ไทย – เอฟต้า FTA ฉบับที่ 16 ของไทย โอกาสทองการค้าไทยในยุโรป

นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (ผอ.สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กระทรวงพาณิชย์ โดยกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ได้ปิดดีล FTA ไทย – EFTA ได้สำเร็จ ถือเป็น FTA ฉบับแรกที่ไทยทำกับกลุ่มประเทศในยุโรป โดยจะมีการลงนาม FTA ฉบับใหม่นี้ในวันที่ 23 มกราคม 2568 ที่การประชุม World Economic Forum ดาวอส สวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งจะทำให้ไทยมี FTA ทั้งหมด 16 ฉบับ กับ 23 ประเทศ/เขตเศรษฐกิจ

การเจรจาจัดทำความตกลงการค้าเสรี (FTA) กับสมาคมการค้าเสรีแห่งยุโรป (European Free Trade Association: EFTA) ประกอบด้วยสมาชิก 4 ประเทศ ได้แก่ (1) สวิตเซอร์แลนด์ (2) นอร์เวย์ (3) ไอซ์แลนด์ และ (4) ลิกเตนสไตน์ สามารถสรุปการเจรจาได้ 15 เรื่อง* ถือเป็น FTA สมัยใหม่ที่ข้อตกลงมีความครอบคลุม
อย่างรอบด้านนอกเหนือไปจากประเด็นการค้าและการลงทุน โดยเป็นข้อตกลงที่มีมาตรฐานสูง สอดคล้องกับ
การพัฒนาที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาอย่างยั่งยืน เพื่อเป็นแต้มต่อให้ผู้ประกอบการไทยในการประกอบธุรกิจและปูทางสำหรับการเจรจา FTA กับคู่ค้าสำคัญอื่นๆ เช่น สหภาพยุโรป ในอนาคต

ในช่วง 11 เดือนของปี 2567 (มกราคม – พฤศจิกายน) ไทยและ EFTA มีมูลค่าการค้ารวม 11,467.03
ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ร้อยละ 2.05 ของการค้าทั้งหมดของไทยกับโลก) ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของ
ปีก่อนหน้าร้อยละ 24.94 โดยไทยส่งออกไปยัง EFTA 4,121.84 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และนำเข้าจาก EFTA 7,345.20 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สินค้าส่งออกสำคัญ 5 อันดับแรก ได้แก่ (1) อัญมณีและเครื่องประดับ (2) นาฬิกาและส่วนประกอบ (3) เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ (4) อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป และ (5) เครื่องใช้สำหรับเดินทาง และสินค้านำเข้าสำคัญ 5 อันดับแรก ได้แก่ (1) เครื่องเพชรพลอยอัญมณี เงินแท่งและทองคำ (2) นาฬิกาและส่วนประกอบ (3) เนื้อสัตว์สำหรับการบริโภค (4) ผลิตภัณฑ์เวชกรรมและเภสัชกรรม และ (5) ปุ๋ยและยากำจัดศัตรูพืชและสัตว์

ผอ. สนค. กล่าวเพิ่มเติมว่า การเจรจา FTA ถือเป็นหนึ่งในนโยบายสำคัญและเร่งด่วนของ
นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ โดยในปี 2568 นายพิชัยฯ ได้สั่งการให้เร่งรัดการเจรจา FTA อีกหลายฉบับ อาทิ FTA ไทย-สหภาพยุโรป (EU) / ไทย-เกาหลีใต้ / ไทย-ภูฏาน / ไทย – สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE) / อาเซียน – แคนาดา ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อภาคธุรกิจ และการส่งออกของไทย รวมถึงให้เร่งจัดทำความร่วมมือเพื่อนำไปสู่การเจรจา FTA ในอนาคตกับประเทศคู่ค้าศักยภาพ ได้แก่ ไทย-สหราชอาณาจักร / ไทย-ยูเรเซีย (Eurasian Economic Union: EAEU) ซึ่งประกอบด้วย 5 ประเทศ ได้แก่ (1) รัสเซีย (2) เบลารุส (3) คาซัคสถาน 4) อาร์เมเนีย และ (5) คีร์กีซสถาน รวมทั้งเดินหน้ายกระดับ FTA ที่ไทยมีอยู่แล้ว อาทิ ความตกลง FTA ไทย – เปรู / ความตกลงการค้าสินค้าของอาเซียน (ASEAN Trade in Goods Agreement : ATIGA) / FTA อาเซียน-จีน/ FTA อาเซียน-อินเดีย/ FTA อาเซียน-เกาหลีใต้ ให้ความตกลงมีความทันสมัย สอดคล้องกับบริบทในปัจจุบัน ตอบโจทย์การอำนวยความสะดวกทางการค้าของผู้ประกอบการ

ในช่วง 10 เดือนของปี 2567 (มกราคม – ตุลาคม) ไทยมีมูลค่าการค้ากับโลก 507,547 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยการค้ารวมกับประเทศคู่ FTA มีมูลค่า 299,345 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 59 ของมูลค่าการค้าทั้งหมดของไทย การส่งออกไปประเทศคู่ FTA มีมูลค่า 143,635 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 2.1
เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2566 คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 57.4 ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมดของไทย
และการนำเข้าจากประเทศคู่ FTA มีมูลค่า 155,710 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 4.9 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2566 คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 60.6 ของมูลค่าการนำเข้าทั้งหมดของไทย

นอกจากนี้ ในปี 2567 (เดือนมกราคม-ตุลาคม) มีการส่งออกโดยขอใช้สิทธิ FTA มูลค่า 69,707.10 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ร้อยละ 1.11 และคิดเป็นสัดส่วนการขอใช้สิทธิฯ
ร้อยละ 84.57 ของการส่งออกสินค้าที่ได้รับสิทธิฯ ทั้งหมด

ผอ. สนค. กล่าวทิ้งท้ายว่าการเจรจาจัดทำ FTA จะช่วยเพิ่มพันธมิตรทางการค้าใหม่ๆ ลดอุปสรรค
ทางการค้า สร้างความเชื่อมั่นและดึงดูดการค้าการลงทุนจากต่างชาติ ยกระดับมาตรฐาน สร้างความได้เปรียบ
และเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการไทยในการส่งออก เพิ่มบทบาทของไทยในห่วงโซ่อุปทานโลก และสนับสนุนให้ไทยเป็นฐานการผลิตสำคัญของภูมิภาค รวมถึงกระชับความสัมพันธ์และสร้าง
ความร่วมมือที่เป็นประโยชน์ร่วมกัน

 

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *