กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข เตรียมขยายและสร้างความเข้มแข็งของทีมปฏิบัติการด้านอนามัยสิ่งแวดล้อม รองรับภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุข หรือทีม SEhRT (Special Environmental health Response Team) ทั่วประเทศ จับมือสาธารณสุข-ท้องถิ่น เพื่อลดความเสี่ยงด้านสุขภาพประชาชน จากภัยพิบัติต่าง ๆ ที่อาจจะจะมีความรุนแรงมากขึ้น
แพทย์หญิงอัจฉรา นิธิอภิญญาสกุล อธิบดีกรมอนามัย กล่าวในเวทีชี้แจงบทบาท และรับฟังความเห็นภาคีเครือข่ายการจัดการอนามัยสิ่งแวดล้อมรองรับภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุข ณ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ว่า กรมอนามัยเตรียมพร้อมในการขยายทีม SEhRT ให้ครอบคลุม ทั่วประเทศ โดยอาศัยความร่วมมือจากภาคีเครือข่ายทุกระดับทั้งจากสำนักงานภาวะฉุกเฉินสำนักงานสาธารณสุขอำเภอ โรงพยาบาลและโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล เพื่อให้หน่วยงานภาคการสาธารณสุข และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในฐานะหน่วยงานหลักที่มีบทบาทสำคัญในการปกป้อง คุ้มครอง และลดความเสี่ยงทางสุขภาพประชาชน ในช่วงที่ต้องเผชิญความเสี่ยงจากภัยพิบัติ ภัยสุขภาพจากภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุข โดยเปิดเวทีรับฟังความเห็น เพื่อพัฒนา ปรับปรุง แก้ไข ถอดบทเรียนจากเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่ผ่านมา อาทิ ปัญหาฝุ่นละออง หมอกควัน อุทกภัย ภัยจากความร้อน ภัยแล้ง ภัยหนาว ไฟไหม้
บ่อขยะ โรงงานสารเคมีระเบิด เป็นต้น
แพทย์หญิงอัจฉรา กล่าวต่อไปว่า จากการรับฟังความเห็นที่ประชุม พบว่า บางหน่วยงานมีแนวทางการปฏิบัติและกลไกการจัดการด้านอนามัยสิ่งแวดล้อมที่มีการดำเนินการในช่วงเกิดภัยพิบัติต่าง ๆ ที่มีมาตรฐาน มีประสิทธิภาพ และเป็นระบบอย่างชัดเจน ทำให้สามารถปฏิบัติภารกิจตามหน้าที่ที่รับผิดชอบได้รวดเร็ว ทันต่อสถานการณ์ จนสามารถลดความเสี่ยงสุขภาพประชาชนในพื้นที่ได้ ดังนั้น การสร้างเครือข่ายทีม SEhRT ให้สามารถปฏิบัติภารกิจรองรับภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขได้อย่างมีประสิทธิภาพ กรมอนามัยจึงจำเป็นจะต้องดำเนินการให้ครอบคลุมทั้งในทุกระดับ โดยเน้น 3 มิติ คือ 1) การพัฒนากำลังคน ให้ทีม SEhRT ที่ผ่าน การเสริมทักษะ เพิ่มขีดความสามารถทางวิชาการและกฎหมายว่าด้วยการสาธารณสุขสำหรับประยุกต์ใช้ในช่วงเกิด ภัยพิบัติ 2) มีระบบงานหรือมาตรฐานการปฏิบัติการ ที่เชื่อมโยงการทำงานร่วมกันทั้งภายในองค์กรและเครือข่ายภายนอกได้อย่างไร้รอยต่อ พร้อมมีการสนับสนุนให้มีการฝึกปฏิบัติภารกิจของทีม SEhRT อย่างเป็นรูปธรรม
และ3) จัดหาและสนับสนุนเครื่องมือทำงานสำหรับทีม SEhRT ทุกระดับ โดยการดำเนินงานดังกล่าวต้องมีความต่อเนื่องมีกระบวนการทบทวน แลกเปลี่ยนเรียนรู้จากประสบการณ์ของแต่ละหน่วยงานเพื่อให้กระบวนการทำงานมีประสิทธิภาพ มีความเหมาะสมกับบริบทของภาวะฉุกเฉินที่เกิดขึ้น” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว
“ทั้งนี้ กรมอนามัยเริ่มพัฒนาต้นแบบทีม SEhRT ในการจัดการอนามัยสิ่งแวดล้อมในภาวะฉุกเฉิน ในพื้นที่จังหวัดสกลนคร เป็นแห่งแรก เพื่อเป็นต้นแบบการทำงานแบบบูรณาการ ก่อนมีการขยายการดำเนินงานไปยังจังหวัดอื่น เพื่อให้ทีม SEhRT มีมาตรฐานการสำหรับภารกิจอนามัยสิ่งแวดล้อมในภาวะฉุกเฉินของประเทศมากที่สุด”
อธิบดีกรมอนามัย กล่าว