วธ. เผยผลสำรวจพฤติกรรมคนไทย ปี 2567 ชี้ภาพรวมมีการปฏิบัติตนที่สะท้อนคุณธรรมเพิ่มขึ้น ห่วงการให้อภัย – พอเพียงลดลง

กระทรวงวัฒนธรรม เปิดเผยผลสำรวจประชากรอายุ 13 ปีขึ้นไป มีกิจกรรมการปฏิบัติตนที่สะท้อน
การมีคุณธรรมจริยธรรม ซึ่งเป็นตัวชี้วัดของแผนปฏิบัติการด้านการส่งเสริมคุณธรรมแห่งชาติ ระยะที่ 2
(พ.ศ. 2566 – 2570) และสอดคล้องกับเป้าหมายของยุทธศาสตร์ชาติ เพื่อสะท้อนทัศนคติ ค่านิยม
และการประพฤติตนตามบรรทัดฐานที่ดีของสังคม ปี 2567 พบว่า คนไทยส่วนใหญ่ยังคงมีพฤติกรรม
การปฏิบัติตนที่สะท้อนคุณธรรมในภาพรวม 6 ด้านเพิ่มขึ้น (ด้านการช่วยเหลือผู้อื่น ด้านการตอบแทน
ผู้มีพระคุณ ด้านการให้อภัย ด้านความพอเพียง ด้านความมีวินัย และด้านความซื่อสัตย์สุจริต) โดยมีสัดส่วน
สูงถึงร้อยละ 92.06 เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.9 จากปี 2566 (ร้อยละ 91.07)

นางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เปิดเผยว่า การสำรวจครั้งนี้
กระทรวงวัฒนธรรม โดยกรมการศาสนา ในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการส่งเสริมคุณธรรมแห่งชาติ ดำเนินการร่วมกับมหาวิทยาลัยมหิดลเก็บข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่างอายุ 13 ปีขึ้นไป จำนวน 18,465 คนทั่วประเทศ ซึ่งเป็นผู้เข้าร่วมกิจกรรมตามแผนปฏิบัติการด้านการส่งเสริมคุณธรรมแห่งชาติ ระยะที่ 2 (พ.ศ. 2566 – 2570) ที่เครือข่ายชุมชนและองค์กรภาคส่วนต่าง ๆ จัดขึ้นทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค โดยใช้เครืองมือการสำรวจด้วยข้อคำถามคุณธรรม 6 ด้าน

ผลการสำรวจชี้ให้เห็นว่า คุณธรรมที่ประชาชนมีการปฏิบัติมากที่สุด คือ “การตอบแทนผู้มีพระคุณ” อยู่ที่ร้อยละ 93.29 แสดงถึงคนไทยยังมีความกตัญญู เคารพต่อบุพการีและผู้อุปการะ รองลงมาคือ “การช่วยเหลือผู้อื่น” ร้อยละ 93.13 ซึ่งสะท้อนถึงความมีน้ำใจและจิตสาธารณะของคนไทย ขณะที่ “ความมีวินัย” อยู่ที่ร้อยละ 92.59 และ “ความซื่อสัตย์สุจริต” ร้อยละ 92.44 ตามลำดับ ส่วนคุณธรรมที่พบว่ามีแนวโน้มลดลงเมื่อเปรียบเทียบกับปีที่ผ่านมา คือ “การให้อภัย” พบว่ามีอัตราการปฏิบัติอยู่ที่ร้อยละ 91.24 เช่นเดียวกับ “ความพอเพียง” ร้อยละ 89.66 ซึ่งทั้งสองด้านนี้แม้ว่าจะอยู่ในระดับที่ดีแต่ยังคงมีการปฏิบัติน้อยกว่าด้านอื่น ๆ และต้องได้รับการส่งเสริมอย่างต่อเนื่องเพื่อยกระดับให้สูงขึ้นเพื่อให้เกิดความเข้าใจและการอยู่ร่วมกันในสังคมที่มีความหลากหลาย ขณะเดียวกันหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงยังเป็นแนวทางสำคัญในการดำเนินชีวิตที่จะช่วยให้เรารู้สึกเพียงพอและมีความสุข ให้ตระหนักและเห็นคุณค่าของการทำความดีต่อตนเองและสังคมมากขึ้น ทั้งนี้ จะได้รายงานผลการสำรวจต่อคณะกรรมการส่งเสริมคุณธรรมแห่งชาติ เพื่อกำหนดแนวทางและนโยบายในการส่งเสริมคุณธรรมแห่งชาติต่อไป

รมว.วธ. กล่าวต่ออีกว่า ในปี 2568 กรมการศาสนามีแผนที่จะบูรณาการการทำงานร่วมกับเครือข่ายทุกภาคส่วนทั่วประเทศ ขับเคลื่อนโครงการต่าง ๆ ภายใต้แผนปฏิบัติการด้านการส่งเสริมคุณธรรมแห่งชาติ ระยะที่ 2
(พ.ศ. 2566 – 2570) โดยส่งเสริมกิจกรรมที่มุ่งเน้นให้เกิดการปฏิบัติจริงในชีวิตประจำวัน พร้อมกับสร้างเครือข่ายการเรียนรู้ทั้งในชุมชนและองค์กร เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมอย่างเป็นรูปธรรม นอกจากนี้ ยังเล็งเห็นถึงความสำคัญของการใช้สื่อดิจิทัลเป็นเครื่องมือในการส่งเสริมคุณธรรม โดยมีแผนที่จะร่วมมือกับอินฟลูเอนเซอร์ และสื่อออนไลน์ต่าง ๆ มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับคุณธรรม นำเสนอตัวอย่างที่ดี ทำคอนเทนต์ที่สร้างสรรค์และเหมาะสมกับทุกช่วงวัย โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ให้เข้าใจและเห็นความสำคัญของการปฏิบัติตนตามหลักคุณธรรม พอเพียง วินัย สุจริต จิตอาสา และกตัญญูอย่างลึกซึ้ง จนเกิดการนำไปปฏิบัติจริงในชีวิตประจำวัน

ทั้งนี้ กรมการศาสนาและภาคีเครือข่ายยังคงเดินหน้าผลักดันให้คนไทยมีพฤติกรรมที่สะท้อนคุณธรรม “พอเพียง วินัย สุจริต จิตอาสา กตัญญู” เพื่อยกระดับคุณธรรมในสังคมไทยไปสู่เป้าหมายของแผนปฏิบัติการด้านการส่งเสริมคุณธรรมแห่งชาติ ระยะที่ 2 (พ.ศ. 2566 – 2570) ต่อไป

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *