เปิดแบบเรียนตกยุค “ภาษาพาที” มีหนักกว่า ‘ข้าวไข่ต้มคลุกน้ำปลา’ ชวนตั้งคำถามสอนอะไรใส่หัวเด็ก?

จากประเด็นดรามาที่สังคมตั้งคำถามและวิจารณ์แบบเรียนภาษาพาที ระดับชั้น ป.5 ที่มีเนื้อหาว่า กินไข่ต้มครึ่งซีกเหยาะน้ำปลา หรือข้าวเปล่าคลุกน้ำผัดผักบุ้ง แล้วนำเสนอว่าตัวละครในหนังสือมีความสุขจากความพอเพียง แต่ในโลกความจริงหลายฝ่ายมองว่าเด็กจะได้รับสารอาหารไม่เพียงพอต่อการพัฒนาการของร่างกาย

หลังมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์เกิดขึ้น ทางผู้รับผิดชอบในการจัดทำแบบเรียนก็ได้ออกมาโต้กลับว่า “เรื่องดังกล่าวต้องดูที่เจตนารมณ์ของการจัดการเรียนรู้ว่า เรามีเป้าหมายให้บทเรียนแต่ละบทเรียนสอนเรื่องอะไร โดยกระบวนการเรียนรู้มีขั้นตอนให้เด็กได้เกิดการเรียนรู้และสื่อประกอบการจัดการเรียนรู้ ประเด็นดังกล่าวที่เกิดขึ้นเป็นสื่อประเภทหนึ่งที่ใช้ประกอบการจัดการเรียนรู้เท่านั้นไม่ใช่เป็นหนังสือเรียน โดยบทเรียนดังกล่าวเราต้องการให้เด็กนำภาษาไปใช้และการแสดงออกถึงความรู้สึกนึกคิดและเห็นคุณค่าของความสุขผ่านบทวรรณกรรม ดังนั้นคนเขียนจึงออกแบบด้วยการกำหนดตัวละครขึ้นในชีวิตจริง มีทั้งคนจนและคนรวย และคนที่เลือกเกิดไม่ได้ ซึ่งเป็นบทบาทสมมติของครอบครัวที่ร่ำรวยอยู่สุขสบายแต่หาความสุขไม่เจอ แต่อีกครอบครัวที่ยากลำบากมีไข่ชิ้นเดียวแบ่งปันกันด้วยความสุข ซึ่งไข่ต้มในบทวรรณกรรมนั้นไม่พูดถึงโภชนาการ แต่เล่าถึงความสุขง่ายๆ จากการแบ่งปัน”

ด้านผู้บริหารของ คณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ที่รับทราบถึงเสียงสะท้อนจากคนในสังคม ได้สั่งตรวจสอบเนื้อหาในแบบเรียน ภาษาพาที ป.5 และสั่งการให้คณะกรรมการ สำนักวิชาการ หารือกับผู้เขียน แก้ไขเพิ่มเติมเนื้อหาเพื่อการสื่อสารทำความเข้าใจให้ชัดเจนเรื่องโภชนาการอาหารใหม่ ในประเด็นที่ถูกวิจารณ์

เนื้อหาด้อยค่าเพศหญิง สะท้อนสังคมปิตาธิปไตย การละเมิดสิทธิมนุษยชนและอคติทางเพศ

แต่หากย้อนกลับไปเมื่อปี 2563 ประเด็นดราม่าจากหนังสือเล่มเดียวกันนี้ก็เคยเกิดขึ้น และได้มีผู้ท้วงติงกล่าวเตือนให้ทาง สพฐ.หันมาใส่ใจปรับปรุงเนื้อหาให้ทันสมัยและมีความเหมาะสมกับยุคสมัย จนเกิดแคมเปญรณรงค์ว่า ‘ถึงเวลาปรับเนื้อหาไม่เหมาะสมในแบบเรียนภาษาไทย’ และมีการติดแฮชแทค #Saveเกี๊ยว มาแล้ว

โดยมาจากบทเรียนเรื่อง “เสียแล้วไม่กลับคืน” บทที่ 14 ในหนังสือภาษาพาที ป.6 กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย ตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ.2551 ที่มีตัวละครสาววัยรุ่นชื่อ “เกี๊ยว” ในบทนี้ระบุว่า “ใจแตกมาตั้งแต่ยังไม่มีคำนำหน้าว่านางสาว ตามีไว้ดูโทรทัศน์ ปากมีไว้กิน และพูดไร้สาระ หูมีไว้แนบโทรศัพท์มือถือ แทบไม่เคยห่าง….ตอนกลางวันเกี๊ยวหนีโรงเรียนไปเที่ยวตามศูนย์การค้า กลางคืนหนีออกจากบ้านไปเที่ยวผับ หนุ่มๆในซอยสามารถหยอกเอินเกี๊ยวด้วยคำพูดที่คึกคะนอง ลามปาม ไม่ให้เกียรติ แทนที่จะโกรธและเดินหนี เกี๊ยวกลับสนุกที่จะโต้ตอบกลับ ด้วยคำพูดลักษณะเดียวกัน”

ซึ่งเนื้อหานี้ทำให้ผู้ปกครองจำนวนมากตั้งคำถามว่า แบบเรียนนี้กำลังปลูกฝังค่านิยมผิดๆ ให้กับนักเรียนหรือไม่ แม้ดูเหมือนจะต้องการสอนเด็ก แต่ในอีกด้านหนึ่งก็เป็นการลดทอนคุณค่าผู้หญิงหรือไม่ และยังปลูกฝังค่านิยมตกยุคให้นักเรียนเข้าใจว่า ‘ผู้หญิงจะต้องเป็นช้างเท้าหลัง’ ต้องมีกรอบตามขนบที่สังคมแบบปิตาธิปไตย ‘ตั้งธง’ ไว้ เนื้อหาได้มองข้ามเรื่องสิทธิสตรี และความเท่าเทียมทางเพศ ขาดการปลูกฝังเรื่องสิทธิมนุษยชน และส่งเสริมการเคารพความแตกต่าง ให้เกียรติซึ่งกันและกันไม่ว่าจะเป็นเพศไหนก็ตาม

เนื้อหาเหยียดชาติอื่น
ตัวละครแสดงความมักง่ายทำตามใจตัวเองแต่กลับมองผู้อื่นว่าไร้น้ำใจ เมื่อถูกปฎิเสธอย่างตรงไปตรงมาทั้งที่เป็นเรื่องถูกต้อง
ตัวละครถูกล้อเลียนแต่กลับสอนว่าเป็นการแสดงความรัก!?!
เนื้อหาบูลลี่ตกยุค มีงานวิจัยระบุว่า การนอน(ในยามว่าง)ถือเป็นการพักผ่อนที่ดีที่สุด
ยัดเยียดค่านิยมทำบุญแบบสุดโต่งจนขาดสติรู้คิด
สอนให้ยอมจำนนจากการถูกเอาเปรียบ ไม่รักษาสิทธิของตัวเองที่ควรแจ้งความให้กฏหมายลงโทษคนทำผิด

ไม่เพียงเท่านั้น ล่าสุดในทวิตเตอร์ยังมีการเผยแพร่เนื้อหาในแบบเรียนภาษาพาทีหลายต่อหลายบท ที่สร้างตัวละครสมมติแบบยัดเยียดค่านิยมสุดโต่ง แนวคิดผิดๆ ทั้งการบูลลี่(เช่นบอกว่าการถูกล้อเลียนคือความรัก) เหยียดชาติอื่น การยอมจำนนไม่เคารพสิทธิตัวเอง การด้อยค่าเพศหญิง ไม่ส่งเสริมเรื่องสิทธิมนุษยชน การทำบุญแบบไม่ยั้งคิด ไปจนถึงเนื้อหาผิดเพี้ยนอย่างการบอกว่า คน “ไม่มีน้ำใจ” เพียงเพราะทำตามความถูกต้องตรงไปตรงมา จากการปฏิเสธความมักง่ายคิดถึงแต่ตัวเองของตัวละครหนึ่ง

โพสต์เสียดสีสะท้อนสังคมไทยต่อกรณีแบบเรียนภาษาพาที ในเพจดัง

ทั้งหมดนี้สะท้อนชัดว่า หมดเวลาแล้วที่ ศธ. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะมัวเพิกเฉยปล่อยเวลาผ่านไปเรื่อยๆ จนโดนวิพากษ์วิจารณ์ซ้ำซากโดยไม่คิดปรับปรุงแก้ไขสังคายนาระบบการเรียนการสอนตามค่านิยมเก่าตกยุค ให้ทันสมัยทันโลกอย่างจริงจังเสียที!

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *