พล.ต.อ. อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า กรุงเทพมหานครเดินหน้าโครงการพัฒนาระบบบริการเจาะเลือดผู้ป่วยถึงบ้าน นำร่องในกลุ่มผู้ป่วยติดเตียงและจะขยายผลไปยังผู้ป่วยกลุ่มอื่นให้ครอบคลุมทุกโรงพยาบาลในสังกัด กทม.ต่อไป ทั้งนี้ ในพื้นที่กรุงเทพฯ มีประชากรตามทะเบียนราษฎร์ประมาณ 6 ล้านคน แต่มีประชา กรที่ขึ้นทะเบียนตามสิทธิ์หลักประกันสุขภาพและสิทธิ์ต่างๆ รวมแล้วประมาณ 8 ล้านคน จากการสำรวจผู้ป่วยที่อยู่ในความดูแลของสำนักการแพทย์และสำนักอนามัย ซึ่งเป็นผู้ป่วยติดเตียงมีอยู่ประมาณ 6,000 คน และเป็นผู้ป่วยโรคเกี่ยวกับเมตาบอลิก เช่น โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง อยู่จำนวนหนึ่ง อย่างไรก็ดี กลุ่มผู้ป่วยติดเตียงมักไม่สะดวกในการเดินทางมาโรงพยาบาล ญาติหรือผู้ดูแลต้องจ้างเหมารถรับส่งครั้งละไม่ต่ำกว่า 2,000 บาท และผู้ป่วยมีโอกาสขาดนัดในกรณีที่ญาติไม่สะดวกพามาโรงพยาบาล รวมถึงการสูญเสียรายได้จากการลาหยุดทำงานของญาติ เนื่องจากต้องพาผู้ป่วยมาโรงพยาบาล ทำให้ประสบปัญหาภาวะทางสุขภาพและยังมีผลต่อภาพรวมในภาวะทางเศรษฐกิจ ประกอบกับโรงพยาบาลในสังกัดสำนักการแพทย์ กทม. มีผู้ป่วยมาใช้บริการในกลุ่มผู้ป่วยนอกประมาณ 4,000,000 ครั้งต่อปี ซึ่งเป็นจำนวนที่สูง ส่งผลให้เกิดความแออัดในพื้นที่บริการห้องตรวจผู้ป่วยนอก เนื่อง จากมีการรอคอยในหน่วยบริการต่างๆ กรุงเทพมหานครจึงได้จัดโครงการต่างๆ เพื่อลดความแออัด เช่น โครงการการแพทย์ทางไกลหรือโทรเวชกรรม (Telemedicine) โครงการรับยาใกล้บ้าน แต่ยังพบความแออัดจากการรอคอยผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการประมาณ 1 – 3 ชั่วโมง ก่อนพบแพทย์ โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคเรื้อรังในกลุ่มติดเตียงที่มีความจำเป็นต้องใช้เปลนอนในการเคลื่อนย้าย การพักรอคอย ทำมีการใช้พื้นที่ ในการรอตรวจมาก
จากปัญหาดังกล่าว กรุงเทพมหานครจึงมีนโยบายที่จะลดความแออัด และลดระยะเวลารอคอย โดยผู้ป่วยยังได้รับการดูแลด้านสุขภาพตามมาตรฐาน ให้บริการโครงการการเจาะเลือดที่บ้าน (Mobile Lab) เพื่อให้ผู้ป่วยติดเตียงได้รับการเข้าถึงและเท่าเทียม ลดระยะเวลารอคอยของผู้ป่วยและญาติและลดความแออัดของโรงพยาบาล โดยเริ่มนำร่องที่โรงพยาบาลราชพิพัฒน์ จากนั้นจะประเมินผลการให้บริการทั้งขั้นตอนการเจาะเลือด การจัดเก็บ การขนส่ง เพื่อสร้างความมั่นใจให้ประชาชนในการใช้บริการ ก่อนขยายผลในการจัดทำโครงการไปใช้กับโรงพยาบาลในสังกัดสำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานครทุกแห่งต่อไป
สำหรับแผนการดำเนินการจะให้บริการนำร่องในกลุ่มผู้ป่วยติดเตียงที่มีโรคเกี่ยวกับเมตาบอลิกในกลุ่มโรคเบาหวานและโรคความดันโลหิตสูงของโรงพยาบาลราชพิพัฒน์ สำนักการแพทย์ กทม. ตั้งแต่วันที่ 1 ส.ค.– 30 ก.ย. 63 จากนั้นจะขยายผลให้บริการเจาะเลือดที่บ้านของกลุ่มผู้ป่วยติดเตียงที่มีโรคเกี่ยวกับเมตาบอลิกในกลุ่มโรคเบาหวานและโรคความดันโลหิตสูง ในโรงพยาบาลในสังกัด กทม. ทั้ง 8 แห่ง ประกอบด้วย โรงพยาบาลกลาง โรงพยาบาลตากสิน โรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์ โรงพยาบาลหลวงพ่อทวีศักดิ์ ชุตินฺธโร อุทิศ โรงพยาบาลเวชการุณย์รัศมิ์ โรงพยา บาลลาดกระบังกรุงเทพมหานคร โรงพยาบาลราชพิพัฒน์ และโรงพยาบาลสิรินธร ในปี 64
ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยเพิ่มเติมว่า กรุงเทพมหานครได้กำหนดแนวทางและรูปแบบขั้นตอนการให้บริการเจาะเลือดผู้ป่วยถึงบ้าน เพื่อให้การดำเนินการเป็นไปด้วยความรวดเร็วและเหมาะสม ดังนี้ 1.แพทย์เป็นผู้พิจารณาความเหมาะสมผู้ป่วยที่เข้าโครงการเจาะเลือดที่บ้าน 2.โรงพยาบาลประสานผู้ป่วย และ/หรือญาติ/ ผู้ดูแลผู้ป่วย เชิญชวนเข้ารับบริการโครงการเจาะเลือดที่บ้าน 3.ในกรณีที่ผู้ป่วยมีความยินดีเข้าโครงการฯ ญาติผู้ป่วยสามารถติดต่อรับแบบแสดงความยินยอมเข้ารับบริการโครงการฯ พร้อมลงนาม ณ โรงพยาบาล 4.ผู้ป่วยที่เข้าร่วมโครงการเจาะเลือดที่บ้านสามารถเข้ารับการรักษาพยาบาลด้วยระบบโทรเวชกรรม (Telemedicine) ตามความสมัครใจ ในกรณีที่มีความประสงค์เข้าร่วมทั้ง 2 โครงการ ผู้ป่วยและญาติจะต้องลงนามตามแบบแสดงความยินยอมเข้าร่วมโครงการ 5.ดำเนินการเก็บตัวอย่าง โดยนักเทคนิคการแพทย์ที่ได้รับความยินยอมหรือเห็นชอบจากสำนักการแพทย์ นัดหมายรับข้อมูลผู้ป่วย แผนที่บ้านผู้ป่วย พร้อมอุปกรณ์เก็บสิ่งส่งตรวจ โดยโรงพยาบาล (lab) เป็นผู้จัดหาอุปกรณ์เก็บสิ่งส่งตรวจ (tube + label) 6.ผู้ได้รับมอบหมายเป็นผู้โทรประสานนัดหมายกับผู้รับบริการเจาะเลือดที่บ้าน 7.ดำเนินการเจาะเลือดที่บ้าน พร้อมวัดความดันโลหิต ระหว่างเวลา 06.00 – 09.00 น. และนำส่งไปยังห้องปฏิบัติการของโรงพยา บาลภายในเวลา 10.00 น. วันเดียวกัน เพื่อวิเคราะห์ข้อมูลต่อไป ทั้งนี้ ผู้ที่ทำการเจาะเลือด เพื่อเก็บตัวอย่างจากผู้ป่วย จะเป็นผู้ที่ประกอบวิชาชีพเทคนิคการแพทย์ และทำการวิเคราะห์ผลโดยโรงพยาบาล