ซีพี ออลล์ ผู้บริหารเซเว่น อีเลฟเว่น และเซเว่น เดลิเวอรี่ เดินหน้าส่งเสริมการเขียน – การอ่านอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดจัดเสวนาพิเศษเซเว่นบุ๊คอวอร์ด หัวข้อ “คืนปีเสือ” สู่ “นักล่าวาฬ” จากงานเขียนสู่งานวาด จเด็จ กำจรเดช นักเขียน 2 รางวัลชนะเลิศหนังสือดีเด่นเซเว่นบุ๊คอวอร์ด 2 รางวัลซีไรต์ และศิลปินศิลปาธร สาขาวรรณศิลป์ ฯลฯ เพื่อแบ่งปันประสบการณ์และสร้างแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ผลงานให้นักเขียนรุ่นใหม่ ณ เวทีกลาง งานมหกรรมหนังสือระดับชาติ ครั้งที่ 27 ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ที่ผ่านมา
นายประสิทธิ์ ฉกาจธรรม รองกรรมการผู้จัดการ สายงานพัฒนาความยั่งยืน บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ผู้บริหารเซเว่น อีเลฟเว่น และเซเว่น เดลิเวอรี่ และเลขานุการคณะกรรมการกิตติมศักดิ์โครงการประกวดหนังสือดีเด่นรางวัลเซเว่นบุ๊คอวอร์ด กล่าวว่า “ปัจจุบันโครงการเซเว่นบุ๊คอวอร์ดเป็นส่วนหนึ่งของสังคมในการยกย่องเชิดชูนักเขียนที่ประสบความสำเร็จ ผลิตผลงานที่สร้างชื่อเสียงและได้รับความนิยมทั้งในโลกออฟไลน์ และออนไลน์ ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของซีพี ออลล์ ที่มุ่งส่งเสริมการเขียน การอ่าน การเรียนรู้ให้กับสังคมและหวังว่าโครงการเซเว่นบุ๊คอวอร์ดจะช่วยสร้างนักเขียนรุ่นใหม่และผู้สนใจที่จะเป็นนักเขียน เพื่อเป็นแรงบันดาลใจในการเป็นนักเขียนที่มีคุณภาพในอนาคตต่อไป”
“WHALE HUNTERS (นักล่าวาฬ)” ที่เพิ่งได้รับการตัดสินให้รับรางวัลชนะเลิศประเภทการ์ตูน รางวัลเซเว่นบุ๊คอวอร์ดครั้งที่ 19 เป็นหนังสือการ์ตูนในรูปแบบ Graphic Novel ถ่ายทอดผ่าน 4 เรื่องเล่าจากท้องทะเลที่เคยปรากฏในรูปแบบของเรื่องสั้น กวี และบทเพลงจากผลงานของผู้เขียน เป็นภาพวาดลายเส้นเนื้อหาเปรียบเทียบเชิงปรัชญาชีวิตในการต่อสู้ทางความคิดของตนเอง ผ่านเรื่องราวของนักล่าวาฬจากเรื่อง Light House และเรื่อง Float ที่ถ่ายทอดเรื่องราวของแพที่อยากเป็นอิสระ กับชายเฝ้าประภาคาร ส่วนเรื่อง KIMARZ เป็นเรื่องส่งเสริมการเข้าใจตนเอง สังคม ครอบครัว การต่อสู้ชีวิต การต่อสู้กับการยึดติดในตัวตน และความอยู่รอดของสังคม เผ่าพันธุ์
จเด็จ เล่าถึงที่มาของหนังสือนักล่าวาฬ ซึ่งมาจากประโยคหนึ่งที่ว่า “คุณยังไม่ตายใช่ไหม” และยังเป็นคีย์เวิร์ดสำคัญของทุกเรื่องในหนังสือเล่มนี้ว่า มันคือบทกวีที่ตนแต่งขึ้นเพื่อให้กำลังใจเพื่อนและยังเป็นบทกวีที่ช่วยปลุกความคิดเตือนสติตัวเองในวันที่รู้สึกอ่อนแอ ถือเป็นบทกวีที่มีความหมายสำหรับตนเองจึงเลือกมาใช้ในหนังสือเล่มนี้ และช่วงแรกเวลาลงชื่อในหนังสือจะเขียนข้อความว่า “คุณยังไม่ตายใช่ไหม” และภายหลังเปลี่ยนมาเขียน “หวังว่าคุณสบายดี” เพื่อให้เข้าใจง่ายและมีความหมายในทางดี แต่จะมีบางคนที่รักและสนิทมาก ๆ ที่ตั้งใจจะส่งหนังสือให้ก็จะยังคงเขียนว่า “คุณยังไม่ตายใช่ไหม” แบบเดิม
จเด็จ ยังบอกอีกว่า แต่ละเรื่องจะมีรูปแบบที่มาในการสร้างสรรค์ที่ต่างกัน โดยเริ่มจากการที่รู้สึกเบื่อ ๆ ในช่วงโควิดอยากวาดภาพออกกำลังมือก็เลยคิดจะวาดนิยายภาพ เมื่อครั้งที่ยังเป็นวัยรุ่นชอบวาดภาพ แต่เพราะว่าห่างหายไปนาน เลยต้องหาวิธีปรับตัวอยู่พอสมควรจึงจะวาดได้คล่องมือมากขึ้น แล้วก็มาคิดว่าเราควรวาดจากสิ่งที่เราชอบก่อน เราชอบวาฬ พอนึกถึงวาฬบทกวีนักล่าวาฬก็ผุดขึ้นมา แต่พอคิดว่าจะทำออกมาเป็นเล่มก็ควรที่จะต้องมีหลายเรื่องก็มาหาว่าจะใช้เรื่องไหนอีก อีกอย่างที่ผมชอบก็คือประภาคารแล้วบังเอิญว่ามีเพลงที่ผมกับน้องร่วมกันแต่งชื่อ “เพลงประภาคาร” จึงหยิบเพลงนี้มาเขียนเป็นลักษณะเหมือนวิดีโอเพลงคือให้ตัวหนังสือบรรยายแล้วให้ภาพเล่าเรื่อง พอมีวาฬแล้วมีประภาคารแล้วก็เห็นว่าทั้งสองผูกร้อยเข้าด้วยกันด้วยทะเล จึงหาเรื่องราวที่เกี่ยวกับทะเลมาเขียนเพิ่มก็เลยได้มาอีกอันหนึ่ง เป็นเรื่องสั้นที่ผมเขียนไว้ใน หนังสือสะพาน บ้าน แม่น้ำ และความรัก เรื่อง แพ ของสำนักพิมพ์บ้านแม่น้ำ เป็นเรื่องสั้น ๆ ไม่ยาวมาก ส่วนเรื่องสุดท้ายก็เป็นเรื่องสั้นจากรวมเรื่องสั้น แดดเช้าร้อนเกินกว่าจะนั่งจิบกาแฟ เรื่อง หวังว่ากีมาซ์จะไม่พลาดอีก กลายเป็นว่าทั้งสี่เรื่องจะผูกร้อยกันหลวม ๆ ด้วยทะเล และด้วยแต่ละเรื่องให้อารมณ์ความรู้สึกที่ต่างกันดังนั้นลายเส้นที่วาดก็จึงแตกต่างกันด้วยก็จะล้อไปตามอารมณ์ความรู้สึกของเรื่องนั้น ๆ ก็เลยได้ทั้งสี่เรื่องที่แตกต่างกันทั้งน้ำเสียง วิธีเล่า และรูปแบบลายเส้น
ทั้งนี้ ในตอนแรกตั้งใจจะพิมพ์นักล่าวาฬเป็นภาษาอังกฤษเพื่อที่จะให้นักอ่านต่างชาติได้เข้าใจด้วย แต่เปลี่ยนใจมาพิมพ์ภาษาไทยก่อนเพราะว่าเรื่องของต้นทุนและปัจจัยต่าง ๆ ท้ายที่สุดก็มีความคิดขึ้นมาว่าถ้าส่งประกวดที่เซเว่นบุ๊คอวอร์ดก่อนก็คงจะดีนะ เป็นความรู้สึกว่าเราจะได้รางวัลเราควรต้องทำ เหมือนเป็นการสะกดจิตตัวเอง ก็เลยเป็นเหตุผลที่เลือกพิมพ์เป็นภาษาไทยออกมาก่อน
“หากถามว่าการที่ทำได้ดีทั้งสองด้านทั้งงานเขียนหนังสือ และการวาดภาพ ช่วยเสริมกันในการทำงานได้อย่างไรบ้าง โดยส่วนตัวผมมองว่าทั้งการเขียนและการวาดมันเป็นสิ่งเดียวกันมาตลอดเพราะว่าผมเติบโตมากับการทำงานศิลปะ เหมือนกับตอนเราอ่านหนังสือ เราก็คงไม่ได้อ่านแต่หนังสืออย่างเดียว เราก็ดูหนัง ฟังเพลง ดูงานศิลปะอย่างอื่น ผมไม่รู้ว่าศิลปินท่านอื่นเขาจะมีความอีกแบบหรือไม่ ผมก็ไม่กล้าฟันธง แต่ด้วยผมคิดแบบนี้เลยไม่รู้ว่ามันช่วยส่งเสริมหรือเปล่า แต่ผมคิดว่ามันช่วยกันได้ เวลามีใครมาถามขอคำแนะนำเรื่องการเขียนหนังสือ ผมก็จะบอกให้ลองไปดูไปเสพงานศิลป์อย่างอื่นด้วย เพราะมันจะช่วยให้เราคิดได้หลายหลายมากขึ้น มองได้รอบด้านมากขึ้น แน่นอนว่าเราทำงานศิลปะเราจะต้องมีคำว่าสร้างสรรค์ สำหรับผมคำนี้ก็คือการที่เราเบื่อ เบื่อตัวเองเบื่อสิ่งที่เราเป็นอยู่ เราต้องพาตัวเองออกมาจากความเบื่อนี้ อาจจะไม่ต้องไปข้างหน้าแต่เลี้ยวซ้ายเลี้ยวขวาหรือถอยหลังบ้างก็ได้ แค่ไม่ซ้ำเดิม เพราะถ้าเราทำอะไรซ้ำเดิม จะต้องมีคนที่รอเบื่ออยู่ ความตื่นเต้นความน่าสนใจมันจะหายไป ผมก็จะคิดอะไรที่แบบเรียกว่าคิดไปเรื่อย คิดสิ่งใหม่คิดที่จะทำไปเรื่อย ๆ ผมไม่รู้ว่าสิ่งนี้มันคือคุณสมบัติของคนที่ทำงานศิลปะหรือไม่ และผมไม่รู้ว่าการวาดรูปมันช่วยได้ไหม แต่ผมคิดว่าเรื่องการเบื่อนี้มันช่วยได้แน่” จเด็จเล่า
สำหรับงานรับโล่พระราชทาน รางวัลหนังสือดีเด่น “เซเว่นบุ๊คอวอร์ด” ครั้งที่ 19 ประจำปี 2565 กำหนดจัดในวันจันทร์ที่ 7 พฤศจิกายน ศกนี้ ณ โรงแรมอีสติน แกรนด์ สาทร กรุงเทพฯ โดยได้รับเกียรติจากศาสตราจารย์เกียรติคุณนายแพทย์เกษม วัฒนชัย กรรมการกิตติมศักดิ์โครงการประกวดหนังสือดีเด่นรางวัลเซเว่นบุ๊คอวอร์ด เป็นประธานในพิธี