กรมชลประทาน จัดเวทีรับฟังความเห็นทุกภาคส่วน เปิดแผนงานโครงการพัฒนาลำน้ำยังและลำน้ำชีตอนล่าง ในพื้นที่จังหวัดยโสธรและร้อยเอ็ด หวังสร้างแหล่งน้ำต้นทุนเพิ่มกว่า 22 ล้านลูกบาศก์เมตร บรรเทาอุทกภัยพื้นที่ชุมชนและเกษตรกรรม 56,000 ไร่
นายวิทยา แก้วมี รองอธิบดีกรมชลประทาน พร้อมด้วย นายสุรชาติ มาลาศรี ผู้อำนวยการสำนักบริหารโครงการ และผู้เกี่ยวข้อง เข้าร่วมกิจกรรมสื่อมวลชนสัญจรและประชุมปัจฉิมนิเทศ “โครงการศึกษาความเหมาะสมการบรรเทาอุทกภัยลำน้ำยังและลำน้ำชีตอนล่าง จังหวัดยโสธร จังหวัดร้อยเอ็ด” เพื่อรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากทุกภาคส่วน พร้อมนำมาปรับปรุงและเพิ่มเติมในการศึกษาให้มีความครบถ้วนและสมบูรณ์ต่อไป โดยมี นายไกร เอี่ยมจุฬา รองผู้ว่าราชการจังหวัดยโสธร เป็นประธานในพิธีกล่าวเปิดการประชุม ณ ห้องบุษราคัม โรงแรม เจ.พี.เอ็มเมอรัลด์ อำเภอเมือง จังหวัดยโสธร จากนั้นได้ลงพื้นที่บริเวณลำน้ำยัง เพื่อสำรวจประตูระบายน้ำกุดปลาเข็งและพื้นที่ก่อสร้างประตูระบายน้ำบ้านดงแจ้ง หวังบรรเทาอุทกภัยและแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำควบคู่กัน
รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า จากปัญหาอุทกภัยซ้ำซากบริเวณลำน้ำยังและลำน้ำชีตอนล่าง ในพื้นที่จังหวัดยโสธร และร้อยเอ็ด โดยเฉพาะจุดบรรจบระหว่างลำน้ำยังและแม่น้ำชี มักเกิดอุทกภัยอยู่บ่อยครั้ง ส่งผลให้พื้นที่การเกษตรและบ้านเรือนของประชาชนได้รับความเสียหาย ขณะที่ในช่วงฤดูแล้ง มักจะเกิดปัญหาการขาดแคลนน้ำ เนื่องจากไม่มีแหล่งเก็บกักน้ำที่เพียงพอต่อความต้องการใช้น้ำสำหรับการอุปโภคบริโภคและการเกษตร กรมชลประทาน จึงได้ศึกษาความเหมาะสมการบรรเทาอุทกภัยในพื้นที่ดังกล่าว โดยมีโครงการที่มีความเหมาะสมสอดคล้องกับปัญหาที่เกิดขึ้นในพื้นที่ ได้แก่
1) โครงการปรับปรุง/ขุดลอกลำน้ำยัง รวมระยะทาง 46 กิโลเมตร เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการระบายน้ำให้ไม่น้อยกว่า 250 ลบ.ม./วินาที พร้อมรื้อถอนฝายยางบ้านใหม่ชุมพร ซึ่งจะช่วยลดความเสียหายจากน้ำท่วมซ้ำซากบริเวณริมลำน้ำยัง และเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนในลำน้ำยัง
2) โครงการผันน้ำน้ำยัง ด้วยการปรับปรุงแก้มลิงธรรมชาติ 9 แห่ง และขุดลอกลำน้ำธรรมชาติ 1 สาย คือ ห้วยกุดปลาเข็ง พร้อมก่อสร้างอาคารบังคับน้ำในลำน้ำสาขา 1 แห่ง คือ ประตูระบายน้ำห้วยวังยาง พร้อมปรับปรุงคลองระบายน้ำ 4 สาย และก่อสร้างประตูระบายน้ำในลำน้ำยัง 1 แห่ง คือ ประตูระบายน้ำบ้านดงแจ้ง ซึ่งจะช่วยลดความเสียหายจากปัญหาน้ำท่วมซ้ำซากบริเวณพื้นที่ลุ่มต่ำริมลำน้ำยัง
“โครงการนี้ มีแผนดำเนินโครงการ 4 ปี หลังจากการศึกษา สำรวจ ออกแบบแล้วเสร็จ หากพัฒนาแล้วเสร็จตามแผน จะช่วยบรรเทาปัญหาอุทกภัยในพื้นที่ชุมชนและการเกษตรประมาณ 56,000 ไร่ อีกทั้งยังสร้างความมั่นคงด้านน้ำ ด้วยแหล่งน้ำต้นทุนที่เพิ่มขึ้นกว่า 22 ล้าน ลบ.ม. สามารถส่งน้ำเพื่อการเกษตรเดิมได้ประมาณ 11,800 ไร่ และยังสามารถเพิ่มพื้นที่รับประโยชน์ใหม่ได้อีกประมาณ 15,000 ไร่ ตลอดจนบรรเทาปัญหาขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภคได้ 2,273 ครัวเรือน ซึ่งในอนาคตยังสามารถพัฒนาพื้นที่รับประโยชน์ใหม่ได้เพิ่มมากขึ้น ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่ให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น” รองอธิบดีฯ กล่าว