ประวัติศาสตร์การรบพุ่งกับผู้รุกรานของแต่ละดินแดนทั่วทุกมุมโลกมีมาอย่างยาวนาน ก่อนที่แนวคิดหรืออุดมการณ์ “ความเป็นชาติ” จะเกิดขึ้นเสียอีก นี่จึงเป็นเรื่องที่ชวนตั้งคำถามถึงแนวคิดเรื่องความรักชาติ อันเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับการปกป้องประเทศโดยตรง และเมื่อโลกยุคนี้ให้ความหมายด้านการทหารแบบ ‘ใช้สมองมากกว่ากำลัง’ ท่ามกลางยุคสมัยที่ก้าวผ่านอนาล็อกไปสู่โลกดิจิตอล การทำสงครามจึงเปลี่ยนโฉมหน้าไปอย่างสิ้นเชิง จนอาจทำให้กระทรวงกลาโหมบางประเทศไม่ทันได้ปรับตัวจูนโลกทัศน์ให้ก้าวทันความเปลี่ยนแปลงนี้
- จาก “ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี” สู่ยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคงในยุค “สงครามไฮเทค”
ในโลกที่สังคมกำลังขับเคลื่อนไปข้างหน้าด้วยเทคโนโลยี และการมีอยู่ของนวัตกรรมอย่าง AI – GPS – Application – Hacker สิ่งเหล่านี้มีความเชื่อมโยงกันอย่างน่าสนใจในทางการทหารยุคใหม่ อันเป็นเรื่องที่ กองทัพไทย จำเป็นต้องอัพเดทองค์ความรู้และปรับ Mindset เพื่อให้ทันต่อความเปลี่ยนแปลงของโลก และไม่ถูกทิ้งให้แช่แข็งอยู่กับประวัติศาสตร์สงครามในห้วง 300 ปีที่ผ่านมา
เมื่อมองผ่านกระจกแห่งยุคสมัยจากอดีต มาถึงยุค “ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี” ของรัฐบาลประยุทธ์ จันทร์โอชา ลองสำรวจแผนยุทธศาสตร์ชาติในหมวด ‘ยุทธศาสตร์ชาติด้านความมั่นคง’ ระบุว่า “ปัจจุบันในโลกยุคโลกาภิวัตน์ ความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่ส่งผลให้สังคมเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างก้าวกระโดดและพลิกผัน ได้ทำให้มิติทั้งปวงถูกเชื่อมโยงเข้าด้วยกันอย่างไม่อาจแบ่งแยกได้ ด้วยเหตุนี้ กรอบแนวคิดความมั่นคงแบบเดิมจึงถูกปรับเปลี่ยนให้เหมาะสม เป็นกรอบแนวคิดใหม่ที่เรียกว่า ‘ความมั่นคงแบบองค์รวม’ ยุทธศาสตร์ชาติด้านความมั่นคงจึงมีเป้าหมายสำคัญเพื่อบริหารจัดการสภาวะแวดล้อมของประเทศให้มีความมั่นคง ปลอดภัย และมีความสงบเรียบร้อยในทุกระดับ ตั้งแต่ระดับชาติ สังคม ชุมชน ไปจนถึงระดับความมั่นคงของมนุษย์….”
นี่คือส่วนหนึ่งของการเกริ่นนำเข้าสู่เนื้อหาในหมวด “ยุทธศาสตร์ชาติด้านความมั่นคง” จำนวน 8 หน้า ซึ่งเมื่อสำรวจอย่างละเอียด ก็ไม่ปรากฏว่ามีแผนอย่างไรภายในระยะเวลา 20 ปี? จะบูรณาการแบบไหน? มีก็แต่เพียงเนื้อหาพรรณนาแบบกว้างๆ ด้วยศัพท์ตามขนบนิยมของราชการไทย ที่วนเวียนอยู่กับคำไม่กี่คำ อย่าง พัฒนา บูรณาการ องค์รวม ความสงบเรียบร้อย ธรรมาภิบาล และคำคล้องจองที่ไม่ได้ให้คุณค่าความหมายอย่างลงลึกในรายละเอียดอย่าง “มั่นคง-มั่งคั่ง-ยั่งยืน” ว่าเป็นไปอย่างไรหรือประการใด?
น่าแปลกที่ว่า กองทัพไทยมีนายพลกว่าพันคน มีระดับพลเอกกว่า 200 นาย แต่ไม่มีสักคนหรือ? ที่จะทักท้วง เสนอแนะ หรือตั้งคำถามต่อการวางยุทธศาสตร์ในหมวดความมั่นคง ที่อยู่ในแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี โดยที่ไม่มีบรรทัดใดเลยที่กล่าวถึง แผนพัฒนาความก้าวหน้าด้าน “เทคโนโลยีทางการทหาร” ที่โลกในอีกไม่กี่ปีข้างหน้านี้ (ไม่ต้องถึง 20 ปี) จะเปลี่ยนโฉมหน้าทุกกองทัพในโลกนี้ไปอย่างสิ้นเชิง!
ไม่กี่ปีก่อน โฆษกกระทรวงกลาโหมของไทย เคยกล่าวกับสำนักข่าวบีบีซีว่า “เทคโนโลยีของเรายังไม่ได้ล้ำสมัยเหมือนเขา อาวุธที่ใช้ก็ยังเป็นสมัยสงครามโลก เรายังเป็นแมนพาวเวอร์ (ใช้กำลังคน)… หากเราเติมเทคโนโลยี เติมอาวุธให้ทันสมัย ก็จะทำให้ลดกำลังพลลงได้ตามสมควร แต่พอกองทัพจะจัดซื้ออาวุธเข้ามา ก็กลายเป็นว่านี่ไงซื้ออาวุธอีกแล้ว ทั้งที่ความจริงเราซื้ออาวุธเพื่อลดคน เพราะถ้าไปลดคนก่อนแล้วอาวุธยังไม่เข้ามา มันอันตราย” (อ้างอิงจาก BBC ไทย)
แต่ปัญหาของกองทัพไทยก็คือ การซื้ออาวุธให้ทันสมัยเพื่อจะได้ลดขนาดกองทัพลงนั้น ถูกตั้งคำถามว่า “ทันสมัยจริงหรือ?”
เมื่อย้อนไปดูการจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ของกองทัพไทย ก็ต้องย้อนไปที่คำกล่าวเชิงตัดพ้อของโฆษกกระทรวงกลาโหมที่ว่า “พอกองทัพจะจัดซื้ออาวุธเข้ามา ก็กลายเป็นว่านี่ไงซื้ออาวุธอีกแล้ว” นั่นเป็นเพราะการจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ของกองทัพไทยมีปัญหามาตลอดอย่างยากจะปฏิเสธ ใช่หรือไม่?
ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสเปค (เรือเหาะตรวจการณ์ ราคา 350 ล้านบาท จัดซื้อสมัย พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา) เรื่องทุจริตคอรัปชั่น (GT200 จำนวน 1,398 เครื่อง ราคาตั้งแต่ 175,000-1.3 ล้านบาท จัดซื้อครั้งแรกสมัย พล.อ. สนธิ บุญยรัตกลิน เป็น ผบ.ทบ. และซื้อล็อตใหญ่สมัย พล.อ.อนุพงษ์ เป็น ผบ.ทบ. ต่อมากลาโหมตั้งงบตรวจเครื่องลวงโลกนี้อีก 7.5 ล้านบาท ก่อนยอมตัดงบไปเพราะโดนอภิปรายในสภา) เรื่องซื้อของตกรุ่นไร้คุณภาพ (รถถังหุ้มเกราะยูเครน จำนวน 96 คัน ราคารวม 3,898 ล้านบาท จัดซื้อสมัย พล.อ. สนธิ บุญยรัตกลิน เป็น ผบ.ทบ.) หรือเรื่องแปลกๆ ที่ไม่เหมือนกองทัพใดในโลกทำกัน อย่างการจัดซื้อ เรือดำน้ำไร้เครื่องยนต์ ด้วยงบประมาณถึง 1.35 หมื่นล้านบาท ที่ต่อมาตามสัญญาต้องใส่เครื่องยนต์ของเยอรมัน แต่จีนส่งให้ไม่ได้เนื่องจากโดนอียูแบนห้ามส่งออกอาวุธยุทโธปกรณ์ไปให้จีน จึงต้องใส่เครื่องยนต์จีนแทนทั้งที่ผู้ผลิตอย่างจีนก็ยังไม่เคยทำมาก่อน!
ถึงกระนั้นปี 2566 กระทรวงกลาโหม ก็ยังตั้งงบประมาณมโหฬารมากถึง 1.97 แสนล้านบาท คิดเป็น 6.2% ของงบประมาณทั้งหมด มากเป็นอันดับ 4 เมื่อเทียบกับกระทรวงอื่นที่สำคัญกว่า โดย 3 อันดับแรกคือ กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงการคลัง ตามลำดับ
ในขณะที่งบประมาณหลายหมวดและหลายหน่วยงานถูกกดให้ลดลง โดยเฉพาะในช่วงวิกฤตโควิด-19 รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ กลับให้ความสำคัญกับกำลังพลของกองทัพ มากกว่ากำลังคนในภาคสาธารณสุขและการศึกษา ยิ่งเมื่อย้อนไปดูแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ที่ระบุว่า “มุ่งเน้นการพัฒนาคน เครื่องมือ เทคโนโลยี…” แต่ในความเป็นจริงงบประมาณของกระทรวงกลาโหมกลับถูกแบ่งไปเป็นงบรายจ่ายบุคลากรมากที่สุด สวนทางกับงบที่ใช้ลงทุนในเทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อการป้องกันและพัฒนาประเทศ แทนที่จะใช้กำลังพลมากมายแบบเดิม
ถ้ารวมงบประมาณกลาโหมที่เต็มไปด้วยไขมันเทอะทะของบุคลากรที่ล้นเกิน กับงบจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ที่สูญเปล่าไร้ประสิทธิภาพในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา ป่านนี้ประเทศไทยอาจได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่น่าเกรงขามด้านเทคโนโลยีทางทหารที่สุดประเทศหนึ่งของเอเชียอาคเนย์ก็เป็นได้
- 10 เทรนด์เทคโนโลยีทางทหารที่กองทัพไทยต้องอัพเดท
ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีในยุคนี้พัฒนาไปอย่างรวดเร็วอย่างไม่หยุดยั้ง จนเกิดนวัตกรรมใหม่ๆ โดยเฉพาะในทางทหาร ที่การสู้รบเปลี่ยนยุทธวิธีไปอย่างมากจนต่างจากอดีตอย่างสิ้นเชิง ในปี 2023 นี้ มีการจัดอันดับ “10 เทรนด์และนวัตกรรมทางทหาร” เอาไว้อย่างน่าสนใจ ดังนี้
- 5G: การใช้เทคโนโลยี 5G ช่วยเพิ่มความรวดเร็วในการสื่อสารและการแลกเปลี่ยนข้อมูลในกองทัพ ช่วยให้สามารถปฏิบัติภารกิจได้อย่างรวดเร็วมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยเฉพาะการเชื่อมต่ออุปกรณ์ที่มีปริมาณข้อมูลมาก และการตอบสนองที่รวดเร็ว ซึ่งสำคัญในการปฏิบัติงานในสนามรบ เช่น การส่งข้อมูลภาพและเสียง การส่งข้อมูลการสั่งการและข้อมูลทางกายภาพเพื่อรองรับการเข้าถึงข้อมูลแบบเรียลไทม์ การควบคุมรถบังคับทหารและยานพาหนะอื่น ๆ ด้วยเทคโนโลยีระบบรถยนต์ไร้คนขับ (autonomous driving) 5G ยังสามารถรองรับการควบคุมด้วยระบบเซนเซอร์ในการตรวจจับการเคลื่อนไหวของอุปกรณ์หรือสิ่งแวดล้อมในสนามรบด้วย
- เทคโนโลยี AI: การใช้เทคโนโลยี AI จะช่วยให้กองทัพสามารถวิเคราะห์ข้อมูลและคาดการณ์อนาคตได้อย่างแม่นยำ โดย AI จะช่วยลดเวลาในการตัดสินใจและประหยัดค่าใช้จ่ายได้มากขึ้น รวมทั้งมีการนำมาใช้ในการพัฒนาระบบต่างๆ ในกองทัพทั่วโลก เช่น การตรวจสอบภาพจากกล้องวงจรปิด (CCTV) เพื่อตรวจจับการเคลื่อนไหวของศัตรูที่อาจเป็นอันตราย และสามารถทำงานได้ตลอดเวลา โดยไม่จำเป็นต้องมีการพัก
- หุ่นยนต์ทางทหาร: หุ่นยนต์ทางทหารช่วยให้ทหารสามารถทำภารกิจที่อันตราย หรือยากลำบากได้โดยไม่ต้องเสียเวลาในการฝึกฝน หรือเสี่ยงอันตรายต่อชีวิตหรือร่างกายของกำลังพล ในปี 2023 นี้ หุ่นยนต์ทหารได้รับการปรับปรุงและพัฒนาให้มีขีดความสามารถในการทำภารกิจที่ซับซ้อนมากขึ้น เช่น การแทนที่ทหารในภารกิจที่อันตรายและใช้เทคโนโลยี AI มาช่วยในการตัดสินใจในสถานการณ์ที่สอดคล้องกับการต่อสู้
4. โดรน (Drones) : เป็นเทคโนโลยีที่ได้รับความนิยมสูงในกองทัพยุคนี้ สามารถใช้สำหรับการสำรวจพื้นที่ ค้นหาศัตรู และปฏิบัติการทางทหารต่างๆ ที่หวังผลได้อย่างแม่นยำ นอกจากนี้กองทัพยุคใหม่ยังพัฒนาขีดความสามารถของ Autonomous Drones ซึ่งเป็นโดรนที่มีความสามารถในการบินและปฏิบัติงานโดยไม่จำเป็นต้องมีผู้ควบคุม โดรนรุ่นนี้นำเอาเทคโนโลยี AI มาช่วยในการตัดสินใจ และควบคุมการบินของโดรนโดยอัตโนมัติ ด้วยการใช้เซ็นเซอร์และกล้องหลายตัวเพื่อตรวจจับ และส่งภาพถ่ายหรือวิดีโอกลับมาให้กองทัพ
5. ระบบไอทีบูรณาการ (Integrated Information Technology System) : เป็นระบบที่มีความสามารถในการรวมเทคโนโลยีการสื่อสารข้อมูลและความรู้ทางทหารเข้าด้วยกัน เพื่อให้สามารถสื่อสารและจัดการข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
6. บล็อกเชน : คือเทคโนโลยีที่ช่วยในการจัดการข้อมูลโดยไม่ต้องพึ่งพาองค์กรกลางใดๆ โดยข้อมูลจะถูกเก็บไว้ในบล็อกที่มีการเข้ารหัสและถูกกระจายไปทั่วเครือข่าย ซึ่งช่วยให้การจัดการข้อมูลในสนามรบเป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ และรวดเร็วมากขึ้น นอกจากนี้ การใช้บล็อกเชนยังช่วยป้องกันการแฮ็กและป้องกันการปลอมแปลงข้อมูลได้ดีกว่าเทคโนโลยีอื่น ๆ
7. เทคโนโลยีเรียลไทม์ : เทคโนโลยีนี้มีความสำคัญในการให้ข้อมูลในขณะที่เกิดเหตุการณ์เหนือความคาดหมายในสนามรบ มีประสิทธิภาพในการตรวจจับ และติดตามศัตรูที่เคลื่อนที่อย่างรวดเร็ว โดยอาศัยเทคโนโลยีการระบุตำแหน่ง GPS หรือการระบุตำแหน่งด้วยระบบดาวเทียมอื่นๆ ซึ่งสามารถป้องกันการโจมตีได้อย่างทันท่วงที นอกจากนี้เทคโนโลยีเรียลไทม์ยังสามารถประมวลผล และวิเคราะห์ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับสนามรบ เช่น การตรวจจับในเขตที่เสี่ยงต่อการระเบิด การตรวจจับภัยพิบัติ การตรวจจับศัตรูนอกอาณาเขต และยังสามารถวิเคราะห์สถิติเพื่อช่วยในการตัดสินใจ พร้อมส่งผลลัพธ์ให้กับผู้ใช้งานได้ทันที ช่วยให้การปฏิบัติการในสนามรบสามารถดำเนินการได้ในเวลาที่รวดเร็วขึ้น
8. เทคโนโลยี IoT (Internet of Things) : สำหรับการเชื่อมต่ออุปกรณ์และข้อมูลต่างๆ การใช้เทคโนโลยี IoT ในสนามรบจะช่วยให้ทหารสามารถตรวจสอบและควบคุมอุปกรณ์ต่างๆ ผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ต ทำให้ทหารสามารถปรับปรุงการปฏิบัติการได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
9. เทคโนโลยี SATCOM (Satellite Communications) : เป็นเทคโนโลยีการสื่อสารแบบไร้สายที่ใช้ดาวเทียมเป็นตัวกลางในการส่งสัญญาณระยะไกล ในกองทัพยุคใหม่การใช้เทคโนโลยี SATCOM เป็นสิ่งสำคัญในการสื่อสารระหว่างทหารและฐานทัพ หรือการสื่อสารข้ามแดน ช่วยให้ทหารสามารถสื่อสารกันได้ในทุกสถานการณ์ ไม่ว่าจะเป็นในที่ที่ไม่มีสัญญาณโทรศัพท์หรืออินเทอร์เน็ต หรือในสถานการณ์ฉุกเฉินที่ต้องการสื่อสารด่วน ขณะนี้มีการนำระบบ Mesh Network มาใช้เพื่อเพิ่มความเสถียรและการเชื่อมต่อสูงสุด ทำให้ข้อมูลที่ส่งถึงเหล่าทหารที่อยู่ห่างไกลสามารถสื่อสารกันได้อย่างรวดเร็วและมีความแม่นยำสูง
10. ระบบป้องกันการเจาะคอมพิวเตอร์ (Cybersecurity) : เป็นเทคโนโลยีที่ช่วยป้องกันการเจาะคอมพิวเตอร์จากเหล่าแฮ็กเกอร์ที่อาจเข้าไปก่อกวนในระบบของกองทัพ และยึดควบคุมระบบการสื่อสารได้ นอกจากนี้ยังสามารถป้องกันการส่งข้อมูลที่ไม่ถูกต้องหรือข้อมูลที่ถูกเปลี่ยนแปลงบิดเบือนได้ การปฏิบัติการทางทหารในปัจจุบัน การป้องกันศัตรูด้านไซเบอร์เป็นสิ่งสำคัญอย่างมาก เพราะช่วยลดความเสี่ยงในการถูกแฮ็กลง ลดความสามารถในการเข้าถึงข้อมูลลับทางทหาร และช่วยเพิ่มความมั่นคงของระบบ
- เพนตากอนกับยุทธศาสตร์ “อ้วนต้องลด สลิมอย่างมีคุณภาพ”
มีบทความที่น่าสนใจชิ้นหนึ่ง ที่เรียบเรียงโดยผู้ที่ทำงานให้กับกระทรวงกลาโหมของสหรัฐ Eric Schmidt และ Robert O. Work เผยแพร่เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2566 บอกเล่าถึงกลยุทธ์ในการฟื้นฟูการป้องปรามทางทหารของอเมริกาว่า
“ความพยายามของเราในการช่วยฟื้นฟูศักยภาพทางเทคโนโลยีของกองทัพสหรัฐฯ เริ่มต้นขึ้นเมื่อ 6 ปีที่แล้ว ในห้องประชุมเพนตากอน พวกเราคนหนึ่งซึ่งเป็นอดีตผู้บริหารและผู้ริเริ่มเทคโนโลยีในซิลิคอนแวลลีย์ ขณะนั้นดำรงตำแหน่งเป็น ‘หัวหน้าคณะกรรมการนวัตกรรมกลาโหม’ ซึ่งเกิดขึ้นมาเพื่อรองรับความต้องการของกระทรวงกลาโหม ที่กำลังอยากได้เทคโนโลยีที่ทันสมัยที่สุดของอเมริกา อีกคนเป็นรองปลัดกระทรวงกลาโหม ที่มาปรับปรุงยุทธศาสตร์กองทัพสหรัฐใหม่สำหรับการแข่งขันที่เพิ่มขึ้นในหมู่มหาอำนาจของโลก”
เพนตากอน ได้รวบรวมระดับมันสมองด้านเทคโนโลยีมาทำงานร่วมกันในโครงการที่กองทัพสหรัฐฯ ฟื้นฟูความเหนือกว่าทางเทคโนโลยีของตนเหนือคู่แข่ง ซึ่งแน่นอนว่าคือ สาธารณรัฐประชาชนจีน (PRC) และ กองทัพปลดแอกประชาชนจีน (PLA) ที่ได้ศึกษาวิธีการทำสงครามของอเมริกามาอย่างใกล้ชิดในช่วงสามทศวรรษที่ผ่านมา และจีนได้ลงทุนในขีดความสามารถใหม่ด้านยุทธศาสตร์ความมั่นคงแห่งชาติ นั่นเพราะการทำสงครามในโลกยุคนี้ได้เปลี่ยนวิธีการเล่นไปหมดแล้ว
เช่นในปี 2016 แฮ็กเกอร์ชาวเกาหลีเหนือเกือบประสบความสำเร็จในการขโมยเงิน 1 พันล้านดอลลาร์ที่บังกลาเทศถือครอง ต่อมาในปี 2020 กองกำลังอาเซอร์ไบจันใช้โดรนขั้นสูงที่ผลิตในตุรกีไปทำลายรถถังของอาร์เมเนีย จนสามารถพลิกสถานการณ์ที่ยืดเยื้อมานานหลายทศวรรษในภูมิภาคนากอร์โน-คาราบัค ขึ้นมาได้ แสดงให้เห็นถึงขีดจำกัดของการพึ่งพายานเกราะในศตวรรษที่ 21 และในปี 2021 โดรนดูเหมือนจะกลายเป็นดาวเด่นในสนามรบไปแล้ว เช่นกันในปีนี้ “กองกำลังติดอาวุธและพลเรือนของยูเครน” ใช้บริการอินเทอร์เน็ตที่ให้บริการโดย Starlink ในสหรัฐฯ และแอปส่งข้อความที่ปลอดภัยซึ่งพัฒนาขึ้นในสวิตเซอร์แลนด์เพื่อรายงานความเคลื่อนไหวทางทหารของรัสเซีย
เมื่อเทคโนโลยีเกิดใหม่เติบโตขึ้น โดยเฉพาะปัญญาประดิษฐ์ การแข่งขันทางภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างสหรัฐฯ และจีน ก็ทวีความรุนแรงขึ้น การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวกระตุ้นให้เกิดการขยายตัวอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอวกาศและโดเมนไซเบอร์ ซึ่งความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีเกิดขึ้นอย่างไร้ขอบเขตเหนือเส้นแบ่งระหว่างดินแดน
ในขณะเดียวกัน เครื่องมือวิเคราะห์ที่ช่วยให้นักรบเข้าใจสนามรบจะถูกขับเคลื่อนด้วย AI กับข้อมูล ที่ช่วยให้นักรบในสงครามสามารถประมวลผลข้อมูลได้แม่นยำมากขึ้นแบบทวีคูณและแบ่งปันการค้นพบที่สำคัญในทันที AI ยังช่วยให้กองทัพสามารถค้นหารูปแบบที่มนุษย์คนเดียวไม่สามารถตรวจจับได้ ซึ่งนำไปสู่ข้อมูลเชิงลึกที่แปลกใหม่และแจ้งคำเตือนล่วงหน้าเกี่ยวกับปฏิบัติการของฝ่ายตรงข้ามได้ทันที
การปฏิบัติการทางทหาร ขนาด และความเร็วของการโจมตีทางไซเบอร์จะเพิ่มขึ้น ทำให้ฝ่ายตรงข้ามขัดขวางเครือข่ายการสื่อสาร ทำให้ข้อมูลปนเปื้อนจนคู่ต่อสู้อาจไม่มีเวลาตอบสนองอย่างมีประสิทธิภาพ เพนตากอนตระหนักว่า PLA กำลังพัฒนาแผนเพื่อก้าวข้ามขีดความสามารถทางทหารของสหรัฐฯ ด้วยการลงทุนเชิงรุกในเทคโนโลยีล้ำสมัย เช่น ปัญญาประดิษฐ์ big data การประมวลผลขั้นสูง และ 5G ซึ่งหากจีนประสบความสำเร็จในการเป็นผู้นำทางเทคโนโลยีในสงคราม ย่อมเป็นเรื่องใหญ่ที่สร้างความพารานอยด์ให้อเมริกาอยู่ไม่น้อยในห้วงเวลานี้
ความท้าทายนี้ จึงเป็นที่มาของการดำเนินกลยุทธ์ที่เรียกว่า Offset-X อันเป็นรากฐานสำหรับสหรัฐฯ ในการฟื้นฟูความเหนือกว่าทางเทคโนโลยีของกองทัพต่อศัตรูที่มีศักยภาพทั้งหมด กลยุทธ์นี้มีเป้าหมายเพื่อยับยั้งสงครามในอนาคตด้วยการพัฒนา การปรับใช้ และการใช้แนวคิด+ความสามารถใหม่ๆ โดยเป้าหมายคือ ลดค่าใช้จ่ายด้านกำลังพล ลดความเทอะทะของกองทหารให้เพรียวบางอย่างมีประสิทธิภาพด้วย “หัวใจหลัก” คือการทำงานร่วมกันระหว่างมนุษย์กับเครื่องจักร และไปเพิ่มต้นทุนทางการเมือง(นำการทหาร) สร้างภาวะที่กลืนไม่เข้าคายไม่ออกให้กับศัตรู (พรรคคอมมิวนิสต์จีน)
เชิงอรรถ :
Eric Schmidt อดีต CEO และประธานของ Alphabet
Robert O. Work ดำรงตำแหน่งรองรัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐคนที่ 32
- แนวรบยุคเอไอ ‘รักชาติอย่างฉลาด’ สร้างแสนยานุภาพด้วยนวัตกรรม
“แนวรบฝั่งตะวันตกเหตุการณ์เปลี่ยนไปแล้ว!” ในปี 2021 เป็นต้นมา นานาชาติได้เห็นการเปลี่ยนแปลงขั้นพื้นฐานในนโยบายความมั่นคงของอังกฤษว่า งบประมาณสำหรับเทคโนโลยีดิจิทัล ปัญญาประดิษฐ์ และไซเบอร์พุ่งสูงขึ้น ในทางตรงข้ามอังกฤษลดงบประมาณลงสำหรับฮาร์ดแวร์แบบดั้งเดิมและจำนวนกองทหาร
‘มิเชล ฟลัวร์นอย’ ผู้หญิงที่มีตำแหน่งสูงสุดในประวัติศาสตร์ของกระทรวงกลาโหม ผู้กุมอำนาจบริหารนโยบายของเพนตากอนแห่งสหรัฐ เธอคือมันสมองผู้อยู่เบื้องหลังการขับเคลื่อนกลยุทธ์ของสหรัฐฯ ในยุคประธานาธิบดี ‘บิล คลินตัน’ และ ‘บารัค โอบามา’ มิเชลเชื่อว่า การที่ชาติตะวันตกมุ่งความสนใจไปที่ตะวันออกกลางในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา ทำให้ศัตรูของตนสามารถตามทันได้อย่างมากมายในแง่การทหาร
“ประเทศเหล่านี้ส่งคนไปศึกษาเรียนรู้ในแนวทางการทำสงครามแบบตะวันตก และพวกเขาเริ่มลงทุนมหาศาลในโฮสต์ของเทคโนโลยีใหม่ทั้งหมด”
นั่นหมายถึงอะไรในทางปฏิบัติ?
มิเชลเห็นว่า สิ่งแรกที่จะเกิดขึ้นในการสู้รบใดๆ นับจากนี้ จะเป็นการโจมตีทางไซเบอร์ขนาดใหญ่จากคู่ขัดแย้งทั้งสองฝ่าย ความพยายามที่จะ “ปิดตา” อีกฝ่ายด้วยการทำให้การสื่อสารล้มเหลว รวมถึงดาวเทียม หรือแม้แต่การตัดสายเคเบิลใต้ทะเลที่สำคัญต่อการนำส่งข้อมูล
มิเชลมี ‘ฟรานซ์ สเตฟาน กาดี้’ (Franz-Stefan Gady) ผู้เชี่ยวชาญด้านการทำสงครามในอนาคต เป็นที่ปรึกษา ทั้งสองเล็งเห็นว่า “สงครามในอนาคต” จะเปลี่ยนโฉมหน้าโลก ประเทศมหาอำนาจกำลังลงทุนมหาศาลไม่เพียงแต่ในขีดความสามารถทางไซเบอร์เชิงรุกเท่านั้น แต่ยังรวมถึงขีดความสามารถในการทำสงครามอิเล็กทรอนิกส์ที่สามารถทำให้ดาวเทียมติดขัดและการสื่อสารล่ม ดังนั้นเป้าหมายจึงไม่ใช่แค่กองทัพ แต่สังคมโดยรวมก็จะเป็นเป้าหมายสำคัญของความขัดแย้งในอนาคตด้วย
ปัจจัยหนึ่งที่มีแนวโน้มที่จะมีบทบาทสำคัญในการทำสงครามในอนาคตคือ ปัญญาประดิษฐ์ – AI สิ่งนี้สามารถเพิ่มความเร็วในการตัดสินใจและตอบสนองได้อย่างมาก ทำให้สามารถประมวลผลข้อมูลได้รวดเร็วยิ่งขึ้น โดยมิเชล กล่าวว่า กลยุทธ์หนึ่งที่สำคัญในการวางแผนป้องกันการโจมตีของศัตรูที่ซับซ้อนขึ้นก็คือ “การจับคู่มนุษย์กับเครื่องจักร”
ดังนั้นการที่สหราชอาณาจักรตัดสินใจลดกองกำลังแบบเดิมๆ เพื่อหันมาลงทุนในเทคโนโลยีใหม่ๆ ฟรานซ์-ผู้เชี่ยวชาญด้านสงครามในอนาคต เชื่อว่าสิ่งนี้จะให้ประโยชน์คุ้มค่าอย่างแน่นอนในระยะเวลา 20 ปีนี้
ทั้งหมดนี้คือ การสร้างแสนยานุภาพทางทหารในแนวรบยุคใหม่ ที่ไม่เน้นการใช้เลือดเนื้อพลทหารเข้าแลกอีกต่อไป แต่เป็นการรักชาติด้วยมันสมอง ลงทุนกับคนเก่งหรือผู้เชี่ยวชาญเทคโนโลยี ด้วยงบประมาณที่เท่าเดิมหรืออาจมากกว่าเล็กน้อย แล้วใช้กลยุทธ์ล้ำๆ ที่ให้ประสิทธิภาพมากกว่าและเห็นผลกว่า
เชิงอรรถ: เกี่ยวกับ Franz-Stefan เขาเป็นที่ปรึกษาให้กองทัพในยุโรปและสหรัฐอเมริกาด้านการปฏิรูปโครงสร้างและอนาคตของความขัดแย้งทางอาวุธ ผู้เชี่ยวชาญประจำโครงการปฏิรูปความมั่นคงแห่งชาติ สถาบัน EastWest และมหาวิทยาลัยป้องกันประเทศ มีผลงานวิจัยภาคสนามในอัฟกานิสถานและอิรัก กองทัพแห่งชาติอัฟกานิสถาน กองกำลังนาโต้ และกลุ่มติดอาวุธชาวเคิร์ด ทำหน้าที่รายงานความเคลื่อนไหวจากพื้นที่ความขัดแย้งในหลายประเทศในฐานะผู้สื่อข่าว
- ตำราพิชัยสงครามยุคใหม่: ตัวช่วยเปิดโลกให้ผู้นำกองทัพยุคไฮเทค
ในยุคยุทธไซเบอร์ โลกมีหนังสือหลายเล่มที่นำเสนอข้อมูลและให้ความรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์สงคราม นวัตกรรมด้านกลยุทธ์ เทคโนโลยี ข้อมูลและสงครามไซเบอร์ รวมถึงจริยธรรมเกี่ยวกับอาวุธแห่งอนาคต ที่ Leiden University มหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศเนเธอร์แลนด์ แนะนำให้อ่านเพื่อศึกษา ‘ตำราพิชัยสงครามยุคใหม่’ ซึ่งยังมีอีกหลายเล่มที่ ม.ไลเดน แนะนำ ในที่นี้ได้คัดสรรที่น่าสนใจมา 6 เล่ม ดังนี้
ชื่อหนังสือ: Introduction to Global Military History (บทนำสู่ประวัติศาสตร์การทหารทั่วโลก : 1775 ถึงปัจจุบัน) ผู้เขียน : Jeremy Black ปีที่พิมพ์: 2019
‘Introduction to Global Military History’ พาไปสำรวจประวัติศาสตร์การทหารตั้งแต่ปลายศตวรรษที่ 18 จนถึงปัจจุบัน เนื้อหาครอบคลุมเหตุการณ์สำคัญๆ และการสู้รบจากภูมิภาคต่างๆ ของโลก โดยเน้นเรื่องราวของเทคโนโลยี การเมือง และสังคม ลักษณะของสงครามรูปแบบต่างๆ หนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือคลาสสิกในสาขาการทหาร พิมพ์ครั้งแรกในปี 2548 ฉบับพิมพ์ใหม่นี้มีบทแก้ไขทั้งหมดเกี่ยวกับความขัดแย้งในช่วงศตวรรษที่ 18 การรายงานข่าวเหตุการณ์หลังปี 2533 และเพิ่มเนื้อหาครอบคลุมความขัดแย้งนอกประเทศตะวันตก เพื่อไล่เรียงให้เห็นภาพแท้จริงของความเปลี่ยนแปลงอันหลากหลายของประวัติศาสตร์การทหารสมัยใหม่ ทั้งความขัดแย้งที่ไม่ค่อยมีใครรู้จัก มีภาพประกอบพร้อมด้วยแผนที่ และกรณีศึกษา เป็นหนังสือที่ผู้สนใจศึกษาด้านประวัติศาสตร์การทหารสมัยใหม่และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ควรได้อ่าน
ชื่อหนังสือ : Hybrid Warfare (สงครามไฮบริด)
ผู้เขียน : มิคาเอล ไวส์มันน์ ; นิคลาส นิลส์สัน; บียอร์น พาลเมิร์ตซ์
ปีที่พิมพ์ : 2021
การโจมตีทางไซเบอร์ แคมเปญข่าวปลอม และกองทหารกบฏที่สนับสนุนอย่างลับๆ ได้กลายเป็นส่วนสำคัญของความขัดแย้งและการทำสงครามระหว่างประเทศ ถึงเวลาแล้วหรือยังที่จะพูดถึง Hybrid Warfare หรือ ‘สงครามลูกผสม’ คำนี้หมายความว่าอย่างไร? ประเทศใดบ้าง? ที่ใช้ยุทธวิธีสงครามแบบผสมผสาน และประเทศอื่นๆ จะป้องกันตัวเองได้อย่างไร? เล่มปรับปรุงใหม่นี้ให้คำตอบต่อคำถามเหล่านี้ผ่านการผสมผสานระหว่างการสะท้อนแนวคิดและกรณีศึกษาในโลกแห่งความเป็นจริง ให้ภาพรวมของการพัฒนา Hybrid Warface เป็นแบบจำลองแนวคิด การวิเคราะห์ และข้อจำกัดต่างๆ ที่น่าสนใจยิ่งกว่าคือ กรณีศึกษาที่กล่าวถึงยุทธศาสตร์เฉพาะของประเทศที่น่าจับตามอง เช่น รัสเซีย จีน และอิหร่าน และการตอบสนองของหน่วยงานต่างๆ เช่น NATO สหภาพยุโรป และสหรัฐอเมริกา ในเล่มมีเนื้อหาที่เข้มข้นเป็นพิเศษ อย่างการวิเคราะห์ว่ารัฐบอลติกและยูเครนตอบสนองต่อการโจมตีของรัสเซียและความพยายามบ่อนทำลายหน่วยงานและสถาบันต่างๆ อย่างไร
ชื่อหนังสือ : Drone Theory (ทฤษฎีโดรน)
ผู้เขียน: เกรกัวร์ ชามายู
ปีที่พิมพ์ : 2015
เขียนขึ้นเพื่อตอบสนองต่อการใช้โดรนที่เพิ่มขึ้นในปากีสถาน หนังสือทฤษฎีโดรนของ Grégoire Chamayou เล่มนี้นำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับสงครามโดรนในยุคแรกๆ และผลกระทบทางสังคม-การเมืองที่มีในเวทีโลก ชามายู-ผู้เขียน ถ่ายทอดเรื่องราวจากประสบการณ์ตรงจากการเป็นผู้ควบคุมโดรนติดอาวุธ ความเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรงในวิธีคิดทางการทหารและวิธีการทำสงคราม เขาให้เหตุผลว่า ผลที่ตามมาจากการใช้โดรนนั้นกว้างไกล ไม่เพียงแค่โดนเป้าหมายที่ตั้งใจเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงนักบินที่อยู่ห่างออกไปหลายไมล์ ณ ส่วนควบคุมด้วย สงครามโดรนมีผลทางปรัชญาและการเมืองที่สำคัญสำหรับประชากร ‘ที่นั่น’ และ ‘ที่บ้าน’ ในเล่มยังเล่าถึงประวัติของโดรน ผลกระทบทางจิตวิทยา จริยธรรม และปรัชญาของการใช้อาวุธเหล่านี้ รวมถึงผลพวงทางการเมืองที่ลึกซึ้ง ซึ่งส่งผลต่อความขัดแย้งทั่วโลก
ชื่อหนังสือ : Autonomous Weapons Systems Law, Ethics, Policy (ระบบอาวุธอิสระ: กฎหมาย, จริยธรรม, นโยบาย)
ผู้เขียน : ศาสตราจารย์เนฮาล บูตา
ปีที่พิมพ์ : 2016
หนึ่งในความท้าทายที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของศตวรรษที่ 21 คือการที่มนุษย์จะตอบสนองต่อพลังที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ของคอมพิวเตอร์ได้อย่างไร เพื่อให้แน่ใจว่าคอมพิวเตอร์ ‘เพิ่มประสิทธิภาพมากกว่าทำลายวัตถุประสงค์ของมนุษย์’ นับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่การตัดสินใจเรื่องชีวิตหรือความตายเกิดขึ้นในกรณีที่ไม่มีมนุษย์อยู่ในสนามรบด้วย ทำให้การรับรู้สถานการณ์ต่างๆ ถูกกำหนดโดยเซ็นเซอร์และข้อมูล มนุษยชาติกำลังมาถึงทางแยก โดยมีกรอบจริยธรรมในการตัดสินใจเรื่องความเป็นความตาย หนังสือเล่มนี้มุ่งเน้นไปที่ด้านกฎหมายและจริยธรรมของนโยบายที่ควรควบคุมระบบอาวุธอิสระ ‘Autonomous Weapons Systems’ สำรวจคำถามปลายเปิดอันเกี่ยวเนื่องกับความสมดุลระหว่างวิจารณญาณของมนุษย์กับความเป็นอิสระของเครื่องจักร ในสงครามไฮเทคสมัยใหม่
ชื่อหนังสือ : Information Warfare in The Age of Cyber Conflict (สงครามข้อมูลในยุคแห่งความขัดแย้งทางไซเบอร์)
ผู้เขียน : คริสโตเฟอร์ ไวท์, เทรเวอร์ ทรอล, ดร.ไบรอัน เอ็ม มาซาเน็ค
ปีที่พิมพ์ : 2021
ในโลกที่แข่งขันกันเพื่อแย่งชิงความสนใจทุกวินาที ข้อมูลได้กลายเป็นอาวุธที่ทรงพลังเป็นพิเศษ ในขณะที่ความขัดแย้งทางไซเบอร์วนเวียนอยู่กับการจัดการระบบดิจิทัลที่มีข้อจำกัดในการทำงาน ทว่าสงครามข้อมูลมีเป้าหมายที่กว้างกว่านั้นมาก นั่นคือ ‘การทำให้ข้อมูลเป็นอาวุธ’ การสู้รบที่สร้างอิทธิพลโดยรัฐชาติและกลุ่มอำนาจเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา? โซเชียลมีเดียถูกใช้เพื่อเผยแพร่ข้อมูลโดยผู้กระทำเหล่านี้ในทางใดบ้าง? และเป็นไปได้ไหมที่จะปกป้องระบอบประชาธิปไตยจากอิทธิพลของฝ่ายต่อต้านประชาธิปไตย? หนังสือเล่มนี้ได้ให้คำตอบต่อคำถามทั้งหมดนี้โดยผู้มีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับนับถือในสาขาความมั่นคงแห่งชาติ (ระหว่างประเทศ) สหรัฐอเมริกา
ชื่อหนังสือ : Cyber Wars in The Middle East (สงครามไซเบอร์ในตะวันออกกลาง)
ผู้เขียน : รศ.อาเหม็ด อัล-ราวี
ปีที่พิมพ์ : 2021
‘สงครามไซเบอร์ในตะวันออกกลาง’ เป็นหนังสือที่ให้ข้อมูลรอบด้านจากการวิเคราะห์โดยละเอียดเกี่ยวกับบทบาทของสงครามไซเบอร์ในภูมิทัศน์ทางการเมืองและความมั่นคงที่ซับซ้อนในตะวันออกกลาง หนังสือเล่มนี้นำเสนอการสำรวจเชิงลึกเกี่ยวกับแรงจูงใจและกลยุทธ์ของ “ผู้เล่น” ทั้งภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องกับสงครามไซเบอร์ในภูมิภาคนี้ อัล-ราวิ (ผู้เขียน) ให้ความเข้าใจในความแตกต่างกันของบุคคลแต่ละกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับการโจมตีทางไซเบอร์ และวิธีการที่ผู้เล่นเหล่านี้มีปฏิสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน ทั้งพลังทางการเมืองและสังคมที่กว้างขึ้น โดยรวมแล้วหนังสือเล่มนี้คือ ผลงานทรงคุณค่าในการศึกษาด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ ซึ่งจำเป็นสำหรับคนที่สนใจศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับความซับซ้อนและอินเทอร์เฟซของเทคโนโลยี การเมือง และความขัดแย้งในตะวันออกกลาง ด้วยการเรียบเรียงเนื้อหาที่ชัดเจน กระชับ และน่าสนใจ สามารถเข้าถึงได้ไม่ยากทั้งผู้เชี่ยวชาญและผู้อ่านทั่วไป
ที่มา https://www.universiteitleiden.nl/en/news/2023/03/warfare-technology-and-ethics
แหล่งข้อมูล: BBC , foreignaffairs.com , warriormaven.com/future-weapons
แปลและเรียบเรียง : ฮัลวา ตาญี