จับตาเศรษฐกิจโลกถดถอยกับความท้าทายทางเศรษฐกิจของประเทศในกลุ่มต่างๆ โดยเฉพาะประเทศในอาเซียน ITD กระทรวงพาณิชย์จัดเวทีร่วมคิด “รับมือเศรษฐกิจ การค้าโลกตกต่ำ”
นายสุภกิจ เจริญกุล ผู้อำนวยการสถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (ITD) กล่าวว่า ITD ร่วมมือกับองค์กรเครือข่าย ประกอบด้วย ที่ประชุมสหประชาชาติด้านการค้าและการพัฒนา (UNCTAD) , UNESCAP ศูนย์อาเซียนศึกษา คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดการประชุมนานาชาติ เรื่อง “TDR 2023 A vision for ASEAN’s Inclusive Growth” นายสุภกิจ กล่าวว่า ITD เป็นองค์กรภายใต้การกำกับนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ITD มีความร่วมมือด้านวิชาการกับหน่วยงานด้านการค้าและการพัฒนาทั้งระดับโลกและระดับภูมิภาค การจัดงานสัมมนาครั้งนี้ ITD ได้ประสานความร่วมมือกับองค์ถัดเชิญนักเศรษฐศาสตร์ที่จัดทำรายงานการค้าและการพัฒนาโลก ปี 2023 มานำเสนอข้อมูลเชิงสรุปและจัดระดมความคิดเห็นผู้เชี่ยวชาญเพื่อเสนอทางออกรับมือกับภาวะเศรษฐกิจการค้าโลกที่ตกต่ำต่อเนื่องทั้งจากวิกฤตโรคระบาด สงคราม และความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์โลกของประเทศมหาอำนาจ
นายสุภกิจ กล่าวว่า รายงานการค้าและการพัฒนา ได้รวบรวมข้อมูลการค้าและการพัฒนาระดับโลกและได้วิเคราะห์สถานการณ์แนวโน้มเศรษฐกิจมหภาค การค้า การลงทุน รวมทั้งประเด็นใหม่ด้านการค้าและการพัฒนา รวมทั้งได้นำเสนอมุมมองเชิงนโยบายเพื่อรับมือกับสถานการณ์โลกปัจจุบัน โดย ITD ได้เชิญผู้เชี่ยวชาญมาร่วมระดมความคิดเพื่อเสนอแนวทางการดำเนินนโยบายที่เหมาะสมกับสถานการณ์โลก สำหรับประเทศอาเซียนซึ่งเป็นประเทศกำลังพัฒนาที่เผชิญกับสถานการณ์เศรษฐกิจร่วมกัน ผลการสัมมนาครั้งนี้ ITD จะได้ทำเป็นข้อเสนอเชิงนโยบายต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ต่อไป
โดยฝ่ายวิชาการ ITD ได้นำเสนอข้อมูลเชิงสรุปว่า เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มลดลงจาก 3% ในปี 2565 เหลือเพียง 2.4% ในปี 2566 การเติบโตในอัตราดังกล่าวถือเป็นอัตราการเติบโตที่ต่ำที่สุดในรอบสี่ทศวรรษในสภาวะปกติ (outside of crisis years) ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงสภาวะถดถอยของเศรษฐกิจโลกอย่างชัดเจน สภาวะเศรษฐกิจเช่นนี้ถือเป็นความท้าทายต่อกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาและประเทศด้อยพัฒนาอย่างยิ่ง เนื่องจากความอ่อนแอเชิงโครงสร้างทางเศรษฐกิจของประเทศเหล่านี้ปรากฏมาตั้งแต่ก่อนวิกฤตการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ความอ่อนแอเชิงโครงสร้างของประเทศเหล่านี้ประกอบไปด้วย เศรษฐกิจที่พึ่งพาภาคการส่งออกมากเกินไป ความไม่สมดุลด้านการกระจายรายได้ การลงทุนชะลอตัว การสร้างภาระหนี้ที่ไม่ยั่งยืน ความเหลื่อมล้ำทางเทคโนโลยีที่เพิ่มขึ้น รวมทั้งแนวโน้มต้นทุนทางการค้าที่สูงขึ้น เนื่องจากต้องรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมทั้งความท้าทายอันเกิดจากการเปลี่ยนผ่านการใช้พลังงาน
ฝ่ายวิชาการ ITD รายงานสรุปว่า กลุ่มประเทศกำลังพัฒนาและประเทศด้อยพัฒนาต้องเผชิญกับแรงกดดันทางเศรษฐกิจ อันเนื่องมาจากสภาวการณ์ที่มีพลวัตรสูงในโลกหลังยุคโควิด เช่น มาตรการทางการเงินที่เข้มงวดมากขึ้นในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว นโยบายการแบ่งขั้วทางเศรษฐกิจที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจระหว่างประเทศ อิทธิพลที่เพิ่มมากขึ้นของนโยบายอุตสาหกรรมจากยุทธศาสตร์การค้าของมหาอำนาจทางเศรษฐกิจ และความไม่มั่นคงทางภูมิเศรษฐศาสตร์ที่ปรากฏขึ้นทั่วโลก ปรากฏการณ์เหล่านี้เมื่อผนวกกับความไร้เสถียรภาพทางเศรษฐกิจจึงก่อให้เกิดความท้าทายต่อประชาคมเศรษฐกิจโลกที่มีการพึ่งพากันค่อนข้างสูง
การค้าโลก ตกต่ำ กระจุกตัวและเคลื่อนสู่การค้าสีเขียว ด้านการค้าระหว่างประเทศจะพบว่า กลุ่มประเทศกำลังพัฒนาและประเทศด้อยพัฒนายิ่งประสบกับความท้าทายเพิ่มมากขึ้น เพราะการค้าระหว่างประเทศมีโอกาสเติบโตค่อนข้างต่ำ คาดการณ์ว่าการค้าสินค้าและบริการระหว่างประเทศในปี 2023 จะเติบโตเพียง 1% ถือว่าอยู่ในระดับต่ำกว่าการเติบโตเฉลี่ยในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ในระยะกลางการค้าโลกมีแนวโน้มเติบโตในอัตราที่เทียบเท่าช่วงก่อนเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 อย่างไรก็ดีในระยะสั้น การเติบโตของการค้าโลกจะยังคงอยู่ในอัตราที่ต่ำกว่าช่วงก่อนเกิดวิกฤต เมื่อพิจารณาการค้าระหว่างประเทศเป็นรายไตรมาสพบว่าอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้นถึงจุดสูงสูดในช่วงไตรมาสที่ 2 และ 3 ของปี 2022 และยังคงมีแนวโน้มที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง แนวโน้มนี้เป็นหลักฐานยืนยันว่าอัตราการฟื้นตัวหลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้ลดลง
นอกจากนี้การแพร่ระบาดของโควิด-19 ยังส่งผลให้การกระจายตัวของการค้าทั่วโลกลดต่ำลง ในประเทศกำลังพัฒนามีการกระจุกตัวของการส่งออกเพิ่มมากขึ้น อีกทั้งการกระจายรายได้ช่วงวิกฤตมีแนวโน้มแย่ลง ส่งผลให้ส่วนแบ่งรายได้ของแรงงานทั่วโลกลดลงอย่างต่อเนื่อง ภาวะถดถอยของการค้าระหว่างประเทศเกิดขึ้นพร้อมกับทิศทางของนโยบายการค้าที่เปลี่ยนแปลงไปทั่วโลก เช่น นโยบายการค้าที่เปลี่ยนไปจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีน การควบคุมการส่งออกที่เพิ่มมากขึ้น การเพิ่มขึ้นของการใช้นโยบายส่งเสริมการเปลี่ยนผ่านกระบวนทัศน์ใหม่ที่มีความยั่งยืน (green transition)
รายงานยังระบุอีกว่ามีการกระจุกตัวของตลาดเพิ่มมากขึ้นในภาคส่วนสำคัญ โดยเฉพาะสินค้าเกษตร ตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นมา การกระจุกตัวของตลาดได้เพิ่มมากขึ้นจนก่อให้เกิดความไม่สมดุลระหว่างส่วนแบ่งรายได้ของทุนโดยเฉพาะบรรษัทข้ามชาติชั้นนำกับส่วนแบ่งรายได้ของแรงงานทั่วโลก ปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้กำไรของบริษัทจำหน่ายผลิตภัณฑ์อาหารเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะในช่วงวิกฤตคือกิจกรรมทางการเงินที่ไม่ได้รับการควบคุมโดยเฉพาะในช่วงปี 2563 จึงควรมีมาตรการกำกับดูแลกิจกรรมทางการเงินเพื่อให้ระบบการค้าโลกมีความโปร่งใสและยุติธรรมมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ควรสร้างคลังสินค้าสำรองเพื่อป้องกันการเกิดวิกฤตความไม่มั่นคงทางอาหาร และควบคุมการกำกับการซื้อขายสินค้าโภคภัณฑ์อย่างเป็นระบบ โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์อาหาร ภายใต้ข้อกำหนดทางการค้าและการเงินระดับนานาชาติ
ส่วนเรื่องมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมต้องเป็นธรรมและเหมาะสมกับสถานการณ์ รายงานยังแสดงความกังวลถึงเครื่องมือเชิงนโยบายใหม่ ๆ ที่อาจส่งผลกระทบต่อการเติบโตของการค้าระหว่างประเทศเช่น มาตรการปรับคาร์บอนก่อนเข้าพรมแดน (CBAM) และกฎหมายว่าด้วยสินค้าที่ปลอดจากการตัดไม้ทำลายป่า (EUDR) กฎระเบียบเหล่านี้อาจส่งผลกระทบต่อกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา เพราะประเทศเหล่านี้มีศักยภาพการปรับเปลี่ยนให้เข้ากับมาตรการใหม่น้อยกว่าประเทศพัฒนาแล้ว อังค์ถัดจึงเสนอให้ใช้หลักการปฏิบัติที่เป็นพิเศษและแตกต่าง (Special and Differential Treatment: SDT) และหลักความรับผิดชอบร่วมในระดับที่แตกต่าง (Common But Differentiated Responsibilities: CBDR) ซึ่งจะช่วยให้เข้าใจความเชื่อมโยงระหว่างการค้าและการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศมากยิ่งขึ้น อังค์ถัดยังเรียกร้องให้ทั่วโลกลดการใช้มาตรการทางเศรษฐกิจที่มีความเข้มงวดทั่วโลกลง เพื่อเป็นการกระตุ้นการเติบโตจากฝั่งอุปสงค์ นอกจากนี้ทุกประเทศจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับแนวนโยบายที่เป็นรูปธรรมในการลดความเหลื่อมล้ำและการเพิ่มค่าจ้างที่แท้จริง (real wages)
ประเทศกำลังพัฒนาต้องจับมือกันให้มั่น กลุ่มประเทศกำลังพัฒนายังต้องรับมือกับความท้าทายที่มาจากการปรับแนวนโยบายอุตสาหกรรมของประเทศพัฒนาแล้ว ซึ่งอาจส่งผลให้ห่วงโซ่อุปทานที่เคยเชื่อมโยงเศรษฐกิจระหว่างประเทศเข้าด้วยกันมีขนาดสั้นลง ดังนั้นประเทศกำลังพัฒนาจึงควรที่จะกระจายความเสี่ยงผ่านการแสวงหาตลาดใหม่ ๆ รายงานฉบับนี้สนับสนุนให้ประเทศกำลังพัฒนาหันมาให้ความสำคัญกับการค้าระหว่างกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาด้วยกัน หรือกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา (south-south trade) ด้วยกันมากยิ่งขึ้น เนื่องจากตั้งแต่ปี 1995 เป็นต้นมา การค้าระหว่างกลุ่มประเทศใต้-ใต้มีการเติบโตเร็วกว่าการค้าโลกโดยเฉลี่ยและมีแนวโน้มที่จะเติบโตอย่างต่อเนื่อง การรับมือเศรษฐกิจถดถอยนโยบายการเงินและการคลังจำเป็นต้องสอดประสานกัน
รายงานฉบันนี้มีข้อเสนอให้เร่งสร้างความสมดุลระหว่างนโยบายการเงิน การคลัง รวมทั้งมาตรการด้านอุปทาน เพื่อให้เกิดเสถียรภาพทางการเงินและก่อให้เกิดการส่งเสริมการลงทุนและการสร้างงาน นอกจากนี้การปฏิรูปนโยบายของธนาคารกลางถือเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อให้เกิดความสมดุลระหว่างเสถียรภาพทางการเงินและความยั่งยืนทางการเงินระยะยาว การทำงานเชิงบูรณาการระหว่างสถาบันมีความจำเป็นอย่างยิ่งเพื่อให้เกิดการเติบโตทางเศรษฐกิจที่รวดเร็ว
ผู้เชี่ยวชาญนานาชาติเห็นพ้องกับอังค์ถัด ความร่วมมือพหุภาคีจะช่วยสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจโลก โดยในที่ประชุมผู้เชี่ยวชาญจากหลายภาคส่วนมีความคิดเห็นทิศทางเดียวกับรายงานของอังค์ถัดว่าในโลกยุคปัจจุบันที่กำลังเผชิญหน้ากับความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์โลกและเศรษฐกิจตกต่ำหลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 การสร้างความร่วมมือในรูปแบบพหุภาคี โดยเฉพาะความร่วมมือระหว่างกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาจะช่วยสร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจโลก โดยประเทศต่าง ๆ ควรหันกลับไปให้ความสำคัญกับกรอบความร่วมมือที่มีอยู่แล้ว และสร้างข้อเสนอใหม่ ๆ ผ่านกรอบเหล่านั้น เพื่อให้ข้อตกลงและความร่วมมือในประเด็นต่าง ๆ เป็นไปอย่างรวดเร็ว
นอกจากนี้ที่ประชุมยังระบุถึงกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิโด-แปซิฟิค (IPEF) ซึ่งไทยถือเป็นหนึ่งในสมาชิกที่ให้ความสำคัญกับกรอบความร่วมมือนี้อย่างแข็งขัน เนื่องจากเป็นข้อตกลงที่จะนำมาซึ่งโอกาสทางเศษฐกิจ และการพัฒนามาตรฐานการค้า การผลิต และสิ่งแวดล้อม อย่างไรก็ตามภาครัฐควรสร้างความรับรู้ถึงผลประโยชน์และผลกระทบที่อาจเกิดจากกรอบความร่วมมือดังกล่าวต่อสาธารณชน เพื่อให้ภาคส่วนต่าง ๆ ที่มีส่วนเกี่ยวข้องสามารถปรับตัวและคว้าโอกาสจาก IPEF ได้อย่างทันท่วงที