องค์กรสาธารณสุขกับมือบูรณาการการดำเนินงาน “สิทธิการตายดี” ตามมาตรา 12

สธ.– สช.- สภาการพยาบาลจับมือเดินหน้ามอบนโยบายบูรณาการการดำเนินงาน “สิทธิการตายดี” ตามมาตรา 12 แห่ง พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550 หรือ Living Will และการดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคอง (Palliative Care) แก่ผู้บริหารสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั้ง 77 จังหวัด และเขตสุขภาพทั้ง 12 เขต เตรียมดันเข้าสู่ระบบบริการปฐมภูมิ เข้าถึงชุมชน ครอบคลุมทุกโรค ทุกช่วงวัย ทั่วประเทศ

สังคมไทยเผชิญกับโรคร้ายและโรคอุบัติใหม่เพิ่มขึ้น เมื่อผนวกกับข้อเท็จจริงที่ว่าเรากำลังก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ ซึ่งจะมีสัดส่วนผู้สูงอายุถึงร้อยละ 20 ในอีก 4 ปีข้างหน้า ก็ยิ่งเป็นความท้าทายที่ทุกภาคส่วนจะต้องร่วมกันหาแนวทางรับมือ

นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข

“สิ่งเหล่านี้จะส่งผลต่อภาวะความเจ็บป่วย คุณภาพชีวิต และภาระค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ โดยเฉพาะการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายของชีวิต ในขณะเดียวกัน ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีทางการแพทย์ก็นำมาสู่การรักษาหรือช่วยชีวิตผู้ป่วยให้สามารถมีชีวิตที่ยืนยาวขึ้นทำให้เกิดการรักษาที่ยาวนานยืดเยื้อ ทำให้คาดการณ์สถานการณ์ในอนาคตได้ว่าจะมีผู้ป่วยระยะสุดท้ายมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งในอีกด้านก็เป็นภาระของผู้ที่เกี่ยวข้องจำนวนมาก ระบบบริการสุขภาพจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องปรับตัว” นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าว

ด้วยเหตุนี้ระบบการดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคอง (Palliative care) การวางแผนการรักษาล่วงหน้า (Advance care plan) และหนังสือแสดงเจตนาไม่ประสงค์จะรับบริการสาธารณสุขเพียงเพื่อยืดการตายในระยะท้าย (Living will) ตามมาตรา 12 แห่ง พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550 จึงมีส่วนสำคัญต่อการรับมือความท้าทายดังกล่าว ซึ่งเมื่อวันที่ 14 สิงหาคม ที่ผ่านมา กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) และสภาการพยาบาล จึงจัดให้มีการประชุมทางไกลเพื่อมอบนโยบายการดำเนินงานเกี่ยวกับประเด็นข้างต้นแก่ผู้บริหารสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ทั้ง 77 จังหวัด และเขตสุขภาพทั้ง 12 เขต โดยงานจัดขึ้น ณ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงสาธารณสุข (สธ.)

นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ

นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า มาตรา 12 แห่ง พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550 เป็นสิทธิมนุษยชนสากล และเป็นเครื่องมือสำคัญในการสื่อสารสร้างความเข้าใจระหว่างผู้ให้บริการ ผู้ป่วยและญาติ ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตในวาระสุดท้ายของผู้ป่วย การผลักดันเรื่องนี้ สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.)

ได้ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ องค์กรวิชาชีพด้านสุขภาพ เช่น สภาการพยาบาล และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการพัฒนาระบบบริการ Palliative care และ Living will ทั้งในเรื่องโครงสร้างและกลไกการขับเคลื่อน การจัดบริการสุขภาพ การพัฒนาชุดสิทธิประโยชน์ การสื่อสารสังคม และการพัฒนาองค์ความรู้ “ที่ผ่านมา สช. ได้ทำหน้าที่สานพลังองค์กรภาคส่วนต่างๆ ทั้งภาคส่วนนโยบาย ภาคส่วนวิชาการ ภาคประชาสังคม รวมถึงเตรียมดำเนินการขับเคลื่อนประเด็นนี้ผ่านกลไกและเครือข่ายภาคประชาสังคม ทั้งสมัชชาสุขภาพจังหวัดทั่วประเทศและคณะกรรมการเขตสุขภาพเพื่อประชาชน ในการสนับสนุนการทำงานในระบบบริการสุขภาพตามแผนพัฒนาระบบบริการสุขภาพ (Service plan) สาขาการดูแลแบบประคับประคองของกระทรวงสาธารณสุข” นพ.ประทีป กล่าว

นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์

ด้าน นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ อธิบายเพิ่มเติมว่า ระบบการดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคองไม่ใช่เป็นเรื่องเฉพาะในประเทศไทย แต่เป็นสิ่งที่ทั่วโลกกำลังให้ความสำคัญ ข้อเท็จจริงที่พบคือ ร้อยละ 86 ของผู้ป่วยที่ต้องการการดูแลแบบประคับประคองกลับไม่ได้รับการดูแล ขณะที่ในกลุ่มเด็กตัวเลขดังกล่าวสูงถึงร้อยละ 98

Palliative care จึงไม่ใช่เรื่องเฉพาะผู้สูงอายุหรือเฉพาะโรค แต่ต้องเป็นบริการที่จัดให้แก่ทุกช่วงวัยและทุกโรค และต้องทำให้เรื่องนี้เป็นส่วนหนึ่งของระบบบริการปฐมภูมิ เนื่องจากเป็นหน่วยที่อยู่ใกล้ชุมชนที่สุด ทีมปฐมภูมิต้องลงชุมชน ในโรงพยาบาลก็ต้องมีทีม Palliative care พยาบาลทุกคนต้องผ่าน concept training สร้างการทำงานเป็นทีม และเชื่อมโยงระบบส่งต่อแบบไร้รอยต่อ ซึ่งเป็นนโยบายที่ทางกระทรวงจะผลักดันต่อ อธิบดีกรมการแพทย์กล่าว

สำหรับการดำเนินงานที่ผ่านมา สธ. ได้แจ้งเวียนหนังสือไปยัง สสจ. ทุกจังหวัด เพื่อแจ้งให้ทุกสถานบริการสาธารณสุขดำเนินการตามกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการดำเนินการตามหนังสือแสดงเจตนาไม่ประสงค์จะรับบริการสาธารณสุขที่เป็นไปเพียงเพื่อยืดการตายในวาระสุดท้ายของชีวิตหรือเพื่อยุติการทรมานจากการเจ็บป่วย พ.ศ.2553 รวมถึงมีการแต่งตั้งคณะกรรมการพัฒนาแนวทางการขับเคลื่อนตามมาตรา 12 และอนุกรรมการกำหนดแนวทางการดูแลผู้ป่วยตามมาตรา 12 ของกระทรวงสาธารณสุข โดยมีการจัดทำเอกสารความรู้และแนวทางการปฏิบัติงานของผู้ประกอบวิชาชีพด้านสาธารณสุขและเจ้าหน้าที่ของสถานบริการสาธารณสุข เรื่อง หนังสือแสดงเจตนาไม่ประสงค์จะรับบริการสาธารณสุขที่เป็นไปเพื่อยื้อการตายในวาระสุดท้ายของชีวิต (มาตรา 12 แห่ง พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550) เพื่อใช้เป็นแนวทางในการปฏิบัติแก่ผู้ปฏิบัติงานวิชาชีพด้านสาธารณสุข

นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวเพิ่มเติมว่า ทางกระทรวงสาธารณสุขได้กำหนดให้ระบบบริการดูแลแบบประคับประคอง (Palliative care) เป็นส่วนหนึ่งของแผนพัฒนาระบบบริการสุขภาพ (Service plan) ของกระทรวงสาธารณสุข เพื่อเป็นกรอบและแนวทางในการพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานในการดูแลในช่วงวาระสุดท้าย และในปีงบประมาณ 2563 ทาง สช. ได้ประสานความร่วมมือกับกระทรวงสาธารณสุข กรมการแพทย์ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และภาคส่วนอื่นๆ จัดทำแผนปฏิบัติการพัฒนาศักยภาพกลุ่มบุคลากรสาธารณสุขที่เกี่ยวข้องในด้านการดูแลแบบประคับประคองและสิทธิด้านสุขภาพตามมาตรา 12

ในการประชุม ได้มีผู้แทนจากโรงพยาบาลและ สสจ. ร่วมแลกเปลี่ยนแสดงความคิดเห็น โดยผู้แทนจากโรงพยาบาลกระบี่ เสนอว่า ขณะนี้ประชาชนยังไม่ทราบว่าตนเองมีสิทธิเข้าถึง Palliative care และสิทธิตามมาตรา 12 ซึ่งต้องมีการประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างการตระหนักรู้ให้แก่สังคม พร้อมยกแบบอย่างของสิงคโปร์ที่ให้ประชาชนสามารถทำแผนการรักษาล่วงหน้าได้ 3 รูปแบบคือ ทำโดยที่ยังไม่จำเป็นต้องป่วย เพื่อเป็นหลักประกันว่าเมื่อถึงเวลาจะได้รับการดูแลตามแผน ทำแผนการรักษาล่วงหน้าเฉพาะโรค และทำแผนการรักษาล่วงหน้าในระยะสุดท้ายของชีวิต

ขณะที่ผู้แทนจากโรงพยาบาลพุทธชินราช จังหวัดพิษณุโลก เสนอว่า ควรมีโครงสร้างที่รับผิดชอบระบบการดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคองโดยตรง เพื่อกำหนดแนวทางปฏิบัติ การจัดอัตรากำลัง การสร้างบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญให้เพียงพอกับการเข้ามารับบริการของประชาชน เพื่อให้เกิดความยั่งยืน ซึ่ง นพ.ศุภกิจ ตอบประเด็นนี้ว่าทางกระทรวงฯ กำลังมีแผนดำเนินการเรื่องดังกล่าวอยู่เช่นกัน

“ทิศทางข้างหน้า กระทรวงสาธารณสุขต้องมีการปรับโครงสร้างเพื่อให้สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงอยู่แล้ว โครงสร้างจะล้อตามกันไปเพื่อให้เกิดความยั่งยืน ซึ่งจะมีการลงรายละเอียดในเรื่องนี้ต่อไป” รองปลัด สธ. กล่าวทิ้งท้าย