“พัทยา – สช.” ประสานความร่วมมือเตรียมจัด “สมัชชาสุขภาพเมืองพัทยา” หวังจัดทำนโยบายสาธารณะสร้างสมดุลเศรษฐกิจ-สังคม-สุขภาพ พร้อมวางมาตรการรับมือ “เปิดเมืองรับนักท่องเที่ยว”ยุคโควิด-19
ที่ประชุมคณะทำงานประสานงานการจัดตั้งและขับเคลื่อนสมัชชาสุขภาพเมืองพัทยา ครั้งที่ 2/2563 และการประชุมภาคีเครือข่ายสมัชชาสุขภาพเมืองพัทยา เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2563 ซึ่งมีผู้บริหารของสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) และเมืองพัทยา จ.ชลบุรี เข้าร่วม ได้หารือถึงแนวทางการขับเคลื่อน “สมัชชาสุขภาพเมืองพัทยา” ตามประกาศคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.) เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการในการจัดและการสนับสนุนการจัดสมัชชาสุขภาพเฉพาะพื้นที่และสมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็น พ.ศ.2563
นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ เปิดเผยว่า ทิศทางการเดินไปข้างหน้าทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสุขภาพ ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 หลังจากนี้ ต้องไปสู่เป้าหมายที่ทำให้เศรษฐกิจยั่งยืนและผู้คนปลอดภัย โดยพัทยาถือเป็นเมืองใหญ่ที่สำคัญและมีความซับซ้อน นอกจากมาตรการหลักของภาครัฐแล้ว การสร้างมาตรการทางสังคมด้วยกระบวนการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนมาร่วมส่งเสริมนั้น จะทำให้มั่นใจได้ว่าสามารถบรรลุเป้าหมายทั้งสองด้านได้ “ไม่เพียงมาตรการทางสังคมในการรับมือกับโควิดเท่านั้น แต่พัทยาเองก็ยังมีอีกหลายประเด็นที่มีความซับซ้อน เช่น การรักษาสิ่งแวดล้อม ซึ่งปัญหาเหล่านี้ต้องการส่วนร่วมจากทุกภาคมาช่วยกันคิด หาข้อตกลง และหาฉันทามติร่วมกันในบางเรื่อง ให้ทุกภาคส่วนได้เข้ามามีบทบาทของการดำเนินการร่วมกัน โดยมีกระบวนการอย่างการจัดสมัชชาสุขภาพ ตามกฎหมาย พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ”
นพ.ประทีป กล่าวอีกว่า สมัชชาสุขภาพเป็นกระบวนการสร้างนโยบายสาธารณะด้านสุขภาพ ที่ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วม โดยในระดับชาติได้มีการจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติมาแล้ว 12 ครั้ง และยังมีสมัชชาสุขภาพเฉพาะพื้นที่ในแต่ละจังหวัด โดยในส่วนของเมืองใหญ่อย่างกรุงเทพมหานคร (กทม.) กำลังจะมีการจัดขึ้นเป็นครั้งแรก ซึ่งมีวาระทั้งในเรื่องของโควิด และการออกแบบนโยบายเพื่อพัฒนาสุขภาวะในด้านต่างๆ เป็นแนวทางที่จะช่วยเสริมมาตรการของ กทม.
ด้านนายสนธยา คุณปลื้ม นายกเมืองพัทยา จ.ชลบุรี กล่าวว่า ที่ผ่านมาเมืองพัทยาได้ดำเนินงานด้านสุขภาพมาอย่างยาวนาน มีนโยบายที่เป็นต้นแบบด้านสาธารณสุขด้วยแนวคิด “หมอถึงบ้าน พยาบาลถึงเรือน โรงพยาบาลถึงเตียง” ซึ่งมุ่งเน้นการดูแลสุขภาพประชาชนโดยเฉพาะผู้สูงอายุ รวมถึงให้ความสำคัญกับความร่วมไม้ร่วมมือของคนในชุมชน โดยปัจจุบันยังได้ปรับยุทธศาสตร์และแผนการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพัทยา ที่ขยายความครอบคลุมทั้งคนในพื้นที่ไปจนถึงนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาด้วย สำหรับการขับเคลื่อนกระบวนการสมัชชาสุขภาพเมืองพัทยาที่จะเกิดขึ้น สอดคล้องกับรูปแบบการพัฒนาของเมืองพัทยาทั้งด้านเศรษฐกิจ การท่องเที่ยว อุตสาหกรรม และคุณภาพชีวิต สุขภาพ สิ่งแวดล้อม โดยจะเป็นเครื่องมือที่ช่วยดูแลและสร้างความเชื่อมั่นให้กับคนในพื้นที่และคนที่จะเดินทางเข้ามา
ขณะที่ นพ.อัษฎางค์ รวยอาจิณ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า สถานการณ์โควิด-19 ปัจจุบัน ทั่วโลกมีตัวเลขผู้ติดเชื้อสะสมเกือบ 43 ล้านคน และคาดว่าอาจจะถึง 50 ล้านคนในอีกไม่นาน สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือ ประเทศอันดับสองอย่างอินเดียที่มีชายแดนอยู่ติดกับพม่า ซึ่งพม่ามีชายแดนอยู่ติดกับไทย แม้ขณะนี้ไทยจะควบคุมโรคได้ดี มีผู้ติดเชื้อในอันดับ 146 ของโลก แต่เป็นไปไม่ได้เลยที่เราจะภูมิใจในการควบคุมโรคที่ส่งผลกระทบกับปากท้องของประชาชน อย่างไรก็ตาม ที่สุดแล้วจะต้องเกิดการหมุนเวียนให้เกิดการท่องเที่ยว เกิดการใช้จ่าย ด้วยการเปิดรับนักท่องเที่ยวและแรงงาน ด้วยเป้าหมายให้ประชาชนปลอดภัยพร้อมกับเศรษฐกิจที่เดินหน้า ซึ่งสิ่งที่ต้องเตรียมพร้อมคือ Early detection, Early diagnosis, Early treatment & isolation และ Early containment โดยการสร้างสมดุลนี้ต้องยอมรับว่าจะมีเคสเกิดขึ้น แต่สามารถควบคุมได้ ขณะที่กิจการต่างๆ ก็สามารถเดินหน้าต่อไปได้ ด้วยการเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือสถานการณ์อย่างเป็นระบบ
“ขณะนี้ จึงมีการสนับสนุนการเปิดประเทศ เปิดเศรษฐกิจให้กว้างขวางมากขึ้น ด้วยการมี Special Tourist Visa หรือ STV ซึ่งจะทำให้พื้นที่ท่องเที่ยวอย่าง ภูเก็ต พัทยา มีโอกาสหมุนเวียนรายได้จากจำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น แต่ขณะเดียวกันก็ต้องมีการเตรียมพร้อมของพื้นที่เพิ่มมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นความเข้มข้นในการใส่หน้ากาก 100% การสแกนไทยชนะ หรือการเฝ้าระวังและติดตามกลุ่มเสี่ยงที่ต้องมีจำนวนและประสิทธิภาพเพิ่มมาดขึ้น จึงจะทำให้เราสามารถเปิดรับนักท่องเที่ยวได้อย่างปลอดภัย และแม้พบเคสก็ยังเอาอยู่” นพ.อัษฎางค์ กล่าว
นพ.ปรีดา แต้อารักษ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า การประชุมในวันนี้เป็นการวางกระบวนการมีส่วนร่วม ที่จะนำมาตรการจากภาครัฐลงมาให้เกิดการเชื่อมต่อในพื้นที่ โดยในส่วนของพื้นที่เมืองพัทยานั้นมีความเข้มแข็ง จากทั้งภาคประชาสังคมและกระบวนการนโยบายสาธารณะที่มีการทำมาอยู่แล้วเป็นพื้นฐานที่ดี โดยหน่วยงานภาคียุทธศาสตร์ต่างๆ จะเข้ามาช่วยหนุนเสริมให้การจัดสมัชชาสุขภาพ นำไปสู่การขับเคลื่อนจากการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนอย่างแท้จริง