หวั่นใจภูมิคุ้มกันจากวัคซีนโควิด แม้ป้องกันได้ดีในสายพันธุ์เดลต้า แต่อาจไม่ครอบคลุมป้องกันสายพันธุ์โอมิครอน นักวิจัยเผยกราฟข้อมูลจากแคนาดา
หลังเกิดความกังวลเกียวกับตัวเลขการระบาดของ โควิด -19 ที่เริ่มสูงขึ้นจากวันหยุดยาวต่อเรื่อง ล่าสุด ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา นักวิจัยด้านไวรัสวิทยา ไบโอเทค ได้โพสต์ผ่านเพจ “Anan Jongkaewwattana” ในเฟซบุ๊ค เกี่ยวกับภูมิจากวัคซีนที่ฉีดไปกับการป้องกันโควิดสายพันธุ์โอมิครอน โดยระบุว่า”
กราฟนี้เป็นข้อมูลจากแคนาดาที่ไปดูระดับแอนติบอดี 2 ชนิดต่อไวรัสโรคโควิดของกลุ่มตัวอย่างในช่วงเวลาของการระบาดตั้งแต่ก่อนเดลต้า ช่วงเดลต้า และ โอมิครอน โดยแอนติบอดีชนิด Anti-N จะเป็นการระบุว่าคนที่เป็นบวกแสดงว่าเค้าติดเชื้อมาแล้ว ส่วนแอนติบอดีชนิด Anti-S จะเป็นการระบุว่าคนนั้นมีภูมิจากวัคซีน หรือ ติดเชื้อ เพราะทั้งวัคซีนและเชื้อมี Spike ทั้งคู่ โดยจากกราฟจะเห็นว่า Anti-S เริ่มขึ้นอย่างรวดเร็วตั้งแต่ช่วง Pre-Delta ซึ่งเป็นช่วงที่ระดมฉีดวัคซีนกันในประเทศ ส่งผลให้ Anti-N ในช่วง Delta อยู่ในระดับต่ำ (ประมาณ 10%) เนื่องจากวัคซีนที่ฉีดสามารถป้องกันการติดเชื้อจากเดลต้าได้เป็นอย่างดี แต่หลังจากการเกิดขึ้นของโอมิครอน % ของคนที่มี Anti-N เป็นบวก เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจาก 10% ดีดขึ้นเป็น 80% ภายใน 1 ปี ทั้งๆที่ภูมิจากวัคซีน เมื่อดู Anti-S มีเกือบ 100%
กราฟนี้เป็นภาพที่อธิบายได้อย่างชัดเจนว่า บริบทของโอมิครอนแตกต่างจากเดลต้าชัดเจน คือ ภูมิจากวัคซีนป้องกันการติดเชื้อจากเดลต้าได้ดี ขณะที่ภูมิดังกล่าวไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อจากโอมิครอนได้ … อันนี้เป็นสาเหตุที่เดลต้าหายไปจากประชากรอย่างรวดเร็วหลังโอมิครอนครองพื้นที่ เพราะ Anti-S เกือบ 100% สามารถหยุดวงจรของเดลต้าได้ แต่ โอมิครอนคงจะต้องอยู่ไปอีกยาว ตราบใดที่ Anti-S จากวัคซีนสามารถจัดการกับโอมิครอนได้ไม่เหมือนที่ทำสำเร็จกับเดลต้า”
ภาพ และข้อมูลจากเพจ Anan Jongkaewwattana