จับตาBank runวิกฤติการเงินธนาคารมะกันกับผลกระทบถึงไทย

หลายฝ่ายวิตกกังวลเหตุ ลูกค้าแห่ถอนเงินแล้วไม่ได้เงิน ของธนาคารในสหรัฐฯ จะเป็นชนวนนำไปสู่วิกฤติการเงิน-เศรษฐกิจของโลกรอบใหม่ พร้อมเชื่อเกิดจากนโยบายแก้ปัญหาเงินเฟ้อของ FED ขณะที่นักเศรษฐศาสตร์ไทยแนะนำรู้จักศัพท์ใหม่ Bank run

หลังธนาคาร SVB ซึ่งใหญ่อันดับที่ 16 ของสหรัฐล้มอย่างฉับพลัน หลังจากที่ธนาคารเทขายพันธบัตรและสินทรัพย์ในราคาขาดทุน 1,800 ล้านดอลลาร์ และประกาศขายหุ้นเพิ่มทุน 2,225 ล้านดอลลาร์เพื่อเสริมสภาพคล่อง ซึ่งทำให้บรรดาลูกค้าเกิดความตื่นตระหนกจนแห่ถอนเงินออกอย่างรวดเร็ว เมื่อวันที่ 8 มี.ค. 66 ที่ผ่านมา เรื่องนี้เป็นข่าวใหญ่ และถือเป็นผลกระทบเกี่ยวกับสถาบันทางการเงินของสหรัฐอย่างรุนแรง ซึ่งหลายฝ่ายกังวลถึงผลกระทบที่จะลุกลามเป็นทฤษฎีโดมิโนล้มในอนาคตอันใกล้นี้

ล่าสุด สำนักข่าวต่างประเทศ (AFP) รายงานว่า หน่วยงานกำกับการเงินแห่งรัฐแคลิฟอร์เนียได้แต่งตั้งให้ Federal Deposit Insurance Corporation (FDIC) เป็นสถาบันของรัฐบาลสหรัฐฯ ที่ให้ประกันเงินฝากจากความล้มเหลวของธนาคารเข้ามาเป็นผู้ดูแลสินทรัพย์ของ Silicon Valley Bank (SVB) โดย FDIC จะทำการขายสินทรัพย์ (liquidate) ของธนาคารเพื่อจ่ายเงินคืนให้แก่ผู้ฝากเงิน และบรรดาเจ้าหนี้ธนาคาร

สำหรับความเสียหายที่เกิดขึ้น สถาบันของรัฐบาลสหรัฐฯ ที่เข้ามาดูแลทรัพย์สินของ SVB จะบริหารงานดูแลการจ่ายเงินคืนให้แก่เจ้าหนี้และลูกค้าผู้ฝากเงินของธนาคาร โดยสำนักงานใหญ่ และสาขาต่างๆ ของ SVB จะกลับมาเปิดให้บริการในวันที่ 13 มี.ค. โดยผู้ฝากเงินที่มีประกันจะสามารถเข้าถึงเงินฝากส่วนที่ได้รับความคุ้มครอง 250,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อ 1 บัญชี ไม่เกินเช้าวันที่ 13  มีนาคม และจะจ่ายดอกเบี้ยล่วงหน้าให้แก่ผู้ฝากเงินที่ไม่มีประกันภายในสัปดาห์หน้า

ทั้งนี้ SVB ถือเป็นสถาบันการเงินหลักที่ปล่อยเงินกู้ให้แก่ธุรกิจสตาร์ทอัปมาตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 1980 และกลายมาเป็นสถาบันการเงินใหญ่อันดับที่ 16 ของสหรัฐอเมริกา โดยข้อมูลในช่วงสิ้นปี 2022 พบว่าธนาคารมีมูลค่าสินทรัพย์รวมทั้งสิ้น 209,000 ล้านดอลลาร์ ในจำนวนนี้แบ่งเป็นเงินฝาก 175,400 ล้านดอลลาร์

อย่างไรก็ตามการสั่งปิดธนาคารแห่งนี้ไม่เพียงถือเป็นการล่มสลายของสถาบันการเงินใหญ่ที่สุดในสหรัฐฯ นับตั้งแต่กรณีธนาคาร Washington Mutual ล้มเมื่อปี 2008 แต่ยังถือเป็นธนาคารพาณิชย์เพื่อรายย่อย (retail bank) ใหญ่อันดับ 2 ของอเมริกาที่ต้องปิดตัวลง

ขณะที่สำนักข่าว CNN เปิดเผยว่า นางเจเน็ต เยลเลน รัฐมนตรีกระทรวงการคลังสหรัฐฯ ที่ได้เรียกประชุมหน่วยงานกำกับดูแลด้านธนาคารของสหรัฐฯ เป็นการด่วน โดยทางกระทรวงฯ แถลงว่า “รมว.เยลเลน เชื่อมั่นว่าผู้กำกับดูแลกิจการธนาคารของสหรัฐฯ จะมีมาตรการตอบสนองอย่างเหมาะสม และย้ำว่าระบบการเงินของสหรัฐฯ ยังคงยืดหยุ่น และมีเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพเพียงพอในการรับมือสถานการณ์เช่นนี้”

ทั้งนี้การล่มสลายของ SVB ยังทำให้หลายฝ่ายกังวลว่าจะส่งผลกระทบเป็นโดมิโนไปยังสถาบันการเงินอื่นๆ รวมไปถึงอุตสาหกรรมคริปโต ซึ่งกำลังเผชิญปัญหาสภาพคล่องเช่นกัน สืบเนื่องจากภาวะเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยที่พุ่งสูง

ขณะที่นักวิเคราะห์ด้านเศรษฐศาสตร์ของไทย เริ่มออกมาแสดงความถึง ผลสะเทือนจากรณีที่เกิดขึ้นกับ SVB มีการประเมินจาก ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร (KKP)  ผ่านโพสต์บน เฟสบุ๊ค ความตอนหนึ่ง โดยมองว่า “ประเด็นนี้จะไม่กลายเป็นปัญหาเชิงระบบ และธนาคารใหญ่คงไม่เผชิญปัญหามากเท่า SVB แต่ปัญหานี้ก็มีโอกาสเกิดขึ้นได้กับธนาคารอื่นๆ ที่มีวิกฤตศรัทธา และยังคงต้องจับตาต่อไป อย่างไรก็ดี ในมุมมองส่วนตัวยังเชื่อว่านักลงทุนยังไม่จำเป็นต้องกังวลกับเรื่องนี้มากเกินไป เนื่องจากระบบธนาคารของสหรัฐฯ ในภาพรวมยังมีฐานะที่แข็งแกร่ง มีทุนที่สูงกว่าในช่วงวิกฤตปี 2008 ราว 2-3 เท่าตัว แม้กระทั่งตัวของ SVB เองก่อนที่จะเกิดปัญหาก็ยังมีฐานะที่ไม่แย่มากนัก แต่เมื่อผู้ฝากเงินตื่นตระหนกจึงทำให้เกิดภาวะ Bank Run นอกจากนี้ Fed ก็ได้รีบเข้ามาดูแลเพื่อสร้างความเชื่อมั่นว่าปัญหาจะไม่ลุกลามแล้ว”

สำหรับภาวะ Bank runหรือ run on the bank มีคำอธิบายสั้นๆ เข้าใจง่ายๆ ผ่านข้อมูลจากวิกิพีเดีย ว่าเกิดขึ้นเมื่อลูกค้าจำนวนมากถอนเงินจากธนาคารเนื่องจากพวกเขาเชื่อว่าธนาคารอาจล้มเหลวในอนาคตอันใกล้ทั้งนี้เรื่องของการแห่ถอนเงินจากธนาคารของลูกค้าเป็นจำนวนมาก จนนำไปสู่การเทขายหุ้น ขายพันธบัตร หรือทรัพย์สินต่างๆ ของธนาคาร  SVB นักวิเคราะห์ทางด้านเศรษฐศาสตร์และการเงินในต่างประเทศส่วนหนึ่งมองว่าส่วนหนึ่งอาจเกิดจากความวิตกกังวลถึงการแก้ไขปัญหาเงินเฟ้อ เรื่องของการขึ้นอัตราดอกเบี้ยโดยธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือ FED เป็นปัจจัยสำคัญ เนื่องจากลูกค้าของ SVB ส่วนหนึ่งเป็นผู้ประกอบการ ที่อาจประสบปัญหาเกี่ยวกับการระดมทุนในอนาคต

อย่างไรก็ตามจากภาวะ Bank run ที่เกิดขึ้นกับธนาคาร SVB รวมถึงมาตรการการแก้ไขปัญหาจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในสหรัฐฯ ก็ยังคงเป็นสิ่งที่นักเศรษฐศาสตร์ และนักการเงินการธนาคารทั่วโลกคงต้องจับตาอย่างใกล้ชิด รวมถึงสัญญาณการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของ FED ซึ่งจะส่งผลกระทบไปทั่วโลก และแน่นอนที่สุด ผลกระทบที่จะตามมาถึงประเทศไทย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ Domino Effect หรือผลกระทบแบบโดมิโน ซึ่งอย่างน้อยที่จับต้องและเห็นได้ง่ายที่สุดในเวลานี้

หากมีการปรับขึ้นดอกเบี้ยของ FED แล้ว ดอกเบี้ยทั่วโลกรวมถึงในประเทศ ก็อาจจต้องปรับขึ้นตามด้วย (ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของแต่ละประเทศว่าจะมากน้อยเพียงใด) ซึ่งก็ต้องมาติดตามภาวะผลกระทบ ว่าจะเกิด Bank run ขึ้นที่ไหนอีกหรือไม่? และภาวะแบบนี้ถือว่าเป็นเรื่องที่ไม่ส่งผลดีนักต่อระบบเศรษฐกิจของโลก ที่อาจจะเป็นชนวนนำไปสู่วิกฤติทางการเงินแบบที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วในอดีตลุกลามถึงความพังพินาศทางการเงินที่ปั่นป่วนไปทั่วทั้งโลกในอนาคตก็เป็นได้

 

ข้อมูลจาก AFP,CNN  และ เฟสบุ๊ค ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย

เครดิตเรียบเรียง และภาพ https://www.siambusinessnews.com/

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *