วิศวฯ จุฬาฯ ส่งกองทัพหุ่นยนต์ปิ่นโตช่วยแพทย์และพยาบาล กู้วิกฤติโรคระบาด COVID-19 รอบใหม่ทั่วประเทศ

คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับสมาคมนิสิตเก่า จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บริษัท HG Robotics จำกัด และ บริษัท Obodroid จำกัด จัดส่งหุ่นยนต์ขนส่งในพื้นที่ติดเชื้อ “ปิ่นโต” จำนวนร่วม 200 ตัว และระบบสื่อสารทางไกล “กระจก” กว่า 1,000 ตัว ลงพื้นที่ทั่วประเทศ เพื่อช่วยเหลือบุคลากรทางการแพทย์ของไทยให้พร้อมรับกับการระบาดรอบใหม่ของ COVID-19

ศาสตราจารย์ ดร.สุพจน์ เตชวรสินสกุล คณบดี คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเปิดเผยว่า จากการมอบหุ่นยนต์ขนส่งในพื้นที่ติดเชื้อ “ปิ่นโต” และระบบสื่อสารทางไกล “กระจก” แก่โรงพยาบาลต่าง ๆ ที่ต้องรับหน้าที่ในการดูแลรักษาผู้ป่วยติดเชื้อ COVID-19 ในการระบาดรอบแรกนั้นพบว่าได้รับการประเมินผลจากบุคลากรทางการแพทย์ว่าสามารถลดความเสี่ยงและเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษาและดูแลผู้ป่วยติดเชื้อได้เป็นอย่างดี ซึ่งตรงต่อวิสัยทัศน์และพันธกิจของ วิศวฯ จุฬาฯ ที่มุ่งอุทิศองค์ความรู้ที่มีเพื่อช่วยเหลือภาคสังคมในด้านต่างๆ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในสังคมไทย

“การจัดส่งหุ่นยนต์ “ปิ่นโต” และระบบสื่อสารทางไกล “กระจก” ในครั้งนี้ ถูกส่งมอบให้แก่โรงพยาบาลที่ติดต่อมาในโครงการ CURoboCovid จนครบทั่วประเทศ นอกจากนี้เราได้จัดส่งหุ่นยนต์ปิ่นโต และระบบสื่อสารทางไกล “กระจก” พร้อมรับกับการระบาดรอบใหม่ของ COVID-19 ส่งมอบเพิ่มเติมให้ โรงพยาบาลสนาม จ.สมุทรสาคร, โรงพยาบาลราชบุรี และโรงพยาบาลนครปฐม เพื่อลดความเสี่ยง และเพิ่มประสิทธิภาพด้านการรักษาพยาบาลให้แก่บุคลากรทางการแพทย์ที่ต้องดูแลผู้ป่วย COVID-19 ปัจจุบันเราได้ส่งมอบหุ่นยนต์ “ปิ่นโต”ร่วม 200 ตัวและระบบสื่อสารทางไกล “กระจก” กว่า 1,000 ตัว ไป 140 กว่าโรงพยาบาลทั่วประเทศไทยศาสตราจารย์ ดร.สุพจน์ เตชวรสินสกุล กล่าว

ทั้งนี้ หุ่นยนต์ปิ่นโต​ (Quarantine Delivery Robot) หรือหุ่นยนต์พัฒนาเพื่อการขนส่งและการสื่อสารทางไกลเพื่อช่วยบุคลากรทางการแพทย์ในช่วงสถานการณ์การระบาดของโควิด ได้รับการพัฒนาโดยทีม CU-RoboCovid ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างคณะวิศวฯ จุฬาฯ Mi Workspace, HG Robotics และ Obodroid ได้รับการทดลองจริง​ เก็บข้อมูลจากผู้ใช้งานจริงกว่า​ 10 โรงพยาบาล​ เพื่อให้ตรงตามการใช้งานและความต้องการมากที่สุด ภารกิจหลักงานของหุ้นยนต์ปิ่นโตคือ 1. ขนส่งอาหาร​ ยา​ เวชภัณฑ์แก่คนไข้​ โดยการใช้ระบบขับเคลื่อนหุ่นยนต์บนรถเข็นควบคุมทางไกล​ ทำให้บุคลากรทางการแพทย์เสี่ยงน้อยลง​ ลดจำนวนครั้งที่ต้องเข้าไปอยู่ใกล้ชิดผู้ติดเชื้อ​ และยังสามารถคอยดูแลความเคลื่อนไหวของคนไข้ได้อย่างใกล้ชิด 2. ช่วยในการสื่อสารระยะไกล ด้วยหน้าจอที่ติดอยู่บริเวณ​ รถเข็นควบคุมทางไกล​ ทำให้แพทย์​และพยาบาล​ สามารถดูแลคนไข้ได้ตลอด​ โดยที่ระบบนี้จะช่วยลดทั้งอุปกรณ์การแพทย์ที่ต้องทิ้งทุกครั้งเมื่อเปลี่ยนโซนการตรวจและลดระยะเวลาการเข้าใกล้ชิดผู้ติดเชื้อ ลดความเสี่ยง​ เพิ่มประสิทธิภาพ​ และยังคงดูแลอย่างดี

ส่วนระบบสื่อสารทางไกล “กระจก” (Quarantine Tele-presence System) นั้น เป็นระบบผู้ช่วยบุคลากรทางการแพทย์สู้ภัยโควิด-19 เสมือนกระจกที่แสดงภาพและเสียงบุคคลในการสื่อสารกันคุณหมอและพยาบาลสามารถติดต่อสื่อสารและสังเกตอาการของผู้ป่วยได้ โดยไม่จำเป็นต้องเข้าไปใกล้ผู้ป่วยในหอผู้ป่วย ลดอัตราการเสี่ยงติดเชื้อ จากการต้องเข้าไปในหอผู้ป่วยเป็นระยะเวลานาน ๆ หรือมากเกินไป ลดจำนวนอุปกรณ์การแพทย์บางส่วน ในการเข้าไปให้บริการคนไข้ในแต่ละโซน จะต้องทำการเปลี่ยนชุด PPE และอุปกรณ์อื่นๆ จำนวนมาก ทั้งยังช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน มีเวลาในการดูแลผู้ป่วยมากขึ้นและบ่อยขึ้น ที่สำคัญยังช่วยลดความกังวลของเจ้าหน้าที่และผู้ป่วยลงได้อย่างมาก “ปิ่นโต”และ”กระจก”สามารถทำความสะอาดฆ่าเชื้อได้ ติดตั้งได้เอง ไม่ต้องติดตั้งระบบใดๆเพิ่มเติม เคลื่อนย้ายง่าย ใช้งานได้ง่ายทันที

สามารถชมรายละเอียดกิจกรรมเพิ่มเติมได้ที่  www.facebook.com/ChulaEngineering
https://www.facebook.com/curobocovid/