สพฐ. จัดกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ “โครงการโรงเรียนสุจริต” ระดับประเทศ

กิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ “โครงการโรงเรียนสุจริต” สพฐ. จัดใหญ่ระดับประเทศ ในรูปแบบออนไซต์ (On Site) และ กิจกรรมในรูปแบบออนไลน์ (Online) 

ว่าที่ร้อยตรีธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) มอบหมายให้ นายภูธร จันทะหงษ์ ปุณยจรัสธำรง ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (ผู้ช่วยเลขาธิการ กพฐ.) เป็นประธานในพิธีเปิดกิจกรรมการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ การนำเสนอผลงาน การประกวดแข่งขันกิจกรรมการเรียนรู้ ภายใต้โครงการเสริมสร้างคุณธรรม จริยธรรมและธรรมาภิบาลในสถานศึกษา และสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (โครงการโรงเรียนสุจริต) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ระดับประเทศและกิจกรรมเนื่องในวันต่อต้านคอร์รัปชันสากล (9 ธันวาคม) ณ โรงแรมเอวาน่า กรุงเทพมหานคร โดยมี นายจักรพงษ์ วงค์อ้าย รองผู้อำนวยการสำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา กล่าวรายงาน และโอกาสนี้ได้รับเกียรติจาก นายทวิชาติ นิลกาญจน์ ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (สำนักงาน ป.ป.ช.) นายอุทิศ บัวศรี อดีตรองเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ นางสมพร สมผดุง ผู้เชี่ยวชาญด้านยุทธศาสตร์ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ นางสวรรยา รัตนราช ผู้อำนวยการสำนักต้านทุจริตศึกษา สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ รวมถึงข้าราชการและบุคลากรของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เข้าร่วมกิจกรรมในพิธี

นายภูธร จันทะหงษ์ ปุณยจรัสธํารง (ผู้ช่วยเลขาธิการ กพฐ.) กล่าวว่า ในสถานการณ์ปัญหาการทุจริตและประพฤติมิชอบ เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคมไทยมาอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น การแก้ไขปัญหาการทุจริต จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องดำเนินการในทุกภาคส่วนของสังคมไทย โดยเฉพาะภาคการศึกษาที่มีบทบาทหน้าที่ในการให้ความรู้และปลูกฝังเด็กและเยาวชนให้เป็นพลเมืองดีของประเทศชาติในอนาคต สพฐ. ในฐานะที่รับผิดชอบการจัดการศึกษาให้กับเด็กและเยาวชนส่วนใหญ่ของประเทศได้บูรณาการความร่วมมือกับ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ได้ตระหนักถึงความสำคัญของการเตรียมการด้านการป้องกันการทุจริตของหน่วยงานในสังกัด จึงได้จัดทำหลักสูตรต้านทุจริตศึกษาสำหรับใช้ในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน และให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำหลักสูตรการทุจริตศึกษาไปปรับใช้ในการจัดการเรียนการสอนในสถานศึกษาโดยมุ่งเน้นการสร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับความหมายและขอบเขตของการกระทำทุจริตในลักษณะต่าง ๆ ทั้งทางตรงและทางอ้อม ความเสียหายที่เกิดจากการทุจริตความสำคัญของการต่อต้านการทุจริต โดยหลักสูตรต่าง ๆ ที่ได้พัฒนาขึ้น จะมีความสอดคล้องกับแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ ประเด็น การต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ ที่กำหนดเป้าหมายหลัก ให้ภาครัฐมีความโปร่งใส ปลอดการทุจริตและประพฤติมิชอบผ่านการพัฒนาคนและการพัฒนาระบบ โดยให้ความสำคัญกับการปรับและหล่อหลอมพฤติกรรม “คน” ทุกกลุ่มในสังคม ให้มีจิตสำนึกและพฤติกรรมยึดมั่นในความซื่อสัตย์สุจริต มุ่งเน้นการปรับพฤติกรรมของเด็กและเยาวชน ผ่านหลักสูตรการศึกษาภาคบังคับ ทั้งทฤษฎีและปฏิบัติรวมถึงขับเคลื่อนกิจกรรมต่าง ๆ ภายใต้โครงการเสริมสร้างคุณธรรม จริยธรรม และธรรมาภิบาลในสถานศึกษาและสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (โครงการโรงเรียนสุจริต)

“สุดท้ายนี้ ขอให้ทุกท่านใช้ประโยชน์จากเวทีแห่งนี้ ในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ถอดบทเรียนไปสู่การขับเคลื่อนโครงการที่มีเป้าหมายใหญ่ร่วมกันในอนาคต คือ การสร้างสังคมที่ไม่ทนต่อการทุจริต ภายใต้สถานการณ์ความท้าทายของสังคมไทยในปัจจุบัน กับการแก้ไขปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันที่เกิดขึ้น” ผู้ช่วยเลขาธิการ กพฐ. กล่าว

สำหรับกิจกรรมฯ ดังกล่าว จัดขึ้นระหว่างวันที่ 7-11 ธันวาคม 2567 ณ โรงแรมเอวาน่า กรุงเทพฯ โดยภายในงานแบ่งเป็นกิจกรรมในรูปแบบออนไซต์ (On Site) และ กิจกรรมในรูปแบบออนไลน์ (Online) รวมถึงมีการจัดแสดงนิทรรศการ อาทิ นิทรรศการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาสุจริต แสดงผลการดำเนินงาน และภาพความสำเร็จของการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาออนไลน์ (ITA Online) นิทรรศการให้คำปรึกษาเพื่อเตรียมรับการประเมิน ITA Online ระดับสถานศึกษาและสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาออนไลน์ (ITA Online Clinic) เป็นต้น

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *