สภาสมาคมสตรีแห่งชาติ ในพระบรมราชินูปถัมภ์ จัดทำปฏิญญาว่าด้วยการขจัดความรุนแรงต่อเด็กและสตรี ขานรับ 16 วัน การรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็กและสตรีขององค์การสหประชาชาติ
สภาสมาคมสตรีแห่งชาติ ในพระบรมราชินูปถัมภ์ จัดพิธีลงนามในปฏิญญาว่าด้วยการขจัดความรุนแรงต่อเด็กและสตรี สภาสมาคมสตรีแห่งชาติ ในพระบรมราชินูปถัมภ์ พ.ศ. 2565 โดยมี นางสาวสุกัญญา ประจวบเหมาะ ประธานสภาสมาคมสตรีแห่งชาติ ในพระบรมราชินูปถัมภ์ นางสาวศิริพร ไชยสุต ประธานคณะกรรมการฝ่ายส่งเสริมโอกาสและความเสมอภาค พร้อมด้วย ประธานภูมิภาค ร่วมลงนาม โดยมี นางรุ่งทิวา สุดแดน รองอธิบดีกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว ผู้แทนอธิบดีกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ นายจักรวาล แสงแข อัยการพิเศษฝ่ายคุ้มครองสิทธิประชาชนระหว่างประเทศ สำนักงานคุ้มครองสิทธิและให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชน สำนักงานอัยการสูงสุด ร่วมเป็นสักขีพยาน พร้อมด้วยคณะกรรมการอำนวยการ คณะกรรมการบริหาร สมาชิกสมทบ ของสภาสมาคมสตรีแห่งชาติฯ แขกผู้มีเกียรติ และผู้แทนหน่วยงานต่าง ๆ เข้าร่วมในพิธี ณ อาคารบ้านพระกรุณานิวาสน์ สภาสมาคมสตรีแห่งชาติ ในพระบรมราชินูปถัมภ์
นางสุกัญญา ประจวบเหมาะ ประธานสภาสมาคมสตรีแห่งชาติ ในพระบรมราชินูปถัมภ์ กล่าวว่า องค์การสหประชาชาติประกาศให้ ช่วง 16 วัน ระหว่างวันที่ 25 พฤศจิกายน ถึง วันที่ 10 ธันวาคม ของทุกปี เป็นเดือนแห่งการรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็กและสตรี สภาสมาคมสตรีแห่งชาติฯเล็งเห็นถึงความสำคัญ ได้มีส่วนร่วมในการรณรงค์ในเรื่องนี้ โดยได้จัดทำปฏิญญาเพื่อขจัดความรุนแรงต่อเด็กและสตรี พ.ศ. 2565 ขึ้น เพื่อประกาศเจตนารมณ์อันร่วมกัน และร่วมแสดงเจตนารมณ์อย่างเป็นทางการในอันที่จะให้ความร่วมมือกัน ตามหลักการ R-E-S-P-E-C-T ขององค์การสหประชาชาติ การทำปฏิญญาฯ ฉบับนี้ จะปลุกจิตสำนึก สร้างความเข้าใจทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนความรู้ ข้อมูลประสบการณ์ เพื่อกำหนดแนวทางการแก้ไขปัญหาเพื่อให้สอดคล้องกัน ทำให้การขจัดความรุนแรงสามารถขับเคลื่อนไปได้อย่างมีประสิทธิผลและเป็นรูปธรรม
นางสุกัญญา กล่าวต่อว่า ปัญหาความรุนแรงต่อเด็ก และสตรี เป็นปัญหาที่สำคัญโดยเฉพาะอย่างยิ่งความรุนแรงที่เกิดขึ้นภายในครอบครัว อันเป็นหน่วยที่เล็กสุดในสังคม และควรจะเป็นสถานที่ ที่ปลอดภัยที่สุดของทุกคน สังคมจะแข็งแรงได้ต้องเริ่มจากครอบครัวที่มั่นคง การกระทำความรุนแรงต่อเด็ก และสตรีเป็นปัญหาใหญ่ ที่บั่นทอนสังคมไทยและทรัพยากรมนุษย์ สร้างความสูญเสียมากมาย ถึงเวลาแล้วที่เราทุกภาคส่วนจะต้องร่วมมือกันอย่างจริงจัง โดยสภาสมาคมสตรีแห่งชาติ ในพระบรมราชินูปถัมภ์ เล็งเห็นถึง ความสำคัญของปัญหาดังกล่าว มีนโยบายในการสนับสนุนให้ เครือข่ายขององค์กรสตรี ที่เป็นสมาชิก ดำเนินการป้องกัน การกระทำรุนแรงต่อเด็ก และสตรี อีกทั้งสภาสมาคมสตรีแห่งชาติฯ มีองค์กรสมาชิก ที่มีเครือข่ายอยู่ทุกภูมิภาค การจัดทำปฏิญญาในวันนี้จะทำให้การขจัดความรุนแรงสามารถขับเคลื่อนไปได้อย่างมีประสิทธิผล
“นับเป็นเรื่องน่ามยินดีเป็นอย่างยิ่ง ที่สภาสมาคมสตรีแห่งชาติฯ ได้มีส่วนร่วมในการรณรงค์ยุติความรุณแรงต่อเด็ก และสตรี ประจำปี 2565 นี้ ซึ่งเป็นไปตามแนวทางสากล ขององค์การสหประชาชาติ และแนวนโยบายของประเทศไทย โดยสภาสมาคมสตรีแห่งชาติฯ ให้ความสําคัญกับการส่งเสริม และคุ้มครองสตรี เด็ก เยาวชน และครอบครัว มีคณะกรรมการฝ่ายส่งเสริมโอกาส และความเท่าเทียมที่มีภารกิจดูแลเรื่องนี้โดยเฉพาะ และวันนี้ประธานภาคทั้ง 12 ภาค มาร่วมกันทำปฏิญญา นับว่าเป็นนิมิตหมายที่ดี แสดงให้เห็นถึงความร่วมมือที่แข็งขัน ดิฉันขอขอบคุณ กรรมการฝ่ายส่งเสริมโอกาสและความเท่าเทียม ที่เป็นแกนนำ และริเริ่มจัดทำปฏิญญาฉบับนี้ขึ้น เพื่อประกาศเจตนารมณ์อันร่วมกันอย่างเป็นทางการในการขจัดความรุนแรง หวังเป็นอย่างยิ่งว่า การทำปฏิญญาฯ ฉบับนี้จะสร้างความร่วมมือระหว่างองค์กรสมาชิก สร้างความเข้าใจ ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนข้อมูลความรู้ ประสบการณ์ นำไปใช้ให้เป็นประโยชน์ เพื่อกำหนดแนวทางการแก้ไขปัญหาเพื่อให้สอดคล้องกัน ส่งเสริมให้เกิดการบูรณาการความร่วมมืออย่างเป็นรูปธรรม ในการแก้ไขปัญหาความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และครอบครัวอย่างยั่งยืนต่อไป” ประธานสภาสมาคมสตรีแห่งชาติฯ กล่าว
ทั้งนี้ ประธานภูมิภาค สภาสมาคมสตรีแห่งชาติ ในพระบรมราชินูปถัมภ์ ประกอบด้วย นางพรทิพย์ ตั้งกีรติ ประธานภาคกลาง – ตะวันออก ภาค 1 – ภาค 2 นางสาวณัฏฐ์ปภาณ จันทร์ละมูล ประธานภาคกลาง – ตะวันออก ภาค 3 – ภาค 4 นางทิพวรรณ กิตติสถาพร ประธานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาค 5 – ภาค 6 นางณัฏฐภัค อติเชษฐ์ธนิศ ประธานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาค 7 นางรัศรินทร์ ลัดใหม่กุลวัฒน์ ประธานภาคเหนือ ภาค 8 – ภาค 9 ดร.อนงค์ศรี สิทธิอาษา ประธานภาคเหนือ ภาค 9 – ภาค 10 นางจรรยาวรรณ สุวัณณาคาร ประธานภาคใต้ ภาค 11 – ภาค 12)