อธิบดี พช. น้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ปักหมุด 2566-2570 เดินหน้าขับเคลื่อน “เศรษฐกิจฐานรากมั่นคง ชุมชนเข้มแข็งอย่างยั่งยืน” ตอบโจทย์ SDGs Goal มุ่งสู่เป้าหมายสูงสุดให้ประชาชนมีความผาสุกอย่างมั่นคงและยั่งยืน
เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2565 กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย จัดกิจกรรม “พช.พบสื่อมวลชน” ในรูปแบบ Group Interview โดยมี นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน นายสุรศักดิ์ อักษรกุล และนายวิฑูรย์ นวลนุกูล รองอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน พร้อมด้วยผู้แทนจากทุกหน่วยงานของกรมการพัฒนาชุมชน และสื่อมวลชน ร่วมกิจกรรม ณ ห้องประชุม 5001 ชั้น 5 กรมการพัฒนาชุมชน ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ กรุงเทพฯ
นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน กล่าวว่า ในปี 2566 – 2570 กรมการพัฒนาชุมชน ได้กำหนดวิสัยทัศน์ “เศรษฐกิจฐานรากมั่นคง ชุมชนเข้มแข็งอย่างยั่งยืน ด้วยหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” ในการดำเนินงาน โดยมีเป้าหมายให้ชุมชนบริหารจัดการตนเองตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและมีคุณภาพชีวิตที่ดีมีความสุขเพิ่มขึ้น ทั้งนี้หากทำให้เศรษฐกิจฐานรากมั่นคง ชุมชนเข้มแข็งได้แล้วจะสามารถตอบโจทย์เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ SDGs Goal ขององค์การสหประชาชาติได้ โดยในปีงบประมาณ 2566 ได้กำหนดเป้าหมายหลัก “ตำบลเข้มแข็งตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” จำนวน 878 ตำบล มีกิจกรรมขับเคลื่อนงานทั้งการพัฒนาผู้นำกลุ่มองค์กรและเครือข่าย ส่งเสริมการออมและพัฒนาทักษะการบริหารจัดการทางการเงิน ส่งเสริมเครือข่ายศูนย์ผู้นำจิตอาสาพัฒนาชุมชน และส่งเสริมกิจกรรมเครือข่ายพื้นที่ต้นแบบโคก หนอง นา โมเดล รวมถึงพัฒนาองค์กรให้ทันสมัย มีสมรรถนะและมีธรรมาภิบาล ทั้งยังมุ่งเน้นการทำงานแบบบูรณาการร่วมกับภาคีการพัฒนาทั้ง 7 ได้แก่ ภาครัฐ ภาคประชาชน ภาควิชาการ ภาคศาสนา ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และภาคสื่อสารมวลชน โดยมีพัฒนากรลงพื้นที่ทำงานเคียงข้างประชาชน ซึ่งล่าสุดมีการบรรจุ “พัฒนากร” รุ่นใหม่จำนวน 360 เพื่อลงพื้นที่ทำงานในตำบลหมู่บ้านครอบคลุมทุกจังหวัดอันเป็นจุดแข็งของกรมการพัฒนาชุมชนมาตลอดกว่า 60 ปี ที่กล่าวได้ว่าเป็นหนึ่งในงานหน่วยงานภาครัฐที่ทำงานใกล้ชิดกับพี่น้องประชาชนในชุมชนมากที่สุด
นายอรรษิษฐ์ กล่าวต่อว่า ภารกิจเน้นหนักคือการส่งเสริมครัวเรือนปลูกผักสวนครัวอย่างน้อยครัวเรือนละ 10 ชนิด และการสานต่อการดำเนินงานประชารัฐรักสามัคคี หรือ SE ที่ดำเนินการในรูปแบบบริษัทประชารัฐฯ จังหวัด มุ่งเน้น 3 เรื่องหลักคือ เกษตร แปรรูป ท่องเที่ยว ตามบริบทของชุมชนที่แตกต่างกันซึ่งมีชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัติวิถีอยู่แล้วทั่วประเทศ ขณะที่การสนับสนุน OTOP ก็ยังคงดำเนินการต่อเนื่อง ทั้งการพัฒนาผู้ผลิต/ผู้ประกอบการ พัฒนาผลิตภัณฑ์ และพัฒนาช่องทางการตลาด แม้จะอยู่ในช่วงสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ก็มีการส่งเสริมช่องทางจำหน่ายออนไลน์ร่วมกับแพลตฟอร์มขนาดใหญ่ อาทิ ช้อปปี้ เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถสร้างรายได้ในช่วงที่ไม่สามารถจัดงานแสดงสินค้าได้ และเมื่อสถานการณ์คลี่คลายลงแล้วก็จะมีการจัดงานใหญ่ต่างๆ อีกครั้ง เช่น OTOP City, OTOP ศิลปาชีพ, OTOP Midyear, OTOP ภูมิภาค และ OTOP สองแผ่น ยิ่งไปกว่านั้นในการการประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก หรือ APEC Thailand 2022 ในเดือนพฤศจิกายนี้ ยังได้มีการจัดเตรียมผลิตภัณฑ์ OTOP เพื่อเป็นของที่ระลึกมอบให้แก่ผู้นำประเทศต่างๆ ที่เข้าร่วมประชุมอีกด้วย
นอกจากนั้นแล้ว การดำเนินโครงการ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” ตามแนวพระดำริสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา นับเป็นโครงการสำคัญที่ก่อให้เกิด “ดอนกอยโมเดล” ซึ่งเป็นกลุ่มผ้าทอต้นแบบของอำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร ที่สามารถพัฒนาคุณภาพผ้าของชุมชนให้มีสีสันหลากหลายเกิดเป็นลวดลายใหม่และดีไซน์ทันสมัย สร้างแบรนด์ให้เป็นที่รู้จัก สร้างรายได้ให้กับคนในชุมชน และต่อยอดสู่การเป็นโครงการต้นแบบที่ยั่งยืน ทั้งนี้ โครงการ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” สามารถสร้างยอดจำหน่ายระหว่างเดือนมกราคม 2564 – ตุลาคม 2565 ได้กว่า 32,118 ล้านบาท มีกลุ่มผู้ผลิต/ผู้ประกอบการได้รับประโยชน์โดยตรง 12,665 กลุ่ม และสมาชิกได้รับประโยชน์โดยตรง 110,041 ครอบครัว ขณะที่กิจกรรมส่งเสริมการใช้และสวมใส่ผ้าไทยภายในกระทรวงมหาดไทยก็ได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดี โดยขณะนี้หากไม่ใช่วันที่ต้องแต่งเครื่องแบบ ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ทั้งหมดจะร่วมกันสวมใส่ผ้าไทยทุกวัน
“ภารกิจของกรมฯ สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ แผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 และวิสัยทัศน์ของประเทศ “ประเทศไทยมีความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน เป็นประเทศพัฒนาแล้ว ด้วยการพัฒนาตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” หัวใจหลักของงานพัฒนาชุมชน คือมุ่งให้ประชาชนเป็นศูนย์กลางและส่งเสริมให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการพัฒนาทุกขั้นตอน เพราะการพัฒนาที่ยั่งยืนจะต้องเกิดจากพื้นฐานความต้องการของประชาชน ริเริ่มและขับเคลื่อนโดยประชาชนเป็นสำคัญ โดยทั้งหมดนี้จะเกิดพลังที่เข้มแข็งได้ด้วยภาคีการพัฒนาทั้ง 7 คือ ภาครัฐ ภาคประชาชน ภาควิชาการ ภาคศาสนา ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และภาคสื่อสารมวลชน ซึ่งถือเป็นหนึ่งในส่วนสำคัญที่จะช่วยกันขับเคลื่อนสื่อสารสร้างความเข้าใจไปสู่ทุกภาคส่วน รวมทั้งพัฒนากรจากกรมการพัฒนาชุมชนทุกคนที่ต้องเสียสละตนเอง รู้งาน รู้ปัญหา และทำหน้าที่เชื่อมประสานกับชุมชนหมู่บ้านทั่วประเทศ ต้องให้รองเท้าขาดก่อนกางเกง ตามพระโอวาท สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพที่อยู่ในหัวใจของบุคลากรกระทรวงมหาดไทย จึงขอฝากให้ทุกคนร่วมมือร่วมใจช่วยกันขับเคลื่อนมุ่งหน้าสู่เป้าหมายเพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตและความสุขของประชาชนอย่างยั่งยืน” อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชนกล่าวย้ำ