วิกฤตโควิด-19 ส่งผลให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อนอย่างมาก โดยเฉพาะกลุ่มคนที่มีรายได้น้อย หลายชุมชนทั้งในเขตเมืองและชนบทต่างต้องหาวิธีจัดการเพื่อให้ผ่านพ้นช่วงเวลายากลำบากนี้ให้ได้ เนื่องจากปัญหาปากท้องเป็นเรื่องพื้นฐานสำคัญที่ต้องขับเคลื่อนร่วมกันเพื่อให้เกิดนโยบายสาธารณะที่เหมาะสม
การจัดประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 13 ในวันที่ 16-17 ธันวาคม 2563 ภายใต้แนวคิดหลัก ‘พลังพลเมืองตื่นรู้ สู้วิกฤตสุขภาพ’ จึงมีเรื่อง ‘ความมั่นคงทางอาหารในภาวะวิกฤต’ เป็นหนึ่งในร่างระเบียบวาระในงานดังกล่าว ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.), มูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน (ประเทศไทย) และสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) ได้จัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ (side event) ‘ความมั่นคงทางอาหารในภาวะวิกฤต’ เพื่อให้ภาคีเครือข่ายได้มีส่วนร่วมและให้ข้อเสนอต่อการพัฒนานโยบายสาธารณะในประเด็นดังกล่าว โดยจัดในพื้นที่ของสวนผักคนเมือง มูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน (ประเทศไทย) จังหวัดนนทบุรี เมื่อวันที่ 26 กันยายน 2563 ซึ่งในเวทีดังกล่าวมีตลาดสินค้าเพื่อเป็นพื้นที่เชื่อมโยงและกระจายอาหารจากผู้ผลิตสู่ผู้บริโภคตามแนวทางของวิถีเกษตรกรรมยั่งยืนและสร้างความมั่นคงทางอาหารด้วย
สร้างพลเมืองตื่นรู้ ดันวาระความมั่นคงทางอาหาร
นายเจษฎา มิ่งสมร ประธานอนุกรรมการการมีส่วนร่วมและสร้างการเรียนรู้ของภาคีเครือข่าย กล่าวในเวทีฯ ว่า “การทำเกษตรกรรมยั่งยืนที่ผู้ผลิตและผู้บริโภคเชื่อมถึงกันโดยตรงเป็นเศรษฐกิจที่วางอยู่บนฐานของความเชื่อใจ ช่วยให้ผู้ผลิตลดภาระจากการกู้หนี้ยืมสิน ที่ดินไม่หลุดมือ ลดการใช้สารเคมี ซึ่งจะย้อนกลับมาส่งผลดีต่อสุขภาพของผู้บริโภค และเป็นเศรษฐกิจในมิติใหม่ที่ประเทศไทยควรใช้ในอนาคต”
ด้าน นพ.สมชาย พีรปกรณ์ ประธานอนุกรรมการวิชาการ กล่าวว่า สังคมไทยกำลังเผชิญวิกฤตสุขภาพและการเปลี่ยนแปลงทางสังคมหลายประการ พลเมืองตื่นรู้หรือ active citizen จะเป็นพลังสำคัญต่อการรับมือวิกฤตดังกล่าว “เรื่องใหญ่เรื่องหนึ่งคือปัจจัยสี่ ปัญหาที่เราพบมากที่สุดช่วงโควิดคือ อาหารการกินซึ่งก็คือความมั่นคงทางอาหาร ทำให้คณะกรรมการจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติเห็นว่าควรคุยเรื่องนี้ด้วย เพื่อขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะและการเคลื่อนไหวทางสังคม เป็นการเปิดพื้นที่ให้ทุกฝ่ายมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบาย เมื่อออกเป็นมติสมัชชาฯ แล้ว กระบวนการจะไหลขึ้นไปถึงคณะรัฐมนตรีเพื่อให้พิจารณาสั่งการต่อไป”
ภายในงานมีเครือข่ายต่างๆ มาร่วมเปิดร้านขายอาหารที่ใช้วัตถุดิบจากฐานทรัพยากรชุมชน ผักอินทรีย์ ข้าวอินทรีย์และอื่น ๆ ให้เลือกซื้อหา โดยมีวิธีคิดเบื้องหลังในการทำเกษตรกรรมที่ฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและรักษาความสมดุลของระบบนิเวศ ขณะเดียวกันก็สามารถผลิตอาหารที่มีคุณภาพและพอเพียงตามความจำเป็นพื้นฐานเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของเกษตรกรและผู้บริโภค พึ่งพาตนเองได้ในทางเศรษฐกิจ รวมทั้งเอื้ออำนวยให้เกษตรกรและชุมชนท้องถิ่นสามารถพัฒนาได้อย่างเป็นอิสระ
นอกจากนี้ ยังมีการเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ‘ความมั่นคงทางอาหารในภาวะวิกฤต’ ซึ่งมีตัวแทนจากกลุ่มต่างๆ ที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตโควิดมาร่วมพูดคุย ให้ข้อมูล และให้ข้อเสนอแนะที่ควรนำไปผลักดันเป็นนโยบาย
โควิด-19 กับการขาดแคลนอาหาร
นายมานพ แก้วผกา ผู้ประสานงานกลุ่มโรงงานสมานฉันท์ เล่าถึงความยากลำบากจากสถานการณ์โควิด-19 ว่า เดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา กลุ่มของเขาไม่มีงานตัดเย็บเสื้อผ้า สมาชิกในกลุ่มจะกลับบ้านก็ไม่มีค่ารถ ที่ดินทำกินในต่างจังหวัดก็ไม่มีเหลือแล้ว ส่งผลให้มีปัญหาเรื่องอาหารการกิน ยังดีที่มีการปลูกผักอายุสั้นไว้ ช่วยให้สามารถมีอาหารพอประทังชีวิตไปได้
“มูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืนทำโครงการปันอาหารปันชีวิต รวบรวมผู้คนที่สนับสนุนเงินซื้อผักปลอดสารพิษจากเกษตรกรทั่วประเทศแล้วมาบริจาคให้กับกลุ่มคนที่มีปัญหา ทำให้พวกเราพออยู่ได้ เปิดครัวกลางสองเดือน ทำอาหารปันให้คนในชุมชนสองร้อยห้าสิบคน รวมทั้งให้คนไร้บ้านด้วย” มานพเล่า
ขณะที่ นางสาวพรทิพย์ วงศ์จอม จากครัวชุมชนสวนพลู เล่าว่า ช่วงโควิด-19 ระบาดใหม่ๆ คนในชุมชนที่ทำงานขับแท็กซี่ ขับสามล้อ หรือพนักงานออฟฟิศต่างต้องหยุดงาน แม้ในแง่การป้องกันตัวจากโควิดจะทำได้ดี แต่ผู้คนก็เผชิญความยากลำบากแทบไม่มีกิน เธอและคนในชุมชนจึงใช้วิธีเรี่ยไรเงินคนละ 20-100 บาทเพื่อซื้ออาหารมาแบ่งกัน บวกกับมีผักสวนครัวส่วนกลางช่วยให้ผ่านภาวะบีบคั้นไปได้ “เรามีเงินแค่นี้จะทำยังไงให้ได้อาหารมากกว่าเดิม ก็ไม่ใช่โฟม ไม่ใช้ถุงพลาสติก ใครมีอะไรก็กองรวมกันตรงกลาง ช่วงแรกๆ มีคนเอาถุงยังชีพมาให้ก็รวมกันไว้ตรงกลาง ใช้เตาแก๊สกลาง หมุนเวียนกันมาทำ”
ขณะเดียวกัน ฝ่ายที่ทำตลาดอินทรีย์ ผลิตผลกลับขายดีขึ้น มีพ่อค้าแม่ค้าสนใจเข้าร่วมมากขึ้น นางสาวณัชชญา นามกร เกษตรกรรุ่นใหม่จากสวนผักยอดรักและผู้ร่วมก่อตั้งตลาดกรีนชินตา จังหวัดตรัง เล่าว่า สิ่งที่เธอและผู้คนร่วมกันทำคือ ตลาดชุมชนที่เน้นอาหารปลอดภัย พึ่งพิงตนเองได้จากฐานทรัพยากรในชุมชน นอกจากนี้พวกเธอยังร่วมกับโครงการปันอาหารปันชีวิต บริจาคอาหารไปยังชุมชนต่างๆ ที่ประสบปัญหา
ผลักดัน ‘ความมั่นคงทางอาหาร’ เป็นวาระแห่งชาติ
เรื่องราวข้างต้นแสดงให้เห็นชัดเจนว่า ความมั่นคงทางอาหารมีความสำคัญเพียงใด ทั้งในยามปกติและโดยเฉพาะในช่วงภาวะวิกฤต รศ.ดร.ประพาส ปิ่นตบแต่ง จากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และคณะทำงานวิชาการในประเด็นนี้ เห็นว่า ในแง่รัฐศาสตร์การสร้างนโยบายสาธารณะที่มาจากการมีส่วนร่วมมีความสำคัญยิ่ง โดยเฉพาะเรื่องความมั่นคงทางอาหารเป็นสิ่งที่ควรผลักดันให้รัฐนำไปปฏิบัติ
“ความมั่นคงทางอาหารคือการที่ผู้คนเข้าถึงอาหารอย่างเสมอหน้า ทั้งปริมาณและคุณภาพ และในกระบวนการการผลิตอาหารยังเกี่ยวข้องกับชีวิตผู้คน เกษตรกรรายย่อย การผลิต การกระจาย การมีอาหารอินทรีย์ที่ผลิตโดยบริษัทใหญ่ๆ จะนำไปสู่ความเปราะบางของเกษตรกรรายย่อยและอธิปไตยทางอาหาร ดังนั้น ความมั่นคงทางอาหารต้องนิยามให้กว้าง เพราะเกี่ยวพันกับการพึ่งตนเอง อิสรภาพทางเมล็ดพันธุ์ และอื่นๆ” รศ.ดร.ประพาสกล่าว
รศ.ดร.ประพาส อธิบายเพิ่มเติมว่า วิกฤตนี้ส่งผลกระทบ 2 มิติคือ การได้มาซึ่งอาหารที่มาจากการมีรายได้ที่เพียงพอ เมื่อคนตกงานส่วนนี้จึงหายไปอย่างมีนัยสำคัญ มิติต่อมาคือ ด้านการเพาะปลูก คนที่อยู่ในชนบทหรือเกษตรกรรายย่อยได้รับผลกระทบด้านอาหารไม่มาก แต่คนจนในเมืองวิกฤตหนักกว่ามากเนื่องจากไม่มีหลังพิงเช่นคนชนบท
สำหรับการรวบรวมข้อเสนอจากเครือข่ายต่างๆ รศ.ดร.ประพาส กล่าวว่า งบประมาณ 4 แสนล้านที่รัฐจะนำมาแก้ปัญหานั้น ควรมีการใช้เงินอย่างมียุทธศาสตร์ คิดนอกกรอบราชการ และมองเห็นชีวิตผู้คนที่ประสบวิกฤตและลงไปให้ตรงกลุ่มเป้าหมาย ในระยะสั้นต้องทำให้เกิดการจัดการ การประสานงาน บูรณาการงานของหน่วยงานต่างๆ พร้อมกับการกระจายอำนาจการจัดการไปยังองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ส่วนในระยะยาวคือการขับเคลื่อนให้ความมั่นคงทางอาหารเป็นวาระแห่งชาติ
“ในยามวิกฤตควรมีนโยบายให้ทุกคนเข้าถึงอาหารที่เพียงพอ หนุนเสริมความมั่นคงทางอาหารจากฐานของชุมชน เช่น ตู้เย็นรอบบ้าน ธนาคารอาหารชุมชน ตลาดชุมชน ตลาดทางเลือก สังคมเห็นว่ากลไกเหล่านี้ควรได้รับการหนุนเสริมในระยะยาว” รศ.ดร.ประพาส กล่าว
สอดคล้องกับนายมานพและนางสาวพรทิพย์ที่มีข้อเสนอไปยังรัฐบาลคล้ายคลึงกันว่า ควรทำให้การเข้าถึงแหล่งเงินกู้เพื่อการประกอบอาชีพและการทำโครงการต่างๆ ที่เพิ่มความมั่นคงด้านอาหารของชุมชนเป็นไปอย่างสะดวก ง่าย ไม่ซับซ้อน ไม่ติดอยู่กับแนวทางของราชการ เพื่อเปิดให้ชุมชนสามารถออกแบบการทำงานที่สอดคล้องกับตนเองได้
สิ่งสำคัญที่สุด…คงถึงเวลาแล้วที่ “เราทุกคน” ต้องผันตัวเป็น “พลเมืองตื่นรู้” ร่วมกันสร้าง ‘ความมั่นคงทางอาหาร’ เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของพวกเราทุกคนนั่นเอง