วันที่ 4 มีนาคม พ.ศ. 2563 นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน เป็นประธานในพิธีเปิดอาคารหอพัก 12 นักษัตร ศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนนครศรีธรรมราช ตำบลหนองหงส์ อำเภอทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช โดยมีนายสมพงษ์ มากมณี รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช นายร่องกี้ พลเยี่ยม ผู้อำนวยการสถาบันการพัฒนาชุมชน คณะผู้บริหาร พช. ในพื้นที่ใกล้เคียง ให้การต้อนรับ
อาคารหอพัก 12 นักษัตร ศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนนครศรีธรรมราช เป็นอาคาร 2 ชั้น ขนาด 12 ห้องพัก กรมการพัฒนาชุมชน ได้อนุมัติงบลงทุนเพื่อการก่อสร้าง เพื่อให้ศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนนครศรีธรรมราช มีความพร้อมในการรองรับด้านที่พักแก่ผู้มาใช้บริการการฝึกอบรม ประชุม สัมมนาสำหรับข้าราชการ พนักงานของรัฐผู้นำองค์กร ภาคประชาชน และภาคีเครือข่ายการพัฒนาในพื้นที่ 7 จังหวัดภาคใต้ตอนบนประกอบด้วย จังหวัดชุมพร ระนอง สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช กระบี่ พังงาและจังหวัดภูเก็ต และพื้นที่ใกล้เคียง
โอกาสนี้ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน ได้กล่าวกับผู้ร่วมพิธี ว่างานพัฒนาชุมชน เป็นงานที่ครอบคลุมทุกมิติเกี่ยวข้องกับชีวิตคน ทั้งด้านสุขภาพ เศรษฐกิจ การทำมาหากิน จิตใจ ศิลปะวัฒนธรรม ศาสนา และสถาบันต่างๆ เราต้องทำความเข้าใจเนื้องานของกรมฯ ให้ถ่องแท้ก่อนที่จะไปแนะนำชาวบ้าน คำว่า “พัฒนา” คือการทำให้ดีขึ้น ทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชนมีความเป็นอยู่ที่ดี ทำให้คนเข้าสู่สังคมอุดมคติ มีความมั่นคง และยั่งยืน เรื่องใหญ่ที่จะทำให้คนเชื่อก็ต้องเป็นแบบอย่างให้เขาได้ ต้องมีความรู้ก่อน โดยต้องใช้คนให้ถูกกับงาน Put the right man on the right job ดังนั้นเราอยากรู้เรื่องอะไรต้องไปแสวงหา ศึกษาให้ถ่องแท้ก่อนถึงจะมาแนะนำชาวบ้านได้ ยกตัวอย่างเช่น การทำโคกหนองนา ในวันนี้ เราต้องสื่อสารกับชาวบ้านให้ชัดเจน ดังคำขวัญพระราชทาน “พัฒนาคือสร้างสรรค์” ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่ได้พระราชทานไว้ เพื่อให้ประชาชนมีความตื่นตัว ในการนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้เป็นแนวทางหลักในการดำเนินชีวิต เช่น ในระดับครัวเรือน มีการปลูกพืชผักสวนครัวรั้วกินได้ทุกครัวเรือน และในการประกอบอาชีพ ได้นำเอาศาสตร์พระราชา รูปแบบ โคก หนอง นา โมเดล มาบริหารจัดการที่ดินให้สามารถอยู่ได้อย่างยั่งยืน การที่จะทำงานเพื่อชุมชนจะประสบผลสำเร็จนั้น กรมการพัฒนาชุมชนทำคนเดียวสำเร็จไม่ได้แน่นอน ต้องบูรณาการกับภาคส่วนต่าง ๆ เพราะคนของ พช. ไม่ได้รู้ไปทุกเรื่อง ดั่งเพลงมาร์ช พช. ที่ว่า “เอาเรี่ยวแรงงานลงหว่านดิน หากินเป็นสุข เราบุกเราทำไม่ทำไม่ร่ำไร สร้างไว้ยิ่งกว่าเก่า เกิดความสมบูรณ์พูนสุขพลัน เราร่วมกันช่วยปกครอง ท้องถิ่นเราหนักแรงแบ่งเบา เพราะสามัคคี” จะเห็นได้ว่าเราต้องทำงาน บูรณาการร่วมกับฝ่ายปกครอง กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ตลอดจนผู้นำชุมชน และหน่วยงานภาครัฐ และเอกชน ต้องบูรณาการหลอมรวมจิตใจ หลอมรวมทัศนคติ ออกแรงเหมือนงานชักเย่อ มีเป้าหมายเดียวกัน เพื่อเอาชนะปัญหาอุปสรรคต่างๆ ของพี่น้องประชาชน และของประเทศ คน พช. ต้องทำตัวเหมือนรวงข้าวสุกเหลืองอร่าม แม้จะเป็นข้าวที่แข็งแรง ก็ยังโน้มลงหาแผ่นดิน เปรียบเสมือนความอ่อนน้อมถ่อมตน เป็นคนที่เมื่อผู้คนได้สัมผัสก็จะยกย่องให้เกียรติ จะทำให้ได้รับความร่วมมือจากชาวบ้าน ผู้นำชุมชน ตลอดจนภาคีการพัฒนาทั้งภาครัฐ และเอกชนและให้ทำตัวเหมือนนายอินทร์ผู้ปิดทองหลังพระ ร่วมสร้างประโยชน์สุขให้เกิดกับประชาชน อย่างมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ตลอดไป