หน่วยงานสานพลัง ‘สช.’ ครบรอบ 17 ปี ในปี 2567 จัดกิจกรรมใหญ่ Open House ‘สช. สานพลังสู่ระบบสุขภาพที่เป็นธรรม’ วันที่ 4 มี.ค. 2567 เปิดพื้นที่กลางทางสังคม ทำความรู้จัก-แลกเปลี่ยนเรียนรู้ เครื่องมือภายใต้ พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 ที่จะนำไปสู่การพัฒนานโยบายสาธารณะฯ แบบมีส่วนร่วม โดยมี ‘สมศักด์ เทพสุทิน ด้านเลขาธิการ คสช. ‘นพ.สุเทพ’ ประมวลผลงานสำคัญสู่รูปธรรมสร้างสุขภาวะคนไทย(red arrow right)
สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) จัดกิจกรรมใหญ่ Open House “สช. สานพลังสู่ระบบสุขภาพที่เป็นธรรม” ในวันจันทร์ที่ 4 มี.ค. 2567 เพื่อเปิดพื้นที่กลางให้กับประชาชน ตลอดจนภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน ได้เข้ามาทำความรู้จัก แลกเปลี่ยนเรียนรู้ ซึ่งจะนำไปสู่การใช้ สช. เป็น ‘แพลตฟอร์มกลาง’ ในการพัฒนานโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพแบบมีส่วนร่วม ในการสร้างสังคมไทยให้เป็น ‘สังคมสุขภาวะ’ อย่างแท้จริง
(blue circle button)นพ.สุเทพ เพชรมาก เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.) เปิดเผยว่า ในปี 2567 นี้ สช. ในฐานะ ‘องค์กรสานพลัง’ จะมีอายุครบ 17 ปีเต็ม นับตั้งแต่ประเทศไทยมี พ.ร.บ. สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 ซึ่งกำหนดให้มีการจัดตั้ง สช. ทำหน้าที่เป็นองค์กรสานพลังในการพัฒนานโยบายสาธารณะฯ และเป็นกลไกสนับสนุนการทำงานของ คสช. ซึ่งเปรียบได้กับ ‘คลังสมองด้านสุขภาพของประเทศ’ ที่มีบทบาทให้คำปรึกษาคณะรัฐมนตรี (ครม.) ตลอดจนได้กำหนดให้มี ‘เครื่องมือ’ ในการพัฒนานโยบายสาธารณะฯ ของประเทศ อาทิ กระบวนการสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ธรรมนูญสุขภาพ การประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ (HIA) สิทธิและหน้าที่ด้านสุขภาพ (Rights and Duties) ฯลฯ โดยทั้งหมดนี้ถือเป็นเครื่องมือตามกฎหมายที่จะช่วยให้เกิดกระบวนการมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาต่างๆ รวมถึงการลดความขัดแย้ง และสร้างสมดุลการพัฒนาระหว่างสิทธิชุมชนกับโครงการพัฒนาของภาครัฐ
นพ.สุเทพ กล่าวว่า ตลอดระยะเวลา 17 ปี สช. มีเลขาธิการ คสช. มาแล้ว 3 ท่าน ได้แก่ นพ.อำพล จินดาวัฒนะ พ.ศ. 2551-2559 นพ.พลเดช ปิ่นประทีป พ.ศ. 2559-2562 และ นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ พ.ศ. 2562-2566 โดยเลขาธิการฯ ทั้ง 3 ท่าน ถือเป็นผู้ที่มีส่วนสำคัญในการพัฒนาระบบสุขภาพ และได้วางรากฐาน สช. ไว้อย่างมั่นคง นั่นทำให้ สช. มีผลงานในการสนับสนุนส่งเสริมการสร้างสุขภาวะดีให้กับประชาชนชาวไทยมาโดยตลอด ไม่ว่าจะเป็นในสถานการณ์โควิด-19 ที่ สช. ได้จัดทำโครงการ ‘รวมพลังพลเมืองตื่นรู้ ช่วยชาติสู้ภัยโควิด-19’ สานพลังภาคีเครือข่าย 36 องค์กร ทั้งภาคสุขภาพ ปกครอง สังคม เข้ามาบูรณาการเพื่อยกระดับการมีส่วนร่วมของประชาชนหนุนเสริมมาตรการรัฐให้เข้มแข็ง จนเกิดเป็นข้อตกลงร่วมในการวางมาตรการป้องกันโรคระดับพื้นที่ หรือธรรมนูญชุมชนสู้ภัยโควิด การสร้างต้นแบบศูนย์พักคอย หรือ Community Isolation ที่กลายมาเป็นโมเดลการทำงานระดับประเทศ
นอกจากนี้ สช. ยังได้พัฒนาเครื่องมือภายใต้ พ.ร.บ. สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 ให้เท่าทันยุคสมัยและความเปลี่ยนแปลง เพื่อให้เกิดรูปธรรมการใช้งานจริง ทั้งกลไกสมัชชาสุขภาพที่มุ่งไปสู่การขับเคลื่อนมติทั้งระดับชาติ และระดับจังหวัด การนำเทคโนโลยีการสื่อสารเข้ามาลดข้อจำกัดและขยายการมีส่วนร่วมของประชาชน ชักชวนภาคีเครือข่ายมาแสดงถ้อยแถลงและให้พันธสัญญาในการขับเคลื่อนภารกิจต่างๆ และในปี 2563 เป็นต้นมา มีการจัดงานสมัชชาสุขภาพกรุงเทพมหานคร และงานสมัชชาสุขภาพสากลเมืองพัทยา ที่จะนำไปสู่การวางกติกาของประชาชนบนความหลากหลาย ที่จะร่วมสร้าง ร่วมพัฒนา ร่วมรักษา และร่วมกันใช้ประโยชน์จากพื้นที่
ขณะเดียวกันในภาพใหญ่เชิงยุทธศาสตร์ สช. ได้ร่วมจัดทำเข็มทิศด้านสุขภาพของชาติ หรือที่เรียกว่าธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ โดยที่ใช้อยู่ในปัจจุบันคือฉบับที่ 3 ซึ่งมีการวิเคราะห์-สังเคราะห์สถานการณ์ ความท้าทาย สกัดออกมาเป็นทิศทางการพัฒนาที่จะมุ่งไปสู่การสร้างระบบสุขภาพที่เป็นธรรม ขณะเดียวกันยังได้มีการจัดทำธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ เพื่อดูแลสุขภาวะพระสงฆ์ทั่วประเทศ ธรรมนูญสุขภาพโรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญ และธรรมนูญสุขภาพสถานศึกษา เพื่อเป็นกรอบในการดูแลเด็กและเยาวชนทั่วประเทศไทย โดยทั้งหมดนี้ผ่านกระบวนการการมีส่วนร่วมและได้รับฉันทมติจากทุกภาคส่วนในการทำและนำไปใช้
“ในระดับพื้นที่ สช. ได้พัฒนาเครื่องมือสำคัญคือ HIA หรือการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ ซึ่งถือเป็นเครื่องมือทางวิชาการที่จะช่วยสร้างสมดุลการพัฒนาระหว่างคุณภาพชีวิตและความเจริญ ควบคู่ไปกับการพัฒนาบุคลากรโดยจับมือกับสถาบันการศึกษา 6 ภูมิภาค จัดตั้งเป็นเครือข่ายสถาบันวิชาการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ หรือในระดับบุคคล ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา สช. ได้สนับสนุนสิทธิมนุษยชน และการใช้สิทธิไม่รับบริการสาธารณสุขที่เป็นไปเพื่อยื้อชีวิตในวาระสุดท้าย รวมถึงการดูแลแบบประคับประคอง เพื่อสร้างสุขวะในระยะท้ายของชีวิตด้วย” นพ.สุเทพ กล่าว
พร้อมกันนี้ เพื่อให้เกิดการทำงานแบบเชื่อมร้อยและข้ามหน่วยงานโดยยึดผลประโยชน์ประชาชนเป็นสำคัญ สช. ได้สนับสนุนการดำเนินงานของคณะกรรมการเขตสุขภาพเพื่อประชาชน (กขป.) รวม 13 เขต ทั่วประเทศ ซึ่งเป็นกลไกตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการจัดตั้งเขตสุขภาพเพื่อประชาชน พ.ศ. 2559 ในการสานพลังภาคราชการ ภาควิชาการ-วิชาชีพ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม ในกลุ่มจังหวัดต่างๆ เข้ามาทำงานร่วมกัน เพื่อแก้ไขปัญหาสุขภาพตามบริบทของพื้นที่ที่มีความแตกต่างกันออกไป
“ระบบสุขภาพมีความเป็นพลวัตร ไม่ว่า โลก หรือ โรค ล้วนมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอด รวมถึงปัจจัยต่างๆ ทั้งสังคมสูงวัย ความเป็นเมือง สิ่งแวดล้อม มลพิษ สถานการณ์โลกร้อน-โลกเดือด ฉะนั้นเมื่อ สช. เป็นหน่วยงานที่ต้องมีส่วนในการพัฒนานโยบาย ก็จำเป็นจะต้องให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วเหล่านี้ ซึ่งงานในวันจันทร์ที่ 4 มี.ค. นี้ เรามุ่งหวังที่จะเปิดบ้าน สช. ให้ประชาชนและภาคีเครือข่ายเข้ามาทำความรู้จัก แลกเปลี่ยนเรียนรู้ และร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างสังคมสุขภาวะดีให้เกิดขึ้นในประเทศไทย” นพ.สุเทพ กล่าว
สำหรับงาน Open House “สช. สานพลังสู่ระบบสุขภาพที่เป็นธรรม” จะจัดขึ้นในวันจันทร์ที่ 4 มี.ค. 2567 ณ อาคารสุขภาพแห่งชาติ ภายในกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) จ.นนทบุรี เวลา 08.30-14.30 น. โดยมีกิจกรรมที่น่าสนใจ อาทิ พิธีสงฆ์ โดยมี พระพรหมวัชรเมธี (สมเกียรติ โกวิทโท) กรรมการมหาเถรสมาคม เจ้าคณะภาค 9 เจ้าอาวาสวัดอรุณราชวราราม ประธานฝ่ายสงฆ์และมี นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธาน คสช.
นอกจากนี้ ยังมีการจัดนิทรรศการ และกิจกรรม สช. พาทัวร์ สำรวจ “เส้นทางสานพลังสู่ระบบสุขภาพที่เป็นธรรม” รวมถึงเวทีการพูดคุยหัวข้อ “ความเป็นธรรมด้านสุขภาพอยู่ที่ไหน ใครร่วมสร้าง” โดย นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รมว.สธ. “ความท้าทายของ สช. ในศตวรรษที่ 21” ผ่าน VTR อีกด้วย