ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจทันสมัย ชวนคนไทยเปิดมุมมองสตาร์ทอัพวิถีใหม่ (New Normal) เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงแนวความคิดและนำเทคโนโลยีมาใช้ในธุรกิจในยุคดิจิทัล (Digital Transformation) หรือ Touchless ที่เป็นจุดเริ่มต้นของเศรษฐกิจไร้สัมผัส ซึ่งทำให้เกิดการปรับตัวในทุกภาคส่วน มีการสร้างเศรษฐกิจไร้สัมผัส โดยติดต่อทำธุรกิจด้วย “ความไว้วางใจ” ประกอบด้วย 3 ส่วน คือ กฎหมาย การแข่งขันที่เป็นธรรม และวิธีคิดแบบใหม่ (New Mindset) ซึ่งจะกลายเป็นเครื่องมือทางเศรษฐกิจที่ช่วยขับเคลื่อนให้เกิดการเติบโตได้ท่ามกลางวิกฤต โดยการเปิดมุมมองดังกล่าวเกิดขึ้นเร็วๆ นี้ ภายในงาน Startup Thailand x Innovation Thailand Expo 2020 ที่สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA ซอยโยธี ถ.ราชเทวี กรุงเทพฯ
นายปริญญ์ พานิชภักดิ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์และหัวหน้าทีมเศรษฐกิจทันสมัย กล่าวในงานสตาร์ทอัพไทยแลนด์ และ งานอินโนเวชั่น ไทยแลนด์ เอ็กซ์โป 2020 (Startup Thailand x Innovation Thailand Expo 2020) ถึงความพยายามปรับเปลี่ยนองค์กรให้ทันต่อพัฒนาการทางเทคโนโลยีและการเข้าสู่ยุคดิจิทัลที่มีมาอย่างต่อเนื่องแต่ไม่ประสบความสำเร็จมากนัก จนกระทั่งเกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19ที่ทำให้เกิด การเปลี่ยนแปลงแนวความคิดและนำเทคโนโลยีมาใช้ในธุรกิจในยุคดิจิทัล (Digital Transformation) อย่างแท้จริง ซึ่งทำให้เกิดการปรับตัวในทุกภาคส่วน มีการสร้างเศรษฐกิจไร้สัมผัส โดยติดต่อทำธุรกิจด้วย “ความไว้วางใจ” ซึ่งสังคมแห่งความไว้วางใจจะเกิดได้ต้องประกอบด้วย 3 ส่วน คือกฎหมาย การแข่งขันที่เป็นธรรม และวิธีคิดแบบใหม่ (New Mindset)
“Touchless อาจเป็นการผสานกันระหว่างโลกยุคเก่ากับโลกยุคใหม่ จุดแข็งของไทยคือ Thailand 0.4 ไม่ใช่ 4.0 นั่นคืออัตลักษณ์ท้องถิ่นที่โดดเด่น รอยยิ้ม ความโอบอ้อมอารี” กฎหมายมีบทบาททั้งช่วยสนับสนุนและขัดขวางพัฒนาการของธุรกิจ เช่น โครงการอินทนนท์และสกุลเงินดิจิทัลที่ใช้ในการชำระราคาระหว่างสถาบันการเงินด้วยระบบบล็อกเชน ในขณะที่กฎหมายบางอย่างยังเป็นอุปสรรค เช่น ใบอนุญาตการใช้โดรนกลับขัดขวางไม่ให้ธุรกิจใช้งานได้แพร่หลายเท่าที่ควร สร้างอุปสรรคต่อการเกิดสังคมไร้สัมผัส
ด้านการแข่งขันต้องเป็นธรรมและเท่าเทียม รัฐและเอกชนรายใหญ่ควรมีส่วนช่วยสนับสนุนวิสาหกิจเริ่มต้นให้แข่งขันได้ ด้วยการสร้างกลไกสนับสนุนการเปิดเผยข้อมูล การใช้เทคโนโลยีมาจัดเก็บข้อมูลที่เป็นคะแนนเชิงสังคม (Social Credit Score) ซึ่งสำคัญต่อการพิจารณาสินเชื่อ เช่น บุคลิก นิสัย พฤติกรรม (Character) ที่ช่วยให้สตาร์ทอัพทำการปล่อยกู้แบบ P2P ที่กำกับดูแลโดยธนาคารแห่งประเทศไทย เพื่อสร้างความไว้วางใจให้เกิดขึ้นในสังคม
รัฐยังมีบทบาทในการใช้เทคโนโลยีสร้างธรรมาภิบาลในการใช้อินเตอร์เน็ต (Internet Governance) ใช้เทคโนโลยีเพื่อช่วยให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการตัดสินใจและแสดงความคิดเห็นอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อฟื้นความเชื่อมั่น สร้าง “ความไว้เนื้อเชื่อใจ” ของประชาชนที่มีต่อรัฐ การใช้เทคโนโลยีสร้างความไว้ใจในภาคธุรกิจก็จำเป็น เช่น บล็อกเชนจะช่วยสร้างเศรษฐกิจบนพื้นฐานความไว้ใจ ความเชื่อมั่น (Trust Economy) การเปิดเผยข้อมูลยังช่วยสร้างความเชื่อมั่นว่าจะมีการแข่งขันอย่างเป็นธรรม อย่างไรก็ตาม เราต้องคำนึงถึงความปลอดภัยทางไซเบอร์ในยุค Touchless ด้วย
ดังนั้น การปรับมุมมองความคิด (Mindset) จากที่มุ่งเป้าหมายไปที่แค่ตัวเลขหรือผลตอบแทนระยะสั้น ทำให้คนไม่กล้าลงทุนในนวัตกรรม เป็นการมุ่งเป้าที่ตัวชี้วัดเชิงคุณภาพที่ให้ผลบวกแก่สังคม ทำให้เห็นผลตอบแทนในระยะยาวที่สูงขึ้น ความกล้าลงทุนในเทคโนโลยี นวัตกรรม การขวนขวายหาองค์ความรู้พัฒนาการเรียนรู้ตลอดชีวิต การปรับเปลี่ยนลองผิดลองถูกด้วยตัวเอง การแสวงหาไปถึงระดับพาร์ทเนอร์ชิพข้ามชาติ