การจากไปอย่างสงบของ คุณหญิงวรรณา สิริวัฒนภักดี ภรรยาของ นายเจริญ สิริวัฒนภักดี ประธานคณะกรรมการบริหารเครือธุรกิจไทยเบฟเวอเรจ และอีกหลากหลายธุรกิจ มหาเศรษฐีที่ติดอันดับต้นๆ ของประเทศไทย นอกเหนือจากจะเป็นความสูญเสียในวงการธุรกิจเมืองไทยแล้ว ยังเป็นการสูญเสียนักบริหารระดับต้นๆ ของเมืองไทย รวมถึงวงการเศรษฐกิจของไทยของอาเซียนและของเอเชียอีกด้วย
เพราะการก้าวเข้ามาสู่ความเป็นนักธุรกิจและเศรษฐีอันดับต้นๆ เมืองไทย และเป็นนักธุรกิจระดับสากลในวันนี้ของ นายเจริญ หรือเจ้าสัวไทยเบฟฯ แน่นอนว่า คุณหญิงวรรณา ผู้เป็นภรรยามีส่วนสำคัญที่สร้างให้อาณาจักรไทยเบฟฯ และเจ้าสัวเจริญสามี เติบโตมาได้ในแบบทุกวันนี้
จากจุดเริ่มต้น ความเป็น “ลูกจีน” ของคุณหญิงวรรณา เป็นบุตรของ “จิวกึ้งจู” เจ้าสัวนักธุรกิจใหญ่แห่งย่านทรงวาด เจ้าของกิจการขายส่ง และมีธุรกิจเชื่อมโยงไปในอีกหลายธุรกิจ โดยเฉพาะธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จนมีส่วนชักชวนให้ลูกเขยอย่าง “เจริญ” เข้าสู่ธุรกิจนี้ด้วย พร้อมด้วยสอนหลักธุรกิจการค้าและการดำเนินชีวิตมากมายให้กับทั้งคุณหญิงวรรณา และ นายเจริญ จนก้าวเข้ามาเป็นนักธุรกิจแนวหน้าของเมืองไทย ก็ด้วยจากการยึดมั่นตามแนวทางคำสอนที่เกิดจากพ่อตา หรือ บิดาของคุณหญิงวรรณาเป็นสำคัญ
สำหรับประวัติของ คุณหญิงวรรณา เกิดวันอังคารที่ 2 มีนาคม 2486 มีอายุ 80 ปี มีบุตรกับนายเจริญ 5 คน คือ อาทินันท์ พีชานนท์ ,วัลลภา ไตรไสรัส ,ฐาปน สิริวัฒนภักดี , ปณต สิริวัฒนภักดี และฐาปนี เตชะเจริญวิกุล โดยการทำงานการบริหารและผลงานทางธุรกิจ เคยดำรงตำแหน่งเป็นรองประธานกรรมการ และรองประธานกรรมการบริหาร บริษัท แอสเสท เวิรด์ คอร์ป จำกัด (มหาชน) และตำแหน่งสำคัญในคณะกรรมการของบริษัทในกลุ่มบริษัททีซีซี
สำหรับการศึกษาคุณหญิงวรรณาได้รับปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ จาก 8 มหาวิทยาลัยในประเทศไทย อันได้แก่ 1. ปริญญาปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย 2. ปริญญาปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาการจัดการมหาวิทยาลัยมหิดล 3. ปริญญาปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาการจัดการธุรกิจมหาวิทยาลัยพะเยา 4. ปริญญาบริหารธุรกิจดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาการจัดการ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก 5. ปริญญาปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง 6. ปริญญาบริหารธุรกิจดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 7. ปริญญาบริหารธุรกิจดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาบริหารธุรกิจการเกษตร สถาบันเทคโนโลยีการเกษตรแม่โจ้ 8. ปริญญาปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาเทคโนโลยีชีวภาพ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ที่สะท้อนให้เห็นถึงคุณประโยชน์ทางธุรกิจของแต่ละสาขาวิชาได้เป็นอย่างดี
ส่วนงานด้านสังคม คุณหญิงวรรณา มีบทบาทสำคัญในด้านการทำงานการกุศลและช่วยเหลือสังคมในหลากหลายด้าน ทั้งยังดำรงตำแหน่งสำคัญในมูลนิธิต่าง ๆ เช่น กรรมการมูลนิธิสถาบันโรคไตภูมิราชนครินทร์ กรรมการมูลนิธิรามาธิบดี กรรมการศิริราชมูลนิธิ กรรมการมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช กรรมการมูลนิธิคืนช้างสู่ธรรมชาติ กรรมการ คณะกรรมการจัดหาและส่งเสริมผู้ให้โลหิตแห่งสภากาชาดไทย กรรมการมูลนิธิศาลาเฉลิมกรุง และกรรมการมูลนิธิ แอสเสท เวิรด์ เพื่อการกุศล
ด้วยเกียรติประวัติ และคุณงามความดีที่คุณหญิงวรรณาได้สร้างไว้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ไปในการพระราชทานน้ำหลวงอาบศพ “คุณหญิงวรรณา ศิริวัฒนภักดี” ณ ศาลากวีนิรมิต วัดเทพศิรินทราวาส เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย
ซึ่งการจากไปของคุณหญิงวรรณา นอกจากจะเป็นความสูญเสียของครอบครัว “สิริวัฒนภักดี” แล้ว ยังนับเป็นความสูญเสียต่อวงการธุรกิจ และเศรษฐกิจไทย รวมถึงวงการธุรกิจในระดับเอเชีย เพราะจากความสามารถและความสำเร็จที่ผ่านๆ มาเป็นที่ประจักษ์แล้วว่า คุณหญิงวรรณาคือปัจจัยสำคัญแห่งความสำเร็จในวันนี้ของเครือไทยเบฟ และเจ้าสัวเจริญ ….