่อหนี้จำนวนมาก ไม่ว่ารัฐบาลจะออกพันธบัตรหรือกู้เงินจากรัฐวิสาหกิจหรือกู้สถาบันการเงินของภาครัฐ ก็ล้วนแต่จะทำให้รัฐบาลและคนทั้งประเทศต้องเผชิญกับอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นทั้งสิ้น หนี้สาธารณะของรัฐที่ปัจจุบันมีอยู่ประมาณ 10.1 ล้านล้านบาท หรือร้อยละ 61.6 ของรายได้ประชาชาติ (GDP) จะต้องมีภาระที่จะต้องจ่ายดอกเบี้ยสูงขึ้นในยามที่ต้องจ่ายคืนหรือกู้ใหม่ ซึ่งจะมีผลต่อภาระเงินงบประมาณของรัฐในแต่ละปี นี่ยังไม่นับจำนวนเงินค่าดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นจากการแจกเงิน digital คนละ 10,000 บาทนี้ด้วย

5) ในช่วงที่โลกเผชิญกับวิกฤตโรคระบาดและภาวะเศรษฐกิจถดถอย รัฐบาลแทบทุกประเทศต่างก็จำเป็นที่จะต้องมีการขาดดุลการคลังและสร้างหนี้จำนวนมากเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ เยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบ และรายจ่ายทางด้านสาธารณสุข แต่หลังจากวิกฤตโรคระบาดและภาวะเศรษฐกิจถดถอยผ่านไป หลายประเทศได้แสดงเจตนารมย์ที่ฉลาดรอบคอบ โดยลดการขาดดุลภาครัฐและหนี้สาธารณะลง (fiscal consolidation)

ทั้งนี้เพื่อสร้าง “ที่ว่างทางการคลัง” (fiscal space) ไว้รองรับวิกฤตเศรษฐกิจในอนาคต นโยบายแจกเงิน digital 10,000 บาทนี้ ดูจะสวนทางกับสิ่งที่ควรจะเป็น โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศไทยที่มีอัตราส่วนรายรับจากภาษีเพียงร้อยละ 13.7 ของรายได้ประชาชาติ (GDP) ซึ่งถือว่าต่ำกว่าประเทศอื่น ๆ มาก

6) การแจกเงินคนละ 10,000 บาท ให้ทุกคนที่อายุเกิน 16 ปี เป็นนโยบายที่สร้างความไม่เป็นธรรมในสังคมอย่างยิ่ง เศรษฐีและมหาเศรษฐีที่อายุเกิน 16 ปี ล้วนได้รับเงินช่วยเหลือ ทั้ง ๆ ที่ไม่มีความจำเป็น

7) สำหรับประเทศที่เข้าสู่สังคมสูงวัยเช่นประเทศไทย การเตรียมตัวทางด้านการคลังเป็นสิ่งจำเป็น ขณะที่จำนวนคนในวัยทำงานลดลง แต่สัดส่วนผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ภาระการใช้จ่ายทางด้านสวัสดิการและสาธารณสุขจะเพิ่มขึ้นอย่างมาก ผู้บริหารประเทศที่มองไกลจึงควรใช้งบประมาณอย่างคุ้มค่าและรักษาวินัยและเสถียรภาพทางด้านการคลังอย่างเคร่งครัด

8) ระบบ blockchain ปกติจะต้องทำการตรวจสอบความถูกต้องของทุกธุรกรรม โดยผู้ใช้ทุกคนที่เกี่ยวข้อง ข้อดีคือทำให้ไม่สามารถฉ้อฉลข้อมูลได้ แต่ขณะเดียวกันก็เป็นจุดตายของระบบด้วย เพราะแต่ละธุรกรรมจะต้องใช้เวลาเฉลี่ยในการตรวจสอบประมาณ 1-1.5 ชั่วโมงต่อธุรกรรม และจะยิ่งใช้เวลามากขึ้นเมื่อจำนวนธุรกรรมและผู้ใช้เพิ่มขึ้น เวลาที่ใช้ก็จะยิ่งเพิ่มเป็นทวีคูณ จึงแทบจะเป็นไปไม่ได้ที่จะเอามาใช้กับระบบซื้อขายตามปกติ

ทั้งนี้ ยังไม่นับถึงความสิ้นเปลืองของเวลาและพลังงานในการทำการตรวจสอบข้อมูลของผู้ใช้ทุกคนด้วย หากรัฐบาลยังดึงดันจะแจกเงิน ก็ควรที่จะทำผ่านระบบเป๋าตังที่มีต้นทุนธุรกรรมที่ต่ำกว่า และประชาชนคุ้นเคยอยู่แล้วด้วยเหตุผลต่าง ๆ ข้างต้น บรรดานักวิชาการและคณาจารย์เศรษฐศาสตร์จึงขอให้รัฐบาลยกเลิก “นโยบายแจกเงิน digital 10,000 บาท” แก่ผู้มีอายุ 16 ปีขึ้นไป เพราะประโยชน์ที่ประเทศจะได้น้อยกว่าต้นทุนที่เสียไปอย่างมาก

นอกจากนี้ยังเป็นการสร้างบรรทัดฐานให้มีการแจกเงินเพื่อกระตุ้นให้คนจับจ่ายใช้สอยในระยะสั้น ๆ โดยไม่คำนึงถึงวินัยและเสถียรภาพการคลังในระยะยาว และยังเป็นการสร้างพฤติกรรมการรอรับการแจกในระบบอุปถัมภ์อีกด้วย

ทั้งนี้ผู้ที่ออกมาเตือนหลายครั้งเรื่องการแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท ก่อนหน้านี้ คือ น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล ส.ส. และรองหัวหน้าพรรคก้าวไกล โดยเตือนทั้งเรื่องภาระการจ่ายหนี้ วินัยการเงินการคลัง และสภาพคล่อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *