ศน. สืบสานการเข้าวัดปฏิบัติธรรมวันธรรมสวนะ “ศรัทธาอิ่มบุญ อุดหนุนชุมชน” เชิญชวนพุทธศาสนิกชนเข้าวัดวันธรรมสวนะ น้อมนำหลักธรรมทางพระพุทธศาสนาในการดำเนินชีวิต

กระทรวงวัฒนธรรม จัดกิจกรรมเข้าวัดสืบสานการเข้าวัดปฏิบัติธรรมวันธรรมสวนะ “ศรัทธาอิ่มบุญ อุดหนุนชุมชน” เพื่อส่งเสริมให้พุทธศาสนิกชนเข้าวัด ทำบุญ ตักบาตร ฟังพระธรรมเทศนาและเจริญจิตภาวนาในวันธรรมสวนะ 

นางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวว่า กรมการศาสนา
กระทรวงวัฒนธรรม ได้จัดกิจกรรมเข้าวัดปฏิบัติธรรมวันธรรมสวนะ “ศรัทธาอิ่มบุญ อุดหนุนชุมชน” เพื่อส่งเสริมให้พุทธศาสนิกชนเข้าวัด ทำบุญ ตักบาตร ฟังพระธรรมเทศนาและเจริญจิตภาวนา ในวันธรรมสวนะหรือวันพระ วันเสาร์ – อาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์ รวมทั้งการนำมิติทางศาสนามาส่งเสริมการท่องเที่ยว การสร้างรายได้ให้กับชุมชนทั้งด้านสินค้าและบริการ เช่น อาหาร การแต่งกาย ของที่ระลึก ที่พักโฮมสเตย์ โรงแรมและเส้นทางท่องเที่ยว อีกทั้งยังมีการเปิดพื้นที่การให้ประชาชนนำสินค้ามาจำหน่าย ก่อให้เกิดการสร้างรายได้อย่างยั่งยืน

ตามนโยบาย Soft Powerของรัฐบาลและกระทรวงวัฒนธรรม กิจกรรมเข้าวัดปฏิบัติธรรมวันธรรมสวนะ “ศรัทธาอิ่มบุญ อุดหนุนชุมชน” ดำเนินงานมาต่อเนื่องทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค โดยในปี พ.ศ. 2567 ที่ผ่านมา มีการจัดกิจกรรมเข้าวัดปฏิบัติธรรมวันธรรมสวนะ ภายใต้ชื่อ “ครอบครัวหิ้วตะกร้า ศรัทธาอิ่มบุญ อุดหนุนชุมชน” ที่ดำเนินการแล้ว จำนวน 10 แห่ง ได้แก่ 1. ตักบาตรพระสงฆ์ทางเรือ วัดบำเพ็ญเหนือ กรุงเทพมหานคร 2. ตักบาตรสะพานบุญ รับอรุณสุโขทัย วัดตระพังทอง จังหวัดสุโขทัย 3. ตักบาตรข้าวเหนียว วัดศรีคุณเมือง จังหวัดเลย 4. ตักบาตรหาบจังหัน วัดหาดสองแคว จังหวัดอุตรดิตถ์ 5. ตักบาตรบนเมก วัดเมธังกราวาส จ.แพร่ 6.ตักบาตรพระขี่ม้า วัดถ้ำป่าอาชาทอง จ.เชียงราย 7. ตักบาตรหมู่บ้านมอญห้วยน้ำใส จ.ราชบุรี 8. ตักบาตรสะพานซูตองเป้ วัดภูสมณาราม จ.แม่ฮ่องสอน 9. ตักบาตรหน้าวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร จ.นครศรีธรรมราช และ 10. ตักบาตรริมโขง วัดมหาธาตุ จ.นครพนม


ซึ่งประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก ก่อให้เกิดกระแสตื่นตัวและการตอบรับของพุทธศาสนิกชนและนักท่องเที่ยวที่มาเยี่ยมเยือนเป็นอย่างดี โดยพาครอบครัวหิ้วตะกร้าเข้าวัดทำบุญ และอุดหนุนผลิตภัณฑ์ชุมชนตามจุดเช็คอินต่างๆ ทำให้เกิดกระแสตื่นตัวในแต่ละจังหวัด ได้มีการดำเนินการขับเคลื่อนมาอย่างต่อเนื่อง
สำหรับในปีนี้ ได้มีการจัดกิจกรรมเปิดตัวโครงการเข้าวัดปฏิบัติธรรมวันธรรมสวนะ “ศรัทธาอิ่มบุญ อุดหนุนชุมชน” ในส่วนกลางร่วมกับวัดตลิ่งชัน สำนักงานเขตตลิ่งชัน กรุงเทพมหานคร ในวันอาทิตย์ที่ 15 ธันวาคม 2567 ณ วัดตลิ่งชัน และตลาดน้ำสองคลองวัดตลิ่งชัน เขตตลิ่งชัน กรุงเทพมหานคร

โดยมีกิจกรรมการตักบาตรพระสงฆ์ริมคลอง การเข้าวัดปฏิบัติธรรม การท่องเที่ยวชุมชน อุดหนุนสินค้าภายในตลาดน้ำสองคลองวัดตลิ่งชัน ชมสาธิตศิลปะภูมิปัญญานวดแผนไทย การแสดงศิลปวัฒนธรรม และการสาธิตผลิตภัณฑ์ชุมชน เพื่อเสริมสร้างศีลธรรม คุณธรรมและจริยธรรม ขับเคลื่อนสังคมไทยให้เป็นสังคมคุณธรรมด้วยการบ่มเพาะปลูกจิตสำนึกให้พุทธศาสนิกชนรักและหวงแหนในศิลปวัฒนธรรมประเพณีอันดีงามของชาติ ยึดมั่นในหลักธรรมทางศาสนา ฟื้นฟูประเพณีเข้าวัดปฏิบัติธรรม ในวันธรรมสวนะกลับคืนสู่สังคมไทย โดยตลาดน้ำสองคลองวัดตลิ่งชันนี้ เกิดจากความเมตตาของพระคุณเจ้าพระมหาธวัช โพธิเสวี เจ้าอาวาสวัดตลิ่งชัน เจ้าคณะแขวงคลองชักพระ กรุงเทพมหานคร โดยมีดำริว่า “อยากให้คนรู้จักวัดตลิ่งชัน” โดยร่วมกับชุมชน “สร้างตลาดน้ำ” เป็นพื้นที่ค้าขายส่วนกลางแลกเปลี่ยนสินค้า

โดยตลาดน้ำสองคลองวัดตลิ่งชัน เปิดทุกวันเสาร์ – อาทิตย์ เวลา 8.00 น. – 15.00 น. ซึ่งจัดให้มีที่นั่งรับประทานอาหารริมฝั่งน้ำ มีกิจกรรมตักบาตรริมคลองวัดตลิ่งชัน เวลา 08.30 น. และมีให้จองบริการล่องเรือท่องเที่ยวทั้งแบบเต็มวันและแบบรายชั่วโมง ซึ่งมีเส้นทางล่องเรือดังนี้ 1. ล่องเรือท่องเที่ยวย่านบางละมาด โดยขึ้นเรือจากท่าเรือตลาดน้ำสองคลองวัดตลิ่งชันเพื่อไปยัง สวนเกษตรบ้านแม่จวบ ต่อด้วยบ้านสองบุตรี บ้านเครื่องหอม และสิ้นสุดเส้นทางย่านบางละมาดที่วัดจำปา 2. ล่องเรือท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ท้องถิ่น ขึ้นเรือจากท่าเรือตลาดน้ำสองคลองวัดตลิ่งชันเพื่อไปยัง ตลาดน้ำคลองลัดมะยมตลาดน้ำวัดสะพาน และสิ้นสุดเส้นทางที่สวนกล้วยไม้ลุงนิยม เพื่อส่งเสริมพื้นที่เศรษฐกิจและทุนตั้งต้นของชุมชน


รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวต่อว่า สำหรับการจัดกิจกรรมเข้าวัดปฏิบัติธรรมวันธรรมสวนะ “ศรัทธาอิ่มบุญ อุดหนุนชุมชน” กรมการศาสนา ดำเนินงานต่อยอดและขยายผลจากปีที่ผ่านมา โดยร่วมกับสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัด จัดทำข้อเสนอโครงการ โดยคัดเลือกสถานที่ที่มีประเพณีโดดเด่น มีวัดอยู่ใกล้ชุมชน มีการให้บริการจัดของตักบาตรให้กับนักท่องเที่ยว การบริการเช่าชุดพื้นถิ่น การจัดพื้นที่แสดงสินค้าสำหรับชุมชน ก่อให้เกิดรายได้แก่ชุมชนและส่งผลให้มีการพัฒนาต้นทุนทางวัฒนธรรมที่มีอยู่ในเมืองหลักและเมืองรอง เพิ่มขึ้นจากเดิมอีก10 แห่ง ได้แก่

1. ตักบาตรสะพานมอญ จังหวัดกาญจนบุรี 2. นุ่งซิ่น นั่งสาด ตักบาตร 9 วัด จังหวัดกาฬสินธุ์
3. ตักบาตรวัดไทยสามัคคี จังหวัดตาก 4. ทำบุญตักบาตร ยลวิถีลาวเวียง จังหวัดนครนายก 5. ชิมหนม ชมหลาด ตักบาตร หลาดลองแล จังหวัดพังงา 6. ตักบาตรทางน้ำ ริมคลองข้าวตอก จังหวัดพิจิตร 7. ตักบาตรพระทางน้ำวัดธาราวดี (บางจาก) จังหวัดนครศรีธรรมราช 8. ปราจีนบุรีรวมใจ ตักบาตร เติมบุญ สร้างกุศลวิถีไทย จังหวัดปราจีนบุรี 9. ถนนบิณฑบาต ตามรอยหลวงปู่มั่น จังหวัดสกลนคร 10. ตักบาตรวัดปานประสิทธาราม จังหวัดสมุทรปราการเพื่อกระตุ้นเตือนให้พุทธศาสนิกชนยึดมั่นในหลักธรรมของพระพุทธศาสนา น้อมนำหลักธรรมทางพระพุทธศาสนามาประยุกต์ใช้ในชีวิต รวมทั้งเป็นการขยายโอกาสให้พุทธศาสนิกชนทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาคได้ทำบุญ ตักบาตร รักษาศีล และเจริญภาวนา นอกเหนือจากวันธรรมสวนะและในโอกาสต่างๆต่อไป

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *