ปัจจุบัน ‘ภัยไซเบอร์’ ได้ทวีความรุนแรงในการโจมตีกว้างขวางมากขึ้นเรื่อยๆ หลายคนต้องเคยได้ยินข่าวการโจมตีสถาบันการเงิน ภาคธุรกิจต่าง ๆ หรือหน่วยงานรัฐมาแล้ว ขณะที่ภัยไซเบอร์ยังเข้ามาใกล้ตัวเราทุกที เช่นแก๊งค์คอลเซ็นเตอร์ที่หลอกลวงจนสร้างความเดือดร้อนเสียหายไปทั่ว ข้อมูลจากวารสารของธนาคารแห่งประเทศไทย ได้ให้ความรู้เรื่อง “ภัยไซเบอร์ใกล้ตัว” แต่ละประเภทที่ประชาชนควรรู้เท่าทัน รวมถึงแนะนำวิธีรับมือและป้องกันตนเองจากภัยที่อาจเกิดขึ้น
ภัยประเภทที่ 1 : มิจฉาชีพบน Social Media
ในยุคแห่ง Social Media ปฏิเสธไม่ได้ว่าเราใช้ชีวิตและทำกิจกรรมต่าง ๆ บนโลกออนไลน์มากขึ้นเมื่อเทียบกับสมัยก่อน ซึ่งมิจฉาชีพเองก็เริ่มใช้ช่องทางดังกล่าวเพื่อแสวงหาผลประโยชน์เช่นเดียวกัน โดยอาศัยข้อมูลจากแชทหรือโพสต์ต่าง ๆ เป็นตัวช่วยในการสวมรอยหรือปลอมแปลงข้อมูลเพื่อหลอกลวงประชาชน เช่น การส่งข้อความแชทเพื่อหลอกให้โอนเงิน หรือการปลอมแปลงสลิปโอนเงินในการสั่งซื้อสินค้าออนไลน์ ซึ่งถ้าหากเราไม่ระวังอาจทำให้สูญเสียเงิน หรือเสียผลประโยชน์ทางธุรกิจได้
วิธีรับมือและป้องกัน :
1. อย่าหลงเชื่อข้อความผ่านแชทเพื่อขอให้โอนเงินหรือขอข้อมูลใด ๆ หาก ผู้ส่งข้อความเป็นเพื่อน ควรติดต่อเพื่อนโดยตรงผ่านช่องทางอื่นเพื่อยืนยัน ตัวตนและจุดประสงค์ก่อน
2. ควรตรวจสอบสลิปโอนเงินจากผู้โอนให้มั่นใจก่อนยืนยันการโอนเงิน ทุกครั้ง
ภัยประเภทที่ 2 : อีเมลหลอกลวง (Phishing)
ทุกวันนี้เราทุกคนมีอีเมลเพื่อใช้ในชีวิตประจำวันและสมัครบริการต่าง ๆ บนโลกออนไลน์ เหล่ามิจฉาชีพจึงนิยมใช้ช่องทางนี้ในการแสวงหาผลประโยชน์หรือ สร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชน ซึ่งหนึ่งในกรณีที่พบเห็นบ่อย คือ การส่งอีเมลโดยแอบอ้างเป็นธนาคารพาณิชย์ เพื่อหลอกให้ทำธุรกรรม หรือกรอกข้อมูลสำคัญ เช่น รหัสผ่าน หมายเลขบัตรเครดิต นอกจากนี้ มิจฉาชีพอาจฝังมัลแวร์ (โปรแกรมมุ่งร้าย) ไว้ในเอกสารแนบของอีเมล ซึ่งหากเปิดไฟล์ดังกล่าว จะทำให้เครื่องคอมพิวเตอร์ของผู้รับเกิดความเสียหายได้ เช่น ไฟล์ต่าง ๆ ถูกยึดเพื่อเรียกค่าไถ่ หรือระบบคอมพิวเตอร์ถูกทำลายจนไม่สามารถใช้งานได้
วิธีรับมือและป้องกัน :
หากได้รับอีเมลต้องสงสัยให้ “คิด” ก่อน “คลิก” ควรตรวจสอบผู้ส่ง เนื้อหาและลิงก์ภายในอีเมลโดยละเอียดก่อนตอบกลับหรือให้ข้อมูลใด ๆ ทุกครั้ง
ภัยประเภทที่ 3 : การขโมยข้อมูลส่วนบุคคล (Data Theft)
หากติดตามข่าวด้าน Cybersecurity (ความปลอดภัยทางไซเบอร์)ในช่วงนี้ จะเห็นได้ว่ามีข่าวเว็บไซต์และบริการหลายแห่งถูกแฮกข้อมูล หรือทำข้อมูลรั่วไหลออกมาบ่อยครั้ง ซึ่งรวมถึงเว็บไซต์และบริการสาธารณะที่ประชาชนส่วนใหญ่ใช้อยู่ด้วย โดยข้อมูลที่รั่วไหลมักเป็นข้อมูลสำคัญ เช่น ชื่อบัญชีผู้ใช้งาน รหัสผ่าน หรือข้อมูลบัตร เครดิต และมิจฉาชีพสามารถใช้ข้อมูลดังกล่าวเข้าถึงบัญชีผู้ใช้งานของเราหรือกระทำการใดโดยมิชอบในนามของเราได้ เช่น โอนเงินโดยทุจริต
วิธีรับมือและป้องกัน :
1. ไม่ให้ข้อมูลสำคัญกับเว็บไซต์หรือบริการใด ๆ หากไม่จำเป็น
2. หมั่นติดตามข่าวสารด้าน Cybersecurity อย่างสม่ำเสมอ หากพบว่ามีข่าวเว็บไซต์หรือบริการที่ท่านใช้งานอยู่ถูกขโมยข้อมูลไป ควรรีบเปลี่ยนรหัสผ่านหรือดำเนินการต่าง ๆ เพื่อป้องกันหรือลดความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น เช่น อายัดบัตรเครดิตทันที
จะเห็นได้ว่าภัยไซเบอร์นั้นมีหลากหลายรูปแบบ และอาจส่งผลกระทบต่อตัวเราครอบครัว และองค์กร ได้โดยไม่ทันตั้งตัว ดังนั้นทุกคนจึงต้องตระหนักรู้และเท่าทันภัยไซเบอร์ตลอดเวลาโดยติดตามข่าวสารอย่างสม่ำเสมอ นอกจากนี้ การอัปเดตอุปกรณ์ต่าง ๆ ให้เป็นเวอร์ชันล่าสุดเพื่ออุดช่องโหว่ด้านความปลอดภัย ก็เป็นสิ่งที่สำคัญเช่นเดียวกัน
ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย bot.or.th