องค์การอนามัยโลกเปิดเผยข้อมูลในรายงาน 10 ปัญหาคุกคามสาธารณสุขโลกปี พ.ศ. 2562 (Ten threats to global health in 2019) โดยระบุว่ามลพิษทางอากาศและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ คือภัยคุกคามต่อสิ่งแวดล้อม นำมาสู่ปัญหาสุขภาพที่รุนแรงที่สุด หรือคิดเป็น 9 ใน 10 คนต้องเผชิญกับมลพิษทางอากาศ
โดยสาเหตุหลักของการเกิดมลพิษทางอากาศนั้น มาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และร้อยละ 90 ของผู้เสียชีวิตมาจากประเทศรายได้ปานกลางไปจนถึงรายได้ต่ำ นอกจากนี้ประเทศไทยมีอัตราการเกิดโรคมะเร็งที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยคนไทยเสียชีวิตจากฝุ่น PM2.5 ประมาณ 70,000 คนต่อปี และคนไทยป่วยเป็นมะเร็งปอด เพิ่มขึ้นวันละ 42 คน
นอกจากนี้ เป้าหมายที่ 3 ของการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals-SDGs) ที่เกี่ยวกับชีวิตที่มีสุขภาพดีและและส่งเสริมสุขภาวะแก่ประชาชนทุกคนในทุกช่วงวัย ข้อที่ 9 ได้ระบุไว้อย่างชัดเจนว่า ภายในปี 2573 จะต้องลดอัตราการตายและเจ็บป่วยจากสารเคมีอันตราย มลพิษและการปนเปื้อนในอากาศ น้ำ และดินให้มีจำนวนลดลง โดยกำหนดแนวทางว่าให้มีการเสริมขีดความสามารถทุกประเทศโดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศกำลังพัฒนาในการแจ้งเตือนภัยล่วงหน้า การลดความเสี่ยง และการจัดการความเสี่ยงทางสุขภาพทั้งในระดับประเทศและระดับโลก
โครงการวิจัย “การพัฒนาระบบเฝ้าระวังผลกระทบทางสุขภาพโดยชุมชนในจังหวัดน่าน ประเทศไทย กรณีความเสี่ยงจากการแพร่กระจายมลพิษข้ามพรมแดนลาว-ไทย” โดยการสนับสนุนการวิจัยของสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) เป็นแนวทางหนึ่งของการเฝ้าระวังมลพิษโดยชุมชน ซึ่งเข้ามามีบทบาทในเรื่องดังกล่าวมากขึ้น โดยสามารถเฝ้าระวังและติดตามคุณภาพอากาศและสิ่งแวดล้อมได้ด้วยตนเอง บนการใช้ความรู้ที่ได้จากงานวิจัย เช่น ความรู้ในการใช้เครื่องมืออย่างง่ายในการตรวจวัดซัลเฟอร์ออกไซด์ในอากาศ การใช้เครื่องมือวัดค่าความเป็นกรด ด่างของน้ำ การติดตั้งเครื่องวัดคุณภาพอากาศ โดยเฉพาะ PM2.5 ซึ่งเป็นการวัดแบบเรียลไทม์เชื่อมกับฐานข้อมูลออนไลน์ รวมทั้งการทดลองให้ชาวบ้านบันทึกข้อมูลลงในระบบดิจิทัลโดยใช้โทรศัพท์มือถือ เป็นต้น ทั้งนี้งานวิจัยดังกล่าวประกอบไปด้วยทีมวิจัยจากสถาบันการศึกษาต่างๆ ได้แก่ ศูนย์วิจัยวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม คณะวิทยาศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ทำหน้าที่ในการพัฒนาการใช้ดัชนีบ่งชี้ทางเคมีและชีวภาพเพื่อติดตามตรวจสอบมลพิษทางอากาศและการพัฒนาเครื่องมือสำหรับชุมชนในการเฝ้าระวังคุณภาพอากาศ
คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร จัดทำแผนที่ความเสี่ยงการติดตามการปนเปื้อน และประเมินผลกระทบต่อสุขภาพและการดำรงชีวิตของชุมชนจากมลพิษทางอากาศจากโรงไฟฟ้าถ่านหินตกสะสมในสิ่งแวดล้อม คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี พัฒนาและใช้ระบบข้อมูลเฝ้าระวังชุมชนเพื่อเตรียมความพร้อมต่อการรับมือกับปัญหามลพิษข้ามพรมแดน สำนักเครือข่ายสื่อสาธารณะ สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส (TPBS) พัฒนาเครื่องมือและช่องทางการสื่อสารแบบดิจิทัลบนแพลตฟอร์มโมบาย แอปลิเคชันเพื่อการเฝ้าระวังผลกระทบทางสุขภาพโดยชุมชน และมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (มสช.) และสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ออกแบบระบบเฝ้าระวังผลกระทบทางสุขภาพโดยชุมชนโดยใช้แนวคิดวิทยาศาสตร์ภาคพลเมือง (Citizen Science) และการสร้างความรู้ร่วมกัน (Coproduction of Knowledge) ระหว่างความรู้ของผู้เชี่ยวชาญและความรู้จากประสบการณ์ชีวิตของคนในชุมชน (Lay Knowledge)
ทั้งนี้ความสัมพันธ์ของธรรมชาติที่อยู่รอบๆ ตัวเรา ส่งผลกระทบถึงกันอย่างเลี่ยงไม่ได้ บางครั้งอาจตั้งต้นที่อากาศ แต่ผลจะถูกขยายต่อไปยังดิน น้ำ สัตว์ พืช และสุดท้ายมนุษย์ก็จะได้รับผลกระทบเช่นกัน ซึ่งการแพร่กระจายมลพิษข้ามพรมแดนลาว-ไทย กรณีโรงไฟฟ้าหงสาซึ่งเป็นการเผาถ่านหินเพื่อผลิตไฟฟ้า นอกจากกระแสไฟฟ้าที่ได้แล้ว ยังก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศจากกระบวนการเผาไหม้ ซึ่งลมสามารถพัดพามลพิษเหล่านี้มายังประเทศไทยได้ โดยมลพิษจากกรณีดังกล่าวประกอบด้วย แก๊สที่มีฤทธิ์เป็นกรด ได้แก่ ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ไนโตรเจนไดออกไซด์ที่ส่งผลกระทบโดยตรง ทำให้เกิดการระคายเคืองผิวหนัง ตา จมูก คอ และระบบทางเดินหายใจ ซึ่งเมื่อมลพิษทางอากาศนี้เจอกับฝน ฝนที่ตกลงมาจะกลายเป็นฝนกรด
ส่วนดินและแหล่งน้ำจะมีความเป็นกรดเพิ่มขึ้น และทำให้พืชผลทางการเกษตรเกิดความเสียหายหรือมีความผิดปกติ สารปรอท เมื่อถูกสะสมในดินและน้ำ ความเป็นพิษจะสูงกว่าปรอทธรรมดา ทำให้สัตว์น้ำ เช่น ปลา มีปริมาณความเข้มข้นของสารพิษเพิ่มมากขึ้น และเมื่อคนกินปลาที่มีสารปรอทปนเปื้อน ทำให้มีสารปรอทสะสมในร่างกาย ส่งผลกระทบต่อระบบประสาทและสมอง ทำให้เกิดความบกพร่องเกี่ยวกับการเรียนรู้ในเด็กแรกเกิด และเป็นสาเหตุหนึ่งที่ก่อให้เกิดโรคหัวใจ ฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 เมื่อหายใจจะเข้าไปเกาะติดอยู่ตามทางเดินหายใจ ผ่านเข้าไปสู่ปอดและกระแสเลือด ส่งผลกระทบต่อระบบทางเดินหายใจ หัวใจและหลอดเลือด นอกจากนี้ยังมีมลพิษอื่นๆ อีก เช่น โลหะที่ไม่ใช่ปรอท ตะกั่ว สารหนู แมงกานีส แคดเมียม ฯลฯ ดังนั้นพื้นที่อำเภอเฉลิมพระเกียรติ และอำเภอทุ่งช้าง จ.น่าน ซึ่งตั้งอยู่ไม่ไกลจากโรงไฟฟ้าหงสา จึงเป็นพื้นที่เสี่ยงต่อการได้รับผลกระทบทั้งด้านสิ่งแวดล้อม สุขภาพ และรายได้จากการทำเกษตรลดลงเนื่องจากผลผลิตเสียหายหรือมีความผิดปกติ
ชุมชนจึงจำเป็นต้องมีระบบการเก็บข้อมูลระบบนิเวศน์ในชุมชน โดยกิจกรรมเฝ้าระวังจะใช้หลักการวิทยาศาสตร์พลเมือง คือการเก็บหลักฐานโดยใช้หลักฐานทางวิทยาศาสตร์ ที่สามารถดำเนินการได้โดยชุมชน ไม่ว่าจะเป็นลำน้ำที่มีตัวชี้วัดทางชีวภาพที่บ่งบอกคุณภาพของน้ำ การตรวจวัดค่าน้ำฝน ดูสัตว์น้ำ พันธุ์พืช ซึ่งทั้งหมดทั้งมวลล้วนส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ซึ่งกันและกัน และมนุษย์ก็เป็นหนึ่งในระบบนิเวศน์นั้นด้วย ผนวกกับข้อมูลที่เป็นมิติทางสังคม วัฒนธรรมและเศรษฐกิจของหมู่บ้าน เช่น ประวัติชุมชน ประวัติศาสตร์ลำน้ำ เมนูอาหารถิ่น พิธีกรรม รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่เกิดขึ้นรอบตัวชาวบ้าน จะถูกบันทึก ประมวล และถ่ายทอดสู่ข้อสรุป เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น ด้วยภูมิปัญญาของชุมชนผสานกับวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสมัยใหม่ ทำให้พัฒนาไปสู่วิทยาศาสตร์พลเมืองที่ประชาชนสามารถมีส่วนร่วมในการเฝ้าระวังมลพิษรอบตัวที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้จริง
นางสาวสมพร เพ็งค่ำ มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (มสช.) ผู้จัดการชุดโครงการวิจัยฯ เครือข่ายวิจัย สวรส. ให้ข้อมูลที่พบจากชุดโครงการวิจัยดังกล่าวนี้ว่า การศึกษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมเบื้องต้นในพื้นที่ 8 หมู่บ้านของอำเภอเฉลิมพระเกียรติ จ.น่าน พบความเสี่ยงที่อาจส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่และควรมีการติดตามเฝ้าระวังผลกระทบต่อไปในอนาคต ดังนี้ 1. มลพิษทางอากาศ พบฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 สะสมบริเวณบ้านภูคำและบ้านวังผามากสุด ประมาณร้อยละ 35 มีการสะสมของก๊าซที่มีฤทธิ์เป็นกรด ได้แก่ ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ และไนโตรเจนไดออกไซด์ บริเวณบ้านน้ำรีพัฒนามากสุด รองลงมาคือบ้านกิ่วจันทร์และบ้านน้ำช้าง ส่วนบ้านง้อมเปาและบ้านด่านมีค่าในระดับต่ำ เนื่องจากอยู่ไกลออกไป 2. ดินมีค่าเป็นกรด (ค่า pH ประมาณ 4-5) บริเวณบ้านกิ่วจันทร์ บ้านน้ำช้าง บ้านน้ำรีพัฒนา บ้านห้วยโก๋น บ้านสบปืน บ้านห้วยทรายขาว 3. พืชมีผลผลิตลดลง และพืชบางชนิดเกิดโรคหรือความผิดปกติ พบในทั้ง 8 หมู่บ้านของพื้นที่อำเภอเฉลิมพระเกียรติ ได้แก่ บ้านน้ำช้าง บ้านสบปืน บ้านง้อมเปา บ้านด่าน บ้านกิ่วจันทร์ บ้านห้วยโก๋น บ้านน้ำรีพัฒนา บ้านห้วยทรายขาว 4. พบสารปรอทสะสมในปลา ในระดับที่ยังไม่เกินค่ามาตรฐาน แต่ต้องเฝ้าระวังบริเวณแหล่งน้ำต่างๆ ของทั้ง 8 หมู่บ้าน ในอำเภอเฉลิมพระเกียรติ ส่วนด้านระบบข้อมูลในประเด็นสังคม เศรษฐกิจ สุขภาพ และทรัพยากรชุมชน มีการจัดทำแผนที่ชุมชนที่แสดงความเป็นมาของชุมชน ปฏิทินเกษตรกรรม การเพาะปลูก ปฏิทินวัฒนธรรมที่แสดงให้เห็นเกี่ยวกับวิถีชีวิตของชาวบ้าน ซึ่งหากพบปัญหามลพิษข้ามพรมแดนในอนาคต หรือการเปลี่ยนแปลงทางสังคมในประเด็นอื่นๆ ข้อมูลเหล่านี้ จะเป็นฐานข้อมูลชุมชนที่สามารถเปรียบเทียบให้เห็นถึงผลกระทบและการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นได้
รวมถึงมีการพัฒนาเครื่องมือและช่องทางการสื่อสารแบบดิจิทัลบนแพลตฟอร์มโมบายแอปพลิเคชัน ที่มีชื่อว่า C-site เพื่อให้กลุ่มเป้าหมายที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงจะได้รับผลกระทบจากโรงไฟฟ้าฯ สามารถบันทึกและสื่อสารข้อมูลผ่านการใช้แอปพลิเคชันและแพลตฟอร์มที่ติดตั้งบนมือถือได้อย่างสะดวก โดยได้พัฒนาแพลตฟอร์มและรูปแบบการบันทึกข้อมูลต่างๆ ดังนี้ การจัดทำแผนที่ดิจิทัลบนแพลตฟอร์ม C-site จัดทำแบบสอบถามดิจิทัลเพื่อให้ชุมชนใช้ในการสำรวจและบันทึกข้อมูลเกี่ยวกับตัวชี้วัดการเฝ้าระวังผลกระทบฯ ทั้งที่เป็นข้อมูลทางเคมี และข้อมูลทางชีวภาพ มีระบบแจ้งเหตุฉุกเฉินผ่านแอปพลิเคชันไลน์ เพื่อให้ชุมชนสามารถส่งข่าว สอบถาม และปรึกษากับผู้เชี่ยวชาญจากทีมวิจัยได้โดยตรง และสามารถบันทึกข้อมูลของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น รวมถึงการรวบรวมและจัดระเบียบข้อมูล เพื่อในอนาคต คนในพื้นที่อื่นๆ จะสามารถเห็นภาพรวมสถานการณ์ได้ด้วย และมากไปกว่านั้น คือการสร้างนักข่าวพลเมือง ที่สามารถผลิตเนื้อหาเชิงลึกเกี่ยวกับการเฝ้าระวังมลพิษในชุมชน
โดยการพัฒนาศักยภาพด้านการสื่อสารเพื่อการเฝ้าระวังฯ ให้แก่ครู นักเรียน และชาวบ้าน โดยบางส่วนได้เริ่มดำเนินการบันทึกข้อมูลผ่านแบบสำรวจดิจิทัล และผลิตคลิปวิดีโอสั้นเผยแพร่บนแอปพลิเคชัน C-site เพื่อสื่อสารเกี่ยวกับกิจกรรมและนำเสนอผลการเฝ้าระวังฯ ซึ่งหลายผลงานจากโครงการวิจัยได้รับการขยายผลสื่อสารต่อในพื้นที่รายการนักข่าวพลเมืองของสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอสแล้ว และจากการพัฒนาศักยภาพด้านการสื่อสารดังกล่าว ทำให้พบว่า ครู นักเรียน และหน่วยงานด้านการศึกษาในพื้นที่เป้าหมายที่เข้าร่วมโครงการมีความกระตือรือร้นและตื่นตัวต่อประเด็นการเฝ้าระวังผลกระทบทางสุขภาพและสิ่งแวดล้อมที่อาจเกิดจากโรงไฟฟ้าฯ เป็นอย่างมาก และสามารถนำแนวคิดวิทยาศาสตร์ภาคพลเมืองไปใช้ในการเรียนการสอน และเสริมทักษะด้านการรู้เท่าทันสื่อสารสนเทศและสื่อดิจิทัลได้อีกด้วย
“แม้งานวิจัยจะเป็นการศึกษาเฉพาะพื้นที่และเฉพาะกรณี แต่เชื่อว่าสามารถนำไปเป็นต้นแบบและปรับใช้ตามบริบทของพื้นที่อื่นๆ ได้ และแพลตฟอร์มที่ใช้เก็บข้อมูล ยังสามารถนำไปเก็บข้อมูลในแง่มุมหรือมิติอื่นๆ ในสังคมได้อีก รวมทั้งสามารถพัฒนาต่อยอดไปเป็นเครื่องมือสำหรับงานวิจัยอื่นๆ ได้อีกด้วย โดยมีนักวิจัย/นักวิชาการคอยควบคุมและตรวจสอบความถูกต้อง” ทพ.จเร วิชาไทย ผู้จัดการงานวิจัย สวรส. กล่าว
ทพ.จเร กล่าวต่อว่า อยากเห็นชุมชนเกิดความตระหนัก และลุกขึ้นมาเฝ้าระวัง ป้องกัน และดูแลตนเอง โดยนำความรู้จากงานวิจัยดังกล่าวไปใช้ให้เกิดประโยชน์ในพื้นที่ ที่ผ่านมาประชาชนอาจสงสัยและตั้งคำถาม แต่ต้องรอคำตอบ เพราะฉะนั้นวันนี้ ประชาชนได้ลุกมาหาคำตอบด้วยตัวเอง และมีส่วนร่วมในการเฝ้าระวังและป้องกันผลกระทบต่างๆ ที่เกิดขึ้นในชุมชน โดยในอนาคตอาจทำให้เกิดนักวิจัยในพื้นที่มากขึ้น ตลอดจนการมีส่วนร่วมของชุมชน ทำให้เห็นโอกาสของการแก้ปัญหาที่ยั่งยืนมากขึ้นด้วยเช่นกัน
ดังนั้นหัวใจสำคัญของการวิจัยในครั้งนี้คือการพัฒนาระบบเฝ้าระวังผลกระทบทางสุขภาพรูปแบบใหม่ ที่เน้นการมีส่วนร่วมของชุมชน โดยการพัฒนาศักยภาพทางด้านวิทยาศาสตร์ให้กับคนในชุมชน และการสร้างเครือข่ายนักวิทยาศาสตร์ภาคพลเมือง เพื่อนำไปสู่การร่วมกันออกแบบมาตรการการแก้ปัญหา และบรรเทาผลกระทบจากมลพิษข้ามพรมแดน โดยมีหลักฐานเชิงประจักษ์ทางด้านวิทยาศาสตร์เป็นตัวชี้วัดสำคัญ เพื่อคุณภาพอากาศที่ดีและลมหายใจของคนเมืองน่าน ที่สามารถส่งต่อไปสู่การวางระบบระดับนโยบายต่อไป