“ไทยเป็นอันดับ 1 ของโลกในการป้องกันโควิด-19 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ…แต่โควิด-19 ยังต้องอยู่คู่กับโลกอีกนาน ดังนั้น การประชุมครั้งนี้ นอกจากเป็นการสรุปการทำงานที่ผ่านมาแล้ว ยังเป็นการหารือเพื่อหาทางเดินต่อไปข้างหน้า เตรียมการรองรับวิกฤตเศรษฐกิจ หรือแม้แต่การแพร่ระบาดระลอกใหม่”
นพ.สำเริง แหยงกระโทก ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงสาธารณสุข กล่าวตอนหนึ่งในการประชุมผู้บริหารหน่วยงานภาคีด้านปกครอง สาธารณสุขและสังคม ภายใต้แผนงาน “รวมพลังพลเมืองตื่นรู้ ช่วยชาติสู้ภัยโควิด-19” จัดขึ้นที่อาคารสุขภาพแห่งชาติ กระทรวงสาธารณสุข เมื่อวันที่ 3 กันยายน ที่ผ่านมา
แผนงานดังกล่าวเป็นความร่วมมือของ 26 หน่วยงาน โดยมีสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) เป็นผู้ประสานงานหลัก เริ่มดำเนินการกันตั้งแต่ปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา เพื่อรับมือการแพร่ระบาดโควิด-19 โดยใช้พื้นที่ระดับตำบลและหมู่บ้านเป็นตัวตั้งรวมทั้งระดมกำลังสนับสนุนจากภาคีอื่นๆ
นพ.สำเริง กล่าวอีกว่า การตระหนัก การตื่นรู้ของประชาชนที่เกิดขึ้นเป็นสิ่งดี แต่บางกรณีก็เกิดอาการตื่นตระหนกมากเกินไป ดังนั้น สิ่งที่ต้องเตรียมรับมือแทนการตื่นตระหนกคือ การคัดกรองที่เข้มข้น โดยเฉพาะตามด่านชายแดน เพราะขณะนี้ สถานการณ์ในประเทศพม่ากำลังมีการระบาดระลอก 2 ขณะที่ประชาชนตามแนวชายแดนมีการข้ามพรมแดนธรรมชาติกันเป็นปกติ หน่วยสาธารณสุขต้องเตรียมพร้อม
สำหรับการจู่โจมเคสใหม่แล้วควบคุมไม่ให้แพร่กระจาย หากเกิดการแพร่ระบาดก็เตรียมระบบรองรับให้เพียงพอ ที่สำคัญคือ การสนับสนุนความร่วมมือในแนวราบของภาครัฐในพื้นที่และภาคประชาสังคมซึ่งเป็นจุดแข็งที่ทั่วโลกต่างชื่นชมประเทศไทย
นพ.ปรีชา เปรมปรี รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า หากมองในภาพรวม มาตรการทางเศรษฐกิจกำลังจะต้องคลายตัวมากขึ้นเรื่อยๆ และเราอาจต้องเตรียมรับมือกับการระบาดครั้งใหม่ เช่น เร็วๆ นี้น่าจะมีการนำแรงงานจากกัมพูชาเข้ามาในประเทศราว 30,000 คน ซึ่งต้องสร้างพื้นที่กักกันตัว 14 วัน การเตรียมเปิดให้นักท่องเที่ยวที่ประสงค์จะอยู่ระยะยาวเดินทางเข้ามาใน 2 พื้นที่ คือ เกาะสมุยและภูเก็ต การอนุญาตให้ผู้ป่วยต่างประเทศเข้ารับการรักษาในไทย การนำคนไทยในต่างประเทศที่ลงทะเบียนไว้จำนวนหลักหมื่นคนกลับบ้าน ดังนั้น ทั้งพื้นที่กักกันโรคของรัฐ (state quarantine) พื้นที่กักกันโรคระดับท้องถิ่น (local quarantine) จะต้องทำอย่างเข้มข้นและเข้มแข็งมากขึ้น
“จังหวัดมีบทบาทสำคัญ ผู้ว่าฯ เป็นประธานคณะกรรมการโรคติดต่อต้องวางแผนทำพื้นที่กักกันและมีระบบการติดตามด้วย จะทำให้ขยับขยายรองรับคนที่จะเข้ามาได้มากขึ้น เพราะเราต้องค่อยๆ เปิดประเทศเพื่อพยุงเศรษฐกิจ ต่อไปด่านใหญ่ๆ จะสามารถตรวจเชื้อเร่งด่วน (rapid test) ได้ ห้องแล็บก็มีให้บริการครอบคลุมทุกจังหวัดแล้ว มีการเชื่อมโยงระหว่างทีมสอบสวนและทีม อสม.อย่างดีในทุกพื้นที่” รองอธิบดีกรมควบคุมโรคกล่าว
ด้าน นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า ในส่วนของ สช.มีการเตรียมจัดงานสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 13 วันที่ 16 – 17 ธันวาคมนี้ ภายใต้ธีม “พลเมืองตื่นรู้สู้วิกฤตสุขภาพ” ซึ่งจะมีสัปดาห์สุขภาพแห่งชาติในวันที่ 8 – 14 ธันวาคม ที่สำคัญ สช. กำลังร่วมมือกับเครือข่ายในพื้นที่จัดสมัชชาสุขภาพระดับจังหวัดทุกจังหวัด โดยให้ภาคส่วนต่างๆ ในพื้นที่มีโอกาสเจอกัน นำประเด็นของพวกเขามาพูดคุยเพื่อหาข้อตกลงร่วม เชื่อว่า ฉันทมติที่ได้จะช่วยเสริมแผนจังหวัดให้แก้ปัญหาต่างๆ ในพื้นที่ได้ดียิ่งขึ้น
“เท่าที่ฟังในแต่ละจังหวัด ซึ่งมีการจัดเวทีถอดบทเรียนโควิด-19 ไปเมื่อเดือนสิงหาคม หลายพื้นที่คาดการณ์ว่าเดือนกันยายน รัฐจะค่อยๆ เปิดประเทศซึ่งเป็นแนวทางในการฟื้นฟูเศรษฐกิจ เดือนตุลาคมอาจจะมีปัญหาการแพร่ระบาด และมีความเป็นไปได้ที่จะโกลาหลกันในช่วงพฤศจิกายน หากเราเตรียมความพร้อมในการรับมือโดยการมีส่วนร่วม ทั้งพระ หอการค้า ท้องถิ่น และภาคประชาชน ฯลฯ จะได้มีความมั่นใจกับสถานการณ์ข้างหน้า ไม่ว่าจะเป็นการรับมือโควิดระลอกใหม่หรือปัญหาเศรษฐกิจ” นพ.ประทีปกล่าว
สุดท้าย นพ.สำโรง ย้ำว่า การจัดเวทีระดับจังหวัดเพื่อหารือแก้ไขปัญหาในระยะต่อไปนั้น จะช่วยภาครัฐได้มาก โดยใช้ประเด็นแต่ละพื้นที่เป็นตัวตั้ง ผสมกับข้อมูลที่ฝ่ายวิชาการของ สช.ได้จัดทำไว้แล้วบางส่วน เปิดเวทีให้กว้างที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้และให้หน่วยงานภาคีในระดับพื้นที่เข้าไปมีส่วนร่วมพูดคุย มีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธานและมีประธานร่วมจากภาคประชาสังคมด้วย เรียกว่าเป็นเวทีระดมปัญญาเพื่อหาทางออกที่เหมาะสมกับพื้นที่นั้นๆ ร่วมกัน คาดว่าน่าจะสามารถจัดได้ก่อนจะมีการจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติในเดือนธันวาคมปลายปีนี้