สอน. ลงพื้นที่อุดร กระตุ้นตัดอ้อยสด 100% ลดฝุ่น PM 2.5 ตามแนวทาง รมว. “เอกนัฏ” ดึงโดรน และ AI วิเคราะห์ไร่อ้อย ลดต้นทุน – เพิ่มผลผลิต

“ใบน้อย สุวรรณชาตรี” ลงพื้นที่ จ.อุดรธานี เพื่อหารือร่วมกับสมาคมชาวไร่อ้อยอีสานเหนือ ภาคเอกชน ตามแผนนโยบายปฏิรูปอุตสาหกรรมแก้อุตสาหกรรมเศรษฐกิจใหม่ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5 อย่างยั่งยืน 

นายใบน้อย สุวรรณชาตรี เลขาธิการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) เปิดเผยว่า ตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม (นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์) มอบนโยบาย “ปฏิรูปอุตสาหกรรรม” ในการสร้างอุตสาหกรรมเศรษฐกิจใหม่ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5 อย่างยั่งยืน เพื่อให้สอดรับกับนโยบายดังกล่าว เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2567 ที่ผ่านมา ตนได้ลงพื้นที่จังหวัดอุดรธานีเพื่อหารือร่วมกับคณะผู้บริหารของสมาคมชาวไร่อ้อยอีสานเหนือ สาขาไทยอุดรบ้านผือ บริษัท น้ำตาลไทยอุดรธานี จำกัด และบริษัท โรงงานน้ำตาลทรายขาวเริ่มอุดม จำกัด และขอความร่วมมือสมาคมชาวไร่อ้อยฯ ลดการเผาอ้อยในช่วงเก็บเกี่ยว ตามมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่อ้อยเก็บเกี่ยวอ้อยสดคุณภาพดีเพื่อลดฝุ่น PM 2.5 ที่กระทรวงอุตสาหกรรมได้เสนอของบจากรัฐบาลประมาณ 7,000 ล้านบาท เพื่อสร้างแรงจูงใจให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยเก็บเกี่ยวอ้อยสด 100%

นอกจากนี้ ยังได้ติดตามความก้าวหน้าการนำเทคโนโลยีด้านระบบอากาศยานไร้คนขับ (Drone) เข้ามาใช้ในพื้นที่ปลูกอ้อย 10,000 ไร่ ของบริษัท น้ำตาลเกษตรผล จำกัด จังหวัดอุดรธานี ซึ่งบริษัทฯ ได้ทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOA) กับ สอน. เพื่อให้การแก้ไขปัญหาการลักลอบเผาอ้อยเป็นไปอย่างยั่งยืน จำเป็นต้องมีข้อมูลเชิงพิกัดที่ถูกต้อง ทั้งจุดการเผาเป็นจุดต้นเพลิง และจุดที่เป็นพื้นที่ลามไฟ ซึ่งจะสามารถแก้ไขปัญหาได้ตรงจุดและเป็นธรรมกับทุกภาคส่วน และ สอน. ยังนำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์เข้ามาติดตามและวิเคราะห์คุณภาพผลผลิตตัน และค่าความหวานของอ้อย เพื่อให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยและโรงงานน้ำตาลสามารถวางแผนการเก็บเกี่ยวในช่วงที่อ้อยมีคุณภาพสูงสุด เพื่อเพิ่มรายได้ให้กับระบบอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย บริษัท น้ำตาลเกษตรผล จำกัด จังหวัดอุดรธานี ถือเป็น 1 ใน 10 โรงงานน้ำตาลนำร่อง ที่มีความเหมาะสมเนื่องจากตำแหน่งที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ปลูกอ้อยที่หนาแน่น มีความพร้อมทั้งด้านวิสัยทัศน์ ด้านบุคลากร และสิ่งสนับสนุนขั้นพื้นฐานต่อการใช้งานระบบ และมีการกระจายตัวของตำแหน่งของโรงงานนำร่องอย่างทั่วถึง ซึ่งความพร้อมต่าง ๆ เหล่านี้จะช่วยให้การดำเนินการมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

“การลงพื้นที่จังหวัดอุดรธานีในครั้งนี้ เพื่อสร้างกลไกให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยได้มีส่วนร่วมในแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5 กับภาครัฐ ลดผลกระทบจากประชาชนและชุมชนใกล้เคียง รวมทั้งได้ติดตามการนำเทคโนโลยีด้านระบบอากาศยานไร้คนขับ (Drone) และเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์เข้ามาใช้ในไร่อ้อย ที่จะช่วยให้เราได้ประโยชน์ในหลายมิติ เช่น การแก้ไขปัญหาลักลอบเผาอ้อย การวางแผนการเก็บเกี่ยวและขนส่งอ้อย การติดตามอ้อยในแปลง ซึ่งนำไปสู่การวางแผนกลยุทธ์ในการป้องปรามการลักลอบเผาอ้อย คาดว่าจะสามารถขยายผลให้เกิดการผลิตอ้อยที่มีคุณภาพและตัดอ้อยสดเข้าสู่โรงงาน ลดฝุ่น PM 2.5 และเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ยกระดับผลผลิตของอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายสู่อุตสาหกรรมเศรษฐกิจใหม่” นายใบน้อยฯ กล่าวทิ้งท้าย

 

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *