สถาบันประสาทวิทยา กรมการแพทย์ เผย ฝุ่นจิ๋วหรือ PM 2.5 ฝุ่นละอองขนาดเล็ก ที่เป็นภัยคุกคามร้ายแรงที่สุดต่อสุขภาพอนามัยของคนไทย ปัจจุบันนี้กลายเป็นวาระแห่งชาติและถือเป็นวิกฤตด้านสาธารณสุขในประเทศไทยด้วย ส่งผลกระทบทั้งเด็ก ผู้ใหญ่ และผู้สูงอายุ การดำรงชีวิตด้วยความเสี่ยงที่จะส่งผลกระทบต่อสุขภาพทุกระบบไม่เว้นแม้แต่ โรคทางสมองและระบบประสาท
จากสถานการณ์ ค่าเฉลี่ยฝุ่นละออง PM 2.5 ในอากาศ ของไทยมีแนวโน้มสูงขึ้นต่อเนื่องในหลายพื้นที่ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน ล่าสุดนายแพทย์วีรวุฒิ อิ่มสำราญ รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า องค์กรอนามัยโลก (WHO) ตั้งค่าเฉลี่ยฝุ่นละออง PM 2.5 ในอากาศ ว่าหากมีเกินกว่า 25 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ถือเป็นอันตรายต่อสุขภาพ ขณะที่ประเทศไทยกำหนดอันตรายของฝุ่น PM 2.5 อยู่ที่เกินกว่า 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ปัจจุบันนี้ฝุ่น PM 2.5 กลายเป็นวาระแห่งชาติ และถือเป็นวิกฤตด้านสาธารณสุขในประเทศไทย ไม่ว่าจะทั้งเด็ก ผู้ใหญ่ ผู้สูงอายุ และประชาชนทุกกลุ่มต้องเสี่ยงดำรงชีวิตท่ามกลางฝุ่นควันพิษนี้
เดิมทีเราอาจไม่ได้คิดว่า PM 2.5 จะส่งผลกระทบใด ๆ ต่อสุขภาพ เพราะมีขนาดเล็กจนไม่สามารถมองเห็นได้ แต่ด้วยขนาดที่เล็กทำให้ฝุ่นจิ๋วสามารถเดินทางเข้าไปสะสมในสมองได้ ผ่านอย่างน้อย 3 ช่องทาง คือ ผ่านผนังโพรงจมูกส่วนติดต่อสมองรับกลิ่น โดยจะซึมผ่านขึ้นไปที่สมองส่วนหน้าด้านล่าง ผ่านเข้าไปในปอด เข้าไปถึงหลอดลม แล้วซึมเข้าสู่กระแสเลือดที่ไหลเวียนไปยังสมอง และผ่านเข้าสู่ทางเดินอาหาร โดยการกลืนลมที่มีฝุ่นจิ๋วปะปนในระหว่างการพูดคุยแล้วดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือด หรือไปเปลี่ยนจุลชีพและสภาวะแวดล้อมในทางเดินอาหารก่อนจะไหลเวียนไปที่สมองต่อไป
ด้านนายแพทย์ธนินทร์ เวชชาภินันท์ ผู้อำนวยการสถาบันประสาทวิทยา กล่าวเพิ่มเติมว่า มีการศึกษาพบว่ามีการสะสมของอนุภาคฝุ่นจิ๋ว ในสมองจริง โดยเฉพาะในสมองส่วนหน้า ซึ่งผ่านมาจากผนังโพรงจมูกส่วนติดต่อสมองรับกลิ่น โดยจะซึมผ่านขึ้นไปที่สมองส่วนหน้าด้านล่าง เพราะสามารถตรวจพบอนุภาคฝุ่นจิ๋วในสมองส่วนหน้าคล้าย ๆ กลุ่มโรคที่เกิดขึ้นในสมองโดยทั่วไป ไม่ว่าจะในเด็กเล็กที่อยู่ในช่วงเจริญเติบโต จะพบว่าพัฒนาการของสมองช้ากว่าเด็กที่ไม่ได้รับ นอกจากนี้ในสมองส่วนลึก ก็พบว่ามีโรคอุบัติใหม่ที่เกิดขึ้นจากความผิดปกติของภูมิคุ้มกันระบบประสาทเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ แปรผันตรงกับช่วงเวลาที่มีการเพิ่มขึ้นของฝุ่นจิ๋ว โดยอธิบายได้ว่า ฝุ่นจิ๋วมีผลกระตุ้นให้เกิดกระบวนการอักเสบในระบบประสาทส่วนกลาง และหากผลกระทบนี้ลุกลามไปยังสมองที่ทำหน้าที่อื่น ๆ ก็จะส่งผลให้การทำงานของสมองในตำแหน่งนั้นผิดปกติไป เช่น ทำให้เกิดความจำเสื่อม เป็นต้น
ดังนั้นจึงขอให้ประชาชนระมัดระวังป้องกันตนเองจากฝุ่นจิ๋ว หากพบว่ามีฝุ่นในปริมาณสูง ควรหลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมกลางแจ้ง หรือสวมหน้ากากป้องกันฝุ่นควัน นอกจากนั้นควรจะมีส่วนในการลดการสร้างฝุ่นจิ๋ว ด้วยการลดการเผา ลดการใช้รถยนต์ที่มีการเผาไหม้ไม่สมบูรณ์ และสนองตอบนโยบายของรัฐในการจัดการควบคุมปัญหาฝุ่นควัน เพื่อสุขภาพของตัวเราเองและส่วนรวม
อย่างไรก็ตามหลายหน่วยงานเริ่มออกมาหามาตรการในการลดปริมาณฝุ่นละออง PM2.5ในอากาศอย่างเร่งด่วนแล้ว รวมถึงการดำเนินการเกี่ยวกับการหามาตรการเพื่อป้องกันสุขภาพของประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ของ PM2.5 ที่รุนแรงขึ้นในขณะนี้ ซึ่งแนวทางที่ทำได้ในเบื้องต้นคือประชาชนต้องตระหนักในปัญหาและเร่งหาทางป้องกันตนเอง ด้วยการใส่หน้ากากอนามัย ซึ่งเป็นเรื่องที่แทบจะเป็นปกติอยู่ในแล้วหลังสถานการณ์โควิด -19 อย่างน้อยก็จะช่วยเป็นเกราะป้องกัน PM 2.5 ได้ในระดับหนึ่ง