เมื่อ “ความจริงทางวิทยาศาสตร์” ถูกท้าทายใน “คดีน้องชมพู่” กรณีศึกษาที่กระบวนการยุติธรรมไทยถูกตั้งคำถาม?

“ข้อดีของวิทยาศาสตร์ก็คือมันเป็นเรื่องจริง ไม่ว่าคุณจะเชื่อหรือไม่ก็ตาม”

เป็นคำกล่าวของ ‘นีล เดอกราสส์ ไทสัน’ (Neil deGrasse Tyson) นักฟิสิกส์ดาราศาสตร์และนักสื่อสารวิทยาศาสตร์ชาวอเมริกันที่ทรงอิทธิพลที่สุดคนหนึ่งในแวดวงวิทยาศาสตร์โลก คำกล่าวของเขาแพร่หลายและเป็นแรงบันดาลให้กับผู้คนที่สนใจในวิทยาศาสตร์ให้มุ่งค้นหาความจริงโดยปราศจาก “อคติ” ในความหมายเดียวกับที่นักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกมักกล่าวกันว่า “วิทยาศาสตร์ไม่โกหก” (science doesn’t lie) เช่นเดียวกัน

สำหรับประเทศไทย คำกล่าวนี้ได้กลายเป็นความท้าทายต่อกระบวนการยุติธรรม “แบบไทยๆ” มายาวนานหลายทศวรรษ เมื่อเกิดคดีอาชญากรรมหรือมีการเสียชีวิตที่เป็นปริศนาแคลงใจคนในสังคมเช่นคดีของนักแสดงสาว “แตงโม ภัทรธิดา” จนมาถึงคดีของน้องชมพู่ ที่ผู้คนให้ความสนใจและติดตามอย่าง “มีอารมณ์ร่วม” ราวกับดูละครหรือซีรี่ส์เรื่องหนึ่ง ผ่านการกำกับขับเน้น “ดราม่า” โดยสื่อที่แข่งกันนำเสนอข่าวอย่างดุเดือดเพื่อช่วงชิงยอดเอนเกจเม้นท์ ที่ดูเหมือนว่าจะมีค่ามากกว่าจรรยาวิชาชีพ!?

ดังนั้นไม่ว่าความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีจะพัฒนาก้าวล้ำนำนวัตกรรมเข้ามาใช้ในงานด้านนิติวิทยาศาสตร์ของไทยอย่างมีประสิทธิภาพมากเพียงใดก็ตาม และไม่ว่าบุคลากรด้านนิติวิทยาศาสตร์และนิติเวชศาสตร์จะยึดมั่นในหลักการ “ค้นหาความจริง” ผ่านกระบวนการทางวิทยาศาสตร์โดยปราศจากอคติบิดเบือนใดๆ อย่างทุ่มเทมุ่งมั่นเพียงใดก็ตาม ก็ไม่อาจก้าวพ้นไปจากกระแสดราม่าในสังคมที่ตั้งธงไว้แล้วไปได้

“เรามักจะพบข้อด้อยของการตรวจพิสูจน์ทางนิติวิทยาศาสตร์อย่างหนึ่งก็คือ มักจะมีการเอาความเห็นเข้าไปรวมกับข้อเท็จจริงที่ได้จากการตรวจพิสูจน์ มันทำให้เกิดการบิดเบือน ทำให้เกิดความไม่เข้าใจ เกิดความคลางแคลงสงสัย เกิดความไม่เป็นกลาง และมีอคติเกิดขึ้น อย่างเช่นคดีนี้”

นพ.วรวีร์ ไวยวุฒิ รองผู้อำนวยการสถาบันนิติวิทยาศาสตร์

นี่คือสิ่งที่ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นายแพทย์วรวีร์ ไวยวุฒิ รองผู้อำนวยการสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กระทรวงยุติธรรม สะท้อนความจริงอีกด้านหนึ่งของกระบวนการยุติธรรมในไทยผ่านคดีน้องชมพู่ ที่เขาเป็นผู้ตรวจสอบกระบวนการตรวจพิสูจน์ต่างๆ ทั้งหมดโดยตรง ซึ่งพบ “ข้อสังเกตที่ชวนตั้งคำถาม” มากมาย ซึ่งเป็นสิ่งที่สังคมภายนอกไม่เคยรับรู้หรือเข้าใจ แต่คนในแวดวงนิติเวชเท่านั้นย่อมเข้าใจดีว่า หากผลการตรวจสอบทางวิทยาศาสตร์ตามกระบวนการมาตรฐานชี้ชัด ไม่ว่าจะไปตรวจจากห้องแล็ปที่ใดในโลก ผลก็ย่อมออกมาเหมือนๆ กัน แต่สิ่งสำคัญคือ ความเห็นในการแปลผลตรวจพิสูจน์ของแพทย์ผู้ตรวจ

  • นิติวิทยาศาสตร์กับกระบวนการยุติธรรมของไทย

ในอดีตที่ผ่านมากระบวนการยุติธรรมทางอาญาของไทยมักให้ความสำคัญกับประจักษ์พยานซึ่งเป็นพยานบุคคลมากกว่าพยานหลักฐานประเภทอื่น ทั้งที่ “พยานหลักฐาน” เป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งที่ใช้ในการพิสูจน์การกระทำความผิดของผู้ต้องหาหรือจำเลย

“พยานหลักฐาน” ที่ว่านี้หมายรวมทั้งพยานเอกสาร และวัตถุพยาน ทว่าปัญหาของกระบวนการยุติธรรมที่เกิดขึ้นจริงในสังคมไทย ที่มีตัวละครสำคัญอันประกอบด้วย ตำรวจ ทนายความ อัยการ และศาล กลับมีตัวแปรสำคัญอย่าง “สื่อมวลชน” และ “กระแสสังคม” เป็นเสมือน “ผู้กำกับการแสดง” มาคอยชี้นำกระตุ้นเร้าให้ตัวละครสำคัญเหล่านี้ต้องเดินไปตามบทบาทที่ผู้กำกับวางเอาไว้อย่างที่ต้องการจะเห็น

และนั่นคือ หายนะที่นำมาสู่ช่องโหว่ในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา เริ่มตั้งแต่กระบวนการสอบสวนของตำรวจ ที่หลายคดีซึ่งได้รับความสนใจจากกระแสสังคม มักถูกเร่งรัดโดยนโยบายทำให้เจ้าหน้าที่ต้องรีบปิดคดีเพราะโดนสังคมกดดัน ทั้งเกรงจะถูกตราหน้าว่าไร้ฝีมือ ทำให้ความรอบคอบในกระบวนการชั้นแรกไม่เป็นไปตามมาตรฐานอย่างที่มันควรจะเป็น บวกกับการ “ตั้งธง” ไว้ในใจของเจ้าหน้าที่ก็กลายเป็นปัญหาเช่นกัน เพราะนำไปสู่ความพยายามที่จะรวบรวมแต่พยานหลักฐานในด้านที่สนับสนุนความคิดของตัวเองเท่านั้น อย่างที่เรียกว่า Confirmation Bias อธิบายง่ายๆ ชัดๆ ก็คือ การพยายามหาหลักฐานอ้างอิงใดๆ ก็ตามมาเพื่อยืนยันอคติของตัวเอง

ปัญหาและช่องโหว่ที่ว่าจึงพากันลากยาวมาจนถึงชั้นการตรวจสอบพยานหลักฐานของอัยการ และสุดท้ายจบที่การพิจารณาตัดสินของศาล ดังนั้นหนทางเดียวที่จะช่วยให้กระบวนการยุติธรรมที่กะปลกกะเปลี้ยกลับคืนความมั่นคงแข็งแรงขึ้นมาได้ก็คือ “กระบวนการทางนิติวิทยาศาสตร์” นั่นเพราะนิติวิทยาศาสตร์ยึดโยงอยู่กับ ‘หลักฐาน’ และนักนิติวิทยาศาสตร์ถูกฝึกมาให้ทำงานโดยปราศจากอคติ ซึ่งพวกเขาต้องระมัดระวังไม่ให้อคติใดๆ มารบกวนการเก็บหลักฐานต่างๆ นั่นเอง

และเพราะ “นิติวิทยาศาสตร์” เป็นการนำเอาความรู้ทางวิทยาศาสตร์ทุกสาขามาใช้ประโยชน์ในทางกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นการเก็บและตรวจสอบพยานหลักฐานต่างๆ เพื่อค้นหาความจริงและพิสูจน์การกระทำความผิดของผู้ต้องหาหรือจำเลย และยังป้องกันไม่ให้เกิดการจับคนบริสุทธิ์อีกด้วย

อย่างไรก็ตามปัญหาที่นิติวิทยาศาสตร์มักพบเจออุปสรรค ก็คือความผิดพลาดของตัวบุคคลและความบกพร่องของระบบ ที่เกิดจากการไม่ได้เสาะหาความจริงอย่างครบถ้วนตามกระบวนการมากพอ ไปจนถึงการละเลยบางสิ่งและไม่รอบด้านมากพอ แต่กลับเลือกที่จะหยิบมาใส่เฉพาะมุมที่ตัวเองเชื่อ-ถูกสั่งมา-สังคมกดดัน หรือสื่อชี้นำ ก่อนรายงานผลจะมาถึงมือสถาบันนิติวิทยาศาสตร์จึงพบ ‘ความไม่ถูกต้อง’ มากมายในคดีนี้ ดังที่ ผศ.นพ.วรวีร์ ไวยวุฒิ รองผอ.สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ อธิบายว่า

“ความถูกต้องในความหมายของนิติวิทยาศาสตร์ เรามีหลักแห่งความถูกต้องอยู่ 3 เรื่องที่เราเรียกว่ามาตรฐานทางนิติวิทยาศาสตร์ นั่นคือ มาตรฐานของกระบวนการตรวจพิสูจน์ มาตรฐานในเรื่องของผู้ตรวจพิสูจน์ และมาตรฐานการให้ความเห็นในการตรวจพิสูจน์ สิ่งที่เราต้องพิจารณาคือ กระบวนการตรวจพิสูจน์ได้ผลเหมือนกับที่อื่นๆ ไหม จากการตรวจสอบกระบวนการชันสูตรไม่ได้มีปัญหาอะไร ถูกต้องตามมาตรฐาน แต่ในเรื่องที่เราติงไปก็คือ ความเห็นของแพทย์ผู้ชันสูตร มันทำให้มีคำถามหลายคำถามเกิดขึ้นเช่นว่า พฤติการณ์การเสียชีวิตของน้องชมพู่เกิดขึ้นได้อย่างไร ซึ่งพฤติการณ์เนี่ยต้องเน้นว่า นี่คือความเห็นแต่ไม่ใช่ข้อเท็จจริงที่ตรวจเจอ”

“อีกข้อสงสัยที่ทำให้นิติวิทยาศาสตร์เกิดคำถาม คือเรื่องของการตรวจพิสูจน์ที่บอกว่าเส้นผมที่ตรวจเจอในวัตถุพยานของกลางไปตรงกับของผู้ตาย ซึ่งมันส่งผลให้เกิดการกล่าวหาว่าลุงพลเป็นผู้กระทำ ตรงนี้จึงดูเป็นการสรุปที่ใช้ข้อคิดเห็นมากเกินไปซึ่งมันไม่ใช่ข้อเท็จจริง เช่น การเปรียบเทียบรอยตัดของเส้นผมที่เจอในที่เกิดเหตุกับเส้นผมในตัวศพแล้วบอกว่าเป็นรอยเดียวกัน ซึ่งบอกได้เลยว่ายากมากที่จะชี้ชัดแบบนั้น เหตุผลก็เพราะว่าการที่เราใช้รอยตัดในทางนิติวิทยาศาสตร์ เราจะใช้รอยตัดที่เป็นของแข็งหรือโลหะ ซึ่งรูปแบบหน้าตัดจะไม่เปลี่ยนสภาพไป โดยเราจะใช้กล้องจุลทรรศน์ที่เรียกว่า อิเลคตรอน ไมโครสโคป ดูรายละเอียดของพื้นผิวในระดับสูงมากๆ เพื่อที่จะดูว่าความขรุขระ ความลึก ความหนาของหน้าตัดมันตรงกันหรือไม่ตรง ซึ่งเราจะใช้ในของแข็ง แต่พอมาใช้กับเส้นผม ซึ่งเป็นวัตถุพยานทางชีววิทยา มีน้ำเป็นองค์ประกอบ ซึ่งพอระยะเวลาผ่านไปน้ำระเหย เซลล์เริ่มหดตัว หน้าตัดก็จะเปลี่ยนรูปไป อันนี้คือสิ่งที่เขาไม่ระบุมาในรายงานผล มันเลยทำให้เกิดประเด็นขึ้นมา” รองผอ.สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ อธิบาย

ดร.น้ำแท้ มีบุญสล้าง กรรมาธิการกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน

ที่น่าสนใจคือการที่ ดร.น้ำแท้ มีบุญสล้าง กรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน เป็นผู้หนึ่งที่ได้ลงพื้นที่เกิดเหตุบน ‘ภูเหล็กไฟ’ ด้วยตัวเองเพื่อหาข้อมูลและตรวจสอบสภาพแวดล้อมโดยรอบที่เกิดเหตุ เขาพบความเชื่อมโยงที่สอดคล้องกันของสภาพที่เกิดเหตุและสภาพศพของน้องชมพู่ที่สามารถอธิบายได้อย่างชัดเจน

“จากการชันสูตรศพเราพบว่า ตามมือและเล็บของน้องมีคราบดินเข้าไปแฝงอยู่ในเล็บเต็มไปหมด และตามเนื้อตัวร่างกาย และข้อเท้ามีรอยเกี่ยวของกิ่งไม้ ซึ่งเป็นปฏิกิริยาของคนที่ยังไม่ตาย เพราะเป็นลักษณะที่ถูกเกี่ยวแล้วมีเลือดซิบ ส่วนแผ่นหลังและลำตัวก็มีรอยกิ่งไม้มากมาย ซึ่งมันก็สอดคล้องกับที่พบว่าเด็กไม่ได้สวมเสื้อ”

นี่คือสิ่งที่หลักการทางนิติวิทยาศาสตร์ยึดหลักความสอดคล้องต้องกันที่สามารถอธิบายอย่างเป็นเหตุเป็นผลได้นั่นเอง

  • เรื่อง “ไม่ปกติ” ในคดีที่ไม่ซับซ้อนแต่ถูกทำให้ซับซ้อน

คดีธรรมดาๆ  ที่ดูไม่น่าซับซ้อน แต่กลับถูกทำให้ไม่ธรรมดาและซับซ้อน ซึ่งอาจเป็นแค่เพียงคดีที่พ่อแม่หรือผู้ปกครองที่ดูแลเด็กเล็ก เผลอไผลหลงลืมมัวยุ่งกับงานหรือเรื่องของตัวเองจนเด็กคลาดสายตาไป เป็นเหตุให้เด็กน้อยเดินออกจากบ้านจนหลงทางและพบจุดจบ –นี่คือคดีหรือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแทบทุกวินาทีในทุกพื้นที่ทั่วโลก

ย้อนไปเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2559 “น้องดีเจ” เด็กชายวัย 3 ขวบ หายตัวไปในป่าชานเมือง จ.ภูเก็ต นานถึง 6 วัน ต่อมาเจ้าหน้าที่ปูพรหมค้นหา ก่อนจะพบตัวในป่าบนเทือกเขานาคเกิด ห่างจากบ้านประมาณ 2 กิโลเมตร ในสภาพตาลอย ไม่สวมเสื้อ แช่ตัวอยู่ในลำธารกลางป่าจนเท้าเปื่อย และพบว่าตามตัวมีแผลถลอก ร่องรอยขีดข่วนอยู่ทั่วไป หลังรอดชีวิตน้องดีเจเล่าว่า ได้เดินตามหมาขึ้นไปบนเขา ก่อนจะโดนหมาทิ้งจนหลงป่า ต้องกินน้ำในลำธารประทังชีวิตจึงรอดมาได้ และถอดเสื้อทิ้งตอนไหนก็จำไม่ได้แล้ว

อีกรายในเดือนมีนาคม 2559 “น้องธัน” เด็กชายอายุ 2 ขวบ ได้หายตัวออกไปจากบ้านใน อ.ทุ่งตะโก จ.ชุมพร นาน 3 วัน จนกระทั่งหน่วยกู้ภัยไปพบตัวน้องธันกลางป่าทึบบนภูเขาสูง ห่างจากบ้านประมาณ 2 กม. ในสภาพใส่เสื้อกล้ามตัวเดียว ไม่สวมกางเกง ร่างกายอิดโรย ตามร่างกายถูกยุงและแมลงกัดเกือบทั้งตัว

ต่อมาในเดือนพฤษภาคม ปี 2562 ที่ อ.เชียงของ จ.เชียงราย “น้องกัปตัน” เด็กชายวัย 5 ขวบ ได้หายออกไปจากบ้านในหมู่บ้านห้วยเม็ง ในช่วงเที่ยงของวันที่ 4 พ.ค. และถูกพบในเช้าวันต่อมาที่สวนป่าหลังบ้านซึ่งห่างออกไป 3 กม.ในสภาพร่างกายเปลือยเปล่า มีอาการอิดโรย ทั่วร่างกายแขนขาพบร่องรอยขีดข่วนอันเกิดจากกิ่งไม้ใบไม้

ภูเหล็กไฟ

หากพิจารณาจากทั้ง 3 เคสกับกรณีน้องชมพู่ ก็จะพบข้อเท็จจริงที่ว่า เด็กทุกคนเป็นเด็กเล็กวัยใกล้เคียงกัน หายจากบ้านไปหลงป่าเป็นระยะทางที่ใกล้กันระหว่าง 2-3 กม. สภาพร่างกายตอนที่เด็กทุกคนถูกพบมีร่องรอยขีดข่วนจากการเดินลุยในป่าแบบเดียวกัน และไม่ใส่เสื้อผ้าไปจนถึงร่างเปลือยเปล่าเช่นเดียวกันอีก เด็กบางคนเดินไปพร้อมกับสุนัขตัวโปรด และพลัดหลงกับสุนัขกลางทาง แต่ข้อสังเกตก็คือ เด็กที่รอดชีวิตทุกคนล้วนอยู่ใกล้แหล่งน้ำ แต่ร่างน้องชมพู่อยู่ห่างไกลจากแหล่งน้ำ ประกอบกับเป็นพื้นที่ที่มีความร้อนแล้ง

ทั้งหมดนี้มีคำอธิบายเชิงจิตวิทยาโดยนักจิตวิทยาพัฒนาการเด็ก ผศ.ดร.รัก ชุณหกาญจน์ หัวหน้าสาขาจิตวิทยาพัฒนาการเด็ก คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า

“การที่เด็กสามารถเดินหลงไปได้ไกลหลายกิโล ต้องดูระยะเวลาของการหายไปด้วย ถ้าเรามองใน 1 วันว่าเด็กจะเดินไปได้มั้ยสองกิโล ตอบว่าเดินได้แน่นอนถ้าเป็นการเดินหลง เพราะว่าเขาเดินจนเหนื่อยเขาก็พัก  พักเสร็จก็เดินต่อ จริงๆ แล้วเด็กอาจจะเดินมากกว่า 2 กิโลก็เป็นได้ เพราะเด็กพอเขาพักแล้วเดินต่อไป เขาไม่รู้ทิศทางหรอกว่าทางที่เดินไปนั้นเป็นทางออกหรือยิ่งเดินลึกเข้าไป ด้วยวัยและพัฒนาการของเขาที่อาจเป็นเหตุให้เขาเดินไปเรื่อยๆ จากช่วงเวลาใน 6 ชั่วโมงจนถึง 1 วันจึงเป็นไปได้ที่เด็กจะเดินไปถึง 2 กิโล และจริงๆ น่าจะเดินมากกว่านี้ด้วยซ้ำ จากช่วงเวลาที่ออกจากบ้าน และการเดินวนหลงทิศ ซึ่งเป็นไปได้สูง ส่วนการไม่ใส่เสื้อผ้าของเด็กก็มีเหตุผลเยอะแยะที่เด็กจะถอดออก เช่นเขาร้อนจึงถอดออก หรือเลอะก็ถอด

ผศ.ดร.รัก ชุณหกาญจน์ หัวหน้าสาขาจิตวิทยาพัฒนาการเด็ก คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

ในกรณีของน้องชมพู่ ด้วยสภาพอากาศในช่วงเดือนที่ร้อน สภาพป่าที่แล้งมันก็เป็นโอกาสที่น้องจะถอดเสื้อออก ซึ่งเด็กในวัย 2-3 ขวบเขาถอดเสื้อได้อยู่แล้ว จริงๆ การถอดเสื้อผ้าโดยปกติทั่วไป เด็กจะทำได้ตั้งแต่ 1 ขวบครึ่ง ยิ่งถ้าเด็กได้รับการสอนเขาก็ทำได้แน่ๆ กรณีน้องชมพู่เห็นว่าเข้าศูนย์พัฒนาเด็กเล็กแล้วด้วย เขาก็จะได้รับการสอนในเรื่องของการถอดและใส่เสื้อผ้าอยู่แล้ว แต่ถ้าเทียบกับการถอดกับการใส่เสื้อผ้าสำหรับเด็กเล็ก การถอดจะง่ายกว่าการใส่เสื้อผ้าเพราะถอดก็แค่ดึงออกเท่านั้นเอง จึงเป็นไปได้ที่เด็กหลงป่านานหลายวัน จะพบว่าเขาถอดเสื้อผ้าออก”

ด้าน ‘นักจิตวิทยาและพฤติกรรมสุนัข’ (ขอสงวนนาม) ได้ให้คำอธิบายกรณีสุนัขกับเด็กว่า โดยธรรมชาติสุนัขทุกพันธุ์มักผูกพันกับเจ้าของคนเดียวที่ให้ข้าวให้น้ำ “สุนัขมองเราคือแหล่งอาหารของมัน ความซื่อสัตย์ไม่ใช่กับทุกตัว แบบที่คนคิดไปเองหรอกครับ” เขากล่าวในฐานะครูฝึกที่เชี่ยวชาญและคุ้นเคยกับสุนัข และระบุว่าพฤติกรรมของสุนัขเวลาคลุกคลีกับเด็กๆ ก็เป็นเพราะว่าสุนัขคุ้นเคย อาจเพราะเด็กเคยให้อาหาร เคยเล่นด้วย โดยพฤติกรรมแล้วสุนัขจะไม่ได้ยึดถือเจ้าของแบบที่คนคิด สุนัขบ้านยังแบ่งเป็น “สุนัขชนบท” ที่มีนิสัยรักอิสระ ติดแค่เจ้าของที่ให้ข้าวให้น้ำ แต่ถึงเวลามันก็จะออกไปไหนต่อไหนไม่อยู่ติดบ้านแบบ “สุนัขเมือง” ซึ่งจะติดเจ้าของมากกว่า ติดแหล่งอาหาร และจะกลัวคนแปลกหน้ามากกว่าสุนัขในชนบท

ต่อความเห็นที่ว่า เด็กอาจตามสุนัขไปนั้น จริงๆ แล้วพฤติกรรมสุนัขมักจะตามคนมากกว่า เวลาเราเห็นสุนัขเดินตามเข้าป่า นักจิตวิทยาพฤติกรรมสุนัขชี้ว่า “หมาไม่ได้นำนะ คนนั่นแหละที่นำหมา มันจะตามคนเป็นหลักมากกว่า แต่คนพอหลงหาทางไปไม่ถูกเลยเดินตามหมาเอง แต่ธรรมชาติของหมาพอหิวน้ำหิวอาหารมันก็จากไป มันไม่ได้สนใจอะไรคนขนาดนั้น บางทีคนก็คิดกันไปเอง นี่คือพฤติกรรมที่ชัดเจนของสุนัขเลย”

“หมามีความสามารถเฉพาะตัว ไม่ใช่ทุกตัวที่จะมีความสามารถเหมือนกัน ประเด็นสำคัญกว่าก็คือ พ่อแม่ปล่อยปละละเลยลูก จนเป็นเหตุให้เด็กคลาดสายตา ซึ่งว่าตามกฎหมายมันคือความผิด เมื่อรู้ว่าผิดเลยพยายามหาใครมารับผิดเพื่อให้ตนรอดจากความผิดพลาดนี้ ความจริงก็แค่หมาหรือคนอื่นไม่เกี่ยวหรอก” นักจิตวิทยาพฤติกรรมสุนัขกล่าว

ด้าน พล.ต.อ. อชิรวิทย์ สุพรรณเภสัช อดีตรองผู้บัญชาการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ก็เคยให้ความเห็นไว้เมื่อปี 2564 ว่า “หมอลงความเห็นว่าตายเพราะขาดน้ำ เพราะมุกดาหารเป็นดินแดนที่ร้อนที่สุด 40 องศา ยิ่งเดือนพฤษภาคมนี่ร้อนมาก เมื่อน้องชมพู่ตกอยู่ในสถานการณ์อย่างนั้นก็ทำให้เสียชีวิตไป ส่วนหลักฐานว่ามีคนอุ้มไปหรือไม่ ไม่มีดีเอ็นเอ ไม่มีเส้นผมของคนอื่นแปลกปลอมเลย โดยการจะสาวถึงตัวคนร้ายได้นั้น หลักฐานนิติวิทยาศาสตร์เท่านั้นที่จะเป็นข้อพิสูจน์ แต่ศพของน้องชมพู่ไม่มีหลักฐานอะไรเลย ส่วนประจักษ์พยานที่เห็นว่าน้องชมพู่ไปกับใคร หรือถูกใครทำร้าย ทั้งหมดนี่ไม่มีเลย”

ขณะที่ พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข อดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ที่เคยกล่าวในวันที่ 17 พฤษภาคม 2564 ว่า “คดีน้องชมพู่ยังไม่จบ แต่เรามีคำตอบให้แน่นอน ช้าเร็วอยู่ที่เรา และผมเชื่อว่ามีคำตอบที่สังคมพอใจแน่”

คำถามก็คือ คดีที่ดูธรรมดาไม่ซับซ้อนแต่ถูกกระแสสังคม โลกโซเชี่ยล และสื่อ พากันใส่สีสันแต่งเติมเรื่องราวเชื่อมโยงเหนือจริงและสร้างตัวละครขึ้นมามากมายจนกลายเป็นคดีที่ดูไม่ธรรมดา จนถึงขั้นตำรวจชั้นผู้ใหญ่ต้องออกมากล่าวประโยคที่ว่า “มีคำตอบที่สังคมพอใจแน่” แล้วคำตอบที่ให้ “ความจริงเพียงหนึ่งเดียว” ตามกระบวนการนิติวิทยาศาสตร์ที่ค้นหาความจริงอันไม่สามารถโกหกได้ ไม่ใช่คำตอบที่สังคมควรพอใจหรอกหรือ?

  • ตัวละครที่ถูกปั้น? กรณีศึกษาจากคดีซีอุย ถึงคดีลุงพล

ในอดีตภาพของ นายซีอุย แซ่อึ้ง ขณะอ้าปากหาวกลายเป็นภาพติดตาผู้คน ที่หนังสือพิมพ์จงใจให้ดูเหมือนกำลังแยกเขี้ยวแสดงความโหดร้าย การที่สื่อเลือกภาพนี้มาสร้างภาพลักษณ์กระตุ้นอารมณ์ความรู้สึกผู้คน ทำให้นายซีอุยกลายเป็นสัญลักษณ์ของฆาตกรใจโหดผิดมนุษย์

ซีอุย แซ่อึ้ง

กระแสสังคมและสื่อมวลชนโดยเฉพาะหนังสือพิมพ์ ต่างพุ่งประเด็นและชี้นำไปที่คดี ทั้งการสอบปากคำและข่าวในหนังสือพิมพ์ก็มุ่งประเด็นที่จะ “สรุป” ให้ซีอุยเป็นผู้ต้องหาในทุกคดีก่อนที่จะเข้าสู่กระบวนการทางศาล ทั้งที่คำให้การและคำสัมภาษณ์ในหนังสือพิมพ์ที่ปรากฏนั้นมี “จุดสำคัญ” ที่ขัดแย้งกับข้อเท็จจริงอย่างเห็นได้ชัด และแม้ซีอุยจะถูกควบคุมตัวมาทำการสอบสวนโดยใช้ล่ามภาษาจีน เนื่องจากเขาพูด-ฟังภาษาไทยไม่ได้ เนื้อหาในบันทึกปากคำพบว่าเขาให้การปฏิเสธเรื่อยมา แม้จะถูกสอบสวนยาวนานถึง 96 ชั่วโมง จนยอมรับสารภาพในที่สุด หลังคำรับสารภาพของซีอุย หนังสือพิมพ์รายวันขณะนั้นก็ลงข่าวใส่สีสันกันอย่างสนุก สังคมไทยยุคนั้นรู้จักซีอุยในฉายา “มนุษย์กินคน” กินหัวใจเด็ก กลายเป็นภาพลักษณ์คงอยู่มายาวนานเกือบศตวรรษ ทั้งที่ข้อเท็จจริงในทางนิติเวชคือ ฆาตกรไม่ได้ตัดหัวใจและตับของเหยื่อไปด้วย อวัยวะนี้ยังอยู่กับศพ และเจ้าหน้าที่ก็ไม่ได้หลักฐานลายนิ้วมือแต่อย่างใด

แต่หนังสือพิมพ์ในเวลานั้นกลับเล่นข่าวอย่างต่อเนื่อง บทลงโทษซีอุยถูกพิพากษาแล้วจากหน้าหนังสือพิมพ์และกระแสสังคม แม้จนกระทั่งซีอุยถูกประหารชีวิต และร่างของเขาได้กลายเป็นอาจารย์ใหญ่ให้กับนักศึกษาแพทย์ แต่ไม่เคยมีใครเอ่ยถึงความยุติธรรมสักครั้ง จนกระทั้งปี 2562 ได้มีการยกเลิกการจัดแสดงร่างของซีอุย และนำออกจากพิพิธภัณฑ์ เนื่องจากเข้าข่ายหมิ่นประมาทและละเมิดสิทธิผู้เสียชีวิต ร่างของซีอุยจึงได้ถูกนำไปฌาปนกิจที่เมรุวัดแพรกใต้ เป็นการปิดตำนานซีอุยพร้อมกับล้างมลทินตลอดกว่า 60 ปี ของการเป็นผู้ที่ถูกสังคมตราหน้าว่าเป็น “มนุษย์กินคน”

จากคดีซีอุย มาถึงกระแสสังคมในยุคนี้กับคดีลุงพล หรือนายไชยพล วิภา ตัวละครที่ถูกปั้นขึ้นโดยกระบวนการยุติธรรม และมีสื่อมวลชนคอยกำกับกระแสให้ไปในทิศทางดราม่าสุดโต่ง จนกลายเป็นความขัดแย้งในครอบครัว ในสังคมหมู่บ้านเล็กๆ ที่เคยเงียบสงบ ไปจนถึงความขัดแย้งในโลกโซเชี่ยลจากผู้คนทั้งฝ่ายที่สนับสนุนกับฝ่ายที่แอนตี้ อย่างไรก็ตามนี่คือยุคของความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ที่ “การบิดเบือนข้อเท็จจริง” แบบคดีแพะในอดีต ย่อมมีราคาที่ผู้เกี่ยวข้องต้องจ่ายสูงมาก!

ผศ.นพ.ภาณุวัฒน์ ชุติวงศ์ อาจารย์ประจำภาควิชานิติเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ข้อเท็จจริงทางนิติวิทยาศาสตร์คือ คำตอบที่สังคมยุคนี้จำเป็นต้องหันมาให้ความสนใจเป็นอันดับต้นๆ ในกระบวนการยุติธรรม เพราะวิทยาศาสตร์ไม่ได้โกหก เพียงแต่อาจมีบางคนใช้วิทยาศาสตร์มาเป็นเครื่องมืออ้างอิงเพื่อความน่าเชื่อถือในกระบวนการทางกฎหมาย แต่ถึงกระนั้นก็ไม่อาจบิดเบือนผลลัพธ์ทางวิทยาศาสตร์ไปได้ เพราะร่างไร้ลมหายใจของน้องชมพู่ได้ให้คำตอบไว้ชัดเจนแล้ว ดังที่ ผศ.นพ.ภาณุวัฒน์ ชุติวงศ์ อาจารย์ประจำภาควิชานิติเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นผู้ที่ถูกเชิญให้เข้ามาตรวจสอบและให้ความเห็นทางนิติวิทยาศาสตร์ในคดีน้องชมพู่ มีคำอธิบายต่อกรณีนี้ว่า

“เราประเมินจากสภาพศพเป็นอันดับแรกอยู่แล้ว ซึ่งเท่าที่ผมได้พิจารณาจากรายงานและสภาพศพ มันมีการเปลี่ยนแปลงสภาพของศพตามช่วงเวลาด้วย สิ่งที่แพทย์นิติเวชและตำรวจจะต้องหาให้ได้คือ 1.เวลาการตาย ที่สามารถคาดคะเนโดยประมาณได้ ซึ่งจะช่วยจำกัดบุคคลที่ต้องสงสัยให้แคบลง ยิ่งจำกัดเวลาให้สั้นลงก็จะยิ่งบอกได้ว่ามีบุคคลใดบ้างที่เข้ามาเกี่ยวข้อง 2.ภูมิประเทศที่มีลักษณะเป็นป่ามีต้นไม้ใบหญ้า หนอน แมลง กรวดหินดินทรายที่อาจรบกวนสภาพศพทำให้เกิดบาดแผลบางอย่างได้ ซึ่งมันชี้ได้ว่าไม่ใช่บาดแผลจากมนุษย์ทำ ไม่ว่าจะเป็นบาดแผลหลังตายหรือก่อนตายก็ตาม อย่างที่เห็นบาดแผลบนร่างน้องที่มีรอยขีดข่วน ถ้ามองเป็นเรื่องฆาตกรรมก็แสดงว่าทุกครั้งที่กระทำให้เกิดรอยต้องมีการเฆี่ยนตี แต่ร่องรอยมันบ่งบอกว่าจริงๆ แล้วอาจเกิดจากการเดินไปครูดกับกิ่งไม้ กับสิ่งต่างๆ ที่เขาเดินผ่านไป ดังนั้นจึงต้องพิจารณาให้ดี ทั้งเรื่องภูมิประเทศและภูมิอากาศ ต้องตรวจสอบให้แน่ชัดว่ามันเข้ากันได้กับร่างศพหรือไม่ อย่างไร ก็จะมีความแม่นยำมากขึ้น”

สอดคล้องกับความเห็นจาก นพ.กฤติน มีวุฒิสม แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านนิติเวชศาสตร์ ที่เคยให้สัมภาษณ์ไว้ในรายการ ‘ความจริงไม่ตาย’ ทางช่อง TPBS ออกอากาศเมื่อวันที่ 26 ส.ค. 63 ว่า

“โดยปกติแพทย์นิติเวชจะสามารถประเมินระยะเวลาการตายได้จากสภาพของศพโดยตรง ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนสีผิวหนังจากการเน่า การบวมพองของศพที่เกิดจากแก๊สจากการเน่า กรณีนี้พบว่าสภาพศพยังไม่ปรากฏการเน่าโดยชัดเจน ยังไม่มีการเปลี่ยนสีผิวหนังจาการเน่า ยังไม่มีการบวมพองของแก๊สจากการเน่า สิ่งที่เราเห็นจากรูปถ่ายศพ คือกระบวนการเน่ายังไม่เริ่มด้วยซ้ำ เพราะฉะนั้นระยะเวลาการตายจึงน่าจะอยู่ในช่วงประมาณ 24 ชั่วโมง อาจจะน้อยกว่า 24 ชั่วโมงหรือมากกว่านิดหน่อย

แต่ถ้าเสียชีวิตเป็นเวลา 3 วันจริง ศพควรจะต้องมีการเน่าเกิดขึ้นแล้ว ควรจะมีการเปลี่ยนสีผิวหนังจากการเน่าทั่วทั้งตัวแล้ว ควรจะมีการบวมอืดของศพจากแก๊สที่มาจากการเน่า สภาพศพจะบวมอืดเต็มที่ ผิวหนังมีการหลุดลอก แต่สภาพศพจริงที่ตรวจพบในวันที่ 14 (พ.ค.2563) ไม่ได้มีการเน่าโดยชัดเจนแบบนั้น เพราะฉะนั้นประเด็นนี้ควรจะตัดไปได้”

แม้ว่าแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านนิติเวชที่หลายคนล้วนเอกอุเป็นมือหนึ่งด้านนิติวิทยาศาสตร์จะออกมาให้ความเห็นที่เป็นข้อเท็จจริงทางวิทยาศาสตร์รองรับอย่างไรก็ตาม แต่ดูเหมือนว่ากระแสสังคมก็ยังไม่คลายความคลางแคลงใจจากอคติที่มี ขณะที่สื่อบางสำนักที่สร้าง “ตัวละคร” ขึ้นโดยโยงประเด็นต่างๆ จนเละเทะ จนมีสื่อ 2 ช่องถูกคณะกรรมาธิการกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน เรียกมาชี้แจง เนื่องจากมีชาวบ้านกกกอกร้องเรียนว่า ได้รับผลกระทบจากการทำหน้าที่ของสื่อ โดยมีการทำข่าวเกินขอบเขตหน้าที่ และอาจละเมิดจรรยาบรรณสื่อ เนื่องจากมีการใส่ความเชื่อทางไสยศาสตร์และเข้าไปวุ่นวายกับการทำงานของเจ้าหน้าที่อีกด้วย

  • สำรวจ 4 ข้อชวนฉงน? จากวิทยาศาสตร์และกระบวนการยุติธรรมของไทย

พ.ต.อ.วิรุตม์  ศิริสวัสดิบุตร  อดีตรองผู้บังคับการจเรตำรวจและเลขาธิการสถาบันเพื่อการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม(สป.ยธ.) ได้เคยพูดถึงคดีน้องชมพู่ ที่เสียชีวิตอย่างมีเงื่อนงำจนสุดท้ายนำไปสู่การออกหมายจับ ‘ลุงพล’ ว่า นี่เป็นคดีที่ท้าทายประสิทธิภาพของกระบวนการยุติธรรมทางอาญาของไทยในชั้นสอบสวนอย่างยิ่ง โดยเฉพาะการตั้งข้อหาและการออกหมายจับที่ล้วนมีข้อสงสัยชวนฉงนมากมาย และนี่คือ 5 ข้อชวนฉงนที่เรารวบรวมมาตีแผ่ความจริงอีกด้านหนึ่ง

  1. เส้นผมสิบเส้น – ตรวจเจอ 1 เส้นตรงกับศพ แต่อีก 9 ไม่ปรากฏในรายงาน?

“ในรายงานการตรวจระบุว่ามีเส้นผม 10 เส้นที่เอามาตรวจ พบ 1 เส้นที่ตรงกับศพ แต่อีก 9 เส้นไม่ตรงซึ่งไม่ได้อยู่ในรายงาน ตรงนี้คือสิ่งที่เราพยายามบอกนักกฎหมายว่า เมื่อท่านให้ตรวจทั้ง 10 เส้นก็ต้องอธิบายให้ได้ว่า แล้วอีก 9 เส้นที่ไม่ใช่มันคืออะไร ไม่ใช่มาบอกว่าเจอ 1 เส้นตรงแล้วระบุเลยว่านี่คือคนร้าย หลักการนิติวิทยาศาสตร์มันจะต้องอธิบายได้ทั้งใช่และไม่ใช่ และต้องมีทฤษฎีที่บอกว่าคนๆ นี้คือคนร้าย และทฤษฎีที่บอกว่าคนๆ นี้ไม่ใช่คนร้าย แล้วเอามาเทียบสัดส่วนกัน เพื่อให้ได้ค่าสถิติที่มันบ่งบอกได้ว่าคนๆ นี้คือคนร้ายจริงๆ” นี่คือข้อสงสัยอันชวนฉงนแรก ที่ทำให้เกิดการตั้งคำถามจาก นพ.วรวีร์ ไวยวุฒิ รองผอ.สถาบันนิติวิทยาศาสตร์

  1. แสงซินโครตรอน – เนื่องมาจากเจ้าหน้าที่ตำรวจได้นำเส้นผมส่งให้ทางสถาบันซินโครตรอน เพื่อตรวจสอบว่าหลักฐานเส้นผมที่พบในรถและของผู้ตายมีความคล้ายคลึงกันอย่างไร เพื่อไปประกอบสำนวนคดีน้องชมพู่ แต่ทว่าข้อเท็จจริงคือ แสงซินโครตรอนไม่สามารถตรวจลึกถึงดีเอ็นเอได้ ดังที่ รองผอ.สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ ได้อธิบายว่า

“การใช้ซินโครตรอนคือการยิงอนุภาคเข้าไปเพื่อที่จะดูว่ามีองค์ประกอบอะไรบ้าง แต่ประเด็นคือมันยังไม่มีความสามารถถึงขั้นจะยิงอนุภาคเข้าไปแล้วเห็นรหัสพันธุกรรมได้ เทคโนโลยียังมีข้อจำกัดคือเป็นการยิงเข้าไปเพื่อดูอนุภาคของธาตุได้แค่นั้น เช่น สารต่างๆ ที่มีอนุภาคประกอบอยู่ในเส้นขนหรือเส้นผม แต่ส่วนที่จะใช้บอกดีเอ็นเอของคนมันยังบอกไม่ได้ถึงขนาดนั้น เลยเป็นสิ่งที่ผมตั้งข้อสงสัย ยิ่งพอไปดูในเอกสารรายงานก็ไม่ได้มีผลของการตรวจด้วยซินโครตรอนที่จะบอกว่า ผลการตรวจเป็นอย่างไรหรือสรุปว่าคนๆ นี้เป็นคนร้าย นี่คือข้อที่ต้องระมัดระวัง สำหรับนักกฎหมายและผู้ใช้กฎหมาย ที่เอาเรื่องซินโครตรอนมาอ้างอิงเพราะพอเราเข้าไปดูเนื้อในรายงาน มันกลับไม่มีการใช้แสงซินโครตรอนในการตรวจพิสูจน์อะไรเลย”

  1. คำฟ้องชวนฉงน – อัยการจังหวัดมุกดาหาร เป็นโจทก์ฟ้องลุงพล (จำเลยที่ 1) ต่อศาลจังหวัดมุกดาหารในความผิดอาญาในความผิดหลายฐาน แต่มีประเด็นที่ พ.ต.อ.วิรุตม์  ศิริสวัสดิบุตร อดีตรองผบก.จเรตำรวจ เห็นความผิดปกติก็คือ “การฟ้องของพนักงานอัยการในคดีนี้ เป็นการฟ้องที่มีกรณีความตายเป็นผลแห่งการกระทำผิดอาญาอยู่ด้วย แต่คำฟ้องนั้นกลับไม่ปรากฏข้อความที่แสดงให้เห็นว่า ได้มีการชันสูตรพลิกศพและการชันสูตรพลิกศพนั้นได้เสร็จสิ้นแล้ว จึงเป็นฟ้องที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมายซึ่งศาลอาจสั่งให้พนักงานอัยการแก้ฟ้องให้ถูกต้องได้ ก่อนที่ศาลจะมีคำสั่งประทับฟ้องตามมาตรา 161และยังพบข้อพิรุธต่อมาคือส่วนเนื้อหาของฟ้องที่เป็นข้อเท็จจริง ซึ่งกล่าวอ้างว่าจำเลยได้กระทำผิด ก็ล้วนแต่ไม่ถูกต้องตามกฎหมายทั้งสิ้นเนื่องจากเป็นฟ้องที่ขาดองค์ประกอบของความผิด ไม่ชอบด้วย ป.วิ อาญา มาตรา 158 (5) และการฟ้องในความผิดหลายกรรมหรือหลายกระทง  ป.วิ อาญา มาตรา 160 ได้บัญญัติให้ฟ้องแยกกระทงเรียงเป็นลำดับกันไป  แต่คำฟ้องนั้นกลับได้รวมความผิดทั้งสองฐานเข้าด้วยกัน ฟ้องนั้นจึงเป็นฟ้องที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมายที่ศาลต้องมีคำสั่งยกฟ้องตั้งแต่ชั้นตรวจคำฟ้องตาม ป.วิ อาญา มาตรา 161 แล้ว
  2. ปักธงล่วงละเมิด – ความชวนฉงนที่เป็นพิรุธอีกประการหนึ่งของคดีนี้คือ การที่ตำรวจตั้งธงไว้แล้ว จะด้วยอคติ การถูกกดดัน หรือเหตุผลใดก็ตาม การมีธงสำหรับการสืบสวนในคดีนี้กลายเป็นความไม่ชอบมาพากลในกระบวนการยุติธรรม ดังที่ นพ.กฤติน มีวุฒิสม หัวหน้ากลุ่มงานนิติเวช รพ.ระนอง ได้กล่าวไว้ในวงเสวนาวิชาการ เมื่อวันที่ 7 ก.ค.63 ที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ว่า “สำหรับคดีน้องชมพู่ ผลทางนิติเวชที่ออกมานั้น การผ่าครั้งที่ 1 โรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ จ.อุบลราชธานี ไม่พบร่องรอยการถูกทำร้ายร่างกาย ไม่พบร่องรอยการร่วมเพศ ไม่สามารถระบุสาเหตุการตายได้ 2.สถาบันนิติเวช รพ.ตำรวจ ไม่ปรากฏสาเหตุการตาย แต่มีบาดแผลตามร่างกายและอวัยวะเพศ ด้วยความเห็นที่แตกต่างกันนี้ จึงทำให้เกิดความสับสน แต่ตำรวจให้สัมภาษณ์ว่า เหตุผลที่ส่งร่างน้องชมพู่ไปผ่าครั้งที่ 2 เพราะการผ่าครั้งแรกไม่พบการกระทำชำเรา จึงส่งชันสูตรใหม่ เพื่อให้กระบวนการเดินหน้าต่อไปได้ ซึ่งฟังดูแล้วเหมือนกับตำรวจตั้งเป้าไว้แล้วว่าจะให้คดีนี้จบอย่างไร”

เช่นเดียวกับข้อสังเกตที่ นพ.ภานุวัฒน์ ชุติวงศ์ อาจารย์ประจำภาควิชานิติเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า “การผ่าชันสูตรศพถึง 2 ครั้ง แต่ผลออกมาไม่เหมือนกัน เพราะการผ่าครั้งแรกไม่พบร่องรอยการร่วมเพศ แต่ครั้งที่ 2 กลับพบบาดแผลตามร่างกายและอวัยวะเพศ ซึ่งดูแล้วคล้ายต้องการผ่าใหม่ ให้ตรงกับความต้องการ หรือให้คดีนี้นำไปสู่สิ่งที่อยากให้เป็น ทั้งที่โดยหลักการแล้ว การผ่าครั้งแรกนั้นถือว่าดีกว่าครั้งที่ 2 เพราะศพยังไม่ถูกนำไปทำอะไร”

 

ฮัลวา ตาญี – รายงาน

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *