บ่มเพาะ “นวัตกรรุ่นเยาว์” ชวนส่งไอเดียสร้างสรรค์ พร้อมโอกาสพัฒนา ต่อยอด ใช้จริง!

ดร.ณัฐพันธุ์ ศุภกา รักษาการผู้อำนวยการสำนักวิชาการและนวัตกรรม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า การทำงานของ สสส. ในการสร้างเสริมสุขภาพ เน้นสร้างการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน คิดค้นนวัตกรรมสร้างเสริมสุขภาพที่ช่วยสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม และปรับเปลี่ยนปัจจัยแวดล้อมที่เอื้อให้คนไทยมีสุขภาพดีอย่างยั่งยืน 4 มิติ คือ กาย ใจ ปัญญา สังคม ด้วยความเชื่อมั่นในพลัง และศักยภาพของเยาวชนคนรุ่นใหม่ รวมทั้งเครือข่ายครูที่เป็นกำลังสำคัญในการทำงานสร้างเสริมสุขภาพ สสส. จึงร่วมกับ มูลนิธิวายไอวาย (why i why Foundation) จัดประกวดนวัตกรรมสร้างเสริมสุขภาพขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นครั้งที่ 4 ซึ่งปีนี้ ได้รับการยกระดับขึ้นเป็นรางวัลเกียรติยศจากนายกรัฐมนตรี Prime Minister’s Award for Health Promotion Innovation 2021 ถือเป็นรางวัลระดับชาติ ด้านนวัตกรรมสร้างเสริมสุขภาพ เพื่อยกย่องเชิดชูเกียรติ เยาวชน ครู อาจารย์ และสถาบันการศึกษา ในการร่วมขับเคลื่อนพัฒนานวัตกรสร้างเสริมสุขภาพของสังคมไทยอย่างจริงจังและยั่งยืน และผลักดันให้นวัตกรรมต่างๆ ที่ได้รับการพัฒนาขึ้นจากการประกวดครั้งนี้สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้จริง และเกิดการขยายผลต่อไป

ดร.ณัฐพันธุ์ กล่าวต่อว่า สำหรับโจทย์การประกวด คือ นวัตกรรมสร้างเสริมสุขภาพ ที่ช่วยลดพฤติกรรมเสี่ยง หรือส่งเสริมให้คนมีสุขภาพที่ดีอย่างยั่งยืน และตอบโจทย์ความต้องการของประชาชน 8 ประเด็น ได้แก่ 1.ลด ละ เลิก การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 2.ลด ละ เลิก การสูบบุหรี่ 3.ลดอุบัติเหตุ และสร้างเสริมความปลอดภัยทางถนน 4.เพิ่มการบริโภคผักผลไม้ และอาหารที่ถูกต้องตามหลักโภชนาการ 5.เพิ่มกิจกรรมทางกาย หรือลดพฤติกรรมเนือยนิ่ง 6.สร้างเสริมความเข้าใจสุขภาวะทางเพศ 7.การจัดการปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ และ 8.สร้างเสริมสุขภาพจิต/การจัดการอารมณ์และความเครียด การประกวดครั้งนี้ถือเป็นการเปิดโอกาสให้เยาวชนคนรุ่นใหม่ได้แสดงความคิดสร้างสรรค์ ได้รับการบ่มเพาะทักษะในการประดิษฐ์คิดค้น ต่อยอดนวัตกรรม ผ่านการวิเคราะห์โดยใช้วิทยาศาสตร์ สังคมศาสตร์ และเทคโนโลยี รวมทั้งปลูกฝังแนวคิดด้านการสร้างเสริมสุขภาพในการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ เพื่อนำไปแก้ไขปัญหาสุขภาพในชุมชนและสังคมได้จริง

“จากการประกวด 3 ครั้งที่ผ่านมา เกิดนวัตกรรมสร้างเสริมสุขภาพที่มาจาก “นวัตกรรุ่นใหม่” ซึ่งถูกนำไปพัฒนาต่อยอดเพื่อใช้งานจริง อาทิ ผลงาน “เสาหลักจากยางพารา” เพื่อมาตรฐานความปลอดภัยทางถนน ได้ขยายผลเสาหลักยางพาราในถนนบางสายของจังหวัดสุราษฎร์ธานี โดยการสนับสนุนของผู้ว่าราชการจังหวัด และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมนำไปเป็นนโยบายเปลี่ยนเสาหลักนำทางจากยางพาราทุกหลักทั่วประเทศกว่า 7 แสนต้น เพื่อช่วยลดอุบัติเหตุ ภายในปีงบประมาณ 2565 โดยใช้งบประมาณรวม 1,402 ล้านบาท หรือ “เครื่องสลัดน้ำมันจากการทอด” เพื่อคนรักสุขภาพ มีผู้ประกอบการธุรกิจขนาดเล็ก นำไปใช้ในธุรกิจ เป็นต้น ซึ่งเยาวชนที่เข้าร่วมโครงการล้วนมีศักยภาพและความคิดสร้างสรรค์ ยิ่งได้รับการพัฒนาศักยภาพ ยิ่งค้นพบว่า เยาวชนไทยมีความสามารถอย่างมาก” ดร.ณัฐพันธุ์ กล่าว

สำหรับการประกวดครั้งนี้ แบ่งเป็น 1.ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย 2.ระดับอาชีวศึกษา (ปวช. หรือเทียบเท่า) เปิดรับข้อเสนอโครงการตั้งแต่วันนี้ – 15 กรกฎาคม 2564 ทีมที่ผ่านการคัดเลือกจะได้ร่วมกิจกรรมอบรมเชิงปฏิบัติการ (workshop) เพื่อเรียนรู้แนวคิดการสร้างเสริมสุขภาพ และกระบวนการออกแบบนวัตกรรมที่ช่วยแก้ปัญหาสังคม โดยผู้เชี่ยวชาญจากหน่วยงานระดับประเทศ รวมรางวัลมูลค่ากว่า 200,000 บาท พร้อมโอกาสในการต่อยอดนวัตกรรม ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.thaihealth.or.th/inno หรือ www.facebook.com/pmhealthpromotioninnoaward

vb