ปัญหาโศกนาฏกรรมระบบยุติธรรมไทยซ้ำเติมปัญหาความเหลื่อมล้ำและวิกฤติเศรษฐกิจ รวมทั้งการนำมาสู่ โศกนาฏกรรมของสาธารณสมบัติ
ผศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ อดีตกรรมการศูนย์พัฒนาพลังแผ่นดินเชิงคุณธรรม (ศูนย์คุณธรรม) สำนักนายกรัฐมนตรี และ อดีตคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ ม. รังสิต เปิดเผยว่า กรณีขับรถชนตำรวจเสียชีวิตและไม่มีการส่งฟ้องคดีก็ดี กรณีบอส อยู่วิทยา พยานสำคัญเสียชีวิตกระทันหัน หรือ กรณีอื่นที่เกิดขึ้นและไม่เป็นข่าว ก็ดี กรณีโจ โลว์ ผู้ต้องหาคดีกองทุน 1MDB เข้าออกและอาศัยในไทยในช่วงก่อนหน้านี้ก็ดี หรือ การตัดสินคดีแบบหลายมาตรฐานของศาลยุติธรรมก็ดี การอุ้มฆ่าอุ้มหายก็ดี การฉีกกฎหมายสูงสุดหรือรัฐธรรมนูญด้วยการรัฐประหารก็ดี ล้วนสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาของระบบและกระบวนการยุติธรรมในประเทศไทย รวมทั้งปัญหาระบบนิติรัฐนิติธรรมในประเทศนี้ หากไม่มีการแก้ไขปัญหาและมีการปฏิรูปครั้งใหญ่อย่างแท้จริง ใช้วิธีการซื้อเวลาด้วยการแต่งตั้งคณะกรรมการต่างๆเพียงเพื่อแก้ไขภาพลักษณ์จะยังไม่ใช่การแก้ปัญหาอย่างแท้จริง
ดร.อนุสรณ์ กล่าวว่า ระบบยุติธรรมไทยถูกตั้งคำถามมาอย่างต่อเนื่องถึงความน่าเชื่อถือและความเป็นธรรม กรณีผู้พิพากษายิงตัวตายประท้วงการมีคำสั่งให้ยัดข้อหาผู้บริสุทธิ์ก็ทำให้กระบวนการยุติธรรมตกต่ำมากพออยู่แล้ว เมื่อเจอเข้ากับกรณีบอส อยู่วิทยา ทำให้สังคมไทยและประชาคมโลกเห็นอย่างชัดเจนมากขึ้นว่า ระบบยุติธรรมซื้อได้และถูกแทรกแซงได้โดยผู้มีอำนาจ ผลสะเทือนของสิ่งนี้อาจจะรุนแรงมากกว่าผลกระทบจากโรค Covid-19 และผลเสียหายจะยาวนานกว่าหากไม่รีบแก้ไข ปัญหาโศกนาฏกรรมระบบยุติธรรมไทยซ้ำเติมปัญหาความเหลื่อมล้ำและวิกฤติเศรษฐกิจ สังคมไหนก็ตาม ที่คุณสามารถซื้อหาความยุติธรรมได้ เท่ากับว่า ระบบยุติธรรมเป็นสินค้าส่วนบุคคล (Private Goods) หรือ อาจเป็นสินค้าร่วม (Common-Pool Goods) เฉพาะของคนที่มีอำนาจผูกขาดทางการเมืองและเศรษฐกิจ ไม่ใช่สินค้าสาธารณะ (Public Goods) อีกต่อไป ประชาชนและคนยากจนถูกกีดกันให้ออกไปจากกระบวนการยุติธรรมตั้งแต่ขั้นตำรวจอัยการเช่นนี้แล้ว หากมีผู้พิพากษาในศาลยุติธรรมที่ทรงคุณธรรมและยึดถือความเป็นธรรม มีความเป็นธรรมมากขนาดไหนก็ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ เพราะคดีไม่ถึงศาลยุติธรรม
สังคมไทยต้องรีบแก้ไขเรื่องนี้ร่วมกันอย่างเร่งด่วนที่สุดก่อนที่ปัญหาจะลุกลามนำมาสู่ความรุนแรง และเพิ่มความเสี่ยงสู่การเป็นรัฐล้มเหลวในอนาคต สิ่งที่เราต้องการ คือ สังคมที่สงบสันติและเคารพกฎหมายเพื่อแก้ไขปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจที่รุนแรงอยู่แล้วโดยเฉพาะปัญหาการว่างงานและการเลิกจ้าง ดูได้จากตัวเลขผู้ขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานในระบบประกันสังคมของเดือน มิ.ย. ปีนี้ จำนวน 395,693 คน มีอัตราการขยายตัวสูงถึง 120.42% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว และมีอัตราการขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 19.16 เมื่อเทียบกับเดือน พ.ค. 2563 ที่ผ่านมา คนเกือบสี่แสนคนว่างงานในเดือน มิ.ย. รวมเข้ากับการว่างงานนอกระบบและตัวเลขการว่างงานสะสมมาจะทำให้ยอดรวมของคนว่างงานสูงเป็นประวัติการณ์และตัวเลขยังปรับตัวสูงขึ้นเรื่อยๆ ปัญหาการว่างงานและการถูกเลิกจ้างจำนวนมากซ้ำเติมปัญหาสังคมอยู่แล้ว อย่าได้ทำให้ความไม่มีนิติรัฐเพิ่มความไม่พอใจของผู้คนที่เดือดร้อนทางเศรษฐกิจจะดีที่สุด นอกจากนี้ ปัญหาหนี้นอกระบบจะมีปัญหารุนแรงขึ้นเพราะคนว่างงานและขาดรายได้ โดยมีทั้งรูปแบบวิธีการเอารัดเอาเปรียบทางด้านกฎหมาย
การทำสัญญาเอาเปรียบทางด้านกระบวนการยุติธรรม การฉ้อโกง และการทวงหนี้ที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดี ปัญหาหนี้นอกระบบ เป็นปัญหาความเหลื่อมล้ำด้านเศรษฐกิจ ด้านกฎหมาย การเข้าถึงความเป็นธรรม ด้านสังคมและการศึกษา เป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่ซับซ้อนที่ต้องทำให้ “ลูกหนี้นอกระบบ” ที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมต้องสามารถเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมได้ และ ส่งเสริมให้ ลูกหนี้นอกระบบ เข้าร่วมโครงการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบของรัฐบาล
อาจารย์อนุสรณ์ กล่าวอีกว่า ระบบยุติธรรมที่มีปัญหาจะนำมาสู่ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคมที่มากขึ้น เราต้องยอมรับความจริงว่า คนยากจนและคนที่ไม่มีเส้นสายและลูกหลานของพวกเขาไม่ได้รับความเป็นธรรมและเลือกปฏิบัติอยู่แล้วในระดับหนึ่ง กฎหมายและการบังคับใช้กฎหมายอย่างเป็นธรรมจะมีส่วนช่วยบรรเทาปัญหาความเหลื่อล้ำลงได้บ้าง
คนยากจนจำนวนไม่น้อยเข้าไม่ถึงสวัสดิการพื้นฐานของรัฐบางอยู่แล้วแต่มีแนวโน้มดีขึ้นหลังปี พ.ศ. 2546 เป็นต้นมา โดยนโยบายของรัฐให้ความสำคัญกับความเท่าเทียมทางสังคมและเศรษฐกิจมากขึ้น ความล้มเหลวของกลไกตลาด (Market Failure) ในการทำให้เกิดโศกนาฏกรรมของสาธารณสมบัติ (Tragedy of the Commons) และ ปัญหาการฉกฉวยโอกาสโดยไม่ต้องลงแรงอะไร (Free Rider) ของระบบสวัสดิการพื้นฐานเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจได้รับการแก้ไขด้วยการเพิ่มบทบาทของรัฐผ่านระบบต่างๆ เช่น หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ระบบประกันสังคม ระบบเรียนฟรี 12 ปี ระบบการจัดการสิ่งแวดล้อมและการเข้าถึงทรัพยากร เป็นต้น การจัดการสินค้าสาธารณะและสาธารณสมบัติเหล่านี้โดยภาครัฐบางช่วงเวลาก็มีประสิทธิภาพ บางช่วงก็ไม่มีประสิทธิภาพ แต่ที่สำคัญส่วนใหญ่ไม่เป็นธรรมและไม่เท่าเทียม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา การเข้าถึงระบบการศึกษาที่มีคุณภาพและระบบยุติธรรมอ่อนแอลงอย่างชัดเจน คนจำนวนมากถูกจับติดคุกโดยไม่มีความผิดหรือมีความผิดเพียงเล็กน้อย ในขณะที่ คนมีอำนาจรัฐมีเงินล้วนหนีคดี แต่ที่ร้ายกว่านั้น คือ กระทำความผิดแจ้งชัดแต่กระบวนการยุติธรรมของไทยไม่สามารถแม้นกระทั่งนำบุคคลเหล่านี้เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมหรือสั่งไม่ฟ้องด้วยการสร้างหลักฐานหรือบิดเบือนความจริง รวมทั้ง องค์กรอิสระอย่าง ปปช ไม่ชี้มูล
ดร.อนุสรณ์ ยังกล่าวอีกว่า ระบบยุติธรรม ต้องเป็น สินค้าสาธารณะเช่นเดียวกับ การป้องกันประเทศ และ ความมั่นคงแห่งรัฐ หากทำให้ระบบยุติธรรมเป็นสินค้าส่วนบุคคลที่ซื้อหากันได้ นี่คือจุดเริ่มต้นของรัฐที่ล้มเหลวและระบบตลาดที่ล้มเหลว ซึ่งต้องอาศัยอำนาจรัฐที่ทรงคุณธรรมและดำรงความยุติธรรมเข้ามาแก้ไขกลไกตลาดและรัฐที่ล้มเหลวนี้ ซึ่งที่มาของอำนาจรัฐนี้ต้องมาจากประชาชน ทางออกและจุดเริ่มต้นกระบวนการปฏิรูประบบยุติธรรมและปฏิรูปประเทศนั้นต้องดำเนินการโดยการแก้ไขมาตรา 256 ของรัฐธรรมนูญปี 2560 เปิดทางให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับโดย สสร ที่มาจากประชาชน ตามที่คณะกรรมาธิการศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญเสนอ
ในเบื้องต้น รัฐบาลและหน่วยงานภาครัฐ ต้องทำให้เกิดความเชื่อมั่นต่อกระบวนการยุติธรรม และ ระบบการปกครองโดยกฎหมายเกิดขึ้นจริงในสังคมไทย คือ เป็นประเทศที่มีระบบนิติรัฐนิติธรรม (Rule of Law) อันเข้มแข็ง ไม่เช่นนั้นแล้ว โครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจขนาดใหญ่ที่อาศัยการลงทุนจากต่างชาติจะไม่เป็นไปตามเป้าหมาย นักลงทุนต่างชาติที่เข้ามาก็จะมีแต่ นักลงทุนอีแร้ง ไม่ยึดถือธรรมาภิบาล มาใช้ช่องโหว่ของกฎหมาย และ ความยุติธรรมที่ซื้อหาได้ นักลงทุนเหล่านี้ก็จะแสวงหาผลกำไรสูงสุดโดยไม่มีจริยธรรมและไม่เป็นไปตามกฎหมาย แล้วหนีจากประเทศไทยไปเมื่อวิกฤติหรือไม่มีอะไรให้ตักตวงแล้ว
หากเราทำให้ระบบยุติธรรมมีความน่าเชื่อถือและบังคับใช้กฎหมายได้ นักลงทุนที่ยึดถือความเป็นธรรม ยึดถือหลักการที่เป็นมาตรฐานสากลจะหลั่งไหลเข้ามาลงทุนในประเทศไทย โครงการลงทุนขนาดใหญ่ต่างๆก็จะมีการเปิดเผยและโปร่งใสเพื่อผลประโยชน์ร่วมกันอย่างเป็นธรรมระหว่างนักลงทุนและผลประโยชน์โดยรวมของประเทศ การลงทุนที่มีคุณภาพเหล่านี้ย่อมเป็นประโยชน์ต่อประชาชนและประเทศชาติโดยรวมมากกว่า
นายอนุสรณ์ ธรรมใจ กล่าวทิ้งท้ายว่า กรณีการทุจริตอื้อฉาวระดับโลกกรณีกองทุน 1MDB ของมาเลเซีย ไม่สามารถเกิดขึ้นได้หากขบวนการนี้ผู้กระทำการไม่มีอำนาจรัฐ เป็นขบวนการสมคบคิดกันระหว่างประเทศกับนักลงทุนต่างชาติและสถาบันการเงินบางส่วน เรื่องนี้ต้องเป็น บทเรียนที่ดีของประเทศไทย เพราะประชาชนมาเลเซียผู้เสียภาษีต้องแบกรับภาระไปอีก 20-30 ปีจากหนี้สินของกองทุนแห่งนี้ หากกระบวนการยุติธรรมของมาเลเซียไม่สามารถหาทางออกด้วยการตัดสินอย่างเป็นธรรมแล้วนำเอาผู้กระทำผิดมาลงโทษได้แล้ว มาเลเซียน่าจะถอยหลังไปอีก 20-30 ปีเช่นเดียวกับไทย