คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติไฟเขียวจัดสมัชชาสุขภาพกรุงเทพฯ ครั้งแรก โดยตั้งคณะกรรมการสนับสนุนการจัดและขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพทั้งใน กทม.และทุกจังหวัด หวังให้เกิดเวทีหยิบยกปัญหาและประเด็นการพัฒนาของแต่ละพื้นที่มาระดมข้อคิดเห็นของทุกภาคส่วน สรุปเป็นนโยบายสาธารณะและสานพลังขับเคลื่อนร่วมกันอย่างต่อเนื่อง
วันที่ 28 กันยายน 2563 ที่ห้องประชุมสานใจ ชั้น 6 อาคารสุขภาพแห่งชาติ มีการประชุมคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.) ครั้งที่ 5/2563 โดยมี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานการประชุม ที่ประชุมได้รับทราบความคืบหน้าของงานสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ 13 ที่จะจัดในวันที่ 16 – 17 ธันวาคมปีนี้ ว่ามี 2 ระเบียบวาระสำคัญที่เข้าสู่การพิจารณาของสมาชิกสมัชชากว่า 2,000 คนทั่วประเทศ คือ เรื่อง ความมั่นคงทางอาหารในภาวะวิกฤต และการบริหารจัดการวิกฤตสุขภาพ บทเรียนโควิด-19 และที่ประชุมยังให้ความเห็นชอบประกาศคำนิยามปฏิบัติการของคำที่เกี่ยวข้องกับเรื่องการดูแลแบบประคับประคอง (Palliative Care) รวมถึงเห็นชอบแต่งตั้งคณะกรรมการสนับสนุนการจัดและขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพกรุงเทพมหานครและจังหวัดต่างๆ โดยมี นพ.มงคล ณ สงขลา และผู้ทรงคุณวุฒิภายในจังหวัดเป็นประธานร่วมกับผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครและผู้ว่าราชการของแต่ละจังหวัด โดยหวังให้กรุงเทพมหานครและจังหวัดต่างๆ เป็นเมืองสุขภาวะ หรือ Healthy City ของประเทศ
นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธาน คสช. กล่าวว่า ที่ประชุมวันนี้มีมติสำคัญให้มีการจัดสมัชชาสุขภาพกรุงเทพมหานคร และสมัชชาสุขภาพจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง และได้แต่งตั้งคณะกรรมการสนับสนุนการจัดและขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพกรุงเทพมหานคร (คจ.สก.) มี นพ.มงคล ณ สงขลา อดีต รมว.และปลัดกระทรวงสาธารณสุขเป็นประธานร่วมกับผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และแต่งตั้งคณะกรรมการสนับสนุนการจัดและขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพของแต่ละจังหวัด (คจ.สจ.) มีผู้ว่าราชการจังหวัดและผู้ทรงคุณวุฒิที่เป็นผู้แทนของภาคประชาชนเป็นประธานร่วม เพื่อเป็นเวทีหยิบยกปัญหาและประเด็นการพัฒนาของแต่ละพื้นที่มาระดมข้อคิดเห็นของทุกภาคส่วน สรุปเป็นนโยบายสาธารณะของแต่ละจังหวัดอย่างมีส่วนร่วม แล้วรายงานมติต่อ คสช. เพื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรีหรือประสานหน่วยงาน องค์กรที่เกี่ยวข้องร่วมกันขับเคลื่อนอย่างต่อเนื่องต่อไป
นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ เลขาธิการ คสช. กล่าวว่า สมัชชาสุขภาพเป็นกลไกสร้างกระบวนการพัฒนานโยบายสาธารณะแบบมีส่วนร่วม เป็นประชาธิปไตยทางตรงที่จะเชื่อมโยงพลังทางปัญญา พลังทางสังคม และพลังทางการเมือง ที่สำคัญยังเป็นกระบวนการเรียนรู้ร่วมกันจากการปฏิบัติจริงในพื้นที่ ที่ผ่านมาเรามีการจัดสมัชชาจังหวัดกันอยู่แล้วในพื้นที่ แต่ละจังหวัดเปิดเวทีชวนผู้คนที่เกี่ยวข้องแต่ละประเด็นมาหาทางออกในรูปชวนคิด ชวนคุย ชวนทำ เช่น เรื่องท้องไม่พร้อมในเยาวชน ยาเสพติด เกษตรอินทรีย์ การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ความมั่นคงทางอาหารในภาวะวิกฤต แม้กระทั่งการรับมือกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 แต่ครั้งนี้เรากำลังจะยกระดับให้กระบวนการนี้มีความเข้มแข็งขึ้น มีการสานพลังจากภาคส่วนต่างๆ ในการขับเคลื่อนมติหรือผลสรุปร่วมกันมากขึ้น โดยจะมีการจัดสมัชชาสุขภาพกรุงเทพมหานครขึ้นเป็นครั้งแรกในปลายปีนี้พร้อมๆ กับสมัชชาสุขภาพของแต่ละจังหวัดทั่วประเทศ
เลขาธิการ คสช. กล่าวอีกว่า ที่ประชุมคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติยังได้รับทราบผลการขับเคลื่อนและก้าวต่อไปของแผนรวมพลังพลเมืองตื่นรู้ ช่วยชาติสู้ภัยโควิด-19 ที่เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ต้นปี 2563 โดย สช. ได้ประสานงานกับองค์กรภาคีความร่วมมือ 26 องค์กร สนับสนุนให้ทุกตำบลหรือชุมชนจัดทำข้อตกลงร่วมหรือธรรมนูญประชาชนสู้ภัยโควิด-19 ที่เกิดจากการมีส่วนร่วมของประชาชน โดยมีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและกองทุนหลักประกันสุขภาพให้การสนับสนุน สำหรับก้าวต่อไปของการขับเคลื่อนแผนงานนั้น ทุกองค์กรเห็นร่วมกันว่าจะหนุนให้แต่ละจังหวัดเตรียมการเปิดเวทีสมัชชาสุขภาพประชาชนและสภาองค์กรชุมชนขึ้นในเดือนพฤศจิกายนนี้ เพื่อรับมือกับโควิด-19 ที่อาจเกิดการระบาดระลอกใหม่หลังเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวและแรงงานต่างชาติเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศ โดยยกระดับการขับเคลื่อนเป็น ‘รวมพลังพลเมืองตื่นรู้ สู้วิกฤตสุขภาพและเศรษฐกิจ’ ต่อไป