พช. จัดประกวด “ผ้าขิดลายนารีรัตนราชกัญญา” คัด 50 ผืนสุดท้าย รอบ Semi Final

พช. สืบสานแนวพระดำริ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา จัดประกวด “ผ้าขิดลายนารีรัตนราชกัญญา” ระดับประเทศ รอบ Semi Final คัด 50 ผืนสุดท้ายสู่รอบตัดสิน

วันที่ 19 ตุลาคม 2565 เวลา 13.00 น. ที่ห้องชมวัง หอประชุมกองทัพเรือ ถ.อรุณอมรินทร์ แขวงวัดอรุณ เขตบางกอกใหญ่ กรุงเทพฯ นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย พร้อมด้วย ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย เป็นประธานในพิธีเปิดโครงการประกวดผ้าลายพระราชทาน “ผ้าขิดลายนารีรัตนราชกัญญา” และงานหัตถกรรม รอบรองชนะเลิศ (Semi Final) ระดับประเทศ โดยมี นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน นางจิณณารัชช์ สัมพันธรัตน์ ประธานชมรมแม่บ้านพัฒนาชุมชน นายวิฑูรย์ นวลนุกูล รองอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน ผู้บริหารกรมการพัฒนาชุมชน ข้าราชการ เจ้าหน้าที่ และสื่อมวลชน เข้าร่วมในงานฯ โดยได้รับเกียรติจากผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้เชี่ยวชาญด้านผ้าไทย ดีไซน์เนอร์ที่มีชื่อเสียงระดับประเทศ ร่วมเป็นคณะกรรมการตัดสิน ได้แก่ นางสาวรติรส จุลชาต นายธนันท์รัฐ ธนเสฏฐการย์ นายธีระพันธ์ วรรณรัตน์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (การออกแบบแฟชั่น) ประจำปี 2562 อาจารย์เผ่าทอง ทองเจือ ดร. ศรินดา จามรมาน นายกุลวิทย์ เลาสุขศรี นิตยสารโว้ก นายศิริชัย ทหรานนท์ แบรนด์ THEATRE นายพลพัฒน์ อัศวะประภา แบรนด์ ASAVA นายภูภวิศ กฤตพลนารา แบรนด์ ISSUE นายวิชระวิชญ์ อัครสันติสุข แบรนด์ WISHARAWISH ผศ.ดร.อนุชา ทีรคานนท์ คณบดีคณะศิลปกรรมศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ ดร.กรกลด คำสุข รองคณบดีฝ่ายนวัตกรรมทางปัญญาและวิจัย วิทยาลัยอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ มศว. ผศ.ดร.รวิเทพ มุสิกะปาน ประธานหลักสูตรแฟชั่น สิ่งทอและเครื่องตกแต่ง วิทยาลัยอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ มศว. และนายนุวัฒน์ พรมจันทึก ช่างต้นแบบสิ่งทอ กรมหม่อนไหม

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า “สิ่งสำคัญที่ทำให้เกิดกิจกรรมอันเป็นที่ภาคภูมิใจของพี่น้องช่างทอผ้า และผู้ประกอบการผ้าไทยทั่วประเทศ ที่ถือเป็น “เป็นความโชคดีของคนไทยทั้งชาติ” เพราะเรามีเจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดินที่ทรงมีพระปรีชาสามารถ พระผู้ทรงระลึกนึกถึงคนไทย คือ “สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา” ที่ทรงมีพระกรุณาธิคุณมอบแนวทางที่ถูกต้อง อันเป็น “โคมแห่งปัญญา” จุดประกายให้พวกเราที่เป็นข้าราชการในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้มีกำลังใจที่จะนำเอาแสงปัญญาที่พระองค์พระราชทานให้ไปพัฒนาคุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชนตามอำนาจหน้าที่อย่างเต็มกำลังความสามารถ และทำงานให้หนักขึ้น เพื่อให้พี่น้องประชาชนได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นอย่างแท้จริง และดีเพิ่มพูนขึ้นเรื่อย ๆ ทั้งการพัฒนาฝีมือในการถักทอ การทำผลิตภัณฑ์ ให้สามารถออกมาจำหน่ายเลี้ยงดูครอบครัว ทั้งเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม เครื่องประดับ หัตถศิลป์หัตถกรรม ซึ่งตลอด 3 ปีที่ผ่านมา ทั้งแวดวงผู้ประกอบการ ผู้บริโภค รวมถึงภาคีเครือข่ายในสังคมไทยต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า “ผ้าลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ” ทำให้ช่างทอผ้ามีรายได้เพิ่มขึ้น เพราะเป็นลวดลายที่สวยงามจริง ๆ และก้าวไกลสู่ตลาดผ้าระดับโลกจริง ๆ โดยสำหรับการสวมใส่ในประเทศนั้นทุกคนยืนยันว่า “ผ้าไทยใส่ให้สนุกจริง ๆ”

“ความโชคดีของคนไทยอีกประการหนึ่งที่สำคัญ คือ ทรงแสดงความกตัญญูกตเวทีต่อสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวงในทุกครั้งที่เสด็จทรงงาน โดยจะตรัสเสมอว่า สมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงตรากตรำพระวรกายเสด็จพระราชดำเนินไปที่อันตรายห่างไกล ด้วยทรงมุ่งมาดปรารถนาให้คนไทยมีคุณภาพชีวิตที่ดี มีความสุข ด้วยการรักษางานหัตถศิลป์ หัตถกรรม วัฒนธรรมความเป็นไทยของบรรพบุรุษ อันเป็นแบบอย่างที่ทำให้สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงมุ่งมั่นที่จะสืบสาน รักษา และต่อยอด พระราชปณิธานของสมเด็จย่าในทุกหมายที่เสด็จ เช่น ที่นราธิวาส ที่บ้านนาหว้า บ้านดอนกอย ที่ลำพูน ที่เชียงใหม่ ซึ่งทุกที่ล้วนแต่มีรอยพระบาทของสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวงยาตราไปสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับพสกนิกรของพระองค์ จึงขอให้พวกเราได้ น้อมนำสิ่งที่มีคุณค่ายิ่งนี้ สนองงานตามแนวพระดำริ เพื่อแสดงกตเวทิตาคุณต่อแผ่นดิน ต่อบรรพบุรุษไทย ช่วยกันทำให้โครงการผ้าไทยใส่ให้สนุกมีความแพร่หลาย คึกคัก เพิ่มพูนมากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ ซึ่งมีนัยสำคัญ คือ จะส่งผลให้พี่น้องในชนบทนับล้านครอบครัว ได้มีโอกาสสร้างรายได้จากน้ำพักน้ำแรงจากภูมิปัญญาของพวกเขา”

“ทุกลมหายใจ ทุกเวลา ทุกนาที สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงระลึกนึกถึงแต่การช่วยเหลือคนไทยให้มีชีวิตที่ดีขึ้น ด้วยทรงวางแผนอย่างเป็นระบบครบทั้ง 365 วัน เพื่อให้พวกเราทุกคนผู้มีวัตรปฏิบัติในการทำหน้าที่ตอบแทนบุญคุณแผ่นดินได้รับใส่เกล้าฯ สนองพระดำริขับเคลื่อนอย่างต่อเนื่อง ซึ่งทรงตอกย้ำถึงเรื่องการตระหนักต่อผลกระทบของภาวะโลกร้อน โดยรณรงค์ให้พี่น้องประชาชนใช้ชีวิตเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ระยะต้น ต้องทำให้คนทุกคนให้ความสำคัญกับร่างกายตนเอง สวมเสื้อผ้าและใช้สิ่งของที่ทำจากสีธรรมชาติ เพื่อไม่เป็นอันตรายต่อร่างกาย เพื่อป้องกันผลกระทบระยะกลาง – ระยะยาว คือ ภาวะโลกร้อนจะทำให้ดินฟ้าอากาศทั่วโลกเกิดวิปริต จากการใช้ชีวิตโดยไม่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม ดังนั้น เราต้องส่งเสริมให้เกิดหารน้อมนำพระดำริในการตระหนักถึง “ความยั่งยืน” ผ่านภูมิปัญญาคนไทย ทั้งการย้อมสีธรรมชาติ ย้อมร้อน ย้อมเย็น ซึ่งเป็นภูมิปัญญาที่กระจัดกระจายในทุกภูมิภาค มารวบรวมเป็นฐานข้อมูลสีธรรมชาติระดับชาติและระดับโลก ทั้งภาคภาษาไทยและภาษาอังกฤษ เพื่อให้คนทั่วโลกได้ร่วมกับคนไทยใช้สีธรรมชาติ อันจะรักษาโลกใบเดียวนี้ร่วมกัน นอกจากนี้ ขอให้น้อมนำพระดำริของพระองค์ท่านไปพัฒนาหมู่บ้านต้นแบบ เช่น “ดอนกอยโมเดล” บ้านดอนกอย อ.พรรณานิคม จ.สกลนคร ที่ถือเป็นตัวอย่างการยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น สร้างรายได้ที่มากขึ้นอย่างดินถล่มฟ้าทลาย จาก 700 บาท/คน/เดือนเป็นหมื่นกว่าบาท/คน/เดือน เพราะผู้คนมีศรัทธาที่จะทำตามที่พระองค์ท่านแนะนำ และต้องช่วยกันแผ่ขยายไปยังกลุ่มเครือข่ายต่าง ๆ ทั่วประเทศ ให้ได้รับการพัฒนาและเจริญก้าวหน้าเฉกเช่นบ้านดอนกอย รวมทั้งส่งเสริมการใช้พื้นที่ของหมู่บ้านที่ว่างเว้นจากการทำนา หรือพื้นที่ที่ยังเหลืออยู่ให้มีความสมบูรณ์ขึ้น ด้วยการปลูกพืชผักสวนครัว เลี้ยงเป็ด ไก่ ปลา ทั้งสำหรับแจกคนในชุมชน และจำหน่ายผู้เดินทางไปศึกษาดูงาน และแปรรูปอาหาร อันจะเป็นการเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจอีกประการหนึ่ง สอดคล้องกับสิ่งที่เป็นหัวใจที่รัฐบาลต้องการทำให้เกิด คือ “หมู่บ้านท่องเที่ยว โอทอปนวัตวิถี” หรือ home stay เพื่อสร้างรายได้ที่มั่นคงและยั่งยืนให้กับประชาชน

สำหรับการประกวดฯ ในวันนี้เป็นการเก็บเกี่ยวความสำเร็จของสิ่งที่พระองค์ท่านพระราชทาน โดยมีเครื่องยืนยัน นั่นคือ งานผ้าและงานหัตถกรรมฝีมือที่มีความเป็นเลิศ โดยมี คณะกรรมการตัดสินซึ่งเป็นจิตอาสาตามพระดำริ เป็นผู้คัดกรองชิ้นงาน ให้เหลือเพียง 50 ชิ้น เข้าสู่รอบชิงชนะเลิศ อันจะเป็นกำลังใจของผู้เข้าประกวดว่า ผลงานได้ผ่านสายพระเนตรของพระองค์ท่าน และเขาเหล่านั้นจะได้มีโอกาสเข้าเฝ้านำเสนอผลงานเบื้องหน้าพระพักตร์ และแม้ว่าผลงานอีกหลายผืนจะไม่ได้ผ่านเข้ารอบสุดท้าย แต่สิ่งหนึ่งที่สำคัญยิ่งที่พวกเราทุกคนต้องภาคภูมิใจ นั่นคือ 1) เงินรายได้ที่เพิ่มขึ้นอันเกิดจากความต้องการ (Demand Side) ผ้าลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ ไปกระตุ้นภาคการผลิต (Supply Side) ให้ช่างทอและผู้ประกอบการผลิตชิ้นงานจำหน่ายมากขึ้น 2) ผู้เข้าแข่งขันที่ทำผิดกติกา คือ ใช้สีเคมีในการทอผ้า มีน้อยลงอย่างเห็นได้ชัด และมีการส่งผืนผ้าที่ทำจากสีธรรมชาติ เพิ่มมากขึ้นอย่างเท่าทวี ทำให้จำนวนชิ้นงานเข้ามาประกวดมีมากขึ้น และพระองค์ท่านยังได้พระราชทานพระกำลังใจว่า “ผลงานทุกชิ้นจะต้องพัฒนาให้มีคุณภาพยิ่งขึ้น และยกระดับขึ้นด้วยความยากของเนื้อหาบนลวดลายผ้าที่มากขึ้น ดังนั้น ในปีต่อ ๆ ไป ผู้ประกอบการและช่างทอผ้าจะสามารถสร้างผลงานที่มีความสลับซับซ้อนได้ด้วยตนเอง เพราะพวกเขาได้ผ่านความเคี่ยวกรำในการสร้างสรรค์ชิ้นงานที่ยากมากมาแล้ว อนาคตงานทุกชิ้นที่เขาทำ ก็จะเป็นงานที่ยาก แต่เขาก็สามารถรังสรรค์ได้ด้วยตนเอง เช่นเดียวกับข้าราชการกระทรวงมหาดไทยทุกคน ที่ต้องนำไปเป็นหลักการทำงานว่า หากเรามีความตั้งใจและผ่านการทำงานที่มี “ความเคี่ยวกรำ” ยากลำบากในทุกเรื่อง จะทำให้เราสบายเมื่อปลายมือ คือ สามารถทำสิ่งที่ยากจนกลายเป็นความปกติในทุกวัน เพราะเราได้ผ่านความยากมาแล้ว และช่วยกันสานต่อแนวพระดำริ ขยายผลไปยังชุมชนอื่น ๆ ทั่วประเทศให้ครบทุกอำเภอ ตำบล หมู่บ้าน ทั้ง 24 ล้านครัวเรือน ช่วยกันต่ออายุลมหายใจผ้าไทยให้มีชีวิตยืนยาว เป็นอมตะคู่กับโลกของเรา เพื่อเราภาคภูมิใจกับความสำเร็จที่เกิดขึ้นแล้ว และกำลังจะเกิดขึ้นอย่างยั่งยืนนาน” นายสุทธิพงษ์ ฯ กล่าว

ด้าน นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน กล่าวเพิ่มเติมว่า “กระทรวงมหาดไทย โดยกรมการพัฒนาชุมชน ได้ดำเนินโครงการประกวดผ้าลายพระราชทาน “ผ้าขิดลายนารีรัตนราชกัญญา” ระดับประเทศ ประกอบด้วย 3 กิจกรรม คือ กิจกรรมที่ 1 ประกวดผ้าลายพระราชทาน “ผ้าขิดลายนารีรัตนราชกัญญา” และงานหัตถกรรม ระดับประเทศกิจกรรมที่ 2 จัดแสดงและจำหน่ายผ้าลายพระราชทานหรืองานหัตถกรรม และกิจกรรมที่ 3 เผยแพร่ประชาสัมพันธ์ผลงานผ้าและงานหัตถกรรมที่ได้รับการคัดเลือก โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อสืบสานพระราชปณิธานสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในเรื่องการอนุรักษ์ภูมิปัญญาท้องถิ่นของไทย เพื่อเผยแพร่พระอัจฉริยภาพของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ด้านการออกแบบเครื่องแต่งกาย สิ่งทอและการอนุรักษ์ผ้าไทย ให้เห็นเป็นที่ประจักษ์ มีเทคโนโลยีสมัยใหม่ ในการพัฒนาต่อยอดสร้างรายได้เพิ่มให้กับชุมชน และคัดเลือกผ้าลายพระราชทาน “ผ้าขิดลายนารีรัตนราชกัญญา” และงานหัตถกรรมผ่านหลักเกณฑ์การประกวดและได้รับการคัดเลือกเพื่อเข้ารับรางวัลพระราชทานฯ และสามารถนำไปเป็นต้นแบบให้แก่ผู้สนใจและบุคคลทั่วไปได้ และเพื่อเผยแพรีประชาสัมพันธ์ผ้าไทยและงานหัตถกรรม แต่ละประเภทให้เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย โครงการประกวดผ้าลายพระราชทาน “ผ้าขิดลายนารีรัตนราชกัญญา” เปิดรับสมัครตั้งแต่วันที่ 2 มิถุนายน – 19 สิงหาคม 2565 ณ สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดและอำเภอ ในพื้นที่ภูมิลำเนาของผู้สมัคร ทั้งนี้ มีผู้สมัครส่งผ้า เข้าประกวด จำนวน 2,946 ผืน และงานหัตถกรรม จำนวน 567 ชิ้น ผลการดำเนินการประกวดผ้าลายพระราชทาน “ผ้าขิดลายนารีรัตนราชกัญญา” ระดับภาค ในพื้นที่ 4 ภูมิภาค มีจำนวนผ้าและงานหัตถกรรมที่ผ่านเข้ารอบการประกวดระดับภาค ประเภทผ้า 567 ผืน ประเภทหัตถกรรม 83 ชิ้น และมีจำนวนผ้าและงานหัตถกรรมที่ผ่านเข้ารอบการประกวด รอบคัดเลือก ประเภทผ้า จำนวน 156 ผืน และงานหัตถกรรม 18 ชิ้น แยกเป็น ภาคใต้ 14 ผืน ประเภทงานหัตถกรรม จำนวน 6 ชิ้น ภาคกลาง 10 ผืน งานหัตถกรรม 9 ชิ้น ภาคเหนือ 25 ผืน งานหัตถกรรม จำนวน 1 ชิ้น และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 107 ผืน งานหัตถกรรม 2 ชิ้น

ทั้งนี้ กรมการพัฒนาชุมชนได้ดำเนินกิจกรรมประกวดผ้าลายพระราชทาน “ผ้าขิดลายนารีรัตนราชกัญญา” และงานหัตถกรรม รอบรองชนะเลิศ (Semi Final) ในวันนี้ โดยคัดเลือกผ้าที่เข้ารอบการประกวดฯ รอบคัดเลือก เมื่อวันที่ 26 กันยายน 2565 ณ ห้อง Meeting Room 1-2 ชั้น 7 ศูนย์การค้าไอคอนสยาม กรุงเทพมหานคร ทั้งสิ้น จำนวน 156 ผืน และงานหัตถกรรม จำนวน 18 ชิ้น เข้าสู่รอบชิงชนะเลิศ อันจะเป็นกำลังใจของผู้เข้าประกวดว่า ผลงานได้ผ่านสายพระเนตรของพระองค์ท่าน และเขาเหล่านั้นจะได้มีโอกาสเข้าเฝ้านำเสนอผลงานเบื้องหน้าพระพักตร์ ในรอบตัดสินระดับประเทศ (Final) โดยสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา เสด็จเป็นองค์ประธานคณะกรรมการตัดสิน การประกวด ในวันที่ 31 ตุลาคม 2565 ณ ห้องเจ้าพระยา หอประชุมกองทัพเรือถนนอรุณอมรินทร์ แขวงวัดอรุณ เขตบางกอกใหญ่ กรุงเทพฯ ต่อไป” อธิบดี พช. กล่าวทิ้งท้าย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *