ราชบัณฑิตยสภา บัญญัติศัพท์ “New normal” หมายถึง ความปรกติใหม่ หรือฐานวิถีชีวิตใหม่ โดยเขียนทับศัพท์ว่า “นิวนอร์มัล” ส่วน New norm. หมายถึง บรรทัดฐานใหม่
ศ.นพ.สุรพล อิสรไกรศีล นายกราชบัณฑิตยสภา ได้เผยแพร่ข้อความ ผ่านเฟซบุ๊ก Surapol Issaragrisil ระบุว่า ราชบัณฑิตบัญญัติศัพท์คำว่า “New normal” การพิจารณาศัพท์บัญญัติและนิยามของคำว่า New normal และ New norm
ราชบัณฑิตยสภาได้แต่งตั้งคณะกรรมการบัญญัติศัพท์ที่เกี่ยวข้องกับหลายสาขาวิชาและที่จำเป็นเร่งด่วน คณะกรรมการชุดนี้ มีหน้าที่บัญญัติศัพท์ใหม่ที่อยู่ในกระแสสังคมร่วมสมัย รวมทั้งศัพท์ที่เกี่ยวข้องกับหลากหลายสาขาวิชาและมีความจำเป็นต้องใช้งาน นอกจากนี้มีหน้าที่เผยแพร่ศัพท์ที่บัญญัติไปสู่สาธารณะชนอีกด้วย
คำว่า New normalได้มีการนำมาใช้อย่างแพร่หลายในช่วงที่มีการระบาดของโรค COVID-19 โดยคำว่า New normal เป็นวลีและเป็นสำนวน ซึ่ง Oxford dictionary ได้ให้คำนิยามว่า
“A previously unfamiliar or atypical situation that has become standard,usual, or expected.”
หมายถึง สถานการณ์หรือปรากฏการณ์ ที่แต่เดิมเป็นสิ่งที่ไม่ปรกติ ผู้คนไม่คุ้นเคย ไม่ใช่มาตรฐาน ต่อม มีเหตุหรือเกิดวิกฤตบางอย่าง จึงมีการเปลี่ยนแปลง ทำให้สถานการณ์หรือปรากฏการณ์นั้นกลายเป็นสิ่งที่ปรกติและเป็นมาตรฐาน
กรรมการได้ให้ความเห็นว่าคำจำกัดความของคำว่า New normal เป็นพลวัตและคำนี้มีที่ใช้ในหลายบริบท ไม่ใช่เฉพาะในทางธุรกิจหรือวิถีชีวิตเท่านั้น จึงเป็นการยากที่จะหาคำกลางๆที่จะใช้ได้ในทุกบริบท จึงมีข้อสรุปร่วมกันว่า ควรจะเขียนคำนี้ทับศัพท์ภาษาอังกฤษว่า “นิวนอร์มัล” จะสื่อความหมายได้ดีกว่า
อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการบัญญัติศัพท์นิเทศศาสตร์ได้บัญญัติคำนี้ไว้แล้วว่า ความปรกติใหม่, ฐานวิถีชีวิตใหม่ คณะกรรมการจึงมีความเห็นว่าสามารถใช้สองคำนี้ได้ด้วย
อีกคำหนึ่งคือ New norm คณะกรรมการให้ใช้คำว่า “บรรทัดฐานใหม่”